เปิดม่านการแสดงอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับละครเพลงสร้างชาติแห่งปี “ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นำแสดงโดยนักแสดงมากฝีมือ “หนูนา หนึ่งธิดา-อาร์ม กรกันต์-รอน AF-ปาน ธนพร”
เปิดม่านการแสดงให้ได้ชมกันแล้ว สำหรับละครเพลงสร้างชาติแห่งปี “ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” จัดโดยธนาคารออมสิน เนื่องในโอกาสครบ 103 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 องค์พระผู้ทรงสถาปนาธนาคาร โดยได้อัญเชิญพระราชสมัญญานาม “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ซึ่งมีความหมายว่า “มหาราชผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์” มาเป็นมงคลนามในการจัดสร้างละครเพลง
“ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” เป็นเรื่องราว “ความรัก อุดมการณ์ และความภักดี” โดยละครจะนำผู้ชมย้อนกลับไปสัมผัสบรรยากาศในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เห็นความเป็นไปของบ้านเมืองผ่านตัวละครต่างๆ ได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในเวลานั้น อีกทั้งยังทรงให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกราษฎรในเรื่อง “อุดมการณ์ความรักชาติ” ผ่านพระราชดำรัสและบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ ทั้งบทละคร บทความในนสพ.หรือแม้แต่นาฏกรรม จนรัชสมัยของพระองค์ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยุค “ละครสร้างชาติ” และละครเพลงเฉลิมพระเกียรติ “ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” ก็จะได้นำขนบ “ละครสร้างชาติ” กลับมาให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำประทับใจอีกครั้ง โดยน้อมนำส่วนหนึ่งของบทพระราชนิพนธ์ อาทิ “ความรัก” จากบทพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “เวนิสวาณิช” และโคลงภาษิตนักรบโบราณ ที่มีผู้นำมาใส่ทำนองจนกลายเป็นเพลงที่คุ้นหู ก็ได้นำมาใส่ไว้ในละครด้วย
ละครเปิดฉากด้วยภาพความงดงามของบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 6 “หลวงชัยพิเทศ” หรือ “ชัย” (รับบทโดย อาร์ม กรกันต์ สุทธิโกเศศ) ข้าราชการหนุ่มไฟแรง หัวก้าวหน้า มีความมั่นใจในตัวเองสูง หรืออีกบทบาทคือ เจ้าของนามปากกา “อันโตนิโย” ผู้เขียนบทความวิพากษ์การเมืองในหนังสือพิมพ์จนได้รับการกล่าวขาน อีกฟากหนึ่ง “ประยงค์” (รับบทโดย หนูนา หนึ่งธิดา โสภณ)หญิงสาวหัวก้าวหน้า เฉลียวฉลาด มีการศึกษา และคิดว่าผู้หญิงสามารถยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชาย แถมยังเป็นเจ้าของนามปากกา “นิรนาม” ที่มักจะตอบโต้ข้อเขียนของชัยอย่างเผ็ดร้อน โดยไม่เคยมีใครรู้ว่าเจ้าของนามปากกา นิรนามแท้จริงแล้วคือใคร เมื่อทั้งคู่เจอกันก็กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมา นอกจากนี้ ชัย ยังเป็นอริกับ “เทิด” หรือ “ร้อยเอกหลวงเทิดบดินทร” (รับบทโดย รอน ภัทรภณ โตอุ่น) นายทหารรักษาพระองค์ที่ไม่ถูกชะตากันตั้งแต่วันแรกที่พบ ทั้งยังมาตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกันคือ ประยงค์ เรื่องราวรักสามเศร้าจึงเกิดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบ เพราะการฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนางระดับสูง แถมทั้งสามคนยังต้องร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์ “เวนิสวาณิช” ซึ่งจะจัดแสดงในงาน “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” งานเอ็กซ์โปใหญ่ของประเทศ การซ้อมละครจึงเป็นไปอย่างทุลักทุเล ในขณะที่ชัยเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีความเชื่ออย่างสุดโต่งว่า การพัฒนาชาติอย่างตะวันตกจะพาให้สยาม “ศิวิไลซ์” เทิดกลับเห็นตรงกันข้าม แม้ว่าทั้งคู่มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่กลับไม่ได้เข้าใจพระวิสัยทัศน์อย่างแท้จริงเลย และแล้วในวันแสดง ชัยเกือบทำให้แผนการของเจ้าพระยาเสนาภักดี (รับบทโดย จิ๊บ วสุ แสงสิงแก้ว) และกองกำลังเสือป่าล้มเหลว เพราะเทิดไม่ยอมบอกชัยเรื่องแผนการจับคนร้ายตัวจริง ชัยและเทิดจึงมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงจนเกือบจะลงไม้ลงมือกัน ประยงค์เข้าห้ามจนกลายเป็นร่วมทะเลาะไปด้วยอีกคนหนึ่ง ในที่สุดเจ้าพระยาเสนาภักดีจึงต้องเข้าปราม
เจ้าพระยาเสนาภักดีสั่งสอนทั้งสาม โดยยกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น แบบอย่าง เมื่อพระองค์ทรงต้องรับศึกสองด้าน ทั้งจากขุนนางยุคเก่าที่เสียประโยชน์จากการผลัดแผ่นดิน และจากคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะล้มล้าง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงขั้นจะลอบปลงพระชนม์ มีกลุ่มคนกล่าวหาว่า ในหลวงทรงโกงแผ่นดิน ทั้งที่ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อกอบกู้สถานการณ์ แต่ในที่สุด ก็ทรงพาสยามรอดพ้นวิกฤตการณ์มาได้ เรื่องเล่านี้ทำให้เทิด ชัย ประยงค์ สะเทือนใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก และเรียนรู้ที่จะเปิดใจและเข้าใจอีกฝ่าย ที่แม้ความคิดจะไม่ลงรอยกันแต่ก็มีจุดยืนเดียวกันคือความตั้งใจดีต่อประเทศชาติและความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ดังคำที่ว่า “อุดมการณ์” แตกต่าง “ความรักชาติ” ไม่ต่างกัน
นอกจากนี้ยังได้นักแสดงมากความสามารถอย่าง ปาน ธนพร แวกประยูร มารับบท “คุณหญิงเยื้อน” แม่ของประยงค์ และ แอ๊ด ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย เป็น “พระบริภัณฑ์รักษา” เป็นผู้รับผิดชอบดูแลคลังออมสิน พร้อมด้วยนักแสดงสมทบอีกมากมาย และยังมีทีมงานสร้างสรรค์ที่เป็นมืออาชีพ และมีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ อาทิ พลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีสากล)พ.ศ.2551 เป็นผู้อำนวยเพลง และวาทยากร อาจารย์ โกมล พานิชพันธ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย มนตรี วัดละเอียด เมคอัพอาร์ทติสชั้นครูออกแบบและควบคุมการแต่งหน้าทรงผม รศ.จารุณี หงส์จารุ เป็นผู้กำกับและประพันธ์เพลง ปริญญา ต้องโพนทอง ออกแบบและกำกับลีลา ปริดา มโนมัยพิบูลย์ เขียนบท พันพัสสา ธูปเทียน เป็นผู้กำกับการแสดง และธิษณา เดือนดาว อำนวยการแสดง
“ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” เปิดการแสดงตั้งแต่วันที่ 18-22 พฤษภาคม 2559 เวลา 19.30 น. ณ เมืองไทย รัชดาลัย เธียเตอร์ ชมฟรี