xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ในหลวง” พระราชทานตราสัญลักษณ์ การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี
พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราสัญลักษณ์การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ซึ่งตราสัญลักษณ์มีอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองนวลทอง เป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ขอบริมอักษรสีทองบนพื้นสีขาบเข้ม (น้ำเงินแก่) เป็นสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายในกรอบลายทองปนนากมีลายเนื่องสีทองมากกว่า 70 ดวง เป็นการถวายพระพร ให้ทรงสถิตดำรงในสิริราชสมบัติมากกว่าปีที่ 70 ให้สถาพรโดยสวัสดีเป็นอเนกอนันต์ ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด

สำหรับอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และกรอบลายทองปนนากนี้ สถิตอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ประกอบพระอุณาโลมสีทอง แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรี และพระแส้จามรีอยู่เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพัชนีฝักมะขาม อยู่เบื้องขวา มีฉลองพระบาททอดอยู่ที่ปลายพระแสงและธารพระกรนั้นเบื้องล่าง รวมเรียกว่าเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นนิมิตหมายแห่งการฉลองสิริราชสมบัติ ล่างลงมาเป็นแพรแถบสีหงชาด(ชมพู) ขลิบทอง เขียนอักษรสีทอง ความว่า ฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ปลายด้านขวาของแพรแถบระบุ พ.ศ. 2489 อันเป็นปีที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ปลายด้านซ้ายของแพรแถบระบุ พ.ศ. 2559 แสดงกาลเวลาที่ล่วงมา 70 ปีตราบจนปัจจุบัน

ในโอกาสนี้ รัฐบาลจึงขอความร่วมมือจากส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมประดับธงตราสัญลักษณ์ฯ ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2560

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 โดยกิจกรรมต่างๆที่จะมีขึ้นในงาน อาทิ การจัดสร้างถาวรวัตถุน้อมเกล้าฯ ถวาย ได้แก่ การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของแผ่นดิน และเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ โครงการบรรพชาอุปสมบท 770 รูป เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559

โครงการ “ปลูกไทย...ในแบบพ่อ” เพื่อปลูกจิตสำนึกและปูรากฐานให้เยาวชนมีความจงรักภักดี ความกตัญญู และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้แก่ การจัดทำภาพยนตร์สั้น “ค่าของแผ่นดิน Pride and Dignity of Thais” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนตั้งมั่นในคุณความดี 7 ประการ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสัญจร “บัวบาทยาตรา” ใน 5 ภาคของไทย เพื่อเผยแพร่การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านต่างๆ ละครเวที เรื่อง “เสียงแห่งความจงรักภักดี Sounds of Love” โครงการเยาวชนอาเซียนเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระยุคลบาท โครงการรามายณะอาเซียน โครงการใต้ร่มพระบารมี 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และมหกรรมวัฒนธรรมอาเซียน โครงการ 70 เส้นทางตามรอยพระบาท โครงการ 84 Perspectives : Thailand through Women’s Eyes สารคดีเฉลิมพระเกียรติ ชุดจากขุนเขาสู่ศิลปาชีพ เป็นต้น

โดยจะมีพิธีถวายพระพรและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 9 มิถุนายน 2559 พร้อมกันทั่วประเทศ

กรมศิลป์เผยข้อมูลใหม่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช มีอายุกว่า 1,000 ปี!! ไม่ใช่ 800 ปีตามที่รู้กันมา
นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากการที่กรมศิลปากรโดยสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ได้ขุดค้นทางโบราณคดีพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เพื่อตรวจพิสูจน์อายุการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ฯ เพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการจัดทำเอกสารการเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ซึ่งนายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ได้รายงานว่า ผลการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณใกล้ฐานพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช จำนวน 6 จุด เพื่อนำแผ่นอิฐไปตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่า แผ่นอิฐดังกล่าวที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดอยู่ในช่วงระหว่าง 1,000-1,100 ปี นั้น แสดงว่าพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ได้ก่อสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ปี ซึ่งไม่ใช่ประมาณ 800 ปี ตามที่ได้มีการเข้าใจกันในปัจจุบัน ถือเป็นข้อมูลใหม่ อย่างไรก็ตาม ทางกรมศิลปากรจะส่งแผ่นอิฐดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ซ้ำยืนยัน ที่เมืองไมอามี่ รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา

ด้าน นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กล่าวว่า นอกจากนี้แผ่นอิฐบางก้อนที่มีการนำไปตรวจพิสูจน์ มีอายุประมาณ 800 ปี และ 600 ปี ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า เมื่อประมาณ 800 ปีก่อน มีการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่ ซึ่งก่อนที่จะมีการบูรณะ รูปทรงพระบรมธาตุเจดีย์อาจจะไม่เหมือนกับที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิสาขบูชาโลก 59 เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชินี
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า สมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก (International Council for Day of Vesak: ICDV) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการจัดงานประชุมวิสาขบูชาโลก ระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2559 ซึ่งนับเป็นปีแรกที่การจัดงานวิสาขบูชา จัดขึ้นหลังจากพระจันทร์เต็มดวง 1-2 วัน เนื่องจาก วันวิสาขบูชาปีนี้ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม

โดยวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นพิธีเปิด ณ มหาวิทยาลัยจุฬาฯ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีการแสดงธรรมกถาโดยผู้นำชาวพุทธทั่วโลก และการเจริญพระพุทธมนต์เนื่องในวันวิสาขบูชา ส่วนวันเฉลิมฉลองเนื่องในวันวิสาขบูชา จะจัดขึ้นวันที่ 23 พฤษภาคม ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยจะมีการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำชาวพุทธ และผู้นำทางการเมืองจากทั่วโลก

สำหรับหัวข้อหลักในการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “พุทธวิถีสู่สันติภาพโลก” (The Buddhist Part to World Peace) ส่วนหัวข้อย่อยในการอภิปรายมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การศึกษาแนวพุทธเพื่อสันติภาพ (Buddhist Education for Peace) 2. คุณูปการของพระพุทธศาสนาต่อการรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม (Buddhist Contribution to Environmental Responsibility)

ในการนี้จะมีการเสนอให้มีการสวดมนต์วันวิสาขบูชาของแต่ละภาษาพร้อมกันทั่วโลกด้วย

โดยคาดว่าการประชุมนานาชาติครั้งนี้ จะมีผู้เข้ามาร่วมทั้งไทยและต่างประเทศราว 3,000 รูป/คน ซึ่งนอกจากจะนำความเป็นเอกภาพของชาวพุทธทั่วโลกมาสู่ประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการร่วมกับชาวไทยทั้งประเทศในการถวายเป็นพุทธบูชา และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษานี้ด้วย

วธ.ให้ ศพอ.เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวในการเสวนาทางวิชาการ : ชุมชนคุณธรรมพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ในสังคมไทย ว่า เนื่องในปี 2559 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี รัฐบาลได้จัดกิจกรรมเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการนำหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและประเทศชาติให้เกิดความสงบสุข ประกอบกับทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการนำศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และความเป็นไทยมาสร้างสรรค์สังคมไทยให้เกิดความเข้มแข็ง ปลูกฝังเด็กเยาวชนให้มีคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมที่ดี

กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยกรมการศาสนา(ศน.) จึงได้ประกาศให้ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์(ศพอ.) ที่มีอยู่ 4,117 แห่ง เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมด้วยพลังบวร ที่มี 3 มิติคือ มีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต และดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทย โดยตั้งเป้าภายในปี 2559 นี้ ขับเคลื่อนให้มี 70 ชุมชนคุณธรรมต้นแบบทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ศพอ. ที่ขับเคลื่อนเป็นชุมชนคุณธรรมได้ประสบผลสำเร็จมี 11 แห่ง ได้แก่ ศพอ.วัดนาคปรก กรุงเทพฯ, ศพอ.วัดอัมพวัน จ.ลพบุรี, ศพอ.วัดร่มบารมี จ.พิษณุโลก, ศพอ.วัดวังตะคร้อ จ.สุโขทัย, ศพอ.วัดจำปา จ.ศรีสะเกษ, ศพอ.วัดแม่ฮ้อยเงิน จ.เชียงใหม่, ศพอ.วัดเกรียงไกรเหนือ จ.นครสวรรค์, ศพอ.วัดโฉมศรี จ.สิงห์บุรี, ศพอ.วัดเทพประดิษฐาราม จ.ชุมพร, ศพอ.วัดหัวลำโพง กรุงเทพ และ ศพอ.วัดโพรงมะเดื่อ จ.นครปฐม

สธ.เตรียมตั้งศูนย์รักษาโรคจอประสาทตา นำร่อง 4 ภาค
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ รับมอบเครื่องมือแพทย์ ได้แก่ มอบกล้องผ่าตัดตา เครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง และเลนส์แก้วตาเทียมจากบริษัท คาร์ล ไซส์ส จำกัด เพื่อนำไปมอบให้เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการรักษาผู้ป่วยตาต้อกระจกของประเทศไทย

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้เป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาระบบบริการสาขาจักษุ ตั้งเป้าพัฒนาให้เขตสุขภาพทั้ง 12 เขต มีศูนย์เชี่ยวชาญด้านจักษุ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคทางตา โดยเริ่มต้นพัฒนาให้มีศูนย์โรคจอประสาทตา เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคทางจอประสาทตา ที่พบได้กว่าร้อยละ 10 ของประชากร ซึ่งพบมากใน 3 กลุ่มคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางตา ซึ่งขณะนี้คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานประมาณ 5 ล้านคน และหากป่วยนานเกิน 20 ปี มีโอกาสมีภาวะเบาหวานขึ้นตาถึงร้อยละ 20 กลุ่มเด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีปีละประมาณ 8 หมื่นคน และกลุ่มผู้สูงอายุที่จอประสาทตาเสื่อมตามวัย แม้จำนวนผู้ป่วยไม่มากนัก แต่ความรุนแรงของโรคสูง เพราะหากไม่ได้รับการรักษาจะประสบปัญหาตาบอด

ทั้งนี้ ในระยะแรกจะนำร่องตั้งศูนย์โรคจอประสาทตาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้ง 4 ภาค และจะพัฒนาให้มีครบทั้ง 12 เขตสุขภาพต่อไป และท้ายที่สุดจะกลายเป็นศูนย์รักษาโรคทางตาระดับตติยภูมิ ที่สามารถรักษาโรคยากๆ เช่น ต้อหิน และการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา เป็นต้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น