xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : พลังแห่งการตื่นอยู่เสมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เราทึกทักกันเองว่า ถ้าลืมตาก็แสดงว่าตื่นอยู่ แต่การตื่นที่จะพูดกันวันนี้หมายถึง การที่เรามีจิตใจที่ตื่นอยู่ ที่มีสติกำกับอยู่ รู้ตัวทั่วพร้อม และมีสัมปชัญญะตามรู้ในทุกๆขณะว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งฟังดูแปลก เพราะเหตุใดเราจะไม่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขณะที่ลืมตาตื่นอยู่นี้

จิตเป็นนามธรรม มองเห็นไม่ได้ จับต้องไม่ได้ เป็นธรรมชาติที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เราจะรู้ว่ามีจิตอยู่ก็โดยตามจับกระแสความคิด หรือวาระจิต บ่อยครั้งที่เราคิดว่าเรารู้ เรารู้สึกอยู่ เราติดตามมันอยู่ แท้ที่จริงเราตามมันไม่ทัน เพราะอะไร เพราะว่ามันสามารถคิดครอบคลุมจักรวาลด้วยความเร็วปานจักรผัน เร็วยิ่งกว่าแสง ยิ่งกว่าพลังใดๆในโลก

ขณะที่จิตคิดไปต่างๆนานานั้น เราเคยเฝ้าสังเกตบ้างหรือไม่ว่า มันคิดถึงอะไรบ้าง คิดเป็นลำดับด้วยความเป็นระเบียบ หรือคิดไปด้วยความขัดแย้งสับสน

หลายต่อหลายครั้งที่เราตื่นขึ้นมาตอนเช้า และพบว่า ตัวเองเพลียละเหี่ยใจไปหมด ทั้งๆที่ยังไม่ได้ลุกจากที่นอนไปทำอะไรเลย เราเคยค้นหาเหตุหรือไม่ว่า เป็นเพราะเหตุใด

บางครั้งเรามีปัญหาหลายอย่างที่แก้ไม่ตก ติดค้างอยู่ในใจ ทำให้กังวลวุ่นวายครุ่นคิด แต่ก็ไม่สามารถจัดระเบียบให้คิดได้ว่า จะเอาอะไรก่อน เอาอะไรหลัง เราก็เลยคิดเรื่องที่หนึ่งให้ได้สองสามประโยค กระโดดไปคิดเรื่องที่สอง หรือเรื่องที่ห้า เรื่องที่สิบ จนมันขัดแย้งสับสนกันไปหมด จนเราเองก็ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องไหนกันแน่

เหมือนการจราจรในกรุงเทพฯ ตรงสี่แยกที่ไม่มีไฟจราจรยามเช้า ทุกคนจะรีบไปทำงาน ทุกคนต่างต้องการเป็นผู้ไปก่อน ไม่มีใครยอมใคร ต่างคนต่างก็เอารถจ่อไปขัดปิดทางของกันและกันไว้ ทำให้ไม่มีใครสามารถนำรถของตนเคลื่อนผ่านไปได้ ผลที่สุดแทนที่จะพอมีทางไปได้ ก็กลายเป็นสร้างเครื่องกีดขวางขึ้นดักตนเอง

ความคิดของเราก็เช่นกัน เวลาสับสน รีบร้อน เราจะทำตัวเองให้เป็นเหมือนการจราจรตรงสี่แยก กล่าวคือ เราเอาความคิดหลายๆเรื่องเข้ามาประสานงากัน แล้วเราก็สับสน เราก็ไม่ได้คำตอบ เรื่องไหนก็ไม่ได้คำตอบทั้งนั้น แต่เราก็คงปล่อยให้ความคิดทั้งหลายเหล่านั้น เกิดอยู่พร้อมๆกัน โดยตัดสินใจไม่ได้ว่า ควรคิดเรื่องไหนก่อน เรื่องไหนหลัง

หากเราเอาสติเข้ามากำหนดรู้ ก็เปรียบได้กับมีจราจรเข้ามาจัดการปล่อยรถ ให้ผลัดกันเคลื่อนไปทีละคันอย่างมีระเบียบ สติก็จะกำหนดพิจารณาปัญหาทีละปัญหา จนได้คำตอบ เป็นการสะสางความสับสนวุ่นวายให้หมดไป

จิตใจที่มีสติรู้อยู่ตื่นอยู่นั้น จะได้รับการสะสางจัดระเบียบให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อว่าผลของการทำงาน จะได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เมื่อเรารู้อยู่อย่างนี้ เริ่มจัดระเบียบอย่างนี้ ความยุ่งเหยิงก็จะเริ่มเข้าที่เข้าทาง เกิดเป็นความปกติ จิตใจที่ไม่มีความเป็นปกตินั้นจะยุ่ง จะสับสน จะหงุดหงิด ครั้นเมื่อมีความเป็นปกติเกิดขึ้น ก็จะเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือจะกล่าวว่าเป็นจิตใจที่มีศีลกำกับก็ได้

ศีล คืออะไร ศีล คือความเป็นปกติของใจ

เมื่อใจปกติแล้ว เราพบว่า ความวุ่นวาย ความยุ่งเหยิงจะค่อยๆลดลง เกิดเป็นความสงบขึ้น ใจที่สงบนิ่งนี้หากจะเรียกให้เป็นศัพท์ทางวิชาการก็ว่า “ใจมีสมาธิ”
เมื่อมีสมาธิแล้ว ของอะไรก็ตามที่เราคิดว่าเหลือบ่ากว่าแรง ของอะไรก็ตามที่เราคิดว่าเป็นปัญหายุ่งยาก ลึกลับซับซ้อน ก็ค่อยๆมีลู่ทางที่จะได้คำตอบออกมา ก็เกิดเป็นปัญญาขึ้น อะไรที่เคยคิดว่าทำไม่ได้ ก็กลายเป็นสิ่งซึ่งพอจะทำได้ หรือสามารถจะทำได้ หรือทำให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีที่สุด ด้วยมีประสิทธิภาพได้

เมื่อมีสติกำกับใจอยู่อย่างนี้ เราสามารถเห็นวิถีที่กระแสจิตของเราจะคิดไป เพราะฉะนั้น เมื่อมีอะไรมากระทบ แทนที่จะสนองออกไป รับรู้ออกไปอย่างฉับพลัน ด้วยความเคยชินอันเป็นอุปนิสัย ซึ่งอาจไม่มีเหตุ ไม่มีผล อาจเป็นการรับรู้ที่ผิด เพราะเห็นไปตามความยึดมั่นเพราะอคติ หรือเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อันจะนำไปสู่ลูกโซ่ของการตัดสินใจผิด สติจะสามารถชะงักให้เกิดความเนิบช้าลง ในการจะสนองอะไรออกไป

ดังนั้น พออะไรมากระทบ แทนที่เราจะตัดสินโดยอัตโนมัติ ด้วยความจำได้หมายรู้แต่เก่าก่อน สติจะยับยั้งให้คิดว่า อะไรที่ได้ยินนั้น มีเหตุผลอย่างไรบ้าง เราจะค่อยๆไตร่ตรอง เราจะค่อยๆนำสิ่งนั้นมาทวนหาเหตุผล และประมวลหาคำตอบที่ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงที่สุดออกมา แล้วจึงลงมือกระทำหรือพูดหรือคิดต่อไป ซึ่งเท่ากับเราวางแนวให้สิ่งที่จะกระทำนั้น เป็นสิ่งที่อยู่ในขอบข่ายของเหตุผล

สิ่งใดก็ตามที่เราทำอยู่เรื่อยๆ จะหยั่งรากลงเป็นความเคยชิน และในที่สุดก็กลายเป็นอุปนิสัยติดตัวเรา ถ้าเปรียบตัวเราเป็นผ้าผืนหนึ่ง อุปนิสัยที่พอกพูนนอนเนื่องอยู่ แล้วชักนำให้เราประพฤติสนองตอบผัสสะต่างๆ ออกไปก็เปรียบได้กับเส้นด้ายแต่ละเส้นในเนื้อผ้า เมื่อเห็นเส้นด้ายเส้นใดขาดชำรุดทรุดโทรม หรือไม่ดี เราก็รู้ว่าไม่ดี และยอมรับ เมื่อใจยอมรับตามเป็นจริงแล้ว ก็คิดหาทางแก้ไข โดยอาศัยเหตุผลมาประกอบการพิจารณา จัดเป็นการลับปัญญาให้เพิ่มขึ้น

การที่เราเริ่มยั้งคิด และไตร่ตรองนี้ ทำให้เกิดความกล้าสู้ความจริง แล้วลงมือแก้ไขข้อบกพร่อง เมื่อทำอยู่ทุกวันๆ มีสติรู้อยู่ มีสติบังคับอยู่อย่างนั้น ความเคยชินแต่ดั้งเดิมจะค่อยถูกลบล้างไป เกิดนิสัยใหม่เข้ามาแทนที่ ด้วยสติและด้วยปัญญาที่เป็นผลจากการกำหนดรู้ เพ่งดูวิถีจิตของเราอยู่อย่างนี้ทุกๆขณะ ทุกๆอิริยาบถ

ผลประโยชน์ที่มีขึ้นคือ จิตจะเริ่มมีระเบียบ มีความสงบ มีกำลัง และมีเหตุผล ประกอบแต่สิ่งที่ถูกที่ควร เมื่อเราทำซ้ำๆอยู่อย่างนี้ การรักษาสติซึ่งเคยเป็นของลำบาก ต้องพยายามระวังอย่างยิ่งยวด เพราะเผลอเมื่อใดจะหลุดไป ก็เปลี่ยนเป็นของง่ายและเคยชินขึ้น แบบเดียวกับการหัดเด็ก เราต้องคอยบอกซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งมันเคยชินฝังเป็นอุปนิสัย เมื่อเป็นดังนี้ เราก็สามารถแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีของเราได้

ขณะเดียวกัน เมื่อแก้สิ่งที่ไม่ดีทิ้งไปแล้ว ก็ปลูกฝังสิ่งที่ดีเข้าไปแทนที่ เมื่อเป็นอย่างนี้บ่อยๆเข้า เราจะพบว่า สติของเรา ซึ่งแต่เดิมนั้นต้องเขม็ง ต้องใช้ความพยายามที่จะรักษา ให้กำกับอยู่กับจิตที่จะปลุกตัวให้มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานั้น ได้กลายเป็นความเคยชิน และคอยปกป้องรักษาเรา แทนที่จะเป็นเราต้องคอยปกปักรักษามันอยู่ตลอดเวลา

มันก็เริ่มสนุกขึ้น เพราะเริ่มเห็นผลของงาน เราไม่ต้องเขม็งระวัง เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเราแล้ว พอมีอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เคยฝึกไว้จนหยั่งรกรากเป็นอุปนิสัย ก็จะชี้นำให้เราเกิดเห็นตามความเป็นจริง หรือเรียกว่าสัมมาทิฐิขึ้น

เมื่อมีสัมมาทิฐิแล้ว ย้อนกลับไปดูตัวเอง จะพบว่า แต่เดิมนั้นพอมีอะไรเกิดขึ้น เราจะตอบออกไปทันทีด้วยความเคยชิน สิ่งไหนที่ชอบ ก็ตอบด้วยความชื่นชมพอใจ ด้วยใจที่ฟูด้วยสุข ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบ ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราก็หงุดหงิดขัดข้อง ปัดมันทิ้ง หรือมีปฏิกิริยาต่อต้านทันที

แต่เมื่อมีสติรู้อยู่อย่างนี้ ก่อนที่จะตอบสนองไปอย่างนั้น เราจะเกิดความชะงัก เกิดมีความยั้งคิด ให้ได้สอบสวนตัวเองว่า อะไรกันแน่ ที่ทำให้เรารู้สึกแตกต่างอย่างนั้น จนพบว่า เพราะจิตที่ไปยึดอยู่ ที่ไปสำคัญมั่นหมายอยู่ เคลือบบังจนไม่เหลือเหตุผลหรือความเห็นชอบนั่นเอง

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เป็นต้นว่า “ทองคำ” โดยธรรมชาติก็เป็นโลหะชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับโลหะอื่นๆ เช่น สังกะสี ตะกั่ว หรือเหล็ก ก่อนที่จะนำมาทำให้บริสุทธิ์ ก็อาจพบปะปนอยู่ในก้อนกรวด หิน ดิน ทราย ที่เราเหยียบย่ำกัน แต่ทำไมทุกคนจึงคิดว่า ทองคำเป็นสิ่งมีค่า ก็เพราะว่าเราไปกำหนด ไปยึด ไปสำคัญหมายว่า ทองคำเป็นของหายาก ทองคำจึงถูกเราตีราคาให้ค่าสูงขึ้นไปอย่างนั้น มันจึงกลายเป็นสิ่งมีค่าขึ้นมา

สมมติมีที่แห่งหนึ่ง เป็นเหมืองทองคำ ที่ผู้คนอยู่กันตามธรรมชาติ และไม่เคยทราบว่า แร่ธาตุชนิดนี้ถูกมนุษย์กลุ่มหนึ่งกำหนดให้มีราคาสูง เขาก็อาจเอาทองคำมาใช้โรยถนน เหมือนกับก้อนกรวด และในสำนึกของเขาเหล่านั้น ทองคำและก้อนกรวดก็มีราคาเสมอกัน เพราะเป็นธาตุข้นแข็งด้วยกัน นี้คืออิทธิพลของความสำคัญมั่นหมาย อุปาทาน ความยึดมั่นที่มากำหนดความนึกคิดของเรา ให้เหห่างออกไปจากความจริง

เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังอย่าให้สิ่งที่เราสมมติขึ้นมา บัญญัติขึ้นมา เพื่อใช้ติดต่อสื่อความหมายกับบุคคลอื่นๆในสังคม มีอิทธิพลเหนือเรา ทำให้เราติดข้อง ไปเป็นทุกข์ เพราะหลงยึดถือว่า มันคือที่สุดของความปรารถนา

เอาสติกำหนดใจให้รู้เท่าทันตามสภาพความเป็นจริง ว่าสิ่งนี้เราเป็นผู้กำหนดคุณค่าขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับอำนวยความคล่องตัว ความสะดวกสบาย หรือเพื่อนำมาทำให้เป็นประโยชน์กับเรา เมื่อใดก็ตามที่เราติดตามมันไปจนตกเป็นทาส เราก็จะมีสภาพเหมือนลิง ที่เห็นชาวประมงทอดแห แล้วจัดแจงเอาแหมาหัดทอดบ้าง แต่เพราะลิงไม่รู้ว่าทอดแหนั้นทำอย่างไร มันจึงถูกแหพันจนกลิ้งตกลงไปในน้ำ และในที่สุดก็จมน้ำตาย

อย่าให้เราไปติดข้องในสิ่งที่บัญญัติขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ แล้วหลงไปด้วยความหลับ ด้วยความที่ไม่มีสติกำกับ จนถูกสิ่งนั้นเอ่อท่วมจนเราจมตายไป ด้วยเหตุนี้ เราทุกคนจึงควรฝึกให้มีสติอยู่ทุกขณะ

จากที่พูดกันมานี้ จึงเห็นได้ว่า ถ้าเราจะตื่นอยู่เสมอ เราก็ต้องมีสติกำกับอยู่กับความคิดของเรา กับจิตของเราในทุกๆขณะจิต ในปัจจุบันนี้ทุกๆขณะ เพื่อที่เราจะได้รู้ตัว เพื่อที่เราจะได้ตื่นพร้อม ที่จะรับรู้เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น และสามารถพิจารณาเห็นมันได้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่เรานึกอยากให้มันเป็น

เราจะมีคำถามตามมาว่า ถ้าอย่างนั้น เราจะเอาเวลาที่ไหนมาประกอบการงานอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ได้ เพราะเรามิต้องเสียเวลาทั้งหมดทั้งปวง ไปในการที่จะฝึกสติเท่านั้นหรือ

ดังได้กล่าวแล้วว่า สตินี้คือการเพ่งรู้อยู่กับปัจจุบันทุกๆขณะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ เราสามารถฝึกสติร่วมไปด้วยได้เสมอ บางครั้งเราไม่อยากทำสิ่งที่ต้องทำ เราไม่พอใจ เป็นต้นว่า เราอยากอ่านหนังสือ หรือทำอะไรของเรา แต่มีภาระที่จะต้องทำอย่างอื่น วิธีแก้ไขคือ ทำใจของเราให้พอใจกับสิ่งที่ต้องทำนั้น เมื่อพอใจก็เกิดความเต็มใจ ความตั้งใจที่จะทำ เราก็รู้อยู่ในสิ่งที่เราทำนั้น อันนั้นก็เป็นการฝึกสติไปในตัวแล้ว

หรือถึงเวลาก็ต้องกิน เราก็กิน เราก็รู้อยู่แต่ในสิ่งที่กำลังกิน รู้ทันในทุกๆขณะที่กำลังเอาช้อนตักเข้าปาก เคี้ยว และกลืนไป ให้รู้ทัน ชัดอยู่เช่นนั้น ไม่ใช่ว่าเราทำประหนึ่งตัวเราเป็นเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง พอเอาช้อนตักข้าวใส่เข้าไป มันก็ตั้งต้นบดของมันไปโดยอัตโนมัติ ใจก็คิดถึงเรื่องโครงการที่ยังทำไม่เสร็จ หรือคนไข้ที่ตรวจค้างอยู่และยังวินิจฉัยโรคไม่ได้

ถ้าเป็นดังนี้ ก็เกิดความแตกแยกกันขึ้น ระหว่างกายที่เราเอาช้อนตักข้าวป้อนเข้าไปกับจิต เราไม่รู้เลยว่า เรากำลังกินอะไร เพราะจิตของเราทั้งดวง ไปคิดผูกอยู่ในเรื่องที่ติดค้างอยู่ในใจ มันจึงเกิดความหงุดหงิดขัดข้องกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตกลงเราก็เปรียบเสมือนไม่ได้มีชีวิตอยู่ เราคิดต่อต้านเป็นปฏิปักษ์กับสภาพความเป็นอยู่ในขณะนั้น ทั้งๆที่เราก็ยังหายใจอยู่ ยังทรงร่างอยู่ แต่เราก็ยืนอยู่อย่างกับต้นไม้ตายซากที่ยังยืนต้นอยู่ เพราะเราไม่ได้รับรู้ เราไม่ได้ใช้ความคิดมีชีวิตของเราอย่างเต็มที่ อย่างมีชีวิตที่สมบูรณ์ ที่จะเฝ้าดูทุกๆขณะที่เกิดขึ้นอย่างตื่นอยู่ อย่างรู้อยู่

เพราะฉะนั้น การอยู่ของเราจึงไร้ประโยชน์ เราสร้างความเศร้าหมอง ความหงุดหงิด ข้อข้องกับใจของเราเอง และสะท้อนผลมาถึงกาย เพราะกายและใจเป็นของสืบเนื่องเกี่ยวกันอย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นอย่างนี้ เริ่มมองด้วยความมีเหตุผลอย่างนี้ เราจะพบว่า เรามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี...

(ส่วนหนึ่งจากการแสดงธรรมที่ชมรมพุทธธรรม
โรงพยาบาลรามาธิบดี วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2523)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 187 กรกฎาคม 2529 โดย พญ.อมรา มลิลา)
กำลังโหลดความคิดเห็น