เปิดม่านการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับละครเพลงสร้างชาติแห่งปี “ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” จัดโดยธนาคารออมสิน เนื่องในโอกาสครบ 103 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 องค์พระผู้ทรงสถาปนาธนาคาร
โดยได้อัญเชิญพระราชสมัญญานาม “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ซึ่งมีความหมายว่า “มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์” มาเป็นมงคลนามในการจัดสร้างละครเพลง
“ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” เป็นเรื่องราว “ความรัก อุดมการณ์ และความภักดี” โดยละครจะนำผู้ชมย้อนกลับไปสัมผัสบรรยากาศในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เห็นความเป็นไปของบ้านเมืองผ่านตัวละครต่างๆ ได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในเวลานั้น อีกทั้งยังทรงให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกราษฎรในเรื่อง “อุดมการณ์ความรักชาติ” ผ่านพระราชดำรัสและบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ ทั้งบทละคร บทความในนสพ.หรือแม้แต่นาฏกรรม จนรัชสมัยของพระองค์ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยุค “ละครสร้างชาติ” และละครเพลงเฉลิมพระเกียรติ “ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” ก็จะได้นำขนบ “ละครสร้างชาติ” กลับมาให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำประทับใจอีกครั้ง โดยน้อมนำส่วนหนึ่งของบทพระราชนิพนธ์ อาทิ “ความรัก” จากบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “เวนิสวาณิช” และโคลงภาษิตนักรบโบราณ ที่มีผู้นำมาใส่ทำนองจนกลายเป็นเพลงที่คุ้นหู ก็ได้นำมาใส่ไว้ในละครด้วย
ละครเปิดฉากด้วยภาพความงดงามของบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 6 “หลวงชัยพิเทศ” หรือ “ชัย” (รับบทโดย อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ) ข้าราชการหนุ่มไฟแรง หัวก้าวหน้า มีความมั่นใจในตัวเองสูง หรืออีกบทบาทคือ เจ้าของนามปากกา “อันโตนิโย” ผู้เขียนบทความวิพากษ์การเมืองในหนังสือพิมพ์จนได้รับการกล่าวขาน อีกฟากหนึ่ง “ประยงค์” (รับบทโดย หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ)หญิงสาวหัวก้าวหน้า เฉลียวฉลาด มีการศึกษา และคิดว่าผู้หญิงสามารถยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชาย แถมยังเป็นเจ้าของนามปากกา “นิรนาม” ที่มักจะตอบโต้ข้อเขียนของชัยอย่างเผ็ดร้อน โดยไม่เคยมีใครรู้ว่าเจ้าของนามปากกา นิรนามแท้จริงแล้วคือใคร เมื่อทั้งคู่เจอกันก็กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมา นอกจากนี้ ชัย ยังเป็นอริกับ “เทิด” หรือ “ร้อยเอกหลวงเทิดบดินทร” (รับบทโดย รอน- ภัทรภณ โตอุ่น) นายทหารรักษาพระองค์ที่ไม่ถูกชะตากันตั้งแต่วันแรกที่พบ ทั้งยังมาตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกันคือ ประยงค์ เรื่องราวรักสามเส้าจึงเกิดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบ เพราะการฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนางระดับสูง แถมทั้งสามคนยังต้องร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์ “เวนิสวาณิช” ซึ่งจะจัดแสดงในงาน “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” งานเอ็กซ์โปใหญ่ของประเทศ การซ้อมละครจึงเป็นไปอย่างทุลักทุเล ในขณะที่ชัยเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีความเชื่ออย่างสุดโต่งว่า การพัฒนาชาติอย่างตะวันตกจะพาให้สยาม “ศิวิไล” เทิดกลับเห็นตรงกันข้าม แม้ว่าทั้งคู่มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่กลับไม่ได้เข้าใจพระวิสัยทัศน์อย่างแท้จริงเลย และแล้วในวันแสดง ชัยเกือบทำให้แผนการณ์ของเจ้าพระยาเสนาภักดี (รับบทโดย จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว) และกองกำลังเสือป่าล้มเหลว เพราะเทิดไม่ยอมบอกชัยเรื่องแผนการจับคนร้ายตัวจริง ชัยและเทิดจึงมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงจนเกือบจะลงไม้ลงมือกัน ประยงค์เข้าห้ามจนกลายเป็นร่วมทะเลาะไปด้วยอีกคนหนึ่ง ในที่สุดเจ้าพระยาเสนาภักดีจึงต้องเข้าปราม
เจ้าพระยาเสนาภักดีสั่งสอนทั้งสาม โดยยกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น แบบอย่าง เมื่อพระองค์ทรงต้องรับศึกสองด้าน ทั้งจากขุนนางยุคเก่าที่เสียประโยชน์จากการผลัดแผ่นดิน และจากคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะล้มล้าง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชถึงขั้นจะลอบปลงพระชนม์ มีกลุ่มคนกล่าวหาว่า ในหลวงทรงโกงแผ่นดิน ทั้งที่ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อกอบกู้สถานการณ์ แต่ในที่สุด ก็ทรงพาสยามรอดพ้นวิกฤตการณ์มาได้ เรื่องเล่านี้ทำให้เทิด ชัย ประยงค์ สะเทือนใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก และเรียนรู้ที่จะเปิดใจและเข้าใจอีกฝ่าย ที่แม้ความคิดจะไม่ลงรอยกันแต่ก็มีจุดยืนเดียวกันคือความตั้งใจดีต่อประเทศชาติและความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ดังคำที่ว่า “อุดมการณ์” แตกต่าง “ความรักชาติ” ไม่ต่างกัน
นอกจากนี้ยังได้นักแสดงมากความสามารถอย่าง ปาน-ธนพร แวกประยูร มารับบท “คุณหญิงเยื้อน” แม่ของประยงค์ และ แอ๊ด-ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย เป็น “พระบริภัณฑ์รักษา” เป็นผู้รับผิดชอบดูแลคลังออมสิน พร้อมด้วยนักแสดงสมทบอีกมากมาย และยังมีทีมงานสร้างสรรค์ที่เป็นมืออาชีพ และมีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อาทิ พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีสากล)พ.ศ.2551 เป็นผู้อำนวยเพลง และวาทยากร อาจารย์ โกมล พานิชพันธ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย มนตรี วัดละเอียด เมคอัพอาร์ทติสชั้นครูออกแบบและควบคุมการแต่งหน้าทรงผม รศ.จารุณี หงส์จารุ เป็นผู้กำกับและประพันธ์เพลง ปริญญา ต้องโพนทอง ออกแบบและกำกับลีลา ปริดา มโนมัยพิบูลย์ เขียนบท พันพัสสา ธูปเทียน เป็นผู้กำกับการแสดง และธิษณา เดือนดาว อำนวยการแสดง
“ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” เปิดการแสดงตั้งแต่วันที่ 18-22 พฤษภาคม 2559 เวลา 19.30 น. ณ เมืองไทย รัชดาลัย เธียเตอร์ ชมฟรี