การที่กรรมนิยามจะแสดงผลออกมาในระดับของวิถีชีวิต ทำให้มีความเป็นไปต่างๆ ประสบผลตอบสนองจากภายนอก อันน่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้างนั้น ในบาลีท่านแสดงหลักไว้ว่า ต้องขึ้นต่อองค์ประกอบต่างๆ 4 คู่ คือ สมบัติ 4 และวิบัติ 4 (อภิ.วิ.35/840/458-9 มีอรรถกถาอธิบายใน องฺ.อ.2/141-4; วิภงฺค.อ.572-593)
สมบัติ แปลง่ายๆ ว่า ข้อดี หมายถึง ความเพียบพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งช่วยเสริมส่งอำนวยโอกาสให้กรรมดีปรากฏผล และไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆว่า องค์ประกอบอำนวยช่วยเสริมกรรมดี สมบัติมี 4 อย่าง คือ
1. คติสมบัติ สมบัติแห่งคติ ถึงพร้อมด้วยคติ หรือคติให้ คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศที่เจริญ เหมาะหรือเกื้อกูล ตลอดจนในระยะสั้น คือ ดำเนินชีวิตอยู่หรือไปในถิ่นที่โอกาสอำนวย
2. อุปธิสมบัติ สมบัติแห่งร่างกาย ถึงพร้อมด้วยร่างกาย ร่างกายดี หรือรูปร่างให้ เช่น มีรูปร่างสวย ร่างกายสง่างาม หน้าตาท่าทางดี น่ารัก น่านิยมเลื่อมใส สุขภาพดี แข็งแรง
3. กาลสมบัติ สมบัติแห่งกาล ถึงพร้อมด้วยกาลหรือกาลให้ คือ เกิดอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองมีความสงบสุข ผู้ปกครองดี ผู้คนมีศีลธรรม ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ตลอดจนในระยะสั้น คือ ทำอะไรถูกกาลเวลา ถูกจังหวะ
4. ปโยคสมบัติ สมบัติแห่งการประกอบ ถึงพร้อมด้วยการประกอบกิจ หรือกิจการให้ เช่น ทำเรื่องตรงกับที่เขาต้องการ ทำกิจตรงกับความถนัดความสามารถของตน ทำการถึงขนาดถูกหลักครบถ้วนตามเกณฑ์ หรือเต็มอัตรา ไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆ หรือเหยาะแหยะ หรือไม่ถูกเรื่องกัน รู้จักจัดทำ รู้จักดำเนินการ
ส่วน “วิบัติ” แปลง่ายๆ ว่า ข้อเสีย หรือจุดอ่อน หมายถึง ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การที่กรรมดีจะปรากฏผล แต่กลับเปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆว่า องค์ประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว วิบัติ มี 4 อย่าง คือ
1. คติวิบัติ วิบัติแห่งคติ หรือคติเสีย คือ เกิดอยู่ใน ภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศ สภาพแวดล้อมที่ไม่เจริญ ไม่เหมาะ ไม่เกื้อกูล ทางดำเนินชีวิตไม่เอื้อ ถิ่นที่ไปไม่อำนวย
2. อุปธิวิบัติ วิบัติแห่งร่างกาย หรือรูปกายเสีย เช่น ร่างกายพิกลพิการ ไม่สวยงาม กิริยาท่าทางน่าเกลียด ไม่ชวนชม ตลอดจนสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก
3. กาลวิบัติ วิบัติแห่งกาล หรือกาลเสีย คือ เกิดอยู่ในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีภัยพิบัติ ไม่สงบเรียบร้อย ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มากด้วยการเบียดเบียน ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ตลอดจนทำอะไรไม่ถูกกาลเวลา ไม่ถูกจังหวะ
4. ปโยควิบัติ วิบัติแห่งการประกอบ หรือกิจการเสีย เช่น ฝักใฝ่ในกิจการหรือเรื่องราวที่ผิด ทำการไม่ตรงความถนัด ความสามารถ ใช้ความเพียรในเรื่องไม่ถูกต้อง ทำการครึ่งๆ กลางๆ เป็นต้น
คู่ที่ 1 คติสมบัติ เช่น เกิดอยู่ในถิ่นเจริญ มีบริการการศึกษาดี ทั้งที่สติปัญญาและความขยันไม่เท่าไร แต่ก็ยังได้ศึกษามากกว่า เข้าถึงสถานะทางสังคมสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีสติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรดีกว่า แต่ไปเกิดอยู่ในถิ่นป่าดง หรือเช่นไปเกิดเป็นเทวดา ถึงจะแย่อย่างไรก็ยังสุขสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่อดอยาก
คติวิบัติ เช่น มีพระพุทธเจ้าอุบัติตรัสสอนธรรม แต่ตัวไปเกิดอยู่เสียในป่าดงหรือในนรก ก็หมดโอกาสได้ฟังธรรม หรือมีสติปัญญาดีแต่ไปเกิดเป็นคนป่าอยู่ในกาฬทวีป ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นนักปราชญ์ในวงการศิลป์และศาสตร์ทั้งหลาย มีความรู้ความสามารถดี แต่ไปอยู่ในถิ่นหรือในชุมชนที่เขาไม่เห็นคุณค่าของความรู้ความสามารถนั้น เข้ากับเขาไม่ได้ ถูกเหยียดหยาบบีบคั้น อยู่อย่างเดือดร้อน คนหนึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นคนดี แต่ไปอยู่ในตำแหน่งฐานะหน้าที่ที่ไม่เข้ากับส่วนดีที่ตัวมี กลายเป็นตัวขัดถ่วงกิจการของส่วนรวมนั้น และตนเองก็ไม่เป็นสุข(กรณีหลังนี้ อาจมีปโยควิบัติซ้ำด้วย) ดังนี้เป็นต้น (คติสมบัติ คติวิบัติ อรรถกถาอธิบายเฉพาะในแง่ของภพภูมิที่ไปเกิด)
คู่ที่ 2 อุปธิสมบัติ เช่น รูปร่างสวยงาม น่าชื่นชม แม้ไปเกิดในตระกูลยากไร้ หรือถิ่นห่างไกล รูปกายช่วยให้ขึ้นมาสู่ฐานะและถิ่นที่มีเกียรติและความสุข
อุปธิวิบัติ เช่น เกิดในถิ่นดี หรือในตระกูลมั่งคั่งสมบูรณ์ แต่พิกลพิการง่อยใบ้ ไม่อาจได้รับเกียรติยศและความสุขความรื่นรมย์ที่พึงได้
คนสองคน มีคุณสมบัติอย่างอื่นเสมอเหมือนกัน คนหนึ่งรูปร่างสง่า สวยงาม อีกคนหนึ่งขี้ริ้วขี้เหร่ หรือขี้โรค ในกรณีที่ถือร่างกายเป็นส่วนประกอบด้วย คนมีกายดีก็ได้รับผลไป แม้ในกรณีที่ไม่ถือกายเป็นคุณสมบัติ ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไป ที่จะเอนเอียงเข้าหาคนที่มีรูปสมบัติ คนที่รูปวิบัติจะต้องยอมรับความจริงที่เป็นธรรมดาของชาวโลกข้อนี้ และตระหนักว่า ผู้ที่มีจิตเที่ยงตรงไม่เอนเอียง เพราะเหตุแห่งรูปสมบัติรูปวิบัตินี้ ก็มีแต่คนที่ประกอบด้วยคุณธรรมพิเศษยิ่งกว่าคนทั่วไป
คนที่มีรูปวิบัติ เมื่อรู้เช่นนี้แล้วไม่พึงเสียใจ จากนั้นจะได้เร่งขวนขวายสร้างเสริมคุณสมบัติส่วนอื่นๆ ให้มีพิเศษยิ่งกว่าปกติ
ถ้าคนรูปกายดีใช้ความพยายามหนึ่งส่วน คนมีอุปธิวิบัติอาจต้องพยายามสองหรือสามส่วน เป็นต้น ข้อสำคัญอย่าท้อแท้ ปัจจัยที่หย่อนก็รู้ ที่เสริมได้ก็เร่งทำ ความรู้กรรมจึงจะเกิดประโยชน์
คู่ที่ 3 กาลสมบัติ เช่น เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำสิ่งที่ดีงาม มาเกิดในยุคที่ผู้ปกครองดี สังคมดี ยกย่องเชิดชูคนดี คนผู้นั้นก็มีเกียรติ มีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข ผู้มีสติปัญญาเป็นนักปราชญ์ ก็มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถ ให้ปรากฏและให้เป็นประโยชน์ หรือในยุคสมัยหนึ่ง คนนิยมกาพย์กลอนกันมาก คนเก่งกาพย์กลอนก็รุ่งเรืองเฟื่องฟู
กาลวิบัติ ก็ตรงข้าม ในยามสังคมเสื่อมจากศีลธรรม ผู้ปกครองไม่ประกอบด้วยธรรม คนทำดีไม่ได้รับยกย่อง หรืออาจถูกเบียดเบียนกดขี่ ประสบความเดือดร้อน หรือยามบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย มีศึกสงคราม ไม่มีใครสนใจคนทำความดีทางสันติ แม้มีสติปัญญาความสามารถ ก็ไม่มีโอกาสสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ หรือในยุคที่สังคมนิยมดนตรีหยาบร้อน ตนแม้เชี่ยวชาญในดนตรีที่สงบเยือกเย็น แต่ไม่ได้รับความสนใจยกย่อง เป็นต้น
คู่ที่ 4 ปโยคสมบัติ เช่น ตนไม่ใช่คนดีมีความสามารถจริง แต่รู้จักเข้าหาคนควรเข้าหา รู้จักเลี่ยงเรื่องควรหลบ อะไรควรเสียยอมเสีย ทำให้ตนเจริญก้าวหน้าไปได้ และความเสียหายบกพร่องของตนไม่ปรากฏ หรือมีความสามารถในการปลอมแปลงเอกสาร เอาความสามารถนั้นมาใช้ทางดี เช่น ในงานพิสูจน์หลักฐาน
ปโยควิบัติ เช่น มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติอื่นดีหมด แต่ติดการพนัน จึงไม่ได้รับการคัดเลือกไปทำงาน หรือมีฝีเท้ารวดเร็วมาก พอจะเป็นนักกรีฑาชั้นเลิศ แต่เอาความสามารถนั้นไปใช้ในการวิ่งฉกชิงทรัพย์เขา หรือตนมีฝีมือดีในทางช่าง แต่ไปนั่งทำงานเสมียนที่ไม่ถนัด เป็นต้น
ผลในระดับที่สามนี้ ส่วนมากเป็นเรื่องของโลกธรรม ซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องชั้นเปลือกผิวภายนอก มิใช่แกนในของชีวิต จะกระทบกระทั่งหนักเบา ก็อยู่ที่ว่าจะมีความยึดติดถือมั่นมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ยึดติด สามารถวางใจ ก็มีความสุขได้เสมอ หรืออย่างน้อยก็ทุกข์ไม่มาก และผ่านเหตุการณ์ไปได้ด้วยดี
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้มีปัญญารู้เท่าทันธรรมดา ประกอบด้วยสติ มิให้หลงใหลประมาทมัวเมา คราวสุขคราวได้ ก็ไม่เหลิงลำพองเคลิ้มไป คราวทุกข์คราวเสีย ก็ไม่ขุ่นมัวคลุ้มคลั่ง ปล่อยตัวถลำลงในทางชั่วทางเสีย ค่อยผ่อนผันแก้ไขเหตุการณ์ด้วยสติปัญญา
เมื่อยังต้องการโลกธรรมฝ่ายดี คือที่ชื่นชอบ เป็นอิฏฐารมณ์ ก็กำหนดสมบัติวิบัติ ที่เป็นกำลัง หรือจุดอ่อนของตน และจัดสรรเลือกองค์ประกอบฝ่ายสมบัติที่จัดเลือกได้ หลีกเว้นวิบัติเสีย แล้วพยายามเข้าถึงผลดีที่มุ่งหมายด้วยกรรมที่เป็นกุศล ซึ่งมีผลมั่นคงและลึกซึ้งถึงชีวิตทุกระดับของตน ไม่สร้างผลด้วยอกุศลกรรม และไม่ถือโอกาสยามสมบัติอำนวย ไปประกอบการอกุศล เพราะสมบัติและวิบัติสี่ประการนั้นเป็นของไม่แน่นอน เมื่อกาลโอกาสที่เอื้ออำนวยผ่านไป กรรมร้ายก็จะแสดงผล พึงถือโอกาสยามสมบัติช่วย เร่งประกอบกุศลกรรมเท่านั้น คือถือเอาแต่ส่วนที่ดีงามไร้โทษของหลักการที่กล่าวมานี้
โดยนัยนี้ ก็สรุปได้ว่า ถ้าจะทำการใด ในเมื่อมีองค์ประกอบของนิยามหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็พึงทำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามให้ดี เป็นส่วนที่ยึดเอาไว้ได้อย่างแน่นอนมั่นใจแล้วอย่างหนึ่งก่อน ส่วนองค์ประกอบฝ่ายนิยามอย่างอื่น ก็พึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเอามาใช้เสริม เท่าที่เป็นโทษในแง่ของกรรมนิยามต่อไป หากปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็เรียกว่า เป็นผู้รู้จักถือเอาประโยชน์จากกุศลกรรม และสมบัติวิบัติทั้งสี่ หรือรู้จักใช้ทั้งกรรมนิยามและสมมตินิยามในทางที่เป็นคุณ
สำหรับบางคน อาจต้องเตือนว่า อย่ามัวคิดวุ่นอยู่เลยว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำดี แต่กลับได้ดี ทำไมคนนี้ทำไม่ดี แต่ไม่เห็นเป็นอะไร ทำไมเราทำอย่างนี้ ไม่เห็นได้อะไร ดังนี้เป็นต้น
ปัจจัยหรือองค์ประกอบของนิยามทั้งหลาย เราอาจยังตรวจดูรู้ไม่ทั่วถึง และพึงคิดว่า ตัวเรานี้ ปัญญาที่จะรู้จักเลือกถือเอาประโยชน์จากนิยามอื่นๆก็ไม่มี หนำซ้ำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามที่เป็นฐานยืนพื้นแน่นอนอยู่นี้ ก็ยังไม่ใส่ใจที่จะทำให้ดีเสียอีก ถ้าขืนเป็นอย่างนี้ ก็คงมีแต่จะต้องทรุดหนักลงไปทุกที
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ผู้ประกอบกรรมดีย่อมไม่ติดอยู่เพียงขั้นที่ยังมุ่งหวังผลอันเป็นโลกธรรม (ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ) ตอบสนองแก่ตน เพราะกุศลกรรมที่แท้จริง เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เขาจึงทำกรรมด้วยจาคะ สละอกุศลในใจ และเผื่อแผ่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ทำกรรมด้วยเมตตา กรุณา ช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ และสนับสนุนความอยู่ร่วมกันโดยสุขสงบมีไมตรี ทำกรรมด้วยปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อโพธิ เพื่อให้ธรรมแพร่หลายครองใจคนและครองสังคม ซึ่งจัดเข้าได้ว่า เป็นกรรมขั้นสูงสุด คือกรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ตามหลักที่ยกมาอ้างแล้วข้างต้น
(จากหนังสือพุทธธรรมฉบับปรับขยาย)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 190 ตุลาคม 2559 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)
สมบัติ แปลง่ายๆ ว่า ข้อดี หมายถึง ความเพียบพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งช่วยเสริมส่งอำนวยโอกาสให้กรรมดีปรากฏผล และไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆว่า องค์ประกอบอำนวยช่วยเสริมกรรมดี สมบัติมี 4 อย่าง คือ
1. คติสมบัติ สมบัติแห่งคติ ถึงพร้อมด้วยคติ หรือคติให้ คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศที่เจริญ เหมาะหรือเกื้อกูล ตลอดจนในระยะสั้น คือ ดำเนินชีวิตอยู่หรือไปในถิ่นที่โอกาสอำนวย
2. อุปธิสมบัติ สมบัติแห่งร่างกาย ถึงพร้อมด้วยร่างกาย ร่างกายดี หรือรูปร่างให้ เช่น มีรูปร่างสวย ร่างกายสง่างาม หน้าตาท่าทางดี น่ารัก น่านิยมเลื่อมใส สุขภาพดี แข็งแรง
3. กาลสมบัติ สมบัติแห่งกาล ถึงพร้อมด้วยกาลหรือกาลให้ คือ เกิดอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองมีความสงบสุข ผู้ปกครองดี ผู้คนมีศีลธรรม ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ตลอดจนในระยะสั้น คือ ทำอะไรถูกกาลเวลา ถูกจังหวะ
4. ปโยคสมบัติ สมบัติแห่งการประกอบ ถึงพร้อมด้วยการประกอบกิจ หรือกิจการให้ เช่น ทำเรื่องตรงกับที่เขาต้องการ ทำกิจตรงกับความถนัดความสามารถของตน ทำการถึงขนาดถูกหลักครบถ้วนตามเกณฑ์ หรือเต็มอัตรา ไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆ หรือเหยาะแหยะ หรือไม่ถูกเรื่องกัน รู้จักจัดทำ รู้จักดำเนินการ
ส่วน “วิบัติ” แปลง่ายๆ ว่า ข้อเสีย หรือจุดอ่อน หมายถึง ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การที่กรรมดีจะปรากฏผล แต่กลับเปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆว่า องค์ประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว วิบัติ มี 4 อย่าง คือ
1. คติวิบัติ วิบัติแห่งคติ หรือคติเสีย คือ เกิดอยู่ใน ภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศ สภาพแวดล้อมที่ไม่เจริญ ไม่เหมาะ ไม่เกื้อกูล ทางดำเนินชีวิตไม่เอื้อ ถิ่นที่ไปไม่อำนวย
2. อุปธิวิบัติ วิบัติแห่งร่างกาย หรือรูปกายเสีย เช่น ร่างกายพิกลพิการ ไม่สวยงาม กิริยาท่าทางน่าเกลียด ไม่ชวนชม ตลอดจนสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก
3. กาลวิบัติ วิบัติแห่งกาล หรือกาลเสีย คือ เกิดอยู่ในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีภัยพิบัติ ไม่สงบเรียบร้อย ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มากด้วยการเบียดเบียน ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ตลอดจนทำอะไรไม่ถูกกาลเวลา ไม่ถูกจังหวะ
4. ปโยควิบัติ วิบัติแห่งการประกอบ หรือกิจการเสีย เช่น ฝักใฝ่ในกิจการหรือเรื่องราวที่ผิด ทำการไม่ตรงความถนัด ความสามารถ ใช้ความเพียรในเรื่องไม่ถูกต้อง ทำการครึ่งๆ กลางๆ เป็นต้น
คู่ที่ 1 คติสมบัติ เช่น เกิดอยู่ในถิ่นเจริญ มีบริการการศึกษาดี ทั้งที่สติปัญญาและความขยันไม่เท่าไร แต่ก็ยังได้ศึกษามากกว่า เข้าถึงสถานะทางสังคมสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีสติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรดีกว่า แต่ไปเกิดอยู่ในถิ่นป่าดง หรือเช่นไปเกิดเป็นเทวดา ถึงจะแย่อย่างไรก็ยังสุขสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่อดอยาก
คติวิบัติ เช่น มีพระพุทธเจ้าอุบัติตรัสสอนธรรม แต่ตัวไปเกิดอยู่เสียในป่าดงหรือในนรก ก็หมดโอกาสได้ฟังธรรม หรือมีสติปัญญาดีแต่ไปเกิดเป็นคนป่าอยู่ในกาฬทวีป ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นนักปราชญ์ในวงการศิลป์และศาสตร์ทั้งหลาย มีความรู้ความสามารถดี แต่ไปอยู่ในถิ่นหรือในชุมชนที่เขาไม่เห็นคุณค่าของความรู้ความสามารถนั้น เข้ากับเขาไม่ได้ ถูกเหยียดหยาบบีบคั้น อยู่อย่างเดือดร้อน คนหนึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นคนดี แต่ไปอยู่ในตำแหน่งฐานะหน้าที่ที่ไม่เข้ากับส่วนดีที่ตัวมี กลายเป็นตัวขัดถ่วงกิจการของส่วนรวมนั้น และตนเองก็ไม่เป็นสุข(กรณีหลังนี้ อาจมีปโยควิบัติซ้ำด้วย) ดังนี้เป็นต้น (คติสมบัติ คติวิบัติ อรรถกถาอธิบายเฉพาะในแง่ของภพภูมิที่ไปเกิด)
คู่ที่ 2 อุปธิสมบัติ เช่น รูปร่างสวยงาม น่าชื่นชม แม้ไปเกิดในตระกูลยากไร้ หรือถิ่นห่างไกล รูปกายช่วยให้ขึ้นมาสู่ฐานะและถิ่นที่มีเกียรติและความสุข
อุปธิวิบัติ เช่น เกิดในถิ่นดี หรือในตระกูลมั่งคั่งสมบูรณ์ แต่พิกลพิการง่อยใบ้ ไม่อาจได้รับเกียรติยศและความสุขความรื่นรมย์ที่พึงได้
คนสองคน มีคุณสมบัติอย่างอื่นเสมอเหมือนกัน คนหนึ่งรูปร่างสง่า สวยงาม อีกคนหนึ่งขี้ริ้วขี้เหร่ หรือขี้โรค ในกรณีที่ถือร่างกายเป็นส่วนประกอบด้วย คนมีกายดีก็ได้รับผลไป แม้ในกรณีที่ไม่ถือกายเป็นคุณสมบัติ ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไป ที่จะเอนเอียงเข้าหาคนที่มีรูปสมบัติ คนที่รูปวิบัติจะต้องยอมรับความจริงที่เป็นธรรมดาของชาวโลกข้อนี้ และตระหนักว่า ผู้ที่มีจิตเที่ยงตรงไม่เอนเอียง เพราะเหตุแห่งรูปสมบัติรูปวิบัตินี้ ก็มีแต่คนที่ประกอบด้วยคุณธรรมพิเศษยิ่งกว่าคนทั่วไป
คนที่มีรูปวิบัติ เมื่อรู้เช่นนี้แล้วไม่พึงเสียใจ จากนั้นจะได้เร่งขวนขวายสร้างเสริมคุณสมบัติส่วนอื่นๆ ให้มีพิเศษยิ่งกว่าปกติ
ถ้าคนรูปกายดีใช้ความพยายามหนึ่งส่วน คนมีอุปธิวิบัติอาจต้องพยายามสองหรือสามส่วน เป็นต้น ข้อสำคัญอย่าท้อแท้ ปัจจัยที่หย่อนก็รู้ ที่เสริมได้ก็เร่งทำ ความรู้กรรมจึงจะเกิดประโยชน์
คู่ที่ 3 กาลสมบัติ เช่น เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำสิ่งที่ดีงาม มาเกิดในยุคที่ผู้ปกครองดี สังคมดี ยกย่องเชิดชูคนดี คนผู้นั้นก็มีเกียรติ มีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข ผู้มีสติปัญญาเป็นนักปราชญ์ ก็มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถ ให้ปรากฏและให้เป็นประโยชน์ หรือในยุคสมัยหนึ่ง คนนิยมกาพย์กลอนกันมาก คนเก่งกาพย์กลอนก็รุ่งเรืองเฟื่องฟู
กาลวิบัติ ก็ตรงข้าม ในยามสังคมเสื่อมจากศีลธรรม ผู้ปกครองไม่ประกอบด้วยธรรม คนทำดีไม่ได้รับยกย่อง หรืออาจถูกเบียดเบียนกดขี่ ประสบความเดือดร้อน หรือยามบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย มีศึกสงคราม ไม่มีใครสนใจคนทำความดีทางสันติ แม้มีสติปัญญาความสามารถ ก็ไม่มีโอกาสสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ หรือในยุคที่สังคมนิยมดนตรีหยาบร้อน ตนแม้เชี่ยวชาญในดนตรีที่สงบเยือกเย็น แต่ไม่ได้รับความสนใจยกย่อง เป็นต้น
คู่ที่ 4 ปโยคสมบัติ เช่น ตนไม่ใช่คนดีมีความสามารถจริง แต่รู้จักเข้าหาคนควรเข้าหา รู้จักเลี่ยงเรื่องควรหลบ อะไรควรเสียยอมเสีย ทำให้ตนเจริญก้าวหน้าไปได้ และความเสียหายบกพร่องของตนไม่ปรากฏ หรือมีความสามารถในการปลอมแปลงเอกสาร เอาความสามารถนั้นมาใช้ทางดี เช่น ในงานพิสูจน์หลักฐาน
ปโยควิบัติ เช่น มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติอื่นดีหมด แต่ติดการพนัน จึงไม่ได้รับการคัดเลือกไปทำงาน หรือมีฝีเท้ารวดเร็วมาก พอจะเป็นนักกรีฑาชั้นเลิศ แต่เอาความสามารถนั้นไปใช้ในการวิ่งฉกชิงทรัพย์เขา หรือตนมีฝีมือดีในทางช่าง แต่ไปนั่งทำงานเสมียนที่ไม่ถนัด เป็นต้น
ผลในระดับที่สามนี้ ส่วนมากเป็นเรื่องของโลกธรรม ซึ่งมีความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องชั้นเปลือกผิวภายนอก มิใช่แกนในของชีวิต จะกระทบกระทั่งหนักเบา ก็อยู่ที่ว่าจะมีความยึดติดถือมั่นมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ยึดติด สามารถวางใจ ก็มีความสุขได้เสมอ หรืออย่างน้อยก็ทุกข์ไม่มาก และผ่านเหตุการณ์ไปได้ด้วยดี
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้มีปัญญารู้เท่าทันธรรมดา ประกอบด้วยสติ มิให้หลงใหลประมาทมัวเมา คราวสุขคราวได้ ก็ไม่เหลิงลำพองเคลิ้มไป คราวทุกข์คราวเสีย ก็ไม่ขุ่นมัวคลุ้มคลั่ง ปล่อยตัวถลำลงในทางชั่วทางเสีย ค่อยผ่อนผันแก้ไขเหตุการณ์ด้วยสติปัญญา
เมื่อยังต้องการโลกธรรมฝ่ายดี คือที่ชื่นชอบ เป็นอิฏฐารมณ์ ก็กำหนดสมบัติวิบัติ ที่เป็นกำลัง หรือจุดอ่อนของตน และจัดสรรเลือกองค์ประกอบฝ่ายสมบัติที่จัดเลือกได้ หลีกเว้นวิบัติเสีย แล้วพยายามเข้าถึงผลดีที่มุ่งหมายด้วยกรรมที่เป็นกุศล ซึ่งมีผลมั่นคงและลึกซึ้งถึงชีวิตทุกระดับของตน ไม่สร้างผลด้วยอกุศลกรรม และไม่ถือโอกาสยามสมบัติอำนวย ไปประกอบการอกุศล เพราะสมบัติและวิบัติสี่ประการนั้นเป็นของไม่แน่นอน เมื่อกาลโอกาสที่เอื้ออำนวยผ่านไป กรรมร้ายก็จะแสดงผล พึงถือโอกาสยามสมบัติช่วย เร่งประกอบกุศลกรรมเท่านั้น คือถือเอาแต่ส่วนที่ดีงามไร้โทษของหลักการที่กล่าวมานี้
โดยนัยนี้ ก็สรุปได้ว่า ถ้าจะทำการใด ในเมื่อมีองค์ประกอบของนิยามหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็พึงทำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามให้ดี เป็นส่วนที่ยึดเอาไว้ได้อย่างแน่นอนมั่นใจแล้วอย่างหนึ่งก่อน ส่วนองค์ประกอบฝ่ายนิยามอย่างอื่น ก็พึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเอามาใช้เสริม เท่าที่เป็นโทษในแง่ของกรรมนิยามต่อไป หากปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็เรียกว่า เป็นผู้รู้จักถือเอาประโยชน์จากกุศลกรรม และสมบัติวิบัติทั้งสี่ หรือรู้จักใช้ทั้งกรรมนิยามและสมมตินิยามในทางที่เป็นคุณ
สำหรับบางคน อาจต้องเตือนว่า อย่ามัวคิดวุ่นอยู่เลยว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำดี แต่กลับได้ดี ทำไมคนนี้ทำไม่ดี แต่ไม่เห็นเป็นอะไร ทำไมเราทำอย่างนี้ ไม่เห็นได้อะไร ดังนี้เป็นต้น
ปัจจัยหรือองค์ประกอบของนิยามทั้งหลาย เราอาจยังตรวจดูรู้ไม่ทั่วถึง และพึงคิดว่า ตัวเรานี้ ปัญญาที่จะรู้จักเลือกถือเอาประโยชน์จากนิยามอื่นๆก็ไม่มี หนำซ้ำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามที่เป็นฐานยืนพื้นแน่นอนอยู่นี้ ก็ยังไม่ใส่ใจที่จะทำให้ดีเสียอีก ถ้าขืนเป็นอย่างนี้ ก็คงมีแต่จะต้องทรุดหนักลงไปทุกที
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ผู้ประกอบกรรมดีย่อมไม่ติดอยู่เพียงขั้นที่ยังมุ่งหวังผลอันเป็นโลกธรรม (ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ) ตอบสนองแก่ตน เพราะกุศลกรรมที่แท้จริง เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เขาจึงทำกรรมด้วยจาคะ สละอกุศลในใจ และเผื่อแผ่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ทำกรรมด้วยเมตตา กรุณา ช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ และสนับสนุนความอยู่ร่วมกันโดยสุขสงบมีไมตรี ทำกรรมด้วยปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อโพธิ เพื่อให้ธรรมแพร่หลายครองใจคนและครองสังคม ซึ่งจัดเข้าได้ว่า เป็นกรรมขั้นสูงสุด คือกรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ตามหลักที่ยกมาอ้างแล้วข้างต้น
(จากหนังสือพุทธธรรมฉบับปรับขยาย)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 190 ตุลาคม 2559 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)