xs
xsm
sm
md
lg

หน้าร้อนเลี่ยงทานอาหารกลิ่นฉุน ลดกลิ่นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แพทย์ระบุอากาศที่ร้อนอบอ้าว ส่งผลให้คนไทยมีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง กลิ่นตัวเหม็น ทำให้ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม แนะดูแลรักษาความสะอาดร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุนจะช่วยบรรเทาอาการได้

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช โฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้ทั่วภูมิภาค ของประเทศไทยมีอากาศร้อนอบอ้าว แสงแดดจ้า และมลภาวะต่าง ๆ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกลิ่นตัว แม้จะไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่สามารถบั่นทอนความมั่นใจ บุคลิกภาพในการเข้าสังคมของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน กลิ่นตัวเหม็นเกิดจากกลิ่นของสารเคมี ชื่อ Trim ethylamine ซึ่งขจัดออกมาจากเหงื่อ ปัสสาวะและน้ำคัดหลั่งของร่างกาย ในหน้าร้อน คนเราจะมีเหงื่อออกตามร่างกายจำนวนมาก ทำให้แบคทีเรียเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้บริเวณที่เหงื่อไม่สามารถระเหยได้สะดวก เช่น ซอกรักแร้ ซึ่งมีต่อมเหงื่อ อะโปครายน์ (Apocrine) ที่เป็นสาเหตุของกลิ่นตัวโดยตรง โดยปกติต่อมชนิดนี้จะผลิตเหงื่อที่มีลักษณะขุ่น ๆ คล้ายน้ำนม ประกอบด้วย สารพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน โดยแบคทีเรียจะเป็นตัวย่อยสลายเหงื่ออะโปครายน์ทำให้เกิดกลิ่นตัวขึ้น

วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นตัวเหม็น คือ พยายามอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น หากรู้สึกว่าร่างกายมีเหงื่อไคล ร้อนอบอ้าว โดยฟอกสบู่ให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ รอบหัวนม อวัยวะสืบพันธุ์ ลดกิจกรรมกระตุ้นให้เหงื่อออกมาก เลี่ยงอาหาร และผลไม้บางชนิด ที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม สะตอ ทุเรียน พริกป่น เนย ตับ ถั่ว ซึ่งเป็นแหล่งของสาร Trim ethylamine โดยจะถูกขับออกมาพร้อมกับเหงื่อบริเวณต่อม อะโปครายน์ส่งผลให้กลิ่นตัวฉุนมากขึ้น แต่บางรายมีเหงื่อออกไม่มาก แม้จะอาบน้ำทำความสะอาดแล้ว กลิ่นตัวก็ยังฉุนอยู่ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความเครียด ความกลัว ความโกรธ จึงจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นตัว (deodorant) ร่วมด้วย จะสามารถลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียได้ นอกจากนี้ การโกนขนรักแร้ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่าขนเหล่านี้จะเก็บกักความชื้น เหงื่อไคล สิ่งสกปรกต่าง ๆ ทำให้จำนวนแบคทีเรียบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกลิ่นตัวรุนแรงได้ ควรสวมใส่เสื้อผ้าบางเบา หลวม ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีวิตามินC,E เช่น แครอท ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การเผชิญกับแสงแดดเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังอื่น ๆ โดยมีแสงแดดและความร้อนเป็นตัวกระตุ้น เช่น ผดผื่นคัน ลมพิษ และโรคมะเร็งผิวหนัง จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจัดและไม่ตากแดดเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานานควรสวมหมวก กางร่ม ใส่แว่นตากันแดด ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เน้นเสื้อผ้าสีอ่อนเพื่อไม่ให้ดูดความร้อนและการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไป และค่า PA +++ ที่สำคัญ หากเกิดความผิดปกติของผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยตรง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น