xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องย่อ "ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล

บทละคร : ปริดา มโนมัยพิบูลย์
กำกับการแสดง : พันพัสสา ธูปเทียน
กำกับและประพันธ์ดนตรี : ร.ศ. จารุณี หงส์จารุ
วาทยากร : พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง
ออกแบบและกำกับลีลา : ปริญญา ต้องโพนทอง
ออกแบบเครื่องแต่งกาย : โกมล พานิชพันธ์
ออกแบบและควบคุมด้านการแต่งหน้า - ทรงผม : มนตรี วัดละเอียด
ผู้อำนวยการแสดง : ธิษณา เดือนดาว กรรมการผู้จัดการ บ. มายด์เอ็นแมทเทอร์ส จำกัด
ผู้ดำเนินการจัดสร้างละคร : ธนาคารออมสิน
จัดแสดง : 5 รอบ (วันละ 1 รอบการแสดง) ตั้งแต่วันที่ 18-22 พฤษภาคม 2559 ณ เมืองไทย รัชดาลัย เธียเตอร์ ศูนย์การค้าเอสพลานาด รัชดาภิเษก
ผู้สนใจติดตามรายละเอียด รับบัตรชมฟรี ! www.gsb.or.thหรือ facebook : GSB society หรือ ADDApplicationline ของธนาคารออมสิน เพื่อติดตามข้อมูลในการรับบัตรเข้าชม

โครงเรื่อง

ละครพาผู้ชมย้อนกลับไปสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2468 ช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อแห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้คนวุ่นกับการติดต่อค้าขายและการศึกษาสมัยใหม่ ประชาชนต่างตื่นตัวกับการถ่ายทอดความคิดเห็นผ่านหน้าหนังสือพิมพ์

“ชัย”หรือ“หลวงชัยพิเทศ” ข้าราชการหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งคลังออมสิน ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์จนโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว จน “คุณพระบริภัณฑ์รักษา”เจ้านายของชัยส่งตัวไปช่วยงาน “เจ้าพระยาเสนาภักดี”ซึ่งมอบหมายให้ชัยร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์ “เวนิสวาณิช”ซึ่งจะจัดแสดงในงาน “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์”งานเอ็กซ์โปใหญ่ของประเทศ ชัยดีใจที่หน้าที่การงานของตนกำลังเจริญก้าวหน้า ทั้งยังมีหวังจะได้เลื่อนตำแหน่งในคลังออมสินขึ้นแทนคุณพระที่กำลังจะไปประจำที่ยุโรป แต่ชัยก็ต้องหงุดหงิดกับปัญหาหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องบทความของชัยโดนโต้กลับอย่างเผ็ดร้อนลงหนังสือพิมพ์โดยผู้เขียนปากกาว่า “นิรนาม”และยังมาเจอกับ “เทิด”หรือ “ร้อยเอกหลวงเทิดบดินทร” นายทหารรักษาวังที่เปิดฉากเป็นอริกันตั้งแต่วันแรกที่พบที่เลวร้ายที่สุดคือพ่อแม่จะจับคลุมถุงชนให้ชัยแต่งงานกับกุลสตรีจากครอบครัวข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

การซ้อมละครเป็นไปอย่างทุลักทุเล ในขณะที่ชัยเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีความเชื่ออย่างสุดโต่งว่าการพัฒนาชาติอย่างตะวันตกจะพาให้สยาม “ศิวิไลซ์” เทิดกลับเห็นตรงกันข้าม แม้ว่าทั้งคู่มีสิ่งที่เหมือนกันคือความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่กลับไม่ได้เข้าใจพระวิสัยทัศน์อย่างแท้จริงเลย นอกจากนี้ยังมีตัวป่วนคือ “นายทองคำ”พ่อค้าคหบดีและ“แม่กำไล” ผู้เป็นลูกสาว ที่มาก่อความวุ่นวายในการซ้อมละคร ชัยถูกมอบหมายให้ซ้อมละครเป็นนางปอร์เชีย ตัวละครหญิงในบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่องเวนิสวาณิช ทำให้เทิดเยาะเย้ยไม่สิ้นสุด โชคยังเข้าข้างเมื่อเจ้าพระยาเสนาภักดีมอบหมายให้ “ประยงค์” มารับบทเป็นนางปอร์เชียแทน

ชัยจำได้ว่าประยงค์คือหญิงสาวที่ตนเคยแย่งซื้อหนังสือพิมพ์ในวันที่บทความของ “นิรนาม” ออกวันแรก ชัยและ“นิรนาม”ผลัดกันนำเสนอบทความในมุมมองของตน ชัยเริ่มยอมรับว่ามุมมองของ “นิรนาม” เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศไม่ต่างจากตน จากคู่แข่งจึงเริ่มจะกลายเป็น “สหาย” แต่กับอริอย่างเทิดนั้นความขัดแย้งยังคงเดิม ไม่ว่าจะพบเจอกันที่ใด ทั้งสโมสร ร้านก๋วยเตี๋ยวราชวงศ์ หรือแม้แต่ที่คลังออมสิน ณ ศุลกสถาน (โรงภาษี)ชัยและเทิดต่างก็ไม่มีใครยอมกันจนความขัดแย้งลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การซ้อมละครเป็นไปด้วยความทุลักทุเล ความหวังของชัยเริ่มคลอนแคลนเมื่อได้พบว่า ตนอาจไม่ได้เลื่อนตำแหน่งในคลังออมสินอย่างที่คาดไว้ชัยถูกติดสินบนโดยกลุ่มชายแปลกหน้า ให้เขียนบทความสนับสนุนการหาผลประโยชน์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชัยเข้าใจว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือเจ้าพระยาเสนาภักดีและมัวแต่กังวลกับเรื่องนี้จนลืมไปว่าต้องดูตัวสตรีที่พ่อแม่หมั้นหมายไว้ให้ แม้พยายามจะหลีกเลี่ยงแต่ชัยก็ต้องไปจนได้ซึ่งทำให้ชัยพบว่า แท้จริงหญิงสาวที่ตนถูกบังคับให้แต่งงานด้วยคือประยงค์ชัยมีโอกาสได้รู้จักประยงค์มากขึ้น ทำให้ชัยเริ่มมองประยงค์ในมุมที่เปลี่ยนไป

เทิดสารภาพรักกับประยงค์ และต้องอกหักเมื่อสังเกตเห็นว่าแท้จริงแล้วผู้ที่ประยงค์มีความรู้สึกที่ดีให้คือชัย เทิดได้เห็นเหตุการณ์ที่ชัยถูกขมขู่ เทิดจึงไปสืบหาความจริงแล้วได้พบว่า แท้จริงแล้วเจ้าพระยาเสนาภักดีร่วมวางแผนกับเสือป่าเพื่อจับตัวคนร้ายเพื่อจะสาวไปถึงขุนนางระดับสูงที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ชัยสืบหาความจริงเรื่องนิรนามเพื่อจะเตือนว่า นิรนามตกอยู่ในอันตรายเช่นเดียวกับตน และได้พบว่าแท้จริง นิรนาม คือประยงค์ ทั้งสองเป็นห่วงซึ่งกันและกันมาก

ในวันซ้อมฉากสำคัญ เจ้าพระยาเสนาภักดีเทิด และเสือป่าต่างดำเนินการตามแผนที่วางไว้ โดยมีประยงค์ซึ่งได้ทราบแผนในเช้าวันนั้นเองยอมเป็นตัวล่อคนร้ายให้ ในเวลาเดียวกันชัยได้ทราบข่าวร้ายจากคุณพระว่าตนเองพลาดหวังจากตำแหน่งที่คลังออมสิน ชัยมั่นใจว่าเป็นเพราะเขาล่วงรู้ความลับของเจ้าพระยาสนาภักดีและตั้งใจจะเปิดโปงเพื่อความถูกต้องและความยุติธรรม ในระหว่างการซ้อมนั่นเอง ชัยซึ่งไม่รู้แผนการใดๆ ก็แอบซุ่มจับตัวมือปืนที่จะลอบยิงประยงค์และบังคับให้เจ้าพระยาเสนาภักดีสารภาพการกระทำด้วยความเข้าใจผิดของชัยทำให้มือปืนเกือบหนีรอดไปได้ โชคดีที่เสือป่าเข้าคุมสถานการณ์ไว้ได้ ทุกคนได้พบว่าคนว่าจ้างมือปืนคือนายทองคำ กำไลขอให้พ่อยอมสารภาพ ในที่สุดนายทองคำก็ยอมที่จะให้การถึงขุนนางระดับสูงผู้อยู่เบื้องหลังการฉ้อราษฎร์บังหลวงนี้ชัยโกรธมากที่เหตุใดตนจึงไม่ทราบแผนการแต่ผู้เดียว และได้ทราบว่าเป็นเพราะเทิดไม่ยอมบอกทั้งที่เจ้าพระเสนาภักดีสั่งให้ชัยร่วมแผนการด้วย ชัยและเทิดจึงมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงจนแทบจะลงไม้ลงมือกัน ประยงค์เข้าห้ามจนกลายเป็นร่วมทะเลาะไปด้วยอีกคนหนึ่งในที่สุดเจ้าพระยาเสนาภักดีจึงต้องเข้าปราม

เจ้าพระยาเสนาภักดีสั่งสอนทั้งสาม โดยยกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นแบบอย่างเมื่อพระองค์ทรงต้องรับศึกสองด้าน ทั้งจากขุนนางยุคเก่าที่เสียประโยชน์จากการผลัดแผ่นดิน และจากคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชถึงขั้นจะลอบปลงพระชนม์ มีกลุ่มคนกล่าวหาว่าในหลวงทรงโกงแผ่นดิน ทั้งที่ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อกอบกู้สถานการณ์ แต่ในที่สุดก็ทรงพาสยามรอดพ้นวิกฤตการณ์มาได้เรื่องเล่านี้ทำให้เทิด ชัย ประยงค์สะเทือนใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก และเรียนรู้ที่จะเปิดใจและเข้าใจอีกฝ่าย ที่แม้ความคิดจะไม่ลงรอยกันแต่ก็มีจุดยืนเดียวกันคือความตั้งใจดีต่อประเทศชาติและความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ วันเวลาผ่านไป แต่สิ่งที่สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงริเริ่มไว้ อาทิ คลังออมสิน ยังคงยืนหยัดท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลก และได้เติบโตผ่านกาลเวลาจวบจนถึงวันนี้

คาแร็กเตอร์นักแสดง

ประยงค์ (หนูนา - หนึ่งธิดา โสภณ)
ลูกผู้ดีเก่า อายุ 18 ปี พ่อเป็นท่านเจ้าคุณ รับราชการให้กับล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 แต่เป็นสาวยุคใหม่ มีการศึกษา ฉลาดเฉลียวหัวก้าวหน้า ต่อต้านขนบเป็น feminist

ชัย - หลวงชัยพิเทศ (อาร์ม - กรกันต์ สุทธิโกเศศ)
อายุ23 ปี ข้าราชการหนุ่มไฟแรง หัวก้าวหน้าบ้านทำการค้าร่ำรวย มีความมั่นใจในตัวเองสูง ทะเยอทะยาน

เทิด - ร้อยเอกหลวงเทิดบดินทร (รอน-ภัทรภณ โตอุ่น)
ทหารรักษาวังหนุ่ม อายุ 24 ปี มีใจรักพระมหากษัตริย์และรักชาติมาก หน้าตาหล่อเหลา มีเสน่ห์ ที่บ้านตระกูลเก่าแก่เป็นทหารรับใช้ชาติมาหลายชั่วคน ชาตินิยม

เจ้าพระยาเสนาภักดี (จิ๊บ- วสุ แสงสิงแก้ว)
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำงานคลังออมสิน รักแผ่นดิน รักพระเจ้าอยู่หัว ลุ่มลึก มองการณ์ไกล เป็นคนซื่อสัตย์ เห็นประโยชน์แผ่นดินเป็นสำคัญ

แม่ประยงค์ - คุณหญิงเยื้อน (ปาน-ธนพร แวกประยูร)
อายุ 35-40 ปี เกิดตระกูลผู้ดีเก่าแก่มาหลายสมัย เป็นหญิงไทยทุกกระเบียด แต่หัวสมัยใหม่ อยากให้ลูกสาวและครอบครัวอยู่ดีกินดี รักษาหน้าตาทางสังคม จึงอยากให้ลูกสาวแต่งงานกับชัย เพราะเป็นครอบครัวร่ำรวยและอนาคตไกล

พระบริภัณฑ์รักษา (แอ๊ด -ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย)
นายของชัยอายุ 30 กว่าปี เป็นผู้รับผิดชอบดูแลคลังออมสิน เชี่ยวชาญด้านการเงินและธนาคาร เป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกลฉลาด สุขุม บริหารจัดการเก่ง และมีคุณธรรมเป็นตัวอย่างของข้าราชการที่ดี

นายทองคำ (อ้น-เลอวิทย์ สังสิทธิ์)
คหบดีค้าไม้ พ่อหม้าย อายุระหว่าง 50 ปี มาจากชาวบ้านที่ทำธุรกิจจนร่ำรวยพยายามเกาะขุนนาง หรือตระกูลผู้ดีเพื่อยกระดับตนเอง สร้างบารมีให้คนเคารพนับถือ เป็นคนเอะอะมะเทิ่ง กะล่อน ฉลาดแกมโกง โลภมาก

นางสาวกำไล (ชลเลขา ละงู)
ลูกสาวคนเดียวของนายทองคำ อายุไล่เลี่ยกับประยงค์ มีความฝันที่จะใช้ชีวิตที่ดีพร้อมทั้งเงินทองและยศศักดิ์ หมายปองเทิด บ้านๆ ซื่อๆ เป็นคนจิตใจดี

เจ้าสัวซ้ง (จ้อน-ธานี พูนสุวรรณ)
อายุ 50 ปี เป็นลูกหลานจีน เกิดในสยาม บรรพบุรุษมาตั้งรกรากตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 3 แล้วทำการค้าขายค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวย พอใจที่ลูกชายได้รับราชการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท อยากให้ลูกได้มีครอบครัว มีหน้าที่การงานที่ดี เป็นคนอารมณ์ดี เปิดเผย

แม่ชัย - คุณนายหยก (ดร. สุกัญญา สมไพบูลย์)
อายุ 40 ปีพบกับพ่อของชัยที่เมืองไทยช่วยกันทำมาค้าขาย
จนสร้างตัวได้ร่ำรวยเป็นผู้หญิงที่ดูแลสามีและลูกเป็นอย่างดีทำงานหนักเป็นคนอารมณ์ดีฉลาดจิตใจดี

พ่อประยงค์ - พระยาปรีชาราชกิจ (แม็ก-เทพธนะ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา)
อายุ 40-45 ปี ผู้ดีเก่า อยู่ในตระกูลที่รับราชการมาหลายสมัย
ท่านเจ้าคุณรับราชการอยู่กระทรวงธรรมการ เกรงเมียนิดๆ อยากให้ลูกแต่งงานกับชัยซึ่งเป็นข้าราชการอนาคตไกล มีอนาคตและรวยมาก

นางผิน (ใบตอง-ภัฎฎารินทร์ อิงคุลานนท์)
บ่าวคนสนิทของประยงค์อายุ 20 กว่าๆ แก่กว่าประยงค์เล็กน้อย เป็นลูกสาวแม่นมของประยงค์ จึงมีฐานะสูงกว่าบ่าวอื่นในบ้านผินถูกเลี้ยงโตมาด้วยกันกับประยงค์จึงมีความสนิทสนมผูกพันกันคล้ายเป็นพี่น้องมากกว่าบ่าวกับนาย ติดตามประยงค์ตลอดจึงทำให้พออ่านออกเขียนได้ แต่ชอบงานบ้านงานเรือนมากกว่าเพราะมีความเชื่อแบบสตรีไทยยุคเก่าว่าสตรีต้องพึ่งพาบุรุษ และใจหายใจคว่ำทุกครั้งที่ประยงค์ทำอะไรแผลงๆ เช่น เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์หรือเล่นละคร



















กำลังโหลดความคิดเห็น