xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : กลิ่นตัวเหม็นในหน้าร้อน..แก้ไขได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฆษกกรมการแพทย์เผยอากาศที่ร้อนอบอ้าว ส่งผลให้คนไทยมีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง พบโรคกลิ่นตัวเหม็นทำให้ ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม แนะดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุนจะช่วยบรรเทา อาการได้

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช โฆษกกรมการแพทย์เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้ทั่วภูมิภาค ของประเทศไทยมีอากาศร้อนอบอ้าว แสงแดดจ้าและมลภาวะต่างๆ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกลิ่นตัว ซึ่งแม้จะไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่สามารถบั่นทอนความมั่นใจ บุคลิกภาพในการเข้าสังคมของคนจำนวนมาก

โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน กลิ่นตัวเหม็นเกิดจากกลิ่นของสารเคมีชื่อ Trim Ethylamine ซึ่งขจัดออกมาจากเหงื่อ ปัสสาวะ และน้ำคัดหลั่งของร่างกาย ในหน้าร้อนคนเราจะมีเหงื่อออกตามร่างกายจำนวนมาก ส่งผลให้แบคทีเรียเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้บริเวณที่เหงื่อไม่สามารถระเหยได้สะดวก เช่น ซอกรักแร้ ซึ่งมีต่อมเหงื่ออะโปครายน์ (Apocrine) ที่เป็นสาเหตุของกลิ่นตัวโดยตรง ปกติต่อมชนิดนี้จะผลิตเหงื่อที่มีลักษณะขุ่นๆคล้ายน้ำนม ประกอบด้วย สารพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน โดยแบคทีเรียจะเป็นตัวย่อยสลายเหงื่ออะโปครายน์ ทำให้เกิดกลิ่นตัวขึ้น

วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นตัวเหม็น คือ พยายามอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือ มากกว่านั้น หากรู้สึกว่าร่างกายมีเหงื่อไคล ร้อนอบอ้าว ฟอกสบู่ให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ รอบหัวนม อวัยวะสืบพันธุ์ ลดกิจกรรมกระตุ้นให้เหงื่อออกมาก เลี่ยงอาหารและผลไม้บางชนิดที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม สะตอ ทุเรียน พริกป่น เนย ตับ ถั่ว ซึ่งเป็นแหล่งของสาร Trim Ethylamine ซึ่งจะถูกขับออกมาพร้อมกับเหงื่อบริเวณต่อมอะโปครายน์ ส่งผลให้กลิ่นตัวฉุนมากขึ้น

แต่บางรายมีเหงื่อออกไม่มาก แม้จะอาบน้ำทำความสะอาดแล้ว กลิ่นตัวก็ยังฉุนอยู่ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียด ความกลัว ความโกรธ จึงจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นตัว(Deodorant) ร่วมด้วย จะสามารถลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียได้

นอกจากนี้ การโกนขนรักแร้ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่าขนเหล่านี้จะเก็บกักความชื้น เหงื่อไคล สิ่งสกปรกต่างๆ ทำให้จำนวนแบคทีเรียบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกลิ่นตัวรุนแรงได้

รวมทั้งควรสวมใส่เสื้อผ้าบางเบา หลวมๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีวิตามินC และ E เช่น แครอท ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

โฆษกกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การเผชิญกับแสงแดดเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังอื่นๆ โดยมีแสงแดดและความร้อนเป็นตัวกระตุ้น เช่น ผดผื่นคัน ลมพิษ และโรคมะเร็งผิวหนัง จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัดและไม่ตากแดดเป็นเวลานาน

หากมีความจำเป็นต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ควรสวมหมวก กางร่ม ใส่แว่นตากันแดด ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เน้นเสื้อผ้าสีอ่อน เพื่อไม่ให้ดูดความร้อน และการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป และค่า PA +++ ที่สำคัญหากเกิดความผิดปกติของผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยตรง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น