xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวพุทธรัสเซียเอาจริง..ยื่นหนังสือถึงรัฐ ห้ามใช้สัญลักษณ์พุทธในสถานบันเทิง
รัสเซีย : เว็บไซต์ The Moscow Times รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สมาชิกชุมชนชาวพุทธในประเทศรัสเซีย ได้รวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ขอให้มีคำสั่งห้ามการใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาในสถานบันเทิง

“เราในฐานะประชาชนชาวรัสเซียผู้นับถือศาสนาพุทธ ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐสั่งห้ามการใช้ชื่อ และพระพุทธรูป รวมทั้งรูปภาพพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ สิ่งของและสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ในสถานบันเทิงต่างๆได้แก่ คลับ บาร์ บาร์คาราโอเกะ ภัตตาคาร ทั่วสหพันธรัฐรัสเซีย” เป็นข้อความในหนังสือดังกล่าว ซึ่งมีผู้ลงนามเกือบ 7,300 ราย

โดยระบุว่า ในกรุงมอสโคว์ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และอีกหลายๆเมือง มีคลับ บาร์ และภัตตาคารหลายแห่งที่เปิดทำการโดยใช้ชื่อว่า “"Buddha Bars” (บาร์พระพุทธเจ้า) หรือ “Buddha Karaoke Bars”(บาร์คาราโอเกะพระพุทธเจ้า)

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า มีการถ่ายรูปบรรดาหญิงเปลือยกายเต้นอาโกโก้โดยมีองค์พระพุทธรูปตั้งวางข้างๆจึงเรียกร้องให้งดบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบันเทิงด้วย พร้อมย้ำว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นทัศนคติแง่ลบต่อศาสนาพุทธ นับเป็นการฝ่าฝืนสิทธิและเหยียบย่ำความรู้สึกของชาวพุทธทั่วรัสเซีย จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งห้ามการใช้รูปภาพทางพุทธศาสนาในสถานบันเทิง การโปรโมทสินค้า บนเครื่องหมายและป้ายต่างๆ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ อัยการเขตเคเมโรโวเผยว่า การนำพระพุทธรูปไปตั้งในบาร์เป็น “การดูถูกความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน” บาร์พระพุทธเจ้าแห่งหนึ่งจึงถูกปรับเป็นเงิน 30,000 รูเบิล (ราว 12,600 บาท)

จีนพบศิลาจารึกพระสูตรโบราณ แปลโดยพระถังซัมจั๋ง
จีน : เว็บไซต์ china.org.cn รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการค้นพบแผ่นศิลาจารึกโบราณ ซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” ฉบับแรกสุด ที่แปลโดยพระเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง) ในเขตฝางซาน นครปักกิ่ง ประเทศจีน

“ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” เป็นพระสูตรสำคัญยิ่งและเป็นที่นิยมในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานทั่วประเทศจีนและเอเชียตะวันออก และมีการตีความกันหลากหลาย แต่ฉบับที่แปลโดยพระเสวียนจั้งนั้น ถือเป็นหนึ่งในฉบับที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด

พระสูตรดังกล่าวถูกจารึกบนแผ่นศิลาในค.ศ.661 ก่อนพระเสวียนจั้งมรณภาพ 3 ปี ตามความคิดริเริ่มของพระจิงวาน ซึ่งกังวลถึงการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา อันเนื่องจากเกิดการต่อต้านพุทธศาสนาในยุคราชวงค์เว่ยเหนือ (ค.ศ. 386-557) และราชวงค์โจวเหนือ (ค.ศ. 557-581) ดังนั้นจึงได้อนุรักษ์พระสูตรนี้โดยจารึกบนแผ่นศิลาและเก็บรักษาไว้ที่วัดแห่งหนึ่งชานนครปักกิ่ง

จากนั้น บรรดาภิกษุในวัดได้นำพระสูตรอื่นๆอีกจำนวน 3,572 เล่ม มาจารึกบนแผ่นศิลาตามรอยบรรพบุรุษรวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านคำบนแผ่นศิลา จนกลายเป็นหนึ่งในห้องสมุดศิลาจารึกที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน

ทึ่ง!! รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมพันมือ ทำด้วยแมลงนับหมื่นตัว
ญี่ปุ่น :สำนักข่าว The Asahi Shimbun รายงานว่า รูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมทำด้วยแมลงนานาชนิดกว่า 20,000 ตัว ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว กำลังกลับมาได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ รูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมคอนชู เซนจึ (เจ้าแม่กวนอิมพันมือ ทำด้วยแมลง) สูง 150 ซม. ทำจากแมลงด้วงชนิดต่างๆ จักจั่น และแมลงนานาชนิด ด้วยฝีมือของ โยเนะจิ อินามูระ ซึ่งปัจจุบันอายุ 97 ปี เป็นชาวเมืองอิตะกูระ จังหวัดกุมมะ ประเทศญี่ปุ่น

โดยย้อนไปในค.ศ. 1970 อินามูระ ซึ่งขณะนั้นเป็นพนักงานบริษัทรถไฟ มีแนวคิดที่จะนำแมลงมาประกอบเป็นตุ๊กตา 3 มิติ ขณะกำลังช่วยเด็กๆจับแมลงเพื่อเก็บเป็นตัวอย่าง เขาได้สังเกตเห็นขากรรไกรของด้วงกว่างมีรูปร่างเหมือนนิ้วมือของเจ้าแม่กวนอิม จึงตัดสินใจสร้างรูปปั้นด้วยแมลง เลียนแบบรูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือแห่งวิหารทองคำ วัดโตโชไดจิ เมืองนารา โดยเชื่อว่า การอนุรักษ์แมลงต่างๆเป็นรูปพระโพธิสัตว์นี้ จะช่วยให้วิญญาณของพวกมันสงบสุข
แต่เนื่องจากอินามูระสามารถจับแมลงจำนวนมากได้ในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น และต้องทาสารป้องกันการเน่าเปื่อยทีละตัว เขาจึงนำแมลงมาประกอบเป็นรูปปั้นในช่วงฤดูหนาวจนแล้วเสร็จในค.ศ. 1975 ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายของเขา จากนั้นจึงบริจาคให้ศูนย์ชุมชนท้องถิ่น เพื่อตั้งแสดงให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

เวลาผ่านไป 40 ปี ใน ค.ศ. 2015 โนบุมาซะ คุชิโนะ ผู้อำนวยการศิลปะแห่งพิพิธภัณฑ์โตโมนอตสึเมืองฟูกุยามา จังหวัดฮิโรชิมา บังเอิญเห็นรูปปั้นดังกล่าว จึงเขียนเป็นบทความออนไลน์และจัดทัวร์ไปยังเมืองอิตะกูระเพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้าชม จนได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ เนื่องจากพบว่า อินามูระได้เริ่มสร้างผลงานศิลปะด้วยแมลงก่อน Jan Fabre ศิลปินชาวเบลเยี่ยมวัย 58 ปี ผู้มีชื่อเสียงด้านการสร้างงานศิลปะด้วยแมลงในปัจจุบันเสียอีก

จีนเตรียมส่งหนัง “พระถังซัมจั๋ง” เข้าชิงรางวัลออสการ์ 2017
จีน : เว็บไซต์ hollywoodreporter.com รายงานว่า จีนได้คัดเลือก “Xuan Zang” (พระเสวียนจั้ง)หรือพระถังซัมจั๋ง ภาพยนตร์มหากาพย์ด้านประวัติศาสตร์ของจีน เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 89 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2017 ณ โรงภาพยนตร์ดอลบี้ นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา

“Xuan Zang”เป็นภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างของจีนและอินเดีย คือ China Film Corporation และ Eros International กำกับการแสดงโดย ฮั่วเจี่ยนฉี และอำนวยการสร้างโดย หว่องกาไว เพื่อถ่ายทอดตำนานการเดินทางของภิกษุจีนชื่อดัง “เสวียนจั้ง” ซึ่งแสดงโดยหวงเสี่ยวหมิง จากจีนไปยังอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เพื่อรวบรวมและอัญเชิญพระไตรปิฎกกลับมายังประเทศจีน โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 17 ปี

ภาพยนตร์เรื่องดังกลาวได้นำออกฉายในประเทศจีนและอินเดีย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2016 ทำรายได้เพียง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 180 ล้านบาท) ในจีน

ทั้งนี้ เรื่องราวของพระเสวียนจั้ง ได้รับความนิยมนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์จีนเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่The Monkey King, Journey to the West และการ์ตูนแอนิเมชั่นMonkey King:Hero Is Back

ศิลปินฝรั่งสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย สื่อให้ตระหนักถึงปัญหาสภาวะแวดล้อม
สหรัฐอเมริกา : เว็บไซต์ lionsroar.com รายงานว่า ผู้คนที่เข้ามาเล่นสเก็ตบอร์ดภายในสวนสาธารณะ Grant Park Skate Park นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา พากันประหลาดใจ เมื่อเห็นรูปปั้นขนาดใหญ่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าในสวนทางทิศใต้

“Be the flower, not the bee” (จงเป็นดอกไม้ มิใช่ผึ้ง) คือชื่อของพระพุทธรูปขนาดสูง 15 ฟุต ซึ่ง “ทาชิ นอร์บุ”เป็นผู้สร้าง งานศิลปะของเขามักเกี่ยวกับ “การสื่อสารด้วยการมองเห็นและแสดงออกด้วยรูปปั้น โดยเน้นย้ำศิลปะวัฒนธรรมทิเบตจากทั่วโลก”

นอร์บุได้อธิบายถึงเหตุผลในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ว่า เพื่อสื่อถึงทุกๆคนที่ยืนมอง ให้ตระหนักถึงปัญหาสภาวะแวดล้อมต่างๆ อาทิ โลกร้อน การผลิตน้ำมันปาล์ม การตัดไม้ทำลายป่าในป่าอเมซอนและทิเบต พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางภูมิผัสสะ (หรือปางมารวิชัย) ที่ทรงชี้ให้แผ่นดินเป็นพยานแห่งการทำความดี และเมื่อรู้ว่าในธรรมชาติ ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน และมักเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น การที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องพึ่งพาอาศัยกันนั้น แสดงถึงการที่เราต้องพึ่งพาธรรมชาติด้วย ดังนั้น องค์พระจึงสร้างด้วยแผ่นไม้รีไซเคิล ที่จารึกสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นมงคล

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธรูปจึงมีส่วนประกอบที่เป็นธรรมชาติมีชีวิต คือ มีการปลูกดอกไม้และไม้เถาบนองค์พระ เพื่อปกป้องภัยจากแสงแดด

UN มีมติให้ศรีลังกาเป็นเจ้าภาพครั้งแรก จัดวิสาขบูชาโลก 2017
ศรีลังกา :เว็บไซต์ dailynews.lk รายงานว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2016 นายวิชยทาส ราชปักษี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและพุทธศาสนาแห่งศรีลังกา เผยว่า ที่ประชุมกรรมการวิสาขบูชาโลกมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้จัดงานเทศกาลวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2017 ในประเทศศรีลังกา

โดยจะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติบันดารานัยเกอนุสรณ์ (BMICH) กรุงโคลัมโบ โดยมีนายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา นายนเรนทระ โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย และตัวแทนจากประเทศต่างๆ รวมถึงผู้แทนชาวพุทธและผู้นำทางการเมืองจากหลายประเทศกว่า 2,000 รูป/คน เข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ พิธีเปิดอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นที่โซนพิเศษวิสาขบูชา บริเวณทะเลสาบดิยวันนา ใกล้ที่ทำการรัฐสภาในวันที่ 11 พฤษภาคม 2017 เวลา 19.00น. และพิธีปิดจะจัดขึ้นที่บริเวณวัดพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2017

อนึ่ง ในค.ศ. 1999 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลกตามคำเสนอของนายลักษมัน คาเดียร์กามาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของศรีลังกาในสมัยนั้น และได้จัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลวิสาขบูชาโลกเป็นประจำทุกปีในหมู่ประเทศพุทธศาสนา ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศศรีลังกาได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ

บูรณะเสร็จแล้วหลังถูกระเบิดทำลาย “พระพุทธรูปแกะสลักหินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้”
ปากีสถาน : เว็บไซต์ buddhistdoor.net รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2016 ทีมนักโบราณคดีได้เสร็จสิ้นการบูรณะ “พระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด” ซึ่งเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปแกะสลักหินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้ ให้กลับสู่สภาพเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะคันธาระ สูง 21 ฟุต หน้าตักกว้าง 12 ฟุต แกะสลักที่หน้าผาในเมืองจาฮานาบัด บริเวณหุบเขาสวัต ประเทศปากีสถาน ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 อันเป็นยุคทองของศิลปะและวัฒนธรรมชั้นสูงในชมพูทวีป และศาสนาพุทธได้เผยแผ่ทั่วเอเชียใต้

ต่อมาใน ค.ศ. 2007 กลุ่มตอลิบานได้ระเบิดทำลายพระพักตร์ของพระพุทธรูป ท่ามกลางเสียงประณามจากชาวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนิกชน นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี กระทั่งใน ค.ศ. 2012 โครงการบูรณะอันเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นปากีสถาน และภารกิจโบราณคดีของอิตาลีในปากีสถาน จึงเริ่มต้นขึ้น

ลูคา มาเรีย โอลิเวียรี นักโบราณคดีชาวอิตาลี ซึ่งเป็นผู้นำภารกิจนี้ กล่าวว่า “มันเป็นภาระผูกพันด้วยวิชาชีพและคุณธรรมที่มีต่อผู้คน มรดกในหุบเขาสวัต และประเทศปากีสถาน ที่ทำให้เราต้องบูรณะพระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด ระหว่าง ค.ศ. 2012-2016 โดยทีมงานได้นำเทคโนโลยี 3 มิติล่าสุด พร้อมเครื่องมือจากมหาวิทยาลัยปาดัว ประเทศอิตาลี มาใช้ในการบูรณะจนเสร็จสิ้น”

ฟาบิโอ โคลอมโบ หนึ่งในทีมช่างบูรณะ กล่าวว่า “พระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด เป็นหนึ่งในประติมากรรมหินใหญ่ที่สุดในหุบเขาสวัต ซึ่งมีร่องรอยหลายอย่างชี้ว่า เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา สภาพโดยรอบเต็มไปด้วยความสงบ งดงาม และเนื่องจากองค์พระพุทธรูปมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และความสำคัญทางโบราณคดี ผมจึงหวังว่า ชาวบ้านจะเข้าใจถึงคุณค่าของพระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของพวกเขา ซึ่งได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของโลกไปด้วย”

ขณะที่ ไซเอดนิอัซ อาลี ชาห์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และผู้แทนจากกองโบราณคดีแห่งปากีสถาน เผยว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธรูปแห่งจาฮานาบัด เคยดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมทั้งนักแสวงบุญชาวทิเบตและผู้สนใจด้านโบราณคดี ให้มาเยือนหุบเขาสวัต ซึ่งเขาหวังว่า บริเวณนี้จะกลับมาเป็นจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอีกครั้ง

“ผมหวังว่า นักท่องเที่ยวชาวพุทธและอื่นๆจะกลับมาเยือนสถานที่แห่งนี้อีก เพราะไม่เพียงจะได้สัมผัสกับความสงบเงียบ แต่ยังดื่มด่ำไปกับมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าสนใจของดินแดนแห่งนี้”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 193 มกราคม 2560 โดย เภตรา)
กำลังโหลดความคิดเห็น