xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : เทพบันดาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในอากาศซึ่งประกอบด้วยเย็นร้อนหมอกลมฝน ก็ได้มีคติเชื่อว่า สภาพธรรมชาติเหล่านี้นอกจากเกิดขึ้นตามฤดูแล้ว ยังมีเกิดขึ้นโดยเทพบันดาล ได้อีกด้วย คติความเชื่อนี้มีติดเข้ามาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จนถึงมีรวมไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่า วลาหกสังยุต มีความย่อว่า

เทพทั้งหลายนับเนื่องเข้าในพวกวลาหก คือ  วลาหกเทพแห่งความหนาวเย็น วลาหกเทพแห่งความร้อน วลาหกเทพแห่งหมอกวลาหกเทพแห่งลม วลาหกเทพแห่งฝน

เหตุที่จะให้ไปเกิดเป็นเทพเหล่านี้คือ ประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ ตั้งความปรารถนาจะไปเกิด เพราะชอบใจว่าพวกเทพเหล่านี้มีอายุยืน มีวรรณะงดงาม มีสุขมาก ตามที่ได้ยินมา ทั้งได้ให้ทานต่างๆ และเหตุที่ทำให้มีหนาวเย็นในบางคราว มีร้อนในบางคราว มีหมอกในบางคราว  มีลมในบางคราว มีฝนในบางคราว คือ พวกเทพเหล่านี้คิดว่า ไฉนเราพึงยินดีด้วยความยินดีของตน เพราะความตั้งใจของเทพเหล่านี้ก็มีความหนาวเย็นเป็นต้นขึ้น

เรื่องวลาหกเทพนี้ มีเค้ามาจากความเชื่อเก่าแก่ แต่ได้มาแก้ไขตามคติเทวดาในพระพุทธศาสนา ดั่งจะพึงเห็นได้ว่า เทพเหล่านี้เป็นอุปปาติกกำเนิด (ผุดเกิดขึ้นเป็นตัวตนโตใหญ่ทีเดียว) จัดเป็นสุคติภูมิ จึงเป็นผลของกุศลกรรมและมีมากด้วยกัน บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดหนาวเย็น บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดร้อน บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดหมอก บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดลม บางเทพมีอำนาจบันดาลให้เกิดฝน จึงแบ่งออกตามอำนาจบันดาลเป็น ๕ จำพวก

เทพองค์หนึ่งมีอำนาจบันดาลเพียงอย่างเดียว หรืออาจบันดาลได้หลายอย่าง ไม่ได้แสดงไว้ชัด วิธีบันดาล คือ เพียงคิดว่า “ไฉนเราพึงยินดี ด้วยความยินดีของตน” ถ้าวลาหกเทพแห่งฝนคิดดั่งนี้ฝนก็จะตก วลาหกเทพประเภทอื่นก็เช่นเดียวกัน ความคิดดั่งกล่าวเรียก ว่า เจโตปณิธิ แปลว่า ความตั้งใจมีอำนาจ บันดาลให้เกิดผลขึ้นได้ตามอานุภาพของเทพผู้ตั้งใจ

มีเรื่องเล่าในอรรถกถาว่า ได้มีวลาหกเทพบุตรองค์หนึ่งไปหาพระเถระผู้ขีณาสพองค์หนึ่ง พระเถระถาม ทราบว่าเป็นวลาหกเทพแห่งฝนซึ่งคิดให้ฝนตกได้ จึงแสดงความประสงค์จะดูฝนตก เทวบุตรเตือนพระเถระให้เข้าไปในศาลาเพราะจะเปียก ขณะนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีเมฆฝนหรือฟ้าร้อง พระเถระล้างเท้าเข้าศาลายังไม่ทันหมดองค์ ฝนตกซู่ลงมาเปียกท่านครึ่งองค์

มีอธิบายว่าเย็น ร้อน หมอก ลม ฝน เกิดขึ้นตามฤดูโดยปกติ แต่โดยพิเศษเกิดขึ้นโดยอานุภาพของเทพดา กล่าวโดยเฉพาะฝนว่าย่อมตกด้วยเหตุ ๘ อย่าง คือ

๑. อานุภาพนาค  ๒. อานุภาพครุฑ  ๓. อานุภาพเทพ ๔. ทำสัจจะอธิษฐาน ๕. มีฤดูเป็นสมุฏฐาน ๖. มารบันดาล  ๗. กำลังฤทธิ์ และ ๘. เมฆฝนประลัยกัลป์

วลาหกเทพท่านว่า เป็นพวกเทพเที่ยวไปในอากาศ คำว่า วลาหก ในคัมภีร์ศัพท์เล่มหนึ่งแปลว่า สิ่งที่นำหรือพาน้ำไป แปลกันโดยมากว่า เมฆ ใช้เป็นชื่อเรียกรวมของเทพเหล่านี้ว่า วลาหกกาย (หมู่หรือกลุ่มวลาหก) น่าจะเป็นเพราะเป็นปรากฏการณ์ในอากาศด้วยกัน คติความเชื่อในปัจจุบันไม่ใช่อย่างนี้แล้ว แต่ก็น่าฟังคติความเชื่อเก่าๆไว้บ้าง และบางเรื่อง เช่น เรื่องฝนที่ปรากฏในบางคราวก็ดูแปลกอยู่ คล้ายมีจิตเจตนา ในสังยุตนี้ท่านก็ว่าที่มีโดยความคิดของเทพก็ในบางคราว ไม่ใช่เสมอไปหรือโดยปกติ ซึ่งมีฤดูเป็นสมุฏฐาน

ความแปรปรวน หรือความเป็นปกติของดิน ฟ้า อากาศ และพืช มีคติแสดงว่า เกี่ยวแก่กรรมปัจจุบันของคนเป็นเหตุข้อสำคัญอยู่ด้วย ดั่งมีกล่าวไว้ใน จตุกกนิบาต ว่า

ในสมัยเมื่อราชา (หมายถึงผู้ปกครองรัฐสูงสุด) ทั้งหลายไม่ตั้งอยู่ในธรรม ผู้ประกอบราชกิจทั้งหลาย พราหมณ์ผู้เป็นคฤหบดีทั้งหลาย ชาวนิคมชนบททั้งหลาย ก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรมตามกันไปโดยลำดับ เมื่อหมู่มนุษย์ดั่งกล่าวไม่ตั้งอยู่ในธรรม จันทร์ อาทิตย์ ดาวนักษัตร คืน วัน เดือน กึ่งเดือน ฤดู ปี ลมต่างๆ ก็ยักเยื้องผิดปกติไป ธรรมชาติจึงเกิดวิปริตผิดทาง ผิดปกติ (เช่น บังเกิดลมพัดผิดทาง ผิดฤดูกาล พัดต้นไม้หักโค่น) เทวดาทั้งหลายเดือดร้อน ฝนก็ไม่ตกหลั่งธารน้ำสม่ำเสมอ คือเกิดแล้งฝน ข้าวกล้าก็ออกเมล็ดผิดปกติ หมู่มนุษย์บริโภคข้าวไม่ดีก็มีอายุสั้น ผิวพรรณเศร้าหมอง ถอยกำลัง โรคมาก

แต่ในสมัยเมื่อราชาทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรม ผู้ประกอบราชกิจทั้งหลาย พราหมณ์ผู้เป็นคฤหบดีทั้งหลาย ชาวนิคมชนบททั้งหลายก็ตั้งอยู่ในธรรมตามกันไปโดยลำดับ จันทร์ อาทิตย์ คืน วัน เดือน กึ่งเดือน ฤดู ปี ลม ต่างๆ ก็เป็นไปโดยปกติสม่ำเสมอ วิถีทางลมเป็นต้นก็เป็นไปสม่ำเสมอโดยปกติ เทวดาทั้งหลายไม่เดือดร้อน ฝนก็ตกหลั่งธารน้ำสม่ำเสมอเป็นอันดี  ข้าวกล้าก็ออกเมล็ดสม่ำเสมอเป็นปกติ หมู่มนุษย์บริโภคข้าวที่ดีจึงมีอายุยืน ผิวพรรณผ่องใส มีกำลัง ไร้โรคาพาธ

มีฉันทคาถาลงท้าย ความว่า ถ้าเมื่อโคทั้งหลายข้ามไปอยู่โคผู้หัวหน้าฝูงเดินไปคด โคทั้งหมดก็เดินคด ในเมื่อโคนำฝูงเดินคด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้า ถ้าประพฤติอธรรม ประชานอกนี้ก็ประพฤติตาม รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม ถ้าเมื่อโคทั้งหลายข้ามไปอยู่โคผู้หัวหน้าฝูงเดินไปตรง โคทั้งหมดย่อมเดินตรง ในเมื่อโคนำฝูงเดินตรง ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้า ถ้าประพฤติธรรม ประชานอกนี้ก็ประพฤติตาม รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นสุขถ้าผู้ปกครองตั้งอยู่ในธรรม

บาลีในจตุกกนิบาตตามที่ยกข้อความมากล่าวนี้ แสดงคติของพระพุทธศาสนาว่า ไม่ได้ค้านคติความเชื่อเก่าตะบันไปหมด คติที่พอยกเข้ามาได้ก็ยกเข้ามาเป็นข้อปรารภเพื่อแสดงธรรมแทรกเข้า ผู้ที่ประสงค์จะสอนในภายหลังเมื่อไม่ประสงค์ข้อความปรารภข้างต้นก็ตัดออกเสีย แสดงแต่ข้อธรรมตามความในฉันทคาถาข้างท้าย ซึ่งเป็นลักษณะของพระพุทธศาสนาโดยตรง คือมีลักษณะที่เรียกอย่างหนึ่งว่า เป็น วิภัชชวาทะ แปลว่า กล่าวแบ่งแยก คือแบ่งแยกไปตามเหตุผลตามเป็นจริง เช่น ที่กล่าวแบ่งไปตามกรรมและผลของกรรม ที่คนเรานี่เองทำในปัจจุบันนี้แหละ ดั่งความในฉันทคาถานั้น ในที่บางแห่งยกเรื่องเมฆเรื่องฟ้าฝนมาเป็นข้ออุปมาเท่านั้น ดั่งในจตุกกนิบาตนี้เองกล่าวถึงวลาหก คือเมฆหรือฟ้าฝน ๔ อย่างเป็นข้อเทียบของบุคคล ๔ จำพวกว่า

๑. วลาหกคำรามแต่ไม่ตก (ฟ้าร้อง ฝนไม่ตก) เป็นข้อเปรียบของบุคคลที่ได้แต่พูด แต่ไม่ทำ หรือเพียงแต่เรียนแต่ไม่ปฏิบัติ ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม
๒. วลาหกตกไม่คำราม (ฝนตก ฟ้าไม่ร้อง) เป็นข้อเปรียบของบุคคลที่ทำแต่ไม่พูด หรือที่ไม่เรียนแต่ปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงได้
๓. วลาหกไม่คำรามไม่ตก (ฟ้าไม่ร้อง ฝนไม่ตก) เป็นข้อเปรียบของบุคคลที่ทั้งไม่พูดไม่ทำ หรือทั้งไม่เรียนไม่ปฏิบัติให้รู้
๔. วลาหกคำรามและตก (ฟ้าร้อง ฝนตก) เป็นข้อเปรียบของบุคคลที่ทั้งพูดทั้งทำ หรือทั้งเรียนทั้งปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริง

คำสอนเรื่องบุคคล ๔ จำพวกนี้ เป็นลักษณะของพระพุทธศาสนาโดยตรง เพราะแสดงเรื่องภายนอก เช่น เรื่องโลกธาตุ เพื่อเป็นข้ออุปมาเท่านั้น ไม่ได้มุ่งแสดงเรื่องภายนอกนั้น แต่มุ่งแสดงเรื่องสัจธรรมภายในเป็นข้อสำคัญ (พ.พ. ๒๖๔-๒๖๗)

(จากหนังสือธรรมาภิธาน พจนานุกรมคำสอนพระพุทธศาสนา
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 192 ธันวาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น