สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ ดังนั้น เรื่องของใจคือเรื่องของจิตตนคร จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคน ควรที่ทุกคนจะได้ศึกษาให้เข้าใจแม้เพียงพอสมควร ได้กล่าวถึงเรื่องจิตตนครนี้ติดต่อกันมา และจะกล่าวต่อไป ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจพอสมควรดังกล่าวนั่นเอง
นครสามีหรือเจ้าเมืองแห่งจิตตนคร มีความโลเลไม่มั่นคง ฟังเสียงทั้งฝ่ายดีและฟังเสียงทั้งฝ่ายชั่ว คือฟังทั้งฝ่ายคู่บารมีและฟังทั้งฝ่ายคู่อาสวะ เป็นเหตุให้นครสามีปกครองจิตตนครให้ร่มเย็นเป็นสุขได้บ้าง ให้วุ่นวายเดือดร้อนไปบ้าง
ฝ่ายคู่บารมีมีความมุ่งมั่นจะเอาชนะคู่อาสวะให้ได้ จึงนำคณะคือโยนิโสมนสิการกับนิมิตต่างๆ เข้าพบนครสามี ขอแสดงนิมิตต่างๆ โดยมีโยนิโสมนสิการเป็นผู้บรรยาย ได้เริ่มแสดงอสุภนิมิตเป็นประการแรก จนทำให้กามฉันท์ สมุนสำคัญฝ่ายสมุทัยคือฝ่ายคู่อาสวะหนีไป แล้วจึงแสดงเมตตาเจโตวิมุตติ โดยมีโยนิโสมนสิการบรรยายอีกเช่นกัน ว่าเมื่อใดเมตตาเข้ามาสู่จิตตนคร เมื่อนั้นพยาบาทสมุนของสมุทัยก็จะวิ่งหนีออกไปทันที จิตจะพ้นจากพยาบาทด้วยเมตตา นี้คือเมตตาเจโตวิมุตติ
อันชาวจิตตนครย่อมมีความเข้าใจภาษาทางจิตใจได้ดีกว่าชาวนครอื่นๆ เป็นพิเศษ ฉะนั้น เมื่อได้เห็นภาพของคนมีจิตประกอบด้วยเมตตา ได้ฟังคำพากย์ประกอบเรื่องแห่งโยนิโสมนสิการ ก็เข้าใจความแห่งคำว่า “เมตตาเจโตวิมุตติ” แจ่มแจ้ง ว่าคือจิตพ้นจากพยาบาทด้วยเมตตา และวิธีแก้จิตให้พ้นจากพยาบาทก็ด้วยเมตตาภาวนา คือความอบรมเมตตา หรือที่เรียกว่า “เมตตาผรณา” แผ่เมตตา
ครั้นคู่บารมีเห็นว่าควรจะแสดงต่อไปอีกได้แล้ว จึงแสดงนิมิตต่อไป คือฉายแสงสว่างโพลงขึ้น เป็นแสงที่ทำให้ตาสว่างใจสว่าง และแสดงภาพคนที่กระปรี้กระเปร่า เข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ มีความเพียรเริ่มจับทำการงาน และมิใช่ทำๆหยุดๆ แต่ทำให้ติดต่อกันไป ทั้งให้ดำเนินก้าวหน้า ไม่หยุดไม่ถอยหลังจนกว่าจะสำเร็จ
ฝ่ายโยนิโสมนสิการก็แสดงพากย์ให้ได้ยินโดยชัดเจน ว่านี่แหละคือ “อาโลกะ” แสงสว่าง นี่แหละคือธาตุแท้แห่งความเพียร ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของลูกสมุนของสมุทัย ผู้มีนามว่า “ถีนมิทธะ” คือความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
นอกจากนี้ ก็ได้เล่าถึงวิธีที่องค์พระบรมครูตรัสสอนพระโมคคัลลานะ สำหรับระงับความโงกง่วง มีใจความว่า ควรทำในใจถึงสัญญา (ข้อกำหนดใจพิจารณาหรือเพ่ง) ที่จะเป็นเหตุให้ความโงกง่วงครอบงำมิได้ หรือควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมที่ได้ฟังได้เรียนมาแล้วด้วยใจ หรือควรสาธยายธรรมที่ฟังที่เรียนแล้วโดยพิสดาร หรือควรยอนหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ามือ หรือควรลุกขึ้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยนํ้า เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว หรือควรทำในใจถึง “อาโลกสัญญา” (ความสำคัญในแสงสว่าง) ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิตให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด หรือควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก
เมื่อปฏิบัติแก้ไปโดยลำดับดังนี้ ก็ยังละความง่วงไม่ได้ ก็ให้สำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอตื่นแล้วก็ให้รีบลุกขึ้นด้วยความตั้งใจว่าจะไม่ประกอบสุขในการนอน จักไม่ประกอบสุขในการเอนข้างหลัง จักไม่ประกอบสุขในการเคลิ้มหลับ
การปฏิบัติเพื่อแก้ความโงกง่วงทั้งปวงนี้ จำต้องใช้ความเพียรตั้งต้น แต่ต้องมีใจเข้มแข็งคิดเอาชนะความโงกง่วงให้จงได้ ปฏิบัติโดยลำดับ จนถึงทุกวิธีแล้วยังแก้ไม่ได้ ก็หมายความว่าร่างกายต้องการพักผ่อน จึงต้องให้พัก
วิธีทั้งปวงนี้ สรุปเข้าในความทำใจให้สว่าง หรือความเพียรกล้าแข็งก็ได้ เมื่อโยนิโสมนสิการกล่าวพากย์ไปดังนี้ ประกอบกับภาพของคนที่ปราศจากง่วงเหงาหาวนอน เพราะมีจิตใจสว่างแจ่มใส มีความเพียรแข็งแรง ไม่ท้อแท้อ่อนแอ สมุนของสมุทัยผู้มีนามว่า “ถีนมิทธะ” ก็หนีห่างออกไปทันที
ความเพียรจริง ไม่ท้อแท้อ่อนแอ เป็นเหตุให้เกิดความสำเร็จได้ในทุกสิ่งทุกประการ ผู้มาบริหารจิตทั้งหลายควรเห็นค่าของความเพียร และเพิ่มพูนความเพียรในสิ่งที่ดีที่ชอบให้ยิ่งขึ้นเสมอไป ผลจะเป็นความสำเร็จในสิ่งที่ดีที่ชอบตามควรแก่ความปฏิบัติ
• อานาปานสติ
คู่บารมีเห็นว่านครสามีไม่อิ่ม ไม่เบื่อต่อภาพ และอธิบายภาพของโยนิโสมนสิการ และสังเกตเห็นได้ชัดว่า มีสีพักตร์แช่มชื่นแจ่มใส แสดงว่ามีจิตใจชื่นบาน ผ่องใส แต่ยังกระสับกระส่ายฟุ้งซ่านอยู่ เพราะมีเรื่องกังวลต่างๆอยู่ในจิต คอยดึงจิตให้ฟุ้งออกไปคิด พะวงถึงอยู่เป็นระยะๆ แต่ก็เริ่มสงบสงัดจากกามคุณารมณ์ และอกุศลธรรมทั้งหลาย จากพยาบาทมาดร้าย จากความง่วง ครั้นหายง่วงก็เริ่มคิดฟุ้งซ่านดังกล่าว คู่บารมีจึงแสดงภาพ “ความสงบใจ” ต่อไปอีกทันที
เป็นภาพของลมหายใจที่มากระทบกับปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน แล้วผ่านเข้าไปถึงหทัย และปรากฏอาการกระเพื่อมที่นาภี นี้เป็นลมขาเข้า แล้วแสดงภาพลมขาออก นาภีกระเพื่อม ลมจากหทัยมาออกที่ปลายจมูก ลมหายใจที่แสดงในภาพมองเห็นเป็นลำหรือเป็นเส้น คล้ายควันไฟที่ลอยเป็นลำหรือเส้นด้ายเข้าออกๆ ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดระยะ แต่ระยะเวลาของลมขาเข้าขาออกนั้นๆ ยาวบ้าง สั้นบ้าง ต่างกัน
คู่บารมีได้แสดงภาพของใจเป็นไฟพะเนียง ที่พุ่งขึ้นจากกระบอกไฟพะเนียงขึ้นไปเป็นหลายสาย ฝ่ายโยนิโสมนสิการก็ได้แสดงพากย์ประกอบว่านั่นแหละใจ โดยปกติเป็นอย่างไฟพะเนียง คือ ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆมากมาย หลายสายหลายเรื่องเหลือที่จะนับได้ เหมือนอย่างไฟพะเนียงที่พลุ่งขึ้นจากกระบอก เหลือที่จะนับเม็ดได้ว่าเท่าไรและกี่สาย ดูพลุ่งขึ้นไปพัลวันพัลเกสับสนไปหมด ถ้าเป็นไฟพะเนียงก็น่าดู แต่เมื่อเป็นใจ มีอาการที่พลุ่งพล่านเหมือนอย่างนั้นก็น่าเป็นบ้าตาย
ครั้นแล้วคู่บารมีก็แสดงภาพของไฟพะเนียงที่สงบลงโดยลำดับ เพราะดินชนวนในกระบอกน้อยลงไป เมื่อหมดดินไฟก็มอดดับ โยนิโสมนสิการก็แสดงประกอบว่า ที่คนเราไม่พากันเป็นบ้าตาย ก็เพราะชนวนที่ทำให้ใจฟุ้งซ่าน มีสิ้นไปหมดไปตามธรรมดาเป็นเรื่องๆไป ใจเมื่อฟุ้งขึ้นไปแล้ว ก็สงบเป็นเรื่องๆ เป็นระยะๆ ไป เหมือนไฟพะเนียงที่พลุ่งขึ้นแล้วก็ดับ เขาก็ใส่ดินชนวนเข้าใหม่และจุดอีก ก็พลุ่งขึ้นอีก หมดดินก็ดับอีก จึงเป็นอันได้พักอยู่ในตัวเองเป็นระยะๆ ไปตามธรรมชาติธรรมดา แต่ก็ได้พักเป็นสุขอยู่ไม่นาน ก็ต้องพลุ่งขึ้นเป็นไฟพะเนียงไปใหม่อีก
ถ้าดินชนวนแรงไป ไฟพลุ่งแรงไป กระบอกก็อาจแตกระเบิด ฉันใดก็ดี ถ้าเรื่องที่เป็นชนวนแรงไป ใจฟุ้งซ่านมากไป ก็อาจทำให้เป็นบ้าหรือเจ็บป่วยล้มตายลงได้ ดังที่มีตัวอย่างอยู่บ่อยๆ
ครั้นแล้วคู่บารมีได้แสดงภาพเป็นจุดไฟ ปรากฏขึ้นที่ลำหรือเส้นลมหายใจ ให้มองเห็นเป็นลำหรือเส้นไฟเข้าออกๆ ดูคล้ายกับหายใจเป็นไฟ เป็นลำเป็นเส้นเข้าๆออกๆ แล้วก็แสดงให้เหลืออยู่เพียงจุดไฟกลมๆ เพียงจุดเดียวอยู่ที่ปลายจมูก แล้วก็ค่อยเลื่อนลงไปอยู่ที่หทัย บางคราวลองให้เลื่อนลงไปอยู่ที่นาภี
แต่จุดไฟดวงเล็กนี้ต้องกระเพื่อมขึ้นลงเหมือนอย่างชิ้นไม้เล็กๆ ที่ลอยกระฉอกอยู่ในคลื่น จึงหลบขึ้นมาสว่างเป็นจุดอยู่ที่หทัยตรงกึ่งกลางอุระ ก็หายกระฉอก เป็นจุดไฟที่ตั้งสงบ โยนิโสมนสิการจึงอธิบายประกอบว่า จุดไฟนี้แหละคือใจ เมื่อมากำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจขาเข้าขาออก จนถึงมาตั้งกำหนดรู้อยู่เพียงจุดเดียวที่ปลายจมูกหรือที่อุระตามแต่จะสะดวก ใจก็จะสงบจากความฟุ้งซ่านรำคาญ นี้คือ “ความสงบใจ” เป็นเหตุให้ “อุทธัจจะกุกกุจจะ” (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) หนีหายออกไปทันที
ใจที่ไม่มีความฟุ้งซ่านรำคาญ เป็นใจที่มีความสงบสุข ทุกคนต้องการมีความสงบสุข แต่ทุกคนไม่ปฏิบัติเหตุให้เกิด “ความสงบใจ” คือไม่ฝึกหัดกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจดังกล่าว จึงไม่ค่อยได้มีความสงบใจ ไม่ค่อยได้มีความสงบสุข กำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเสมอๆ เมื่อไร เมื่อนั้นจะได้พบความสงบใจ เป็นความสุขสงบอย่างยิ่ง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 186 มิถุนายน 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน
ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ ดังนั้น เรื่องของใจคือเรื่องของจิตตนคร จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคน ควรที่ทุกคนจะได้ศึกษาให้เข้าใจแม้เพียงพอสมควร ได้กล่าวถึงเรื่องจิตตนครนี้ติดต่อกันมา และจะกล่าวต่อไป ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจพอสมควรดังกล่าวนั่นเอง
นครสามีหรือเจ้าเมืองแห่งจิตตนคร มีความโลเลไม่มั่นคง ฟังเสียงทั้งฝ่ายดีและฟังเสียงทั้งฝ่ายชั่ว คือฟังทั้งฝ่ายคู่บารมีและฟังทั้งฝ่ายคู่อาสวะ เป็นเหตุให้นครสามีปกครองจิตตนครให้ร่มเย็นเป็นสุขได้บ้าง ให้วุ่นวายเดือดร้อนไปบ้าง
ฝ่ายคู่บารมีมีความมุ่งมั่นจะเอาชนะคู่อาสวะให้ได้ จึงนำคณะคือโยนิโสมนสิการกับนิมิตต่างๆ เข้าพบนครสามี ขอแสดงนิมิตต่างๆ โดยมีโยนิโสมนสิการเป็นผู้บรรยาย ได้เริ่มแสดงอสุภนิมิตเป็นประการแรก จนทำให้กามฉันท์ สมุนสำคัญฝ่ายสมุทัยคือฝ่ายคู่อาสวะหนีไป แล้วจึงแสดงเมตตาเจโตวิมุตติ โดยมีโยนิโสมนสิการบรรยายอีกเช่นกัน ว่าเมื่อใดเมตตาเข้ามาสู่จิตตนคร เมื่อนั้นพยาบาทสมุนของสมุทัยก็จะวิ่งหนีออกไปทันที จิตจะพ้นจากพยาบาทด้วยเมตตา นี้คือเมตตาเจโตวิมุตติ
อันชาวจิตตนครย่อมมีความเข้าใจภาษาทางจิตใจได้ดีกว่าชาวนครอื่นๆ เป็นพิเศษ ฉะนั้น เมื่อได้เห็นภาพของคนมีจิตประกอบด้วยเมตตา ได้ฟังคำพากย์ประกอบเรื่องแห่งโยนิโสมนสิการ ก็เข้าใจความแห่งคำว่า “เมตตาเจโตวิมุตติ” แจ่มแจ้ง ว่าคือจิตพ้นจากพยาบาทด้วยเมตตา และวิธีแก้จิตให้พ้นจากพยาบาทก็ด้วยเมตตาภาวนา คือความอบรมเมตตา หรือที่เรียกว่า “เมตตาผรณา” แผ่เมตตา
ครั้นคู่บารมีเห็นว่าควรจะแสดงต่อไปอีกได้แล้ว จึงแสดงนิมิตต่อไป คือฉายแสงสว่างโพลงขึ้น เป็นแสงที่ทำให้ตาสว่างใจสว่าง และแสดงภาพคนที่กระปรี้กระเปร่า เข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ มีความเพียรเริ่มจับทำการงาน และมิใช่ทำๆหยุดๆ แต่ทำให้ติดต่อกันไป ทั้งให้ดำเนินก้าวหน้า ไม่หยุดไม่ถอยหลังจนกว่าจะสำเร็จ
ฝ่ายโยนิโสมนสิการก็แสดงพากย์ให้ได้ยินโดยชัดเจน ว่านี่แหละคือ “อาโลกะ” แสงสว่าง นี่แหละคือธาตุแท้แห่งความเพียร ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของลูกสมุนของสมุทัย ผู้มีนามว่า “ถีนมิทธะ” คือความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
นอกจากนี้ ก็ได้เล่าถึงวิธีที่องค์พระบรมครูตรัสสอนพระโมคคัลลานะ สำหรับระงับความโงกง่วง มีใจความว่า ควรทำในใจถึงสัญญา (ข้อกำหนดใจพิจารณาหรือเพ่ง) ที่จะเป็นเหตุให้ความโงกง่วงครอบงำมิได้ หรือควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมที่ได้ฟังได้เรียนมาแล้วด้วยใจ หรือควรสาธยายธรรมที่ฟังที่เรียนแล้วโดยพิสดาร หรือควรยอนหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ามือ หรือควรลุกขึ้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยนํ้า เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว หรือควรทำในใจถึง “อาโลกสัญญา” (ความสำคัญในแสงสว่าง) ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิตให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด หรือควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก
เมื่อปฏิบัติแก้ไปโดยลำดับดังนี้ ก็ยังละความง่วงไม่ได้ ก็ให้สำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอตื่นแล้วก็ให้รีบลุกขึ้นด้วยความตั้งใจว่าจะไม่ประกอบสุขในการนอน จักไม่ประกอบสุขในการเอนข้างหลัง จักไม่ประกอบสุขในการเคลิ้มหลับ
การปฏิบัติเพื่อแก้ความโงกง่วงทั้งปวงนี้ จำต้องใช้ความเพียรตั้งต้น แต่ต้องมีใจเข้มแข็งคิดเอาชนะความโงกง่วงให้จงได้ ปฏิบัติโดยลำดับ จนถึงทุกวิธีแล้วยังแก้ไม่ได้ ก็หมายความว่าร่างกายต้องการพักผ่อน จึงต้องให้พัก
วิธีทั้งปวงนี้ สรุปเข้าในความทำใจให้สว่าง หรือความเพียรกล้าแข็งก็ได้ เมื่อโยนิโสมนสิการกล่าวพากย์ไปดังนี้ ประกอบกับภาพของคนที่ปราศจากง่วงเหงาหาวนอน เพราะมีจิตใจสว่างแจ่มใส มีความเพียรแข็งแรง ไม่ท้อแท้อ่อนแอ สมุนของสมุทัยผู้มีนามว่า “ถีนมิทธะ” ก็หนีห่างออกไปทันที
ความเพียรจริง ไม่ท้อแท้อ่อนแอ เป็นเหตุให้เกิดความสำเร็จได้ในทุกสิ่งทุกประการ ผู้มาบริหารจิตทั้งหลายควรเห็นค่าของความเพียร และเพิ่มพูนความเพียรในสิ่งที่ดีที่ชอบให้ยิ่งขึ้นเสมอไป ผลจะเป็นความสำเร็จในสิ่งที่ดีที่ชอบตามควรแก่ความปฏิบัติ
• อานาปานสติ
คู่บารมีเห็นว่านครสามีไม่อิ่ม ไม่เบื่อต่อภาพ และอธิบายภาพของโยนิโสมนสิการ และสังเกตเห็นได้ชัดว่า มีสีพักตร์แช่มชื่นแจ่มใส แสดงว่ามีจิตใจชื่นบาน ผ่องใส แต่ยังกระสับกระส่ายฟุ้งซ่านอยู่ เพราะมีเรื่องกังวลต่างๆอยู่ในจิต คอยดึงจิตให้ฟุ้งออกไปคิด พะวงถึงอยู่เป็นระยะๆ แต่ก็เริ่มสงบสงัดจากกามคุณารมณ์ และอกุศลธรรมทั้งหลาย จากพยาบาทมาดร้าย จากความง่วง ครั้นหายง่วงก็เริ่มคิดฟุ้งซ่านดังกล่าว คู่บารมีจึงแสดงภาพ “ความสงบใจ” ต่อไปอีกทันที
เป็นภาพของลมหายใจที่มากระทบกับปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน แล้วผ่านเข้าไปถึงหทัย และปรากฏอาการกระเพื่อมที่นาภี นี้เป็นลมขาเข้า แล้วแสดงภาพลมขาออก นาภีกระเพื่อม ลมจากหทัยมาออกที่ปลายจมูก ลมหายใจที่แสดงในภาพมองเห็นเป็นลำหรือเป็นเส้น คล้ายควันไฟที่ลอยเป็นลำหรือเส้นด้ายเข้าออกๆ ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดระยะ แต่ระยะเวลาของลมขาเข้าขาออกนั้นๆ ยาวบ้าง สั้นบ้าง ต่างกัน
คู่บารมีได้แสดงภาพของใจเป็นไฟพะเนียง ที่พุ่งขึ้นจากกระบอกไฟพะเนียงขึ้นไปเป็นหลายสาย ฝ่ายโยนิโสมนสิการก็ได้แสดงพากย์ประกอบว่านั่นแหละใจ โดยปกติเป็นอย่างไฟพะเนียง คือ ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆมากมาย หลายสายหลายเรื่องเหลือที่จะนับได้ เหมือนอย่างไฟพะเนียงที่พลุ่งขึ้นจากกระบอก เหลือที่จะนับเม็ดได้ว่าเท่าไรและกี่สาย ดูพลุ่งขึ้นไปพัลวันพัลเกสับสนไปหมด ถ้าเป็นไฟพะเนียงก็น่าดู แต่เมื่อเป็นใจ มีอาการที่พลุ่งพล่านเหมือนอย่างนั้นก็น่าเป็นบ้าตาย
ครั้นแล้วคู่บารมีก็แสดงภาพของไฟพะเนียงที่สงบลงโดยลำดับ เพราะดินชนวนในกระบอกน้อยลงไป เมื่อหมดดินไฟก็มอดดับ โยนิโสมนสิการก็แสดงประกอบว่า ที่คนเราไม่พากันเป็นบ้าตาย ก็เพราะชนวนที่ทำให้ใจฟุ้งซ่าน มีสิ้นไปหมดไปตามธรรมดาเป็นเรื่องๆไป ใจเมื่อฟุ้งขึ้นไปแล้ว ก็สงบเป็นเรื่องๆ เป็นระยะๆ ไป เหมือนไฟพะเนียงที่พลุ่งขึ้นแล้วก็ดับ เขาก็ใส่ดินชนวนเข้าใหม่และจุดอีก ก็พลุ่งขึ้นอีก หมดดินก็ดับอีก จึงเป็นอันได้พักอยู่ในตัวเองเป็นระยะๆ ไปตามธรรมชาติธรรมดา แต่ก็ได้พักเป็นสุขอยู่ไม่นาน ก็ต้องพลุ่งขึ้นเป็นไฟพะเนียงไปใหม่อีก
ถ้าดินชนวนแรงไป ไฟพลุ่งแรงไป กระบอกก็อาจแตกระเบิด ฉันใดก็ดี ถ้าเรื่องที่เป็นชนวนแรงไป ใจฟุ้งซ่านมากไป ก็อาจทำให้เป็นบ้าหรือเจ็บป่วยล้มตายลงได้ ดังที่มีตัวอย่างอยู่บ่อยๆ
ครั้นแล้วคู่บารมีได้แสดงภาพเป็นจุดไฟ ปรากฏขึ้นที่ลำหรือเส้นลมหายใจ ให้มองเห็นเป็นลำหรือเส้นไฟเข้าออกๆ ดูคล้ายกับหายใจเป็นไฟ เป็นลำเป็นเส้นเข้าๆออกๆ แล้วก็แสดงให้เหลืออยู่เพียงจุดไฟกลมๆ เพียงจุดเดียวอยู่ที่ปลายจมูก แล้วก็ค่อยเลื่อนลงไปอยู่ที่หทัย บางคราวลองให้เลื่อนลงไปอยู่ที่นาภี
แต่จุดไฟดวงเล็กนี้ต้องกระเพื่อมขึ้นลงเหมือนอย่างชิ้นไม้เล็กๆ ที่ลอยกระฉอกอยู่ในคลื่น จึงหลบขึ้นมาสว่างเป็นจุดอยู่ที่หทัยตรงกึ่งกลางอุระ ก็หายกระฉอก เป็นจุดไฟที่ตั้งสงบ โยนิโสมนสิการจึงอธิบายประกอบว่า จุดไฟนี้แหละคือใจ เมื่อมากำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจขาเข้าขาออก จนถึงมาตั้งกำหนดรู้อยู่เพียงจุดเดียวที่ปลายจมูกหรือที่อุระตามแต่จะสะดวก ใจก็จะสงบจากความฟุ้งซ่านรำคาญ นี้คือ “ความสงบใจ” เป็นเหตุให้ “อุทธัจจะกุกกุจจะ” (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) หนีหายออกไปทันที
ใจที่ไม่มีความฟุ้งซ่านรำคาญ เป็นใจที่มีความสงบสุข ทุกคนต้องการมีความสงบสุข แต่ทุกคนไม่ปฏิบัติเหตุให้เกิด “ความสงบใจ” คือไม่ฝึกหัดกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจดังกล่าว จึงไม่ค่อยได้มีความสงบใจ ไม่ค่อยได้มีความสงบสุข กำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเสมอๆ เมื่อไร เมื่อนั้นจะได้พบความสงบใจ เป็นความสุขสงบอย่างยิ่ง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 186 มิถุนายน 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)