xs
xsm
sm
md
lg

"อนันดา" กับการขายตัวตนแลกความสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าพระเอกหล่อเซอร์ "อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม" ที่ตอนนี้มาเป็น "อินทรีแดง" ซูเปอร์ฮีโร่คนล่าสุดของไทยจะเคยถูกวิจารณ์ว่าเป็น "พระเอกเกรดต่ำ" มาก่อน

หากดูจากความถี่ของการได้เล่นหนังของเขาบวกกับเสียงสะท้อนที่พูดถึงบทบาทการแสดงของเขาที่ออกมาในด้านบวกส่วนใหญ่ อีกทั้งการได้รับรางวัลจากเมืองนอกจนผู้กำกับไทยหลายคนมุ่งมั่นที่จะปั้นเขาไปสู่ตลาดหนังโลกแล้วนั้น

คงไม่มีเสียงคัดค้านใดต่อคำกล่าวที่ว่าวันนี้อนันดาประสบความสำเร็จอย่างมากทีเดียวกับถนนมายาสายนี้

"ผมไม่ได้วัดอาชีพด้วยว่าโอ้โห! ตอนนี้ป๊อบตอนนี้งานเยอะหรือไม่เยอะ มันไม่ใช่ประเด็นน่ะ มันเหมือนสมมติเรามีงานเยอะคนก็จะบอกว่าช้ำ มีงานน้อยคนก็จะบอกว่าไม่ฮ็อต มันก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้วไง เราจะไปใส่ใจกับตรงนั้นทำไม" อนันดากล่าวถึงการมีชื่อเสียงของตัวเองไม่สำคัญไปกว่าการทำให้ตัวเองมีตัวตนในแผ่นฟิลม์

"ถามผมว่าผมรู้สึกอย่างไรที่ผู้กำกับไทยพยามยามปั้นผมให้เป็นเหมือน "เจ็ท ลี" หรือ "เหลียงเฉาเหว่ย" ถ้าอย่างเจ็ท ลีเนี่ยผมคงไม่มีวันเก่งเท่าเขาหรอกแต่ถ้าได้อย่างครึ่งหนึ่งของเหลียงเฉาเหว่ยผมก็จะปลื้มมากเพราะเขาเป็นนักแสดงที่สุดยอดของสุดยอดมาก ถ้าได้งานอย่างที่เขาได้เราก็แฮปปี้"

"แต่เราไม่ซีเรียส มันจะเป็นหนังไทย หนังฝรั่ง หนังอินเตอร์ หนังจีน มันไม่เกี่ยว เราไม่ได้เห่อฝรั่ง เราไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องเห่องานของฝรั่งและต้องเอาตรงนั้นมาเป็นมาตรฐาน ถือว่าทำงานในไทยแล้วเราแฮปปี้กับงานในไทย เราสามารถค่อยๆสร้างมาตรฐานให้มันดีขึ้นเรื่อยๆผมก็แฮปปี้ที่จะทำงานที่นี่"

"ไม่จำเป็นที่เราต้องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โอเค ฐานะโปรดิวเซอร์ ฐานะของนายทุนเขาก็คงอยาก push ให้มีคนอย่างนี้มากขึ้นอย่างจา พนมซึ่งพอที่เขาแบกหนังไปเมืองนอกแล้วมันขายได้ทันที มันก็ทำให้วงการหนังแข็งขึ้น สมมติเป็นอย่างนั้นกับผมได้มันก็โอเคแต่ผมไม่ได้มุ่งไปทางนั้น"

อนันดาได้พูดถึงหัวใจหลักในการเป็นนักแสดงของตัวเองว่าต้องไม่ "ขายตัว"

"ที่เหล่าผู้กำกับพูดชมเชยหรือยกย่องผมว่ามีคุณภาพน่ะ อันนี้ก็ต้องคอยดูกันต่อไปน่ะครับแต่ตอนนี้สแตนดาร์ดที่ผมตั้งไว้ให้กับตัวเองเรายังทำไม่ถึงตรงนั้น เรายังไม่ใกล้ตรงนั้นด้วยซ้ำ เราค่อนข้างซีเรียสเรื่องการแสดงเรารู้สึกว่ามันเป็นศิลปะแขนงหนึ่งถ้าเราไม่ซีเรียสกับมัน ไม่เห็นมันเป็นศาสตร์บางอย่างเนี่ยเราก็จะไม่ไปไหน"

"มันก็จะเหมือนการขายตัวไปเรื่อยๆซึ่งเรารู้สึกว่าถ้าเราไม่มองเห็นตรงนี้มันก็ไม่ต่างกับการขายตัวเท่าไหร่หรอก เอาตัวมาแลกกับเงิน เราก็พยายามทำให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ"

เมื่อถามต่อว่าด้วยวิธีคิดแบบนี้หรือเปล่าเป็นเหตุให้อนันดาประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ พระเอกมาดเซอร์ปฏิเสธทันควัน...

"ไม่รู้ ผมรู้สึกว่านักแสดงสมัยนี้เขาอาจจะนำมาด้วยโพรไฟล์ก่อนแล้วก็ค่อยตามมาด้วยการแสดง ไม่ใช่ว่าเราแสดงเก่งนะ เราต้องเข้าใจมันก่อนว่ามันคืออะไร บางทีมันไม่ใช่เล่นเป็นตัวเองไง เล่นเป็นตัวเองให้เก่งแล้วก็อยู่ให้รอด 3 เรื่องดับไป มันไม่ใช่อาชีพ บางทีเราก็ต้องเห็นว่ามันเป็นศาสตร์ศิลป์เรื่องหนึ่งและพยายามไฟท์ให้มันดีขึ้นหน่อย"

"แล้วก็พยายามถอดตัวเองจากละคร เราเชื่อว่าเราควรจะเป็นคนที่เดินเข้าหาบทไม่ใช่ดึงบทเป็นเรา เรารู้สึกว่าพอตามเส้นทางนั้นถือว่ามันไม่น่าเบื่อสำหรับคนดูด้วย คนดูไม่รู้สึกว่าไอ้นี่มาเล่นหนังอีกแล้ว อาจจะรู้สึกว่าอ๋อ ไอ้นี่มันมีอะไรนำเสนอให้เรา บางทีมันก็เวิร์ค บางทีก็ไม่เวิร์คแต่อย่างน้อยมันกล้าที่จะนำเสนอ"

"สมมติว่าตั้ง union นักแสดงขึ้นมาได้ผมจะแฮปปี้มาก เหมือน union ผู้กำกับแต่ตั้งของนักแสดงขึ้นมาและก็มีมาตรฐานใน union เราว่านักแสดงทุกคนต้องผ่าน union และต้องเรียนการแสดงอย่างน้อย 20 ชั่วโมงแล้วก็จะได้บัตร สมมติคุณไม่มีบัตรผมก็จะไปจับคุณและก็จะบอยคอตคุณห้ามเล่นละครห้ามเล่นหนัง"

"มาตรฐานมันก็อย่างน้อยไปเรียนไปรู้พื้นฐานมันนิดหน่อยว่ามันคืออะไรและอย่าเข้าใจว่าการเป็นนักแสดงคือการเดินสยามแล้วคนเก็บเกี่ยวคุณมาแล้วก็คุณไม่เรียนคุณไม่มีพื้นฐานของมันเลย มันไม่ได้น่ะ มันต้องมีนิดหนึ่ง"

ต่อข้อซักถามที่ว่าในวันนี้อนันดาวางแผนการทำงานของตัวเองไว้อย่างไร เจ้าตัวบอก...

"ผมไม่ได้มาแนวแบบอยากเป็นนักแสดงตั้งแต่ต้นเพียงแต่ว่ามีคนดีๆรอบข้างผมเนี่ยสอนว่ามึงจะทำอะไรมึงก็ทำจริงๆเถอะ ตั้งใจทำแล้วก็มันมีอาชีพอื่นๆในกองถ่ายหนังที่เรารู้สึกว่าเราอยากทำมากกว่าอย่างเช่น ดีพีหรือไม่ก็ผู้กำกับแต่ว่าเราก็ต้องมาทีละอย่าง เราขอทำเรื่องของการแสดงสักปี 2 ปีแล้วดูว่ายังอยากทำต่อหรือเปล่าแล้วก็หลังจากนั้นค่อยมาดูว่าจะอย่างไรต่อ ยังไม่ได้วางแผนไกลมาก"

"แต่สักวันหนึ่งผมต้องทำหนังเองอยู่แล้วไม่งั้นผมคงเป็นโรคจิตตายไปก่อน เราอึดอัดใจกับวงการหนังไทยเหมือนกัน เรารู้สึกว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้มันก็เกือบๆ มันอีกนิดหนึ่งมันจะไปอยู่แล้วมันก็กั๊กๆกันเอง เราก็ไม่เข้าใจเรารู้สึกอยากดูหนังอย่างนี้ มีหนังแบบนี้ให้ผมดูบ้างได้มั้ย ไม่มีใครทำก็ทำเองละกัน ก็คิดว่าจะไปเสนอกับค่ายไฟว์สตาร์น่ะครับเพราะเขากล้าดี"

"ผมชอบหนังดราม่า ชอบหนังที่เกี่ยวข้องกับคน ไม่ได้เกี่ยวกับพล็อตอย่างเดียว หนังส่วนมากจะเดินเรื่องด้วยเรื่องด้วยเหตุการณ์แต่ผมชอบเรื่องที่เดินเรื่องด้วยตัวละคร เรื่องมันสามารถเกิดได้เพราะมันมีตัวละครตัวนี้อยู่ ตัวละครตัวนี้อยู่ในภาวะแบบนี้ถึงเกิดเป็นหนังได้ ซึ่งบ้านเรามันต้องมีของหาย มีระเบิด มีคนตายถึงค่อยเป็นหนังได้"




มุมมองของนักแสดงหนังไทยที่มีต่อภาพยนตร์ไทย

"ผมผิดหวังเพราะหนังไทยมันไม่มีตัวตนน่ะ ผมเคยคิดว่าหนังไทยคืออะไร ถ้าสมมติมีคนอย่างพี่วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยงมากขึ้นมันก็จะมี identity แต่เรามักจะแห่กันไปทำหนังตามกระแส อย่างเช่นหนังเรื่องนี้ขายได้ทุกคนก็แห่ไปทำหนังอย่างนั้นเราก็รู้สึกว่ามันค่านิยมมาก"

"นี่ผมมองในฐานะคนดูนะเพราะคนดูสำคัญที่สุดอยู่แล้วไง เราทำหนังให้ใครดูล่ะ ผมเอามาเป็นมาตราฐานสำหรับงานผมอยู่แล้วไงผมอยากดูหนังแบบไหนและผมรู้สึกว่าเรื่องนี้มันจะให้อะไรกับคนดูบ้าง"

ล่าสุดนักแสดงหนุ่มได้เข้าไปลงทุนทำหนังที่ประเทศลาวเรื่อง "สบายดีหลวงพระบาง" ด้วยโดยเจ้าตัวได้เล่าถึงโปรเจ็คใหม่นี้อย่างภูมิใจว่า…

"ผมไปทำหนังเล็กๆอินดี้อยู่ที่ลาวครับตอนนี้ เป็นหนังเรื่องแรกในรอบ 30 ปีของประเทศลาว เป็นหนังประเทศลาวหุ้นกับบริษัทไทยแต่เขาเป็นเจ้าของหนัง นักแสดงมีผมและมิสของลาว ก็เป็นหนังรักน่ะครับที่มีการเดินทางและเกิดความสัมพันธ์ คือคนที่ต้องค้นหาอะไรบางอย่างและไปค้นพบอะไรบางอย่างและชีวิตก็เปลี่ยนไป กลับมาที่เดิมก็โลกทัศน์จะเปลี่ยนไป"

"จริงๆผมไม่ได้ถึงขนาดลงทุนเพียงแต่ว่าเขาไม่มีเงินจ่ายค่าตัวเราก็ไม่คิดไง ก็ให้เขาเอาหุ้นมาละกัน ผมก็ช่วยโปรดิวซ์ขายหนังให้ ผมอยากเล่นนะแต่เรารับประกันไม่ได้ว่าหนังเรื่องนี้จะดีแค่ไหน"

"แต่ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หนังในเอเชียในประเทศหนึ่งที่เป็นคอมมิวนิสต์ที่พอมันเริ่มสงบ ประเทศเริ่มเปลี่ยนคน และหนังกลับมา ซึ่งถ้าสมมติหนังเรื่องนี้ทำให้มีวงการหนังลาวเกิดขึ้นมาได้ผมว่าเป็นอะไรที่น่าภูมิใจมาก"

นักแสดงหนุ่มบอกแม้หนังเรื่องแรกที่ตนมีส่วนร่วมมากขึ้นไปอีกขั้นนี้จะไปได้ไม่ไกลนักแต่ตนก็ทำด้วยใจที่เปี่ยมสุข

"ผมทำในตำแหน่งเฉยๆว่าเป็นโปรดิวซ์ ช่วยหาดิสทิบิวเตอร์ขายนอกและสมมติผมไปเทศกาลหนังผมก็จะเอาหนังไปด้วยเท่านั้นเองและก็เล่นให้ ผมไม่ได้รู้จักกับบริษัทหนังของเขาเป็นการส่วนตัว ผู้กำกับเป็นคนสุรินทร์และเดินมาหาผมและถามดื้อๆเลยมีหนังเรื่องนี้ อยากเล่นมั้ย"

"ตอนแรกรู้สึกว่าเป็นหนังแผ่นด้วยซ้ำเราก็สนใจถ้าเป็นหนังลาวเราอยากทำ ก็ไปคุยไปคุยมาจนเหมือนหาหุ้นหาทุนได้เพิ่มก็กลายเป็นหนังฟอร์มใหญ่ขึ้นมานิดหนึ่งแล้วก็พอฉายโรงได้ เราก็แบบถ้ามันฉายโรงได้จริงๆเนี่ยผมจะทำแต่ถ้าไม่ได้ฉายโรงผมจะไม่ทำ"

"หนังเรื่องนี้ลงทุนไปไม่น่าจะเกิน 10 ล้านยังไม่รวมพีอาร์ ส่วนเรื่องที่ผมจะพาหนังไปได้ไกลแค่ไหนนั้น เราต้องยอมรับว่าตลาดหลักๆหนังเรื่องนี้คือประเทศไทยเพราะว่าที่ลาวมีโรงหนังแค่ 2 โรงเองแต่เขาก็สปิริตนะเขามีอยู่แค่ 2 โรงเขาก็ยังจะลงทุนทำ เป็นความภูมิใจของเขา แต่ถ้าพูดถึงในแง่ธุรกิจก็ต้องมาฉายที่ไทย คงมีค่ายใหญ่มาช่วยอุ้มมันไป"

"การทำงานก็สนุกครับ มันก็เหนื่อยแต่พอเรารู้ว่ามันเป็นงานที่เราเลือกที่จะทำเองมาเป็นส่วนร่วมกับเขาเองมันก็มีความสุขและเขาก็ทำงานสไตล์ผมน่ะจะเรียกว่าบ้านๆก็ได้หรือสไตล์ตรงไปตรงมาก็ได้ ผมทำงานไม่ค่อยมีจริตเท่าไหร่ มาทำงานเราก็ต้องตื่นพร้อมกันหมด ต้องเหนื่อยด้วยกัน มันจะต้องเป็นอยู่อย่างนั้น อารมณ์ดีกันตลอดเวลาครับ กินข้าวเหนียวจิ้มแจ่วไปเรื่อยๆ"

"ตอนจะกลับจากลาวผมยังเครียดอยู่เลย โอ้ จะย้ายมาเป็นนักแสดงลาวดีกว่ามั้ย มันบริสุทธิ์ดี ผมชอบ มันเหมือนเราประกอบอาชีพที่เรามีความสุขจริงๆน่ะ ตอนเราอยู่ที่นู่นเรารู้สึกว่านี่คือการเป็นนักแสดง มันไม่ได้มีสิ่งปรุงแต่งอะไรมากมาย"

กำลังโหลดความคิดเห็น