xs
xsm
sm
md
lg

ฉากโป๊ใน Watchmen : พ.ร.บ.เสื่อมหรือคนเห็นแก่ได้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นเรื่องบังเอิญที่การฉายของ Watchmen ศึกซูเปอร์ฮีโร่พันธุ์มหากาฬ ของผู้กำกับ แซ็ค ชไนเดอร์ ที่เคยประสบความสำเร็จจากการฉาย 300 ผลงานเรื่องก่อนที่ออกฉายในช่วงต้นปีเหมือนกัน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กๆ ในบ้านเรากำลังปิดเทอมพอดี

และแม้จะมีหนังที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายเป็นน้องๆ หนูๆ ในช่วงที่ผ่านมาอยู่มากมายทั้ง Bolt ซูเปอร์โฮ่ง หัวใจเต็มร้อย, 5 หัวใจฮีโร่ หรือ Dragonball Evolution ตำนานใหม่นักสู้มังกรสะท้านฟ้า แต่ผลงานที่ได้รับการโปรโมตตามสื่อต่างๆ ครบทุกแขนงจากฮอลลีวูดเรื่องนี้ย่อมเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของทั้งเด็กๆ ที่ชอบซูเปอร์ฮีโร่ และบรรดาผู้ใหญ่ผู้ปกครองในบ้านเราที่มักชอบพาลูกๆ ไปดูหนังที่ตัวเองสนุกไปด้วยมากกว่าหนังเด็กๆ ใสๆ ที่ฉายเมื่อไหร่ก็ส่อแววขาดทุนเมื่อนั้น

แต่กลายเป็นว่า Watchmen แทนที่จะเป็นความบันเทิงสำหรับทุกคนในครอบครัวอย่างที่ใครๆ คาด มันกลายเป็นโปรแกรมกระอักกระอ่วนใจในโรงหนังของหลายครอบครัวในการฉายตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อกลายเป็นว่าหนังที่ใช้หน้าหนังยอดมนุษย์ล่อแฟนภาพยนตร์ระดับครอบครัวเข้าโรงไปกันอย่างมากมายนี้ ไม่เพียงจะอุดมไปด้วยฉากความรุนแรง แต่ยังมีฉากที่สื่อไปในทางลามกอนาจารอยู่มากมาย

ถ้าไปนับสองฉากที่ถูกเซ็นเซอร์ไป ทั้งอวัยวะเพศชายของตัวละคร ดร.แมนฮัตตัน และฉากจามหัวอันสยดสยอง ฉากการร่วมเพศของสองยอดมนุษย์ชายหญิงที่โชว์เนื้อหนังมังสากับแบบไม่ต่างจากหนังปลุกใจเสือป่า กลับได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจน โดยไม่มีการตัดทอนหรือปิดบังใดๆ ทั้งสิ้น จากสายตาของแฟนหนังส่วนใหญ่ที่เป็นเยาวชน

เหตุการณ์อย่างนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการประกาศ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 กันตั้งแต่เมื่อปีก่อน ที่มีการแบ่งระดับความเหมาะสมของหนังที่จะฉายในเมืองไทยเอาไว้ 7 ประเภท ซึ่งเป็นความหวังของแฟนหนังบ้านเราที่จะได้เห็นการก้าวไปสู่ระดับ “มาตรฐานสากล” ในความเสมอภาคระหว่าง สิทธิของ “คนดูหนัง” และหน้าที่ของ “รัฐ” ที่เข้าดูแลสื่อภาพยนตร์กันเสียที

แต่กลายเป็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวนอกจากจะไม่สามารถจัดเรตให้หนังฮอลลีวูดอย่าง Watchmen ได้แล้ว ผู้ที่จูงลูกจูงหลานเสียเงินซื้อตั๋วเข้าไปดูหนัง ได้รับความคุ้มครองจากโรงหนังเพียงแค่คำเตือนหน้าจอก่อนหนังฉายไม่กี่นาทีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี

คำเตือนดังกล่าวนอกจากจะล้มเหลวในการปกป้องผู้ชมระดับครอบครัวจากฉากร่วมเพศในหนังอย่างสิ้นท่าแล้ว ยังทำให้ผู้อ่านข้อความดังกล่าวสับสนว่าผู้คิดให้มีคำเตือนนี้ออกมา ทั้งๆ ที่ผู้ชมเสียเงินค่าตั๋วไปแล้ว (หรือให้ชัดก็คือโรงหนังได้เงินไปเรียบร้อยแล้ว) เป็นความ โง่ หรือ แกล้งโง่ มากกว่ากัน?

ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้ที่อยู่ในแวดวงผู้สร้างภาพยนตร์ไทยไม่ค่อยสบายใจกับการออก พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ฉบับล่าสุดนี้ โดยเฉพาะข้อที่ 7 ที่แสดงความเห็นว่าในเมื่อมีการจัดเรตระดับของผู้ชมแล้ว ก็ไม่เคยควรที่จะมีเรตที่เป็นการห้ามฉายภาพยนตร์กันอีก

และที่ดูจะย่ำแย่ไปยิ่งกว่า ก็คือ การแบ่งเรตหนังแล้วยังมีมาตรการเซ็นเซอร์หนังให้เห็นกันอยู่อีก อย่างที่เกิดให้เห็นในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งในแบบฉายในโรงและที่ออกมาเป็นหนังแผ่น

ความลักลั่นกันระหว่างการแบ่งเรตหนังและการเซ็นเซอร์ของเมืองไทยทุกวันนี้ จุดสำคัญเกิดจากการที่มีเมืองไทยเรามี พ.ร.บ.ภาพยนตร์ออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กฎหมายลูกที่จะออกมารองรับกลับยังไม่มีกำหนดคลอดอย่างไม่ทราบสาเหตุ

คงต้องฝากไปถามถึงบรรดาเจ้าของค่ายหนัง, เจ้าของโรงหนัง และผู้ที่มีผลประโยชน์ในแวดวงการฉายภาพยนตร์ในบ้านเราว่า ระหว่างผลประโยชน์ที่ตักตวงจากช่องว่างทางกฏหมายกันอยู่ทุกวันนี้ กับ จรรยาบรรณของผู้ที่เข้ามามีอำนาจในธุรกิจบันเทิง อะไรกันแน่ที่จะทำให้วงการภาพยนตร์ในบ้านเราก้าวไปสู่ระดับสากล

นางเอก Watchmen กระหน่ำโชว์หวิวช่วงโปรโมชั่นก่อนหนังฉาย

****************************

การจัดแบ่งเรทหนังที่จะฉายในเมืองไทยตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551
1. ภาพยนตร์ที่ควรส่งเสริม ให้ชม (ส.)
2. ภาพยนตร์ที่สามารถชมได้ทั่วไป (ท)
3. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไปชม (น.13+)
4. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปชม (น.15+)
5. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปชม (น.18+)
6. ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะกับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีชม (ฉ)
7. ภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในราชอาณาจักรไทย (ห) เนื่องจากมีเนื้อหาหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายความมั่นคงของประเทศ ก่อให้แตกความสามัคคี เหยียดหยามศาสนา ไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ขัดต่อศีลธรรม วัฒนธรรม และมีเนื้อหาที่แสดงถึงการมีเพศสัมพันธ์ เห็นอวัยวะเพศในลักษณะลามกอนาจาร
ตัวอย่างฉากสุดสยิวที่ผ่านเซ็นเซอร์

กำลังโหลดความคิดเห็น