xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิสันถาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

23 ตุลาคม
วันปิยมหาราชรำลึก


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า กองบรรณาธิการนิตยสารธรรมลีลา


ทำทานการสละสิ้น สบสถาน
จงประกอบสามกาล เกิดพร้อม
แรกคิดขณะทาน ทำเสร็จ แล้วแฮ
โสมนัสมาโนชน้อม นั่นนั้นเป็นบุญ
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งเทศกาลงานบุญ เริ่มต้นเดือนก็เป็นวันเริ่มต้นประเพณีถือศีลกินเจ ระหว่างวันที่ 1-9 ตุลาคม จากนั้นก็เป็นวันออกพรรษา วันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งมีประเพณีสำคัญคือ ตักบาตรเทโว

พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม ได้ให้ความหมายของการออกพรรษา ไว้ในหนังสือวันสำคัญของชาวพุทธไทย ว่า

“มีตํานานเล่าว่า ในพรรษาที่ 7 หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงจําพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา พร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย

ครั้นสิ้นสุดพรรษาแล้ว ในวันมหาปวารณา (คือวันขึ้น 15 ค่ำ ที่เรียกกันว่าวันออกพรรษา) พระองค์ก็เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงสู่มนุษยโลกที่เมืองสังกัสสะ ซึ่งเป็นนครสําคัญแห่งหนึ่งของแคว้นโกศล

ครั้งนั้น เทวดามากมายได้ตามส่งเสด็จ ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายก็พากันตื่นเต้นดีใจ มาชุมนุมกันรอรับเสด็จอย่างคับคั่ง เป็นธรรมดาของพุทธศาสนิกชน เมื่อมาชุมนุมกันในโอกาสเช่นนี้ ก็ย่อมตักบาตร ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการทําบุญครั้งใหญ่ และถวายการต้อนรับแด่พระพุทธเจ้า จากตํานานนี้ก็ได้เกิดประเพณีตักบาตรเทโวสืบต่อมา

ตักบาตรเทโวเป็นคําย่อ เรียกเต็มว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” เทโวโรหณะ แปลว่า การลงจากเทวโลก คือการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ตามตํานานที่เล่ามาแล้วนั้นเอง ตักบาตรเทโว จึงหมายถึง การตักบาตรเนื่องในการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก

...การตักบาตรเทโว บ่งบอกถึงความหมายที่ลึกซึ้งลงไปอีก หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับคืนมาสู่โลกมนุษย์ คือการที่มนุษย์ทั้งหลายได้ต้อนรับพระองค์กลับมาอีก

ในระหว่างพรรษานั้น พระพุทธเจ้าจะเสด็จปลีกพระองค์ไปปฏิบัติพุทธกิจอย่างใด ณ ที่ใด หรือแก่ชุมชนใดโดยเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จออกมาบําเพ็ญพุทธกิจในหมู่ประชาชนทั่วไปอีก ประชาชนทั้งหลายจะได้พบได้เฝ้าพระองค์ นี้คือความหมายของการออกพรรษา

ดังนั้น ว่าที่แท้การออกพรรษา ก็คือการเริ่มต้นของเวลานอกพรรษา เป็นเครื่องบ่งบอกว่า ระยะเวลาที่พระสงฆ์อยู่ประจําที่ เพื่อดําเนินการศึกษาอบรมภายในหมู่พระสงฆ์เองโดยเฉพาะ เพื่อซักซ้อมตระเตรียมฝึกฟื้นตนเองให้พร้อมยิ่งขึ้น และเพื่อสงเคราะห์ชุมชนหมู่หนึ่งโดยเฉพาะนั้น บัดนี้ระยะเวลาแห่งศาสนกิจที่เน้นหนักในด้านนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อแต่นี้ไปเป็นการเริ่มต้นแห่งรอบเวลาใหม่ คือการที่พระสงฆ์จะออกปฏิบัติศาสนกิจจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของหมู่ชน…”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 190 ตุลาคม 2559)
กำลังโหลดความคิดเห็น