xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : ข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
เอวํ วิหารี สโต อปฺปมตฺโต
ภิกฺขุ จรํ หิตฺวา มมายิตานิ
ชาติชฺชรํ โสกปริทฺทวญฺจ
อิเธว วิทฺวา ปชเหยฺย ทุกฺขนฺติ
ชุ.ส. ๒๕/๕๓๕ ข.จ. ๓๐/๔๒

บัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณาข้อปฏิบัติเป็นเหตุกำจัดหรือบรรเทาทุกข์ใจในปัจจุบัน เป็นธรรมีกถาส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ของท่านสาธุชน ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ตามสมควรแก่เวลา

ดำเนินความตามพระพุทธภาษิต ซึ่งนิกขิตไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า

เอวํ วิหารี สโต อปฺปมตฺโต
ภิกฺขุ จรํ หิตฺวา มมายิตานิ
ชาติชฺชรํ โสกปริทฺทวญฺจ
อิเธว วิทฺวา ปชเหยฺย ทุกฺขํ


แปลว่า ภิกษุมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ละอาการที่เที่ยวประพฤติยึดถือว่าของเราๆ รู้จักความเกิด ความแก่ โสกะ และปริเทวะ พึงละทุกข์เสียได้ในโลกนี้ ดังนี้

ตามพระพุทธภาษิตนี้ ทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์ หรือบรรเทาทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นที่ใจของผู้ปฏิบัติ คนเรานั้นย่อมปรารถนาสุข ไม่ปรารถนาทุกข์ ขึ้นชื่อว่าทุกข์แล้ว อย่าว่าแต่จะตกถึงตัวเลย แม้แต่เพียงชื่อว่าทุกข์ก็ไม่ปรารถนา ย่อมปรารถนาแต่ความสุข

แต่ความสุขความทุกข์ หรือจะละทุกข์ได้ประสบสุข ก็เพราะได้ประกอบเหตุ เพราะเหตุเป็นเครื่องอำนวยผล ผลมาจากเหตุ ไม่มีเหตุ ผลก็ไม่เกิด ที่เราได้สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ก็เพราะประกอบเหตุไม่ถูก จิตใจของคนนั้นต้องการความสุขเสมอไป แต่การกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ถูกเหตุแห่งสุขบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์บ้าง พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งไว้ว่า

สเจ ภายถ ทุกฺขสฺส
ถ้าท่านทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ไซร้
สเจ โว ทุกฺขมปฺปิยํ
ถ้าทุกข์ไม่เป็นที่รักที่ปรารถนาของท่านทั้งหลายไซร้
มากตฺถ ปาปกํ กมฺมํ อาวิ วา ยทิ วา รโห
ท่านทั้งหลายก็อย่าทำบาปทั้งในที่แจ้งทั้งในที่ลับ

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติได้อย่างพระพุทธภาษิตที่ตรัสเตือนไว้อย่างนี้ เราก็ได้สุขเสมอไป แต่วิสัยของบุคคลหาเป็นเช่นนั้นไม่ ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะรู้ไม่ทัน ถ้าจะพูดคลุมๆ พูดแล้วเข้าใจยาก ก็ต้องว่าเพราะอวิชชา ความไม่รู้ หรือรู้ไม่ถูก แต่พูดว่าอวิชชาอย่างนี้ ก็เหมือนพุ่งหอกเข้ารก เข้าใจยาก เราจึงต้องพิจารณาว่า ที่เราได้สุขบ้างทุกข์บ้างนั้น เพราะประกอบเหตุถูกบ้างผิดบ้าง คือ ที่เราได้สุข ก็เพราะประกอบถูกเหตุแห่งสุข ที่บางคราวประสบทุกข์ ก็เพราะประกอบเหตุแห่งสุขไม่ถูก กลายเป็นประกอบเหตุแห่งทุกข์ไป จึงได้สุขบ้างทุกข์บ้าง ไม่แน่นอน

ถ้าบุคคลมีจิตใจเป็นทุกข์แล้ว จะทำอะไรก็ได้ผลน้อย แม้จะปฏิบัติธรรม ก็ย่อมได้ผลน้อย แม้จะทำกิจการงานในทางโลกก็ไม่ก้าวหน้า พ่อค้าแม่ค้า ถ้าทุกข์ใจอยู่เสมอ ปัญญาก็ไม่เกิด ค้าขายก็ไม่เจริญ สมณพราหมณาจารย์ ถ้าทุกข์ใจอยู่เสมอแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ไม่ยืด อุบาสกอุบาสิกาถ้ามีทุกข์ใจอยู่เสมอแล้ว ทรงธรรมไม่อยู่ ประพฤติธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงทรงมีพระมหากรุณาแก่พุทธศาสนิกชน ได้ตรัสพระพุทธนิพนธ์เตือนไว้เป็นข้อปฏิบัติดังที่ได้ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนั้น รวมเป็น ๕ ประการ คือ

๑. มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้
๒. มีสติ
๓. ไม่ประมาท
๔. ละอาการที่เที่ยวประพฤติว่าของเราๆ เสีย
๕. รู้จักความเกิด ความแก่ โสกะ และปริเทวะ


รวมเป็นหลักปฏิบัติ ๕ ประการ ถ้าประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม ๕ ประการนี้แล้ว ท่านว่าไม่มีทุกข์ใจ คือ ใจสบาย ใจปลอดโปร่ง จึงมีพระพุทธภาษิตว่า อิเธว วิทฺวา ปชเหยฺย ทุกฺขํ พึงละทุกข์เสียได้ในโลกนี้ ดังนี้ มีอธิบายเป็นลำดับไป

ประการที่ ๑ เอวํ วิหารี มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ หรือมีปกติอยู่อย่างนี้ ในพระพุทธภาษิตข้อนี้ ทรงสอนให้อยู่ในเรือนใจ อุปมาเหมือนเรามีเรือนกาย สร้างบ้านสร้างเรือนไว้แข็งแรงเรียบร้อย ป้องกันโจรขโมย ป้องกันหนาวร้อนแดดฝนได้เรียบร้อยหมด เราก็เข้าอยู่ในบ้านในเรือนของเรา ปลอดภัยมีสุขมีความสบายฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนผู้ปฏิบัติให้สร้างเรือนใจขึ้นฉันนั้น “เรือนใจ” ในที่นี้ ได้แก่ ให้ใจอยู่ในธรรม เช่น การทำสมถะ คือ ทำจิตให้สงบ การทำจิตให้สงบนั้นเรียกว่า สร้างเรือนใจ เรือนใจนี้มี ๔๐ ห้อง หันหน้าไปทางตะวันออก มีอากาศโปร่งสบาย

ก่อนแต่จะอธิบายเรือนใจ ควรเข้าใจคำว่า เอวํ วิหารี ซึ่งแปลว่า มีปกติอยู่อย่างนี้ อยู่อย่างไรเรียกว่าอยู่อย่างนี้ คือ อยู่อย่างที่เราอยู่บัดนี้ ในขณะที่อยู่หน้าธรรมาสน์นี้ ในระยะที่อยู่อย่างนี้ ทุกคนไม่มีทุกข์ใจ ต่างว่าทุกข์ใจมาจากบ้าน เช่น หงุดหงิดอะไรมาจากบ้าน โกรธลูก โกรธหลาน โกรธเด็ก โกรธใครมาจากบ้าน ไม่พอใจมาจากบ้าน พอมาถึงวัดหายหมด พอตัวเราย่างเท้าเข้ามาในประตูวัด ที่โกรธอึดอัดกระทบกระทั่งไม่สบายใจหายไปหมด เมื่อเรามาอยู่ที่วัด ทำถูกตามแบบครูอยู่อย่างนี้ ใครทำอะไรก็เฉย ใครว่าอะไรก็เฉย ไม่มีอารณ์อะไรมากระทบกระทั่ง อารมณ์ที่บ้านมันก็กลับบ้านไปแล้ว บัดนี้ ใจของเราอยู่ด้วยศีลด้วยธรรมะ มีปกติอยู่ด้วยศีลด้วยธรรมะอย่างนี้ อย่างที่อยู่บัดนี้ เดี๋ยวนี้ทุกท่านไม่มีทุกข์ใจ คือ ไม่มีความไม่สยายใจ ในเวลานี้สบายใจ ขอให้ได้ขนาดอย่างนี้ก็จะเป็นอุปการะแก่ธรรมปฏิบัติ

กำหนดให้เข้าใจ ชั้นตื้นๆ ชั้นง่ายๆ วิธีอยู่ให้เป็นสุขไม่มีทุกข์ใจ คืออยู่อย่างนี้ ไม่ว่าคนชั้นไหนให้อยู่อย่างนี้ เมื่อเราอยู่อย่างนี้แล้ว กลับไปบ้าน ก็จำกิริยาอาการ กาย วาจา ใจ ที่เคยอยู่ที่วัด คืออยู่อย่างนี้ พอกลับถึงบ้านใครจะกวนใจอย่างไร เราก็อยู่ของเราอย่างนี้ คืออยู่อย่างจิตใจสบายๆ แยกกายกับใจไว้คนละแห่ง อยู่สบายๆ อย่างนี้เรียกว่า เอวํ วิหารี นี้เป็นเพียงชั้นถางที่ปราบพื้นถมดิน เพื่อจะปลูกเรือนใจเท่านั้น เป็นชั้นต้น เป็นชั้นปราบพื้นถมที่เกลี่ยที่ เพื่อจะปลูกเรือนใจคราวนี้ ปลูกเรือนใจให้ใจอยู่ต่อไป

เรือนใจหลังใหญ่มี ๔๐ ห้อง เรียกว่า “กัมมัฏฐาน ๔๐” ๔๐ ห้องนี้ ถ้าจะอธิบายทุกห้องก็กินเวลามาก เพราะฉะนั้น จะอธิบายเฉพาะห้องข้างหน้า มันสว่างดี ห้องที่อยู่หน้ามุข คือ อานาปานัสสติ การตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่ว่าห้องอยู่ข้างหน้านั้น ก็เพราะว่าท่านให้กำหนดลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าออกก็อยู่ที่ปลายจมูก มันอยู่ข้างหน้าเรา เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าห้องนี้อยู่หน้ามุข น่าจะอยู่สบาย คนราคจริตก็เจริญได้ คนโทสจริตก็เจริญได้ คนโมหจริตก็เจริญได้ จริตทั้งหกอยู่ในห้องนี้ได้ทั้งนั้น

๔๐ ห้องนั้น คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ เป็นต้น จะบอกทุกข้อก็จะเนิ่นช้า ญาติโยมต้องการจะทราบก็หาแบบดูได้ ห้องที่จะอธิบายนี้อยู่ในอนุสสติ ๑๐ ข้อที่ ๙ เรียกว่า อานาปานัสสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก ตั้งสติกำหนดลมให้รู้ที่ปลายจมูกของตนๆ หัดให้ชำนิชำนาญ พอนึกบริกรรมก็ให้จับลมติด ให้รู้ลม เมื่อเราเอาจิตมาอยู่เสียกับลมได้แล้ว ทุกข์ไม่มี ใครจะว่าอะไรก็ไม่ได้ยิน เขาด่าก็ไม่ได้ยิน เขาเอะอะตึงตังอย่างไรก็ไม่ได้ยิน สงบนิ่งอยู่

แต่ข้อสำคัญในเบื้องต้นนั้น กว่าจะสร้างห้องนี้เสร็จ ก็ต้องทนลำบากสักหน่อย อย่างญาติโยมนั่งกัมมัฏฐาน บางคราวก็สงบดี บางคราวนั่งตั้งสามสิบนาทีก็จับลมไม่ติด จิตใจฟุ้งซ่านไม่สงบ นั่งไปก็นึกรำคาญใจ คลายเพียรตำหมากเสียบ้าง สูบบุหรี่เสียงบ้างแก้รำคาญ เพราะฉะนั้น จึงว่าสร้างยาก ห้องนี้เป็นห้องพิเศษ เป็นหน้ามุข ต้องสร้างให้สวย จึงเป็นห้องที่สร้างยาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ต้องหมั่นกำหนดนึก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจยาวก็รู้ หายใจเข้าสั้นก็รู้ หายใจหยาบก็รู้ หายใจละเอียดก็รู้ ลมหายใจละเอียดมากจนเหมือนกับไม่หายใจ ก็รู้ กำหนดรู้ทั้งหมด อย่าตกใจ อย่ากลัว

ลมหายใจนี้ไม่ปกติเสมอไป ในเวลาที่เราโกรธ ลมหายใจเร็วและร้อน ในเวลาที่รักกำหนัดยินดี ลมหายใจก็ร้อนไม่ปกติ ในเวลาที่เหนื่อยลมหายใจสั้นและถี่ ในเวลาที่ร่างกายปกติสบาย ลมหายใจเป็นไปสม่ำเสมอ ให้สังเกตกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ เวลาปกติเราก็ปล่อยตามเรื่อง พอมีอะไรมากระทบที่จะให้เกิดทุกข์ใจ เราไม่นึกไม่สนใจ มาอยู่ที่ลมหายใจของเรา ไม่ไปอยู่ที่อื่น ที่เราเป็นทุกข์นั้นเพราะเอาใจไปอยู่ที่อื่น ถ้าเราเอาใจไปไว้ที่สมบัติ ก็ทุกข์เพราะสมบัติ ของหายเราเอาใจไปไว้ที่ของหาย ก็เป็นทุกข์ที่ของหาย แต่ที่จริงไม่ใช่ทุกข์ที่ของหาย มันทุกข์ที่ใจของเรา คือทุกข์เพราะเสียดาย นี้เป็นวิธีที่เรียกว่า เอวํ วิหารี มีปกติอยู่อย่างนี้ คือ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น คือ มีเรือนใจ

เรือนใจมี ๔๐ ห้อง เรียกว่า กัมมัฏฐาน ๔๐ แต่ที่พูดเพียงอานาปานัสสติอย่างเดียว ลมหายใจอยู่ที่ปลายจมูกของเรา ติดตัวไปด้วยกันทุกสถานที่ ทำที่บ้านก็ได้ ทำที่วัดก็ได้ แม้จะไม่ได้แบบเคร่งครัดแบบกัมมัฏฐาน อย่างบางท่านบอกว่ากำหนดลมหายใจเข้าออกในเวลานอน ทำให้หลับสบายไม่ฝันร้าย ญาติโยมที่นอนไม่หลับควรจำไว้ ถ้าพอรู้สึกว่านอนไม่หลับ อย่ารับประทานยานอนหลับ ให้กำหนดลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกของตน กำหนดรู้ลมไว้ ถ้าใจยังซัดส่าย ก็เพิ่มภาวนาว่า “พุทโธๆ” ให้พอดีกับระยะลมหายใจ ถ้าเร็วจะเหนื่อย และอย่าช้า ถ้าช้าความฟุ้งซ่านจะครอบงำ ให้พอดีเท่ากับลมหายใจ ประมาณไม่เกินสิบห้านาทีก็จะหลับ ท่านผู้รู้และเคยทดลอง ท่านว่าไว้อย่างนี้ นี้เป็นประการที่ ๑

ประการที่ ๒ มีสติ มีสติในที่นี้ท่านว่า ให้เจริญสติปัฏฐาน คือให้สติอยู่ที่กาย อยู่ที่เวทนา อยู่ที่จิต อยู่ที่ธรรม ให้สติอยู่ที่กายเรา ให้สติอยู่ที่เวทนา คือ ที่เรารู้สึกว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า เวทนา บางคราวรู้สึกว่าจิตใจปลอดโปร่ง นี่สุขเวทนา บางคราวรู้สึกอึดอัด นี่เป็นทุกขเวทนา บางคราวเฉยๆ นี่เป็นอทุกขมสุขเวทนา ให้สติอยู่ที่เวทนาอย่างนี้ และให้สติอยู่ที่จิต บางคราวจิตรักก็ให้รู้ จิตหายรักก็ให้รู้ จิตโกรธก็ให้รู้ จิตหายโกรธก็ให้รู้ จิตหลงก็ให้รู้ จิตหายหลงก็ให้รู้ คือ ให้อยู่ที่จิตของเราจนถึงกับว่า บัดนี้จิตใจของเราเป็นอย่างไรบ้าง ให้รู้ทุกระยะ อย่างเวลาฟังเทศน์อยู่นี้ บางทีฟังไม่รู้เรื่องก็รำคาญ ท่านก็ให้รู้ บางทีพระเทศน์นานไป ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะจบก็ให้รู้ อย่าให้รำคาญเกิดขึ้น

นี้เป็นอาการของสติปัฏฐาน คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้สติอยู่ที่จิต และให้สติอยู่ที่ธรรม เช่นให้กำหนดนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา มันเกิดก็ให้รู้ว่ามันเกิด มันตั้งอยู่ก็ให้รู้ว่ามันตั้งอยู่ มันหายไปก็ให้รู้ว่ามันหายไป และให้เพิ่มความรู้ขึ้นว่านิวรณ์ ๕ นี้ต้องละ เลี้ยงไว้ไม่ได้ เพราะเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้พิจารณาเห็นคุณความดี ไม่ให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติให้สงบยิ่งขึ้นไป และให้กำหนดพิจารณารู้ขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูป ก็คือที่เห็นเป็นตัวเป็นตนอยู่นี้ เวทนา ก็คือที่พูดเมื่อตะกี้นี้ สัญญา ก็คือการจำได้หมายรู้ สังขาร ก็คืออาการที่คิดปรุงคิดแต่งขึ้น ที่ใจคิดขึ้นเอง วิญญาณ ก็คือความรู้แจ้งอารมณ์ นี่ก็เป็นธรรมเหมือนกัน ท่านสอนให้ตั้งสติกำหนดรู้ไว้ เหล่านี้เรียกว่ามีสติ

ประการที่ ๓ ไม่ประมาท ท่านสอนให้ไม่ประมาทในการละกายทุจริต ทำกายสุจริตให้เกิดมี ในการละวจีทุจริต ทำวจีสุจริตให้เกิดมี ในการละมโนทุจริต ทำมโนสุจริตให้เกิดมี ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นถูกต้องให้เกิดมี นี้เรียกว่าไม่ประมาท คือ ไม่ให้ประมาทในเวลาที่ทำ พูด คิด ถ้าทำดีให้รักษาไว้ ถ้าพูดดีให้รักษาไว้ ถ้าคิดดีให้รักษาไว้ ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว ให้เว้นให้เลิกละ ให้ปราศจากไป ให้จำไว้ด้วยว่าอย่างไหนชั่ว อย่างไหนดี ที่ดีก็ให้เจริญ ที่ชั่วก็ให้ละเสีย และให้ทำความเห็นให้ตรง เช่น เห็นว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว คนทำดีแล้วจะได้ชั่ว ทำชั่วแล้วจะได้ดีนั้นไม่มี ที่คนทำชั่วแล้วได้ดีนั้น เพราะผลชั่วยังไม่ให้ผล ที่บางคนทำดีแล้วยังไม่ได้ผลดีนั้น ก็เพราะผลดียังไม่ให้ผล แต่ว่าความดีความชั่วที่ตัวทำไว้นั้น จะต้องให้ผลสักวันหนึ่ง เมื่อใดความดีให้ผล เมื่อนั้นก็ได้รับความสุข เมื่อใดความชั่วให้ผล เมื่อนั้นก็ได้รับความทุกข์ นี่ว่าด้วยเรื่องไม่ประมาท

ประการที่ ๔ ให้ละอาการที่เที่ยวประพฤติว่าของเราๆ นี่ก็สำคัญเหมือนกัน เรื่องเราของเรานี้ อยู่ที่ไหนแล้วก็ยุ่งที่นั่น ที่ท่านกล่าวว่า โสจติ ปุตฺเตหิ ปุตฺติมา คนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร ก็เพราะเรายึดถือว่าของเรา บุตรของเรา ลูกเรา พอลูกมีลูกก็ยึดถือว่านั่นหลานของเรา ปลื้มใจดีใจว่าฉันลูกเต็มบ้านหลานเต็มช่อง นี่หลานย่า นั่นหลานยาย นึกเข้าใจผิดคิดว่าสบาย นั่นแหละหอบทุกข์เข้าไว้จนเต็มที่ทีเดียว พอเผลอๆลูกก็นำหลานมาฝากให้เลี้ยง มาวัดก็ไม่ได้ ห่วงหลานติดหลาน นี้อาตมาพูดอยู่เสมอ บางท่านก็โกรธ โกรธว่าท่านเจ้าคุณเทศน์ด่าเขาเรื่อย วันพระหน้าไม่มาวัดล่ะ แต่พอถึงวันพระหน้าก็มาอีก โกรธไม่นาน

ประพฤติปฏิบัติธรรมะนี้ ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ต้องจับที่ตัวเราเข้าเทียบที่ว่าของเราๆ หรือว่าเป็นเราอยู่ที่ไหนก็เกิดเรื่องที่นั่น ต้องนึกเทียบให้เห็นจริงว่าเกิดเรื่องอย่างไร ท่านสอนให้ละโดยถือว่าเป็นเรื่องสมมติ ลูกก็สมมติ หลานก็สมมติ สมมติก็เป็นจริง แต่เป็นสมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ

สมมติสัจจะนั้นพึ่งกันไม่ได้ พึ่งได้ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นเอง อย่างศาลานี้สมมติสัจจะ คือ เป็นศาลาจริงๆ แต่เป็นโดยสมมติ และลงที่สุดพึ่งเขาไม่ได้ ไม่กี่สิบปีมันก็พัง ซ่อมไปๆมันก็พังไปกร่อนไป ลงที่สุดมันก็พังไปเองของมัน พึ่งมันไม่ได้ สังขารร่างกายของเราก็เหมือนกัน เราก็ถือว่า เอตํ มม นั่นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนั่น เอโส เม อตฺตา นั่นเป็นตัวตนของเรา เวลาเจ็บเข้าจริงๆแล้ว ไปใช้ไปบอกว่าอย่าเจ็บอย่าไข้ จงรีบหายเสีย เขาก็ไม่เชื่อฟัง ว่าอะไรไม่เชื่อไม่ฟังทั้งนั้น พึ่งกันไม่ได้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้พึ่งเป็นเพียงเรือจ้าง ให้นึกว่านี่สมมติ เราเองก็สมมติ ลูกก็สมมติ หลานก็สมมติ สมบัติพัสถานก็สมมติ ถ้าถามว่าเมื่อสมมติแล้วอาศัยมันทำไม ก็ตอบว่า เพราะเราต้องการจะข้ามฝั่ง ไม่อาศัยเรือจ้างแล้วจะข้ามได้อย่างไร นึกเพียงเท่านี้จิตใจก็สบาย ที่เรียกว่า “ละ” ก็ให้ทำอย่างนี้ ให้ถือเพียงเป็นสมมติ ให้คำว่าสมมติติดมากับอาการที่นึก ทุกข์ก็คลาย ถึงไม่หมดก็เบาใจ ทำอย่างนี้ได้เรื่อยไป ท่านว่าทุกข์ใจน้อยเบาบางลง อาจจะไม่มีในบางครั้งบางคราว

ประการที่ ๕ ให้รู้จักความเกิด ความแก่ โสกะ และปริเทวะ ที่ว่าให้รู้จักความเกิด ความแก่ โสกะ และปริเทวะนั้น ให้รู้ว่าสิ่งที่มันมีเกิดนั้น มันมีดับ และสิ่งที่มีเกิดนั้น มันมีแก่ โสกะ ความโศกแห้งใจ มันก็มีเพราะเกิด ปริเทวะ ก็มีเพราะเกิด และโสกะ ปริเทวะ ไม่ใช่ว่าจะมีที่เราตลอดชั่วนาตาปี มีขึ้นชั่วขณะจิตหนึ่ง สองสามขณะจิต ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น นานๆไปมันก็หายไปเอง ไม่ใช่ของเรา โสกะเป็นของสำหรับโลก

ถ้าอุปมาจิตใจของเรานี้เป็นเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับวิทยุนี้ ถ้าเราไม่เปิด แม้สถานีส่งเขาจะเปิดกระจายเสียง แต่เราไม่เปิดเครื่องรับ เสียงก็ไม่มาปรากฏที่เครื่องหรือโทรภาพ ก็เหมือนกัน ของเรามีแต่เราไม่ได้เปิด เขาจะส่งภาพมา ภาพก็ไม่มาปรากฏที่จอโทรภาพ เพราะเราไม่เปิด ทำไมไม่เปิด เพราะเรารู้แล้ว เราก็ไม่ต้องเปิด เช่น คนมีโทรภาพแล้วไม่เปิด ก็เพราะรู้ว่าโทรภาพก็อย่างนั้นแหละ มีข่าวบ้าง มีละครบ้าง มีภาพบ้าง มีอะไรต่ออะไรบ้าง ดูก็เท่านั้น ไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่ทำอะไรให้เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติ

ท่านให้รู้ไว้อย่างนี้ว่า ชาติ ความเกิดเราได้มาแล้ว เราเกิดมาแล้วจะทำอย่างไรได้ อย่าไปทุกข์ อย่าไปยุ่งเดือดร้อนกับมัน ที่มันแก่ก็เพราะชาติ ความเกิด ที่โศกพิไรรำพัน ก็เพราะเกิดมาจากความเกิดนั้นเอง มันเป็นส่วนผล เราได้มาแล้วจะทำอย่างไรได้ ปล่อยเขาไปตามเรื่อง ให้ภาวนาว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ให้รู้ไว้เท่านี้ แล้วให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้นั้น เป็นเพียงเรือจ้างสำหรับข้ามฝั่ง บุคคลต้องการจะข้ามฝั่ง ไม่มีสะพาน มีแต่เรือจ้าง ต้องอาศัยเรือจ้าง เมื่อข้ามเรือจ้างถึงฝั่งแล้ว ขึ้นจากเรือถึงฝั่ง เรือก็ไม่ใช่เรา แม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่ใช่เรา ฉันใด สังขารร่างกาย เกิด แก่ โสกะ ปริเทวะก็ฉันนั้น ไม่ใช่ของเรา ไม่เกิดอยู่ที่เราเสมอไป เกิดชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เสร็จแล้วก็ดับไป เมื่อรู้จักชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะ ดังนี้ ก็เป็นอันละทุกข์ได้ ทุกข์ดับไปได้

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงข้อปฏิบัติ ๕ อย่าง คือให้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ ให้มีสติ ให้เป็นผู้ไม่ประมาท ให้ละอาการที่เที่ยวประพฤติยึดถือว่าของเราๆ ให้รู้จักความเกิด ความแก่ และโสกะ ปริเทวะ เมื่อกำหนดรู้อย่างนี้ ท่านว่าย่อมละทุกข์ใจได้เป็นครั้งคราวในโลกนี้

สาธุชนได้สดับแล้ว พึงกำหนดพิจารณา นำข้อธรรมะเหล่านี้ไปประพฤติปฏิบัติ ก็จะเป็นไปเพื่อความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล เจริญในธรรมของพระบรมทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยนัยดังบรรยายมา ด้วยประการฉะนี้

(จากการแสดงธรรม วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 190 ตุลาคม 2559 โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(วิน ธมฺมสารเถร ป.ธ.๙) วัดราชผาติการาม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น