xs
xsm
sm
md
lg

ทองเนื้อเก้า ตอนที่ 14 จบบริบูรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทองเนื้อเก้า ตอนที่ 14 อวสาน

ผ่านเวลาไปนานเกือบ 15 ปี เย็นวันนี้จะมีงานวัด ชาวบ้านเดินเข้ามาในศาลาใหญ่ พระวันเฉลิมในวัย 25 ปีนั่งบนธรรมมาสน์ ชาวบ้านใบหน้ายิ้มแย้มต่างนั่งพนมมือตั้งใจฟังเทศน์มหาชาติ
ผ่านเวลาหลังพระเทศน์จบ ชาวบ้านต่างแยกย้ายกลับไป วิมลขยับเข้ามาถวายสังฆทาน
"หลวงตาท่านเป็นยังไงบ้างเจ้าค่ะท่าน"
"ท่านเดินไม่ไหวแล้ว โยมคุณยาย ต้องกระถดเอา จะเข้าห้องน้ำก็ต้องช่วยกันประคองแต่สุขภาพทางอื่นท่านไม่มีปัญหาอะไร สายตากับความจำท่านดีมากครับ"
"นับว่าท่านมีบุญนะเจ้าคะ"
"หลวงตาท่านพูดเสมอว่าท่านไม่ต้องการเป็นภาระของใครครับ"
"สาธุ ขอให้ท่านแข็งแรงอยู่ไปนาน ๆ จะได้เป็นที่พึ่งของเด็ก ๆ แถวนี้นะเจ้าคะ"
"นี่คุณโยมสมฤดียังไม่กลับจากอเมริกาเหรอครับ"
"เจ้าค่ะ นี่ก็ใกล้จะเรียนจบแล้ว หนูสมเธอบอกว่ากลับมาอยากเป็นอาจารย์"
พระยิ้มน้อยๆภาคภูมิใจในสิ่งที่สมฤดีคิดช่วยเหลือสังคม

ยายแล ผมขาว กินหมาก ฟันดำ สภาพแก่มาก เดินหลังค่อมผ่านชีวิตที่เหนื่อยล้ากำลังถูพื้น เก็บของที่ครัวอย่างตั้งอกตั้งใจ พระวันเฉลิมเดินเข้ามา มองยายอย่างพอใจ
"เหนื่อยก็พักบ้างเถอะโยมยาย"
ยายแลหันมา ยกมือไหว้พระ
"อีกนิดเดียวก็เสร็จแล้ว ไม่เหนื่อยหรอกเจ้าค่ะ"
"หักโหมเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพนะครับโยมยาย"
"ทั้งชีวิตที่ผ่านมา อิฉันปล่อยเวลาให้มันผ่านไปอย่างไม่มีประโยชน์อะไรเลย อิฉันอยากจะชดเชยเวลาที่หายไปเจ้าค่ะ จะให้ไปนั่งภาวนาอย่างคนอื่นเขาอิฉันคงไม่มีปัญญา"
"การทำงานทุกอย่างอย่างมีสติ ก็เท่ากับได้ฝึกปฏิบัติธรรมแล้วละโยมยาย"
"สาธุ .ตะก่อนมาวัด อิฉันแค่มาบนบาลศาลกล่าวขอให้ตัวเองถูกหวยรวยเบอร์ แต่ตอนนี้อิฉันรู้แล้วว่า อิฉันต้องการอะไร อย่างที่ท่านสอนน่ะแหละเจ้าค่ะ บุญก็ส่วนบุญ บาปก็ส่วนบาป ไม่มีทางหักกลบลบหนี้กันได้ แต่เวลาที่เหลือน้อยนิดของอิฉัน อิฉันขออุทิศให้พระศาสนาเจ้าค่ะ"
"อนุโมทนา โยมยาย"
สันต์, เทวีเดินเข้ามา ไหว้แล และไหว้พระ
"ใกล้สอบแล้วใช่ไหมครับท่าน"
"ครับ จบมหาจุฬาแล้ว ถ้าไม่มีอะไรให้ห่วง ผมกะว่าจะไปเรียนต่อทีอินเดีย"
"สาธุ" เทวีบอก
"ผมอยากรู้อยากเห็นให้แน่ใจ หลวงพี่อาจารย์ภาษาอังกฤษผมท่านแนะนำว่า ถ้าผมได้อยู่อินเดียสักปีสองปีผมจะรู้ซึ้งแก่นของพระศาสนา ผมจะได้รู้แน่แก่ใจว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงตรัสรู้ที่นั้น และนรกที่ผมเคยอยู่ที่ห้องแถวนั้น ที่แท้ยังไม่ใช่นรกแต่เป็นโลกธรรมดา ๆ บนแดนดิน แม้จะไม่เคยเห็นสวรรค์แต่ชีวิตเป็นสุขของผมเมื่อเล็ก ๆ ที่แท้แล้วเป็นสวรรค์ชั้นฟ้าไม่มีความทุกข์ทรมานอะไรจะมาแผ้วพานผมได้อีก ไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่ผมจะเรียนรู้ได้เท่าที่นั่น"
"พ่อขออนุโมทนากับท่านด้วย"

กิจการเรือนปั้นขยายใหญ่ ปั้นวางมือปล่อยให้ ลำยงค้าขาย ลูกค้าผลัดกันแวะมาซื้อของ ลำดวน กับ ชุดวิ่งวุ่น ลำดวนยังขี้บ่นเหมือนเดิม และโวยวายมาก ไม่ต่างจากยายแลในอดีต
อ้อยที่เป็นสาวเต็มที่โผล่หน้าออกมาว๊อบแว๊บหลบๆซ่อนๆเขินอาย ปั้น คุยกับพระวันเฉลิมอยู่
"มันก็พอช่วยงานเล็กๆน้อยๆได้เจ้าค่ะ หยิบของขายลูกค้า คิดเงิน ทอนเงินน้อยๆพอได้อยู่ แต่เลขหลักสิบน่ะไม่แน่ใจหรอกเจ้าค่ะ คิดผิดทุกที"
ลำยงเดินออกมาพอดี เห็นอ้อยทำคิกคัก ลับๆล่อๆ
"มายืนทำอะไรอยู่ตรงนี้วะนังอ้อย"
"หล่อจังเลย หล่อๆๆ หล่อจริงๆ"
"อะไรของเอ็ง"
อ้อยปิดเขินไปทั้งตัว ลำยงมองตามสายตาอ้อย จึงได้เห็นพระ
"ปัดโธ่อีนังคนนี้ ไปกราบพระหลวงพี่ท่านรึยัง"
อ้อยยิ้มหน้าแดง ส่ายหน้า ลำยงลากแขนอ้อยออกมาไหว้พระ อ้อยหลบหลังลำยง แต่อารมณ์บนหน้าเก็บไม่มิด
"โยมน้องอ้อย"
อ้อยสะดุ้งหัวใจลิงโลด
"จ๋า"
"อยู่ที่นี่ช่วยโยมน้าขายของนะ"
"จ้ะ"
พระอุ้มบาตรเดินจากไป อ้อยยั้งอารมณ์ตัวเองไม่อยู่
"เอ็งเป็นอะไร นังอ้อย" ปั้นถาม
อ้อยกุมนมข้างซ้าย
"ในนี้มันเต้น มันเต้นแร๊งแรง"
ปั้นแปลกใจ
"มันยังไงของมันวะ นังคนนี้"
"สงสัยมันแน่นอก" ลำดวนบอก
"ต้องยกออก นั่นด้วย ยกออกมาเลย" ชุดบอก
ชุดไม่ได้คุยกับลำดวน แต่บอกลูกค้าให้ยกถังออกมาเลย

บนกุฏิ เด็กๆ 5-6 คนนั่งฟังนิทานชาดกจากหลวงตาปิ่นกันอย่างตั้งอกตั้งใจ นิทานเรื่องพญาช้างเผือกเลี้ยงแม่จบลง
"นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความกตัญญูต่อพ่อแม่ นำความสุขความเจริญและเป็นเกราะป้องกันภัยให้เราได้เสมอ"
เด็กๆ บอก
"เอาอีก หลวงตาเล่าอีก"
เหน่งเดินเข้ามาบอก
"พอแล้ว วันนี้หลวงตาเหนื่อยแล้ว วันหลังค่อยมาฟังต่อ ไปช่วยกันเก็บขยะรอบๆวัดก่อนไป" เด็กๆพากันออกไป หลวงตาปิ่นเหยียดขาด้วยความปวดเมื่อย
"หลวงตาพักบ้างเถอะครับ เดี๋ยวก็ไม่สบายไปอีก นิทงนิทานไม่ต้องเล่าแล้ว เหนื่อยเปล่าๆ"
"ไอ้เหน่ง เอ็งมาบังคับหลวงตายังงี้ ก็เท่ากับบังคับไม่ให้หลวงตาหายใจนั่นแหละ"
"ผมไม่ได้พูดยังนั้นซะหน่อย หลวงตา"
"เอ็งฟังให้ดีๆ ในเมื่อหลวงตายังทำประโยชน์ได้ หลวงตาก็จะทำต่อไป เอ็งจะมาบังคับให้หลวงตานั่งๆ นอนๆ เหมือนผักหญ้าหมาหมูไม่ได้หรอกโว้ย"
"นิทานหลวงตา เด็กพวกนั้นมันฟังรู้เรื่องรึเปล่าก็ไม่รู้"
"ไม่รู้เรื่องแล้วมันจะนั่งฟังกันจนจบเหรอวะ"
พระวันเฉลิมบอก
"เหน่ง ยังไงก็ยังดีกว่าปล่อยให้ไปวิ่งเล่นมั่วสุมกันเล่นการพนัน ทอยกอง ล้อต๊อกมันไม่ดีหรอก อย่างน้อย นิทานของหลวงตาก็ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ดีขึ้นนะ"
หลวงตาปิ่นบอก
"ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก จะสร้างคนให้เป็นคนเต็มคน มันก็ต้องสร้างกันตั้งแต่เป็นเด็กๆนี่แหละ เดี๋ยวนี้คนเป็นพ่อแม่มันมีเวลาอบรมกันซะที่ไหน อ้างแต่ต้องทำมาหากิน ขอบใจเอ็งที่เป็นห่วงหลวงตา แต่ให้อยู่ว่างๆ เฉยๆ มันรำคาญว่ะ จะนอนอะไรนักหนา นอนทุกคืนมาชั่วชีวิตแล้ว อีกไม่นานก็จะนอนตลอดกาล แล้วจะรีบร้อนพักผ่อนไปทำไม ยังไงๆ ก็ได้นอนไม่ตื่นฟื้นไม่มี กันทุกคนแหละน่า"
เหน่งออกจะใจเสีย ที่หลวงตามามุขนี้ พระวันเฉลิมเข้าใจหลวงตาดี

ชุดขูดมะพร้าวมือเป็นระวิง ลำดวนฉีกใบตองเตรียมใช้ห่อข้าวต้มมัด ลำยงเตรียมกล้วยน้ำว้า อ้อยทำลับๆล่อๆ แกะไข่เค็มสุก กินไข่แดงอย่างเอร็ดอร่อย
"นังอ้อย" ลำดวนเรียกเสียงดัง
อ้อยสะดุ้งสุดตัว ไข่เค็มหลุดมือร่วงลงพื้น แต่ไข่แดงคาเต็มปาก
"เอาอีกแล้วนะเอ็ง ขโมยกินไข่เค็มอีกแล้ว มันอร่อยนักหนารึไงวะนังอ้อย ของซื้อของขายนะโว้ย ทุนหายกำไรหดหมด"
"ช่างหัวมันเหอะ ฟองสองฟองจะเป็นไรไป" ลำยงบอก
"มันควักกินแต่ไข่แดง ไข่ขาวมันทิ้ง เสียของน่ะสิ"
"ไข่แดงอร่อย ไข่ขาวไม่อร่อย"
"ทำงานให้มันคุ้มกับที่กินหน่อยโว้ยนังอ้อย มาช่วยฉีกใบตองนี่" ลำดวนบอก
อ้อยขยับมานั่งเผละลงข้างลำดวน แหกแข้งขา เห็นไปถึงไหนต่อไหน
"เฮ้ยๆ นั่งให้มันดีๆ เห็นไปถึงไส้ถึงพุงหมดแล้ว"
อ้อยกระพือผ้าถุง
"ก็มันร้อน"
"ไปอยู่โรงเรียนตั้งหลายปี เขาไม่ได้สอนมันเรื่องนี้รึไงวะ" ชุดถาม
"แล้วคืนนี้ใครจะไปขายกะเอ็งลำดวน สองทุ่มข้าก็ต้องเข้านอนแล้วนะ ไม่งั้นพรุ่งนี้ตื่นสายแหงๆ"
"ก็ต้องเอานังอ้อยไปช่วยแหละ ไปรึเปล่านังอ้อย งานวัดคืนนี้"
อ้อยตอบแบบไม่ต้องคิดเลย
"ไปๆๆไปงานวัด"

ผ่านเวลาเย็นใกล้ค่ำ มัคทายกวัดรายงานพระ
"ชาวบ้านดีใจมีงาน ต่างมีความสุข ตั้งแต่ท่านจบเปรียญ ชาวบ้านต่างพากันเข้าวัดทำบุญมากขึ้น นี่ก็พากันดีใจที่จะมีงานวัด 7 วัน 7 คืน"
พระวันเฉลิมบอก
"การทำอะไรให้คนมีความสุข ก็ส่งผลมาถึงตัวเรานะโยม"
พระพูดจบเดินไปทางโบสถ์

เวลากลางคืน คนเดินเที่ยวงานวัดมากมาย ลำดวนแหกปากขายข้าวต้มมัด อ้อยตื่นตาตื่นใจ ผู้คนละลานตาไปหมด
"หล่อจัง คนนั้นก็หล่อ คนโน้นก็หล่อ"
"นังอ้อย หยิบถุงมา...นังอ้อย"
อ้อยมัวแต่ชะเง้อมองตามคนหล่อ ลำดวนรำคาญ จัดแจงหยิบถุงเอง ขายของลูกค้าจนเสร็จ
"ตื่นคนรึไงมึง หูตึงไปเลย"
อ้อยยิ้มท่าทางมีความสุข
"มาก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย จะไปไหนก็ไปไป"
ลูกค้าเข้ามาซื้อขนม ลำดวนหันกลับไปวุ่นวายกับการขายของ อ้อยเดินออกไปปะปนกับผู้คน

มุมหนึ่งในวัด อ้อยเดินตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศงานวัด บริเวณซุ้มยิงปืน ตุ๊กตาโดนยิงล้ม
อ้อยโผล่เข้ามาดูอย่างสนใจ วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งยิงปืน ได้รางวัลเป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงน่ารัก วัยรุ่นเกี่ยงกันรับตุ๊กตา จนตุ๊กตาหล่นลงพื้นตรงหน้า อ้อยเก็บตุ๊กตาขึ้นมา ยิ้มดีใจเปิดเผย กลุ่มวัยรุ่นสะกิดกันอย่างมีนัย
"มาเที่ยวคนเดียวเหรอน้อง"
อ้อยพยักหน้า รู้สึกอายจังที่มีคนหล่อคุยด้วย อ้อยเสียดายตุ๊กตาอย่างเห็นได้ชัด กอดเอาไว้แน่น
ยายแลในสภาพไม่ค่อยแข็งแรง เดินมาถึงร้านลำดวน ลำดวนขายข้าวต้มมัดลูกค้ามือเป็นระวิง
"ขายดีนี่หว่า ลำดวน"
"รู้งี้ทำมาเยอะกว่านี้ก็ดี"
"อ้าวแล้วนี่นังอ้อยมันไปไหน"
"มันก็คงเดินอยู่แถวนี้แหละแม่"
"เอ็งปล่อยมันไกลหูไกลตาได้ยังไง"

"มันคงไม่โง่ขนาดกลับมาไม่ถูกหรอกแม่"

แลเดินมองหาอ้อย เห็นหลานจะตามผู้ชายแต่ละคนไป บางคนมากับแฟนไม่สนใจ บางคนมาทำแหย่อ้อย
"นังอ้อย"

วันใหม่ ปั้นอึ้งงันหลังจากได้ฟังเรื่องที่เกิดขึ้น ทุกคนมองไปที่อ้อยที่นอนเอกเขนกฟังละครวิทยุ อารมณ์เพ้อฝันอยู่ ยายแลส่ายหน้า
"ลำดวนเอ๊ย เอ็งคอยดูมันหน่อย พอเย็นๆข้ากลับจากวัด จะมาเอามันไปนอนที่บ้านด้วย"
ลำดวนบ่น
"แม่ วันๆฉันก็ขายของไม่มีว่าง"
ลำยงบอก
"เออ มันก็ไม่ได้ยุ่งขนาดนั้นนี่หว่า ลำดวน ช่วยๆ กันมันไม่หนักหนาหรอก แม่ก็ไม่ค่อยสบาย ห่วงตัวเองบ้างหละ"
"ข้าก็อดห่วงหลานๆมันไม่ได้"
ยายแลมองอ้อย
"เลือดแม่มันแรง อีกหน่อยก็คงเจริญรอยตามกัน"
ปั้นห้าม
"อย่าพูดอย่างนั้นยัยแล ลำยองมันก็ตายไปนานแล้ว เราอย่าเอาบาปไปป้ายให้เด็กมันเลย ฉันว่าประวัติศาสตร์มันไม่มีทางซ้ำรอยหรอก ถ้าเราคอยดูแลอ้อยมันดีๆ อย่าปล่อยให้ไกลหูไกลตา ยังไงก็กันเอาไว้ดีกว่า แก้ทีหลัง"
ปั้นหันมองอ้อยที่กรี๊ดกร๊าดกับเจ้าชายในฝันในละครวิทยุ

พระวันเฉลิมเดินเข้ามาเหน่ง
"ทำอะไรล่ะเหน่ง"
"เย็บรองเท้าครับหลวงพี่"
"ของมันเก่ามากแล้ว เราพอมีตังค์ทำไมไม่ซื้อใหม่ล่ะ"
"หลวงตาสอนว่าเราอย่ายึดติด และท่านเล่าว่า ตอนหลวงพี่เด็กๆ รองเท้าหลวงพี่เก่ามาก แต่ก็ยังไปไหนมาไหนด้วยรองเท้าเก่าๆคู่เดียว ไอ้คู่นี้ยังพอใส่ได้ ผมก็เลยซ่อมใส่ไปก่อนครับ"
พระวันเฉลิมดูแล้วยิ้ม
"ฝีมือดีนี่...ชอบทำงานฝีมือนะเรา"
"ทำแล้วเพลินดีครับ"
"ดีแล้ว ชอบทำอะไรก็ทำให้เต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ ความจริง เหน่งไปเรียนต่อสายอาชีวะก็ดีนะ เรียนประกอบอาชีพโดยตรง วันข้างหน้าก็ทำกิจการของตนเอง จะได้เลี้ยงชีพได้"
เหน่งเหมือนถูกจุดประกายความคิด หูตาบรรเจิดขึ้น
"หลวงพี่ว่าผมจะทำได้จริงๆเหรอครับ"
"ขอให้ตั้งใจแน่แน่ว ไม่มีอะไรที่เหน่งจะทำไม่ได้หรอก"

ลำยงบอกพระวันเฉลิม
"วันๆมันก็หมกตัวอยู่แต่ในห้องมันแหละเจ้าค่ะ ไม่รู้ทำอะไรของมันนักหนา"
พระนั่งบนเก้าอี้ ปั้นนั่งพื้น
ลำยงเดินไปตะโกนเรียกที่ตีนบันได
"จิตรา ได้ยินไหมวะเนี่ย พระหลวงพี่ท่านมาหา"
จิตราเดินลงมาหน้าตาไม่มีความสุข
"กว่าจะเสร็จลงมาได้"
พระมองน้องสาวอย่างเมตตา จิตราไหว้พระ แล้วนั่งก้มหน้าก้มตา
"จะจบมอศอสามแล้ว จิตราคิดเอาไว้รึยังจะเรียนอะไรต่อ"
"ไม่รู้"
"จิตราคิดว่าตัวเองชอบทางไหนล่ะ"
"ไม่รู้"
"เอ๊ะนังคนนี้อะไรก็ไม่รู้ๆ ซักอย่าง หลวงพี่ท่านอุตส่าห์เป็นห่วงมาถามไถ่อนาคตของตัวเองแท้ๆนะโว้ย" ลำยงว่า
"ก็หนูไม่รู้จะเรียนไปทำไม เรียนไปมันก็เท่านั้น เอาดีอะไรไม่ได้หรอก นอกจากไปเป็นคนงานในโรงงานแถวนี้"
"ก็ถ้าเอ็งมีวิชาความรู้ติดตัว มีทางเลือกไม่ต้องไปเป็นคนงานเขาไง" ปั้นบอก
จิตราก้มหน้านิ่ง
"แล้วได้คุยกับเพื่อนๆบ้างไหม ว่าใครจะเรียนต่ออะไร"
"ลูกอีผู้หญิงขี้เมา เอาแต่เล่นไพ่ หลายผัวจนเป็นบ้าอย่างหนู หลวงพี่คิดว่ายังจะมีใครหน้าไหนคบเป็นเพื่อนอีกเหรอ"
พระวันเฉลิมอึ้งเมื่อรู้ความในใจน้อง จิตรายกมือไหว้พระ แล้วลุกเดินจากไปทันที
"มีแต่คนล้อมันเรื่องแม่ มันถึงไม่คบใครเลยเจ้าค่ะท่าน"
"เวรกรรมแท้ๆ" ปั้นรำพึง

สีหน้าพระมีความกังวล

ยามดึก อ้อยแอบย่องออกจากมุ้ง ออกไปนอกบ้าน เดินตามมองผู้ชาย และเข้าไปร่วมในซุ้มรำวง ยายแลเดินเข้ามาเรียกอ้อย เงียบจนน่าแปลกใจ ยายแลรีบเปิดไฟสว่างขึ้น จึงได้เห็นประตูเปิดอ้าทิ้งไว้ ยายแล ตามหาอ้อย ในมุมต่างๆของวัดที่ยังมีงานรื่นเริงอยู่จนเหนื่อยอ่อน
"นังอ้อย นังอ้อย"
ยายแลมองหาไปจนทั่วแทบถอดใจ แล้วเห็นอ้อยอยู่ในซุ้มรำวง

เรือนแพปั้น เวลากลางคืน ทุกคนกลุ้ม
"ดีนะที่แกตามไปทัน ไม่งั้นล่ะก็..." ปั้นว่า
"เห็นเงาแม่มันเลยนะเนี่ย" ลำดวนบอก
"ข้าละกลุ้มใจจริงๆ ไม่รู้มันจะแอบหนีไปอีกเมื่อไหร่ แล้วถ้าไม่มีใครตามไปเจอมันล่ะ"
"ก็มันว่างจัดไง มันถึงหมกมุ่นแต่เรื่องผู้ชาย" ลำยงบอก
"งั้นก็หาอะไรให้มันทำ" ปั้นว่า
"ก็ดีนะมีอะไรทำก็จะได้ไม่ว่าง" แลบอก
ลำดวนถาม
"แล้วจะให้มันทำอะไรดีล่ะแม่"
ขณะที่ทุกคนกำลังกลุ้มใจ แต่อ้อยกินไข่เค็ม
"อร่อยจังเลย อร่อย ๆ ๆ"

เช้าวันใหม่ พระวันเฉลิมเดินบิณฑบาตมาจนถึงหน้าบ้าน ยายแลห่มผ้าขาวม้าหน้าตาอิดโรยเป็นไข้รอใส่บาตรอยู่ ยายแลใส่บาตรพระจนเสร็จ พระให้พร พระเดินจากไป
ยายแลขยับลุกขึ้นอย่างลำบาก เพราะปวดข้อปวดกระดูก อาการหน้ามืดจู่โจมกะทันหัน จนเซและล้มลงหมดสติ ขันข้าวตักบาตรกลิ้งโค่โร่ พระเดินจากไปไกลลิบ

พระวันเฉลิมดูแล หลวงตาฉันเช้าเสร็จ
"ขอบใจท่านมากนะ อุตส่าห์ดูแลหลวงตามาตั้งหลายปี"
"หลวงตาเลี้ยงผมมาตั้งแต่เล็ก เท่าที่ผมตอบแทนหลวงตามันยังน้อยกินไปด้วยซ้ำครับ"
"ฝากด้วยนะท่าน นับวันสังคมมันก็ย่ำแย่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ทางไหนที่จะช่วยกันประคับประคองจิตใจเด็ก ๆ รอบ ๆ วัดนี้ไม่ให้หลงไปในทางที่ผิดได้ ท่านก็ช่วยด้วยเถอะ ให้เด็ก ๆ ได้เห็นด้วยปัญญาว่า วิถีแห่งพุทธะคือหนทางแห่งความสุขสงบโดยแท้"
"หลวงตาไม่ต้องห่วงหรอกครับ หลวงตาเลี้ยงดูสั่งสอนผมมายังไง ผมก็จะทำอย่างนั้นครับ"
"แล้วเจ้าเหน่งไปไหนละเนี่ย"
หลวงตาปิ่นยิ้มอย่างหมดกังวล
พระวันเฉลิม เดินมาที่ครัวเห็นเหน่งนั่งร้องไห้
"เหน่งเป็นอะไร"
"มีคนมาบอกโยมยายตายแล้วครับ"
"ปลงซะเถอะเหน่ง เกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดาของโลกไม่มีใครหนีพ้น ไม่เว้นแต่ตัวเรา"
พระวันเฉลิมปลงตกเห็นเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดาโลก

เรือนแพปั้น ไข่เป็ดดิบถูกใส่ลงในโหลแก้วทีละฟอง อ้อยบรรจงเรียงไข่เป็ดใส่โหลอย่างมีสมาธิ
"ยี่สิบ ยี่สิบเอ็ด ยี่สิบสอง เมื่อกี้นับไปเท่าไรแล้วะ เอาใหม่ๆ"
อ้อยหยิบไข่เป็ดขึ้นมานับใหม่ พระวันเฉลิมยืนดูอ้อย อยู่กับลำยง ลำดวน
"มันชอบขโมยกินไข่เค็มนัก น้าก็เลยสอนให้มันทำไข่เค็มขายซะเลย มันจะได้มีรายได้เลี้ยงตัวเองด้วย มันจะได้ไม่ไปสนใจเรื่องผู้ชายให้ปวดหัว"
"น้องอ้อยท่าทางมีความสุขกับงานนี้ดีนี่ครับ"
"เดี๋ยวนี้นับเลข บวกลบเลขหลักร้อยได้แล้ว ตั้งแต่บ้าทำไข่เค็มนี่" ลำดวนบอก
"ดีแล้วละครับ ผมต้องขอบคุณน้าลำยง น้าลำดวนมากที่เมตตาน้องอ้อย"
"ยังไงมันก็หลาน อีกอย่างเห็นมันแล้วก็อดนึกถึงแม่พ่อวันไม่ได้ ถ้าเขายังอยู่ ยังไงเขาก็คงไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมหรอก"
พระวันเฉลิมเดินเข้าไปหาอ้อย
"ขายดีไหมน้องอ้อย"
"ขายดี...ไข่เค็มน้องอ้อย อร่อย ชิมไหมๆ แต่อันนี้ยังไม่เค็มต้องอันนี้"

อ้อยวิ่งมาเอาไข่เค็มไปให้พระวันเฉลิมอย่างภูมิใจนำเสนอ

ทองเนื้อเก้า ตอนที่ 14 อวสาน (ต่อ)

วันหนึ่ง แป้งเอาของที่ได้จากการขายยามาบริจาคให้กับวัด พระวันเฉลิมมองของที่ได้มาจากเงินผิดกฎหมาย แต่พอแป้งหันหลังจะกลับ มีเสียงปืนดัง แป้งถูกมือปืนยิงตายดับอนาถ ต่อหน้าพระวันเฉลิม พระได้แต่ปลงและแผ่เมตตาให้

ทางด้านจิตรายังนั่งก้มหน้านิ่ง ไม่สบตาใครเหมือนเคย เทวีนั่งใกล้กับสันต์
"อาว่าถึงเวลาที่หนูต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเรียนอะไรต่อ" เทวีบอก
"คิดให้ดี ๆ จิตรา เรียนอะไรที่เป็นอาชีพได้...ทำมาหากินได้ น่าจะดีที่สุด" สันต์บอก
"หนูไม่รู้"
ปั้นถาม
"ก็ไหนเอ็งว่าครูเอ็งเขาว่า เอ็งน่าจะเรียนพยาบาลไง"
"หนูไม่รู้...หนูว่าหนูคงทนเรียนไม่ได้"
"ทำไมล่ะจิตรา"
"หนูเกลียดคนป่วย บ้านนี้มีแต่คนป่วย ไหนจะแม่ ไหนจะตา พี่อ้อยอีก หนูเกลียด"
พระวันเฉลิมนิ่งอึ้ง
"แม่นอนครางเป็นบ้า น้ำเหลืองเต็มตัว กลิ่นน้ำเหลือง กลิ่นขี้ กลิ่นเยี่ยว มันติดจมูกหนูมาจนถึงวันนี้ ถ้าหนูต้องเรียนพยาบาล หนูคงเป็นพยาบาลที่แย่ที่สุด"
พระวันเฉลิมมองน้องอย่างเห็นใจ ปั้นเอื้อมมือมาลูบหลังจิตราปลอบใจ
"งั้นเรียนครูดีไหมจิตรา" เทวีถาม
"หนูไม่รู้"
ทุกคนเหมือนจะจนใจ ไม่รู้จะโน้มน้าวยังไงแล้ว
พระวันเฉลิมบอก
"โลกใบนี้มีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมายมหาศาล หลายสิ่งอยู่ไกลตัวเราเกินไป แต่สิ่งที่อยู่ใกล้ อยู่รอบๆตัวเรามันจะเกิดจากความขี้เกียจที่จะรู้ ทุกสิ่งบนโลกใบนี้ สอนให้เรารู้ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครสอนให้เรารู้ได้คือ ตัวเราเอง หนูพยายามที่จะไม่…. พยายามที่จะไม่เข้าใจตัวเอง"
"หนูเกลียดแม่"
"หนูเกลียดแม่ เพราะแม่เป็นแบบนั้น เพราะเพื่อนล้อ หนูไม่ได้เกลียดแม่จริง เพราะตอนแม่ป่วยหนูยังเด็ก หนูจำอะไรไม่ได้หรอก หนูเป็นทุกข์เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เพื่อนล้อต่างหากล่ะ"
"หนูควรจะทำอย่างไรค่ะ"
"ที่เมืองเมืองนึง มีลิงเยอะมาก ลิงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านเพราะชอบขโมยผลไม้ในสวนพอจะไล่จับลิง ลิงก็ปีนต้นไม้หนีได้อย่างรวดเร็ว ชาวบ้านจึงคิดวิธีจับลิง โดยใช้กล่องไม้ ซึ่งมีฝา เจาะรูเล็กๆ พอให้ลิงสอดมือเข้าไปได้ ในกล่องมีถั่ว ซึ่งเป็นของโปรดของลิงวางเป็นเหยื่อล่อไว้ ลิงพอมาที่สวน เห็นถั่วในกล่อง เอามือหยิบถั่ว แต่พอเอามือออกมาก็ติดอยู่ในกล่อง เพราะกำมือของลิงที่กำถั่วไว้ใหญ่กว่ารูที่ฝากล่อง ลิงพยายามดึงมือเท่าไหร่ก็ดึงไม่ออก ชาวบ้านก็เข้ามาจับ ลิงจะหนีก็หนีไม่ได้ เพราะมีมือข้างเดียว หนูว่าลิงจะหนีได้ต้องทำอย่างไร"
"คลายมือที่กำถั่วออกก็หนีได้แล้วค่ะ"
"เพียงแค่คลายสิ่งที่ยึดติดออกซะบ้าง ปัญหาก็จะคลี่คลาย เค้าเรียกว่าปล่อยวาง บ่อยครั้งการปล่อยวางไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเท่านั้น หากเป็นทางออกจากปัญหาเลยทีเดียว"
"เรียนครูก็ดีนะจิตรา ครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติเพราะต้องแบกภาระในการอบรมสั่งสอนเด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของชาติให้เป็นคนดีของสังคม เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละเพื่อคนอื่นไม่แพ้อาชีพอื่นหรอก เรียนครูดีนะจิตรา ครูจะสอนให้หลุดพ้นจากคำว่าไม่รู้ .เหมือนหนูไง"
จิตราที่ค่อย ๆ เงยหน้าขึ้นมองพระหลวงพี่อย่างเชื่อฟัง

สีหน้าพระวันเฉลิมเต็มไปด้วยความเมตตา

ภายในบ้านยายแลที่เหน่งเข้ามาอยู่ เริ่มทำกิจการรองเท้า เหน่งเอารองเท้ามาวาง ปานเดินเข้ามาค่อยๆเปิดประตู ชะโงกมอง เหน่งเดินมาเห็น
"มาหาใครครับ"
ปานมองรองเท้า
"ใส่ไม่ได้หรอกครับ มันยังทำไม่เสร็จ"
"บ้านยัยแลใช่มั๊ย"
"รู้จักยายด้วยเหรอครับ"
ปานมองอ้อยกับเหน่ง
"ยายตายแล้วครับ ตาตายก่อน แล้วยายก็ตายตาม"
"แม่ พ่อ"
เหน่งงง
"พี่เป็นใครเนี่ย"

พระวันเฉลิมดีใจที่ปานพ้นโทษออกมา
"น้าปานเป็นน้องแม่น่ะเหน่ง สวัสดีโยมน้าปาน"
"ไอ้วัน นี่เอ็งหรอวะ นี่เอ็งบวชไม่สึกเลยหรอวะเนี่ย"
"พูดกับพระอยู่นะน้า" เหน่งบอก
ปานยกมือไหว้
"เออ ขอโทษครับ อยู่คุกมานาน อย่าถือสาคนพึ่งออกจากคุกเลยครับ"
"ไม่เป็นไรหรอกโยมน้า เหน่งเป็นน้องของอาตมาเป็นลูกของโยมแม่อีกคน โยมแม่เสียชีวิตแล้วครับ โยมน้าปาน"
"อะไรมันเปลี่ยนไปเยอะเลยนะ"
"เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่มีใครเอาชนะธรรมชาติได้หรอกโยมน้า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งกรรม"
"น้าทำกรรมไว้กับคนอื่นเยอะ ชาตินี้คงชดใช้ไม่หมด ออกจากคุกมา 3 เดือนกว่าแล้ว ไม่กล้ากลับบ้าน หางานทำแต่พอเค้ารู้ว่าออกจากคุกก็ไม่รับ เคยคิดจะไปปล้นเค้าอีก พอนึกถึงความโหดร้ายที่เคยเจอในคุก ก็ทำให้ขยาดกลัว ไม่กล้าละ เลยตัดใจกลับมาบ้าน ว่าจะมาพึ่งพ่อพึ่งแม่ แกก็ไม่อยู่แล้ว ไม่รู้จะทำยังไง"
"โยมน้าปานได้เข้าใจถึงความกลัวที่จะทำบาปแล้ว สาธุ เหน่ง เห็นบ่นว่างานเยอะทำไม่ทันใช่มั้ย"
"ครับหลวงพี่"
พระยิ้มมอง ปานยิ้ม
"ขอบใจนะ เออ แล้วนี่พี่ลำยงกับพี่ลำดวนไปอยู่ไหนล่ะ"

พระเดินนำหน้ามา ลำดวน ลำยง ชุด ขายของอยู่
"โยมน้าครับ มีคนมาหา"
ลำยงเงยหน้าจำน้องชายได้

"ไอ้ปาน"

บนกุฏิหลวงตาปิ่น เทวีถามพระวันเฉลิม
"ท่านจะไม่รอให้มหาวิทยาลัยทางโน้นตอบรับกลับมาก่อน ค่อยเดินทางไปเหรอเจ้าคะ"
"อาตมาคงไม่รอหรอกโยม ในเมื่อตั้งใจจะไปแล้ว ถึงทางมหาลัย เขาจะไม่รับอาตมาเข้าเรียนก็ไม่เป็นไร อย่างน้อย อาตมาก็ขอให้ได้ไปเห็นกับตาว่าประเทศอินเดียเป็นยังไง"
สันต์หยิบซองปัจจัยขึ้นมาจบจะถวาย
"พ่อขอถวายปัจจัยช่วยค่าใช้จ่ายท่านนะครับ"
พระทอดผ้าลงรับปัจจัย
"ค่าใช้จ่ายที่โน่นคงไม่สูงมาก ผมกะว่าลงเครื่องบินที่กัลกัตตาแล้วจะใช้เดินเท้าเป็นหลัก ผมอยากเห็น อยากสัมผัสผู้คนให้ได้มากที่สุด"
"ท่านต้องดูแลตัวเองให้ดีๆนะครับ"
"โยมพ่อไม่ต้องห่วงหรอกครับ ผมรู้ว่าการเดินทางครั้งนี้ เป้าหมายของผมคืออะไร"

บ้านยัยแลดูสะอาดสะอ้านขึ้น เพราะกลายเป็น โรงงานขนาดเล็ก เย็บเครื่องหนัง มีสินค้าบางส่วนแขวนโชว์ขายหน้าร้านด้วย ปานเป็นลูกมือช่วยเหน่งอย่างขมีขมัน พระวันเฉลิมยื่นเงินปึกนึงให้เหน่ง
"เงินอะไรครับ"
"หลวงพี่ให้เหน่งไว้ทำทุน จะได้ซื้อจักรเย็บตัวใหม่ ซื้อเครื่องมือ ซื้อหนังมาเย็บเอง ไม่ต้องรับจ้างเถ้าแก่ฮวดเขาอย่างเดียว เหน่งเป็นคนมีฝีมือ น่าจะสร้างอะไร ๆ เป็นของตัวเองได้แล้ว"
"ผมเกรงใจครับ หลวงพี่ นี่มันน้ำพักน้ำแรงของหลวงพี่"
"รับไปเถอะ หลวงพี่ไม่ได้เดือดร้อนอะไร หลวงพี่อยากขอบใจเหน่งด้วยซ้ำไป ที่อย่างน้อยก็รับน้าปานมาอยู่ด้วย ไม่อย่างนั้นแกคงเคว้งคว้าง"
เหน่งไหว้พระวันเฉลิมและรับเงินมา
"ขอบคุณครับหลวงพี่วัน"
"วันที่เหน่งประสบความสำเร็จนั่นแหละ จะเป็นวันที่หลวงพี่มีความสุขที่สุด สร้างตัวเองให้แข็งแรง วันข้างหน้าเหน่งจะได้เป็นที่พึ่งของคนอื่นต่อไป"

ยายวิมลพาสมฤดีมาถวายสังฆทานที่วัด วิมล สมฤดีกราบพระวันเฉลิมที่นั่งมอง
"หนูสมเรียนจบแล้วค่ะ มาถึงก็รีบไปรายงานตัวที่มหาวิทยาลัยเลย" วิมลบอก
"ดิฉันได้ทุนจากมหาวิทยาลัยไปเรียนต่อ เลยต้องกลับมาใช้ทุนที่นี่ล่ะค่ะ วันแรกที่ต้องไปรายงานตัว แต่พอดีอาจารย์ที่นั่นต้องย้ายออก เลยได้สอนแทนตั้งแต่วันแรก เลยยังไม่ได้มากราบท่านสักที"
"บ่นทุกวันว่าอยากมาหาท่าน เนี่ยก็เพิ่งมีโอกาส"
"ครูเป็นอาชีพของคนมีบุญนะโยม สอนคนได้แต่บุญ คุณโยมสมฤดีคอยทำบุญตักบาตรตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ต้องเป็นครูที่ดีได้แน่ อาตมาอนุโมทนาสาธุด้วย"
"ที่ว่าท่านเขียนหนังสืออยู่ เสร็จหรือยังคะ" วิมลถาม
"เสร็จแล้ว อาตมาส่งให้ทางสำนักพิมพ์พิจารณา เขาตีกลับมา อย่างว่าเค้าไม่แน่ใจว่า จะมีคนซื้อหรือเปล่า"
"ใจร้ายจัง"
"ตั้งแต่เด็ก อาตมาโตด้วยนิทานของหลวงตา อยู่อย่างมีสติและรู้ตัวได้ เพราะนิทานของหลวงตากลั่นเกลาจิตใจเอาไว้ อาตมาเลยเขียนนิทานที่สอดแทรกธรรมะ คำสอนของศาสดา พระพุทธเจ้าที่อ่านเข้าใจง่าย ให้เด็กได้อ่านกัน"
"สาธุ เป็นบุญของเด็ก ๆ ที่จะได้อ่าน"

"ดิฉันรู้จักโรงพิมพ์ที่พิมพ์ตำราให้ที่มหาวิทยาลัย ถ้าเอางานไปให้เขาดู เขาน่าจะสนใจนะคะ"

ทองเนื้อเก้า ตอนที่ 14 อวสาน (ต่อ)

พระวันเฉลิมมาบอกเรื่องเขียนหนังสือกับสันต์และเทวี

"โรงพิมพ์พวกนี้ เค้าไม่สนใจเรื่องว่าจะขายได้ไม่ได้ ถ้าเป็นตำราหรือหนังสือไขความรู้ เค้าพิมพ์ให้หมดละค่ะ" เทวีบอก
"อย่างไรเด็กๆที่อ่านหนังสือ อาจจะเป็นแสงสว่างเล็กๆให้กับเค้าได้ เวลาที่เจออุปสรรค จะได้มีทางออก"
"หนูสมก็ได้บุญไปด้วยนะ" สันต์บอก
"พิมพ์แล้วย่าขออ่านเล่มนะคะ คนแก่อ่านได้รึป่าว" ปั้นว่า
"ได้ครับโยมย่า อ้อ...โยมน้าเทวีครับ โยมสมฤดีชวนผมไปสอนวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัย ผมควรไปมั้ยครับ"
"ก็ดีนะคะ"

ทางเดินมหาวิทยาลัย วันใหม่ พระวันเฉลิมขอบคุณสมฤดีที่ชวนมาเป็นอาจารย์ พระวันเฉลิมเริ่มต้นสอนหนังสือนักศึกษาปริญญาตรี และเย็นวันนั้นเอง ...
อภิชาติถูกต่อยล้มลงกับพื้นอย่างแรง อภิชาติในอาการเมานิดๆ บ้าเลือดลุกขึ้นมาได้ก็โถมเข้าใส่คู่กรณีอย่างบ้าคลั่งอย่างมวยวัด ทั้งสองฝ่ายซัดกันนัวเนีย สาว ๆ ตกใจถอยหนีกันกระเจิง คนอื่น ๆ ไม่มีใครคิดจะขัดขวางการทะเลาะเบาะแว้ง
พระวันเฉลิมผ่านมาเห็นเหตุการณ์พอดี รีบเข้ามา
"หยุดเดี๋ยวนี้ บอกให้หยุด ใครก็ได้ไปตามเจ้าหน้าที่มา"
คู่กรณีผละออกจากอภิชาตที่นอนคลุกฝุ่น หมดสภาพ
"พวกคุณ นักศึกษาปริญญาตรีใช่ไหม"
แต่ละคนหน้าจ๋อยยอมรับโดยปริยาย
"น่าละอายที่ใช้กำลังตัดสินปัญหา ไม่สมกับเป็นผู้ได้รับการศึกษาเลย"
คู่กรณีบอก
"ไอ้หมอนั่นมันเป็นคนเริ่มก่อน ถ้าท่านจะตำหนิก็ต้องตำหนิมันโน่นครับ"
อภิชาติเสื้อแสงหลุดลุ่ย กระดุมเสื้อขาด เนื้อตัวมอมแมมไม่แพ้แผลบนหน้า ลุกขึ้นทุลักทุเล แล้วเดินเซออกไป วันเฉลิมมองตามอภิชาติ
นักศึกษาหญิงบอก
"เขาเมา เธอไปถือสาทำไม"
"หมั่นไส้มันมานานแล้ว มันนึกว่ามันเป็นลูกคนรวยแล้วไง"
พระวันเฉลิมเห็นกระเป๋าตังค์ตกอยู่ที่พื้น จึงเดินไปเก็บขึ้นมา
"ของใคร"
"ไม่ใช่ของผม ของไอ้บ้านั่นแหละ"
นักศึกษาพากันแยกย้ายสลายตัวเข้าเรียน พระวันเฉลิม มองกระเป๋าอยู่ที่เท้า กระเป๋าเปิดเผยให้เห็นบัตรนักศึกษาที่มีชื่อ นามสกุล พระวันเฉลิมชะงัก มองตามอภิชาติไป

มุมหนึ่งในมหาวิทยาลัย อภิชาติที่นั่งก้มหน้า ไม่คิดแม้แต่จะเช็ดเลือดบนหน้า พระวันเฉลิมก้าวเข้ามาและยื่นกระเป๋าเงินคืนให้อภิชาติ
"ของคุณ"
อภิชาตดึงกระเป๋าเงินไปจากมือพระวันเฉลิม
"ที่นี่เป็นสถาบันการศึกษา คุณเมาเหล้ามาเรียนหนังสือก็นับว่าแย่แล้ว ยังก่อการทะเลาะวิวาทอีก"
"ก็ทำเรื่อง ไล่ออกซะเลยสิ ผมก็ไม่ได้อยากเรียนนักหรอก"
"คุณทุกข์ใจอะไรนักหนา คุณอภิชาติ"
"คุณรู้จักชื่อผมได้ยังไง อ้อ..แอบเปิดดูในกระเป๋าละสิ"
"เพื่อนคุณเค้าบอก บ้านคุณฐานะก็ร่ำรวย ทำไมคุณถึงทำตัวตกต่ำสร้างปัญหาแบบนี้"
"มันเรื่องของผม"
"คุณไม่คิดว่า พ่อแม่คุณเขาจะเสียใจเหรอ ที่คุณทำตัวอย่างนี้"
"ไม่สำคัญหรอก ผมมันไม่ได้มีความหมายอะไรกับเขา ผมมันก็แค่กาฝากตัวนึง ที่เขาจะเหยียบย่ำดูถูกยังไงก็ได้"
"พระพุทธเจ้ายังโดนเหยียบย่ำดูถูกเลย นับภาษาอะไรกับคน"
"ท่านจะมาสอนอะไรผมเนี่ย"
"คิดถึงป๊าของคุณให้มากๆ คุณเป็นลูกชายคนเดียวของเขา เป็นความหวังของตระกูลแท้ ๆ คุณกลับทำให้เขาผิดหวัง ทำให้คนที่เกลียดคุณ อิจฉาคุณ สมน้ำหน้าเอาได้"
"คุณรู้ได้ยังไงว่าผมเป็นลูกชายคนเดียว คุณพูดเหมือนรู้จักผมดี คุณเป็นใครกันแน่"
"ผมชื่อวันเฉลิม บ้านอยู่ฝั่งธน ในซอยหลังโรงงานกาละมังเคลือบ ผมรู้จักป๊าของคุณ"
"ถ้ายังงั้น คุณก็ต้องรู้ว่า สันดานผมมันเป็นยังงี๊ ก็เพราะเลือดแม่ผมมันแรง ผมมันมีแต่เลือดชั่วๆของแม่"
ความเงียบปกคลุมไปทั่วบริเวณ อภิชาตสะเทือนใจตัวเอง น้ำตาคลอ แต่ก็ฝืนสลัดไล่มันทิ้ง พระวันเฉลิมสะเทือนใจ แต่ก็ยินดีที่อภิชาตเปิดใจออกแล้ว
"แล้วไง"
"ผมโดนพวกพี่สาวล้อมาตั้งแต่เด็กแล้ว"
อภิชาติน้ำตาร่วงแล้วพูดต่ออย่างอัดอั้น
"พวกเขาพูดกรอกหูผมทุกวันว่า ผมมันไม่ใช่สายเลือด เดียวกับเค้า ผมมันเป็นลูกอีผู้หญิงบ้า ขี้เมา เอาแต่เล่นการพนัน จนขายลูกกิน ตอนเด็กๆ ผมเคยเอาก้อนหินขว้างใส่คนบ้าคนหนึ่งที่มานอนหน้าโรงงานป๊า คนบ้าคนนั้นละแม่ผม ผมเป็นลูกคนบ้าลูกอีขี้เมา"
"ลูกคนบ้า ลูกคนขี้เมาจะเป็นอันธพาลต่อยตีกับชาวบ้าน เรียนไม่จบโดนไล่ออก อนาคตจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ สร้างความวุ่นวายให้กับพ่อ หรือจะเป็นคนที่ตั้งใจเรียน เรียนจบแล้วช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน จนร่ำรวยมั่งคั่ง สร้างความภูมิใจให้กับพ่อเค้าก็เป็นลูกคนบ้าคนขี้เมาอยู่ดี อยู่ที่เค้าเลือกจะเป็นลูกคนบ้า คนขี้เมาที่เป็นนักบุญ หรือลูกคนบ้าคนขี้เมาที่เป็นโจร"

พระวันเฉลิมปล่อยให้อภิชาติระบาย ความทุกข์ในใจออกมาจนหมด อภิชาติร้องไห้อย่างเจ็บปวด เจ็บแค้น กดดัน พระวันเฉลิมเอื้อมมือไปที่บ่าของอภิชาติอย่างให้กำลังใจ
"คุณมีทางเลือกสองทาง ถ้าอยากให้คนที่เขาเกลียดคุณ หัวเราะเยาะคุณตลอดไป คุณก็ทำตัวอย่างที่ทำนี่แหละ แต่ถ้าคุณอยากให้พวกเขาหุบปากหน้าม้านไปเอง คุณต้องพิสูจน์ให้พวกเขาได้เห็นว่า คุณก็มีดี ประสบความสำเร็จทั้งการเรียน และงานที่ทำ อดีตที่มาของคนเรา ไม่สำคัญเท่าสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันหรอก คุณอภิชาติ"
พระวันเฉลิมเดินจากมา

พระวันเฉลิมกำลังลองสวมรองเท้าหนังใหม่เอี่ยมอยู่
"ใส่สบายดี ฝีมือดี นี่สู้รองเท้ายี่ห้อดัง ๆ ได้สบายเลยนะเหน่ง"
"คู่นี้ผมให้หลวงพี่วัน"
"เอาเก็บไว้ขายเถอะ พี่มีรองเท้าแล้วตั้งสองคู่"
"แต่สีน้ำตาล พี่ยังไม่มี ผมรู้"
"เหน่งมันตั้งอกตั้งใจเย็บให้โดยเฉพาะเลย อย่าขัดศรัทธามันเลยท่าน" ปานบอก
"ตกลง ขอบใจมากนะเหน่ง"
เหน่งยื่นเงินปึกนึงให้พระวันเฉลิม
"อะไร"
"เงินที่หลวงพี่วันให้ผมยืมมาไงครับ"
"เหน่งเก็บเอาไว้เถอะ"
"ไม่ได้หรอกครับ ยังไงผมก็ต้องคืน ตอนนี้ผมไม่ต้องรับจ้างเถ้าแก่ฮวดแล้ว ผมมีร้านเป็นของตัวเองแล้ว เสาร์อาทิตย์ ก็ไปขายตลาดนัดด้วย ผมมีวันนี้ได้ก็เพราะหลวงพี่วัน"
"ก็เก็บไว้ทำทุนต่อสิเหน่ง ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม จ้างคนงานเพิ่มก็ได้"
"พี่ช่วยผมมามากพอแล้ว พี่เลี้ยงผมป้อนข้าวป้อนน้ำผมมาแต่เล็ก พี่ชี้ทางอนาคตให้ผม จนผมมีวันนี้ได้ ถึงเวลาที่ผมต้องตอบแทนพี่บ้างแล้วครับ"
"ถ้าอยากตอบแทนก็เอาเงินไปซื้ออุปกรณ์เพิ่ม จะได้ช่วยคนที่เค้าตกงานได้มีงานทำ ช่วยให้เขามีค่าน้ำค่าไฟของครอบครัวเค้า ก็เป็นไปได้"
เหน่งมองยิ้มพระวันเฉลิม
"สาธุครับ"

สันต์ , เทวี ยิ้มปลื้มใจดูหนังสือ "พระพุทธเจ้าของหนู" กันอยู่
"หนังสือได้รางวัลรองชนะเลิศการประกวดหนังสือเยาวชน" สันต์ว่า
"อาตมาขอหนังสือจากสำนักพิมพ์มาได้จำนวนนึง อยากฝากอาเทวีเอาไปแจกจ่ายตามห้องสมุดโรงเรียนด้วยครับ"
"ยินดีจ๊ะ อาจะช่วยเอาไปแจกให้หนังสือดี ๆ อย่างนี้ เด็ก ๆ ควรจะได้อ่าน"
ปั้นบอก
"เดี๋ยวนี้ คนในซอยนี้มีแต่สอนลูกสอนหลานให้เป็นคนดี ขยันเรียนหนังสือ จะได้เหมือนหลานย่าปั้น"
"คุณแม่ภูมิใจจังเลยนะคะ"
"ภูมิใจที่สุดในชีวิตเชียวละ ถึงต้องตายก็ไม่เสียดายชีวิตแล้ว"

ภายในมหาวิทยาลัย พระวันเฉลิมคุยกับสมฤดีเรื่องเอาหนังสือไปช่วยบริจาคเสร็จแล้ว ก็หิ้วกระเป๋าลงจากตึก และพบอภิชาติยืนคอยอยู่แล้ว
"ผมมีเรื่องอยากคุยกับคุณ"
วันเฉลิมเดินตามอภิชาติมาถึงมุมสงบ
"ทำไมคุณไม่ยอมบอกแต่แรกว่าคุณเป็นใคร ถึงได้รู้จักผมดีขนาดนี้"
"มันไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย"
"ทำไมจะไม่สำคัญ ในเมื่อผมรู้แล้วว่า คุณคือพี่ชายแท้ๆ ของผม"
"แสดงว่าคุณได้คุยกับป๊าของคุณแล้ว"
"ผมเก็บคำพูดคุณกลับไปคิดอยู่หลายวัน จนในที่สุดผมก็ตัดสินใจเข้าไปคุยกับป๊าอย่างเปิดอก ป๊าบอกให้ผมเลิกน้อยใจในชาติกำเนิดตัวเอง เพราะป๊ารักลูกทุกๆคนเท่าๆกัน ป๊าถึงกับบอกว่า ฟ้าส่งคุณมาโปรดผม ชีวิตคุณลำบากกว่าผมหลายร้อยเท่า แต่คุณก็เอาตัวรอดได้จนได้ดิบได้ดีอย่างทุกวันนี้ แถมยังมาช่วยให้ผมตาสว่างพ้นจากหายนะอีกด้วย ป๊าฝากขอบใจคุณมาด้วยที่ไม่ลืมผม"
"ฟ้าไม่ได้ส่งผมมาโปรดคุณหรอก แต่เพราะคุณมีวาสนาร่วมกับผมมาแต่กาลก่อน ที่สำคัญ คุณเป็นคนที่ผึกหัดได้ คุณมีปัญญาพิจารณาผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตัวคุณเอง"
"ผมขอเรียกคุณว่าพี่ได้ไหม ให้ผมได้อุ่นใจว่า ผมไม่ได้โดดเดี่ยวอยู่บนโลกนี้ตามลำพัง"
"ทำไมจะไม่ได้ล่ะ"
"พี่วัน"
อภิชาติกับพระวันเฉลิมกอดกันแน่น อภิชาตินองน้ำตา ตื้นตันใจ
"พี่วันเล่าเรื่องแม่ให้ผมฟังบ้างได้ไหม ผมไม่เคยมีภาพของแม่ในความทรงจำของผมเลย นอกจากผู้หญิงขี้เมา หยาบคาย เนื้อตัวสกปรก แล้วก็เป็นบ้า อย่างที่ใคร ๆ กรอกหูผมมา"
"ใครจะพูดยังไงก็ช่างเขา แต่สำหรับพี่ที่อยู่กับแม่มาตั้งแต่เกิด ได้ดูแลแม่จนนาทีสุดท้ายของชีวิต...แม่เป็นผู้หญิงที่งดงามที่สุดในสายตาพี่ ต่อให้แม่เป็นอะไรยังไง แม่ก็คือผู้หญิงที่มีพระคุณสูงสุด เพราะแม่คือ ผู้ให้กำเนิดเรา สัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎนี้ กี่ภพ กี่ชาติกันที่จะมีบุญพอที่จะได้เกิดเป็นคน ระลึกไว้เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว"
อภิชาติสงบนิ่งเหมือนดวงตา และดวงใจ ได้เปิดรับสิ่งใหม่ที่ดีงามหมดจด พระวันเฉลิมเอื้อมแขนมาโอบไหล่อภิชาติไว้

อภิชาติยิ้มตอบอย่างตื้นตัน หัวใจพิสุทธิ์

ในเวลาต่อมา เหน่งรีบกระหืด กระหอบเข้ามาที่เรือนแพ
"หลวงพี่วันให้คนไปตามผม มีอะไรรึเปล่า ใครเป็นอะไร"
"ไม่มีใครเป็นอะไรหรอก พี่แค่ต้องตามเหน่งมาให้รู้จักใครคนนึง"
พระวันเฉลิมโอบไหล่เหน่งพามาเผชิญหน้าอภิชาต
"เหน่ง...นี่เฮียเต็ง ชื่อจริง ชื่ออภิชาติ"
เหน่งไหว้อภิชาติทันทีไม่ต้องรอให้แนะนำมากมาย อภิชาติรับไหว้แทบไม่ทัน
"สวัสดีครับ เฮียเป็นเพื่อนพี่วันเหรอครับ"
จิตรา, ลำยง, ลำดวน หัวเราะ จนเหน่งงง
"ไม่ใช่ อาเต็งเขาเป็นน้องชายแท้ๆ ของพี่ เป็นพี่ชายแท้ ๆ ของเหน่ง"
"พี่พูดยังไง ผมงง งง จริงๆๆนะเนี่ย"
"ไม่ต้องงงหรอก แค่เรามีแม่คนเดียวกัน แม่ลำยองไงเหน่ง" อภิชาติบอก
"นี่ นี่ผมมีพี่ชายอีกคนเหรอครับเนี่ย"
พระวันเฉลิมยิ้มพยักหน้า
"โคตรอบอุ่นเลย พวกเรานี่ครอบครัวใหญ่เหมือนกันนะพี่วัน"
"เมื่อกี้พี่บอกทุกคนไป พี่อยากบอกเหน่งอีกที ป๊าพี่พอมีฐานะ ถ้าพวกเรามีปัญหา พี่อยากดูแลอยากช่วยเหลือนะ"
"เริ่มจากวันนี้พาไปดูหนังเลยมั้ยพี่"
ทุกคนหัวเราะกัน บรรยากาศดี สดชื่น อภิชาติเข้ากับน้องๆทุกคนได้อย่างรวดเร็ว พระวันเฉลิมพลอยอิ่มอกอิ่มใจไปด้วย
พระวันเฉลิมประคองพาปั้น จะพากลับขึ้นไปพักผ่อนข้างบน ปั้นหันกลับมามองอีกครั้ง เพราะเสียง หัวเราะเฮฮา ทุกคนนั่งล้อมวงกินข้าวฉลองกัน บรรยากาศอบอุ่น ดูเป็นครอบครัวใหญ่ที่แน่นแฟ้น
"โยมย่าจะนั่งต่อก็ได้นี่ครับ"
"ไม่ละ ย่าคุยไม่ทันเด็กสมัยนี้แล้ว เอนหลังดีกว่า...พ่อวัน"
"ครับโยมย่า"
"ถ้าแม่พ่อวันเขายังอยู่ เขาคงปลื้มใจไม่น้อยนะที่เห็นลูก ๆ รักใครกลมเกลียวกันยังงี้ รักกันให้มาก ๆ ยังงี้ตลอดไปนะลูก ยังไงก็สายเลือดเดียวกัน"
"ครับโยมย่า"
วันเฉลิมพาปั้นขึ้นบันได

บรรยากาศในวงอาหารเวลาต่อมา เต็มไปด้วยความครึกครื้น อ้อยโม้แต่เรื่องทำไข่เค็มของตนไม่ยอมหยุด

ทองเนื้อเก้า ตอนที่ 14 อวสาน (ต่อ)

บริเวณลานวัด ร่มรื่น พระวันเฉลิมลาสมฤดี สันต์ และเทวีเพื่อไปอินเดียตามจุดมุ่งหมาย

ใจกลางเมืองพาราณสี พระวันเฉลิมเดินแสวงบุญปะปนอยู่ท่ามกลางผู้คนอันหลากหลาย บนท้องถนน รถหรูอย่างมหาราชาแล่นปะปนกับรถโกโรโกโส มีพวกคนไร้บ้านนอนอยู่ข้างถนน กลุ่มขอทานรุมวิงวอนขอเงินจากนักท่องเที่ยว
"คุณค่าของการเดินทางมิได้อยู่ที่จุดหมายปลายทาง เพียงอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่ระหว่างทางของการเดินทางมากกว่า ยิ่งเดินทางด้วยการเดินเท้าเราจะพบเจอสิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่เคยได้สัมผัส ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่สถานที่ต่างๆ หากแต่อยู่ที่ผู้คนที่เราได้พบต่างหาก เราได้สำรวจตัวเองอย่างละเอียดลออ เมื่อเหนื่อยล้า ก็ได้สัมผัสถึงความเหนื่อยล้าแทบขาดใจ เมื่อหิวก็ได้สัมผัสถึงความหิว จนเกิดความรู้สึก ว่าคนเรานี้หนอเกิดมาเพื่อหวังสิ่งใดกันแน่ เพียงปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิตยังมิเพียงพอกันอีกหรือ ตะเกียกตะกายทุรนทุรายไปเพื่อสิ่งใด หลายครั้งที่น้ำดื่มเพียงอึกเดียว จากคนที่เราไม่เคยรู้จัก ก็ทำให้ซาบซึ้งถึงน้ำใจอันแสนบริสุทธิ์จากเพื่อนร่วมโลก ในสังคมที่วุ่นวาย สิ่งที่หล่อเลี้ยงที่ทำให้โลกนี้ปกติสุขได้ก็คือ ความรักและเมตตาธรรมโดยแท้"

ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ชาวฮินดูสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้า วิงวอนด้วยการบูชาไฟ มีผู้คนมากมายอาบน้ำด้วยความศรัทธา เด็กแรกเกิดถูกจับอาบน้ำในแม่น้ำสายศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ คนแก่สวดมนตร์อยู่ที่ริมแม่น้ำด้วยความหวังและศรัทธา มีโยคีฝึกโยคะบำเพ็ญเพียรอยู่ริมฝั่ง มิใช่เพียงสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏ ณ สถานที่แห่งนี้ ยังมีศพของคนตายที่ถูกห่อด้วยเสื่อ มีคนแบกมาตามซอกตึกเพื่อลงมาเผาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้ เชื่อกันว่า แม่น้ำคงคาที่มีจุดเริ่มต้นจากมุ่นมวยผมของพระศิวะนี้ ศักดิ์สิทธิ์ และสามารถล้างบาปได้

"ด้วยหัวใจของชาวพุทธ การได้มาสัมผัสสองฝั่งแม่คงคา ทำให้ดวงตาของเราสว่างขึ้น เราเข้าใจแล้วว่า ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะ จึงเสด็จออกบวช ทั้งที่เสวยสุขในพระราชวังมาแต่ประสูติ เราเข้าใจแล้วว่า ทำไมชมพูทวีปแห่งนี้จึงทำให้เกิดศาสดามากมายหลายองค์นัก และศาสดายังถือกำเนิดในดินแดนแห่งนี้อีกต่อไปหลายองค์"

มุมสูงขึ้นไปจากแม่น้ำคงคาแห่งนี้ พระวันเฉลิมกำลังนั่งเขียนสมุดบันทึก ถึงเรื่องราวหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้พบเธอและกระทบความรู้สึก
"ปัจจัยสี่ ของมนุษย์ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค.. แม้เมื่อเราเป็นเด็ก อยู่กับแม่ ผู้มัวเมาในอบายมุข ถึงจะยากจนข้นแค้น ยังไง เราก็ยังมี ปัจจัยทั้งสี่นั้น และยังสามารถ มีปัจจัยที่ห้าได้ด้วย นั่นคือ การศึกษา แต่มนุษย์ร่วมโลกตาดำ ๆ เหล่านี้มีอะไรบ้าง ที่นอนริมถนนน้ำครำ อาหารที่วันทั้งวันอาจจะมีแต่น้ำ ทั้งสัปดาห์ มีอาหารเต็มอิ่มเพียงมื้อเดียว เครื่องนุ่งห่มมีผ้าเตียวเพียงผืนเดียวตลอดชีวิต ยารักษาโรคไม่ต้องพูดถึง"

ภาพขอทาน คนไร้บ้าน กรรมกร ที่ได้เห็นช่างขัดแย้งกับภาพที่ได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง ... โรงแรมหรูหรา ร้านแมคโดนัล ร้านกาแฟสตาร์บัค ร้านอัญมณี เครื่องเพชร ร้านทองที่แสนจะฟู่ฟ่า
พระวันเฉลิมดื่มด่ำไปกับความจริงของชีวิต สงบนิ่ง ภายในเบิกบานด้วยปัญญา เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยแท้

"เราได้เห็น บรรดาเศรษฐี ดารา ผู้มีอันจะกินห่มส่าหรีไหมราคาแพงลิบ อาหารคำหนึ่งที่เข้าปาก บุคคลเหล่านี้ ราคาอาจเท่ากับราคาอาหารตลอดเดือนของคนจนคนหนึ่งภาพความน่าสลดหดหู่เหล่านี้ฝังแน่นเข้าไปจนถึงก้นบึ้งของหัวใจเรา...โลกนี้ช่างเต็มไปด้วยความมืดสลัว และมนุษย์ผู้ทุกข์มากจริงหนอ แต่เมื่อเทียบกับความทุกข์ยากที่เราได้ผจญมา และคิดว่าตัวเอง น่าสังเวชหนักหนามันเป็นเพียงภัสมธุลี เมื่อเทียบกับความทุกข์ทั้งมวลในโลกยากไร้ใบนี้"

พระวันเฉลิม กราบพระประธานในเมืองพาราณสี ภาพพิธีเผาศพที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคายังติดตา วันนั้น ท่านยืนปลงตกอยู่ที่แม่น้ำสายนั้นจนพระอาทิตย์ตกดิน


"จุดสุดท้ายของชีวิตก็คือความตาย ยากดีมีจน อย่างไรก็ไม่มีใครหนีพ้น เราเองคงไม่อาจเป็นศาสดา หรือเป็นนักบวชที่แท้จริงได้แน่แล้ว เพราะเพียงภาพความตายที่ได้เห็นก็ทำให้หัวใจเศร้าหมอง ไม่อาจรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ เช่นพระบรมศาสดาผู้ประเสริฐ เราคงไม่อาจช่วยดึง ผู้ใดให้พ้นอบายได้ หากแม้นอยู่ในผ้าเหลืองต่อไป ก็มีแต่ต้องทับถมภาระให้ญาติผู้ใหญ่และพี่น้องเปล่าๆ"

เมื่อกลับเมืองไทย พระวันเฉลิมได้เข้ากราบพระประธานเพื่อลาสิกขา เจ้าอาวาสทำพิธีปลดผ้าเหลืองที่ครองอยู่ออกจากกาย
"ตัวเราเองยกสูงขึ้นไปในฐานะผู้ทรงศีล อาศัยผ้าเหลือง ว่าได้สร้างกุศลไถ่บาปให้แม่
ให้ใครต่อใครได้ชื่นชมว่าอยู่ในพระศาสนา ช่วยเผยแพร่สัจธรรมของพระพุทธองค์ แต่แท้จริงแล้วไม่ได้ช่วยอะไรใครได้เลย...เป็นได้แต่ภาระอีกภาระหนึ่งของทุกคน"

วันเฉลิมในชุดฆราวาสกราบลาพระประธาน เดินออกจากโบสถ์ เห็นสิ่งปลูกสร้างทางสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ อลังการ แต่ว่าดูแห้งแล้งขาดจิตวิญญาณ บางมุมในวัดเห็นกองพระพุทธธูปชำรุด คอหัก แขนขาด กุมารทอง นางกวักและรูปเคารพแปลกๆ พวงมาลัยพลาสติกสีสด ซากธูปเทียนที่จุดบูชากำใหญ่
"ยิ่งเห็นศาสนสถานใหญ่โต ก็ยิ่งหดหู่ หัวใจของพระศาสนาอยู่ที่ไหนกันแน่...พระธรรมคำสอนขององค์ศาสดามิใช่หรือที่จะช่วยให้จิตสงบและช่วยฝูงชนผู้ทุกข์ยากได้ สิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่อลังการไม่สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้เลย..เราเข้าใจว่าไม่มีใคร ห้ามศรัทธาของผู้คนได้ ศรัทธาของคนสิ้นหวัง ซึ่งสองมือไขว่คว้าหาสิ่งยึดเหนี่ยว แม้เพียงท่อนไม้ลอยน้ำมา ก็ต้องฉวยคว้าไว้"

วันเฉลิมรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันกับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ ซื่อสัตย์ต่อสำนึกภายในใจ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการกลับมาใช้ชีวิตฆราวาสในโลกโลกียะ

                                                                           
                                                                          จบบริบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น