xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : ความรู้ คู่ พลังงาน บันดาลสู่ความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคข้อมูลข่าวสารที่มากมายมหาศาลเช่นนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเคยอ่านประวัติความเป็นมาของไอดอลบุคคลต้นแบบ เป็นร้อยเป็นพันครั้ง และรู้ถึงเคล็ดวิชาที่ทำให้คนเหล่านั้นประสบความสำเร็จมีชีวิตดังฝัน

แต่ถามว่าอ่านแล้วรู้แล้ว รวยไหม ประสบความสำเร็จไหม ทั้งๆที่ก็รู้แล้วว่าจะต้องมีเป้าหมาย จะต้องคิดใหญ่ จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็ยังไม่รวย ยังไม่สำเร็จ... เป็นเพราะอะไร?

“เกมส์” สุวิจักขณ์ ศรีอาริย์ จากอดีตลูกคนงานก่อสร้าง สู่นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร้อยล้าน ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไว้น่าสนใจว่า

“เราต้องกลับมาดูที่กระบวนการ และผลลัพธ์ ตัวอย่างเช่น ขนมเค้ก ลึกไปกว่าที่เรามองเห็นก็คือ ขนมเค้กมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? กระบวนการต่างๆนั่นเองที่ทำให้เกิดเป็นขนมเค้กขึ้นมา เปรียบเทียบเหมือนความสำเร็จ ความร่ำรวย คือ ขนมเค้ก ดังนั้น คนเราจะต้องหาทฤษฎีหาความรู้ก่อน เพื่อที่จะนำข้อมูลความรู้นั้น มาแปลงรูปวัตถุดิบให้เป็นขนมเค้ก

แต่มันมีสิ่งสำคัญที่เรามองไม่เห็น นั่นก็คือเรื่องของพลังงาน อย่างขนมเค้กเนี่ย ถ้าเกิดมันไม่มีพลังงานความร้อน ไม่มีพลังงานกระแสไฟฟ้ามาเปลี่ยนรูปมัน วัตถุดิบมันก็ไม่สามารถรวมตัวกันกลายเป็นขนมเค้กได้

จิตก็เหมือนกับกระแสไฟฟ้า ที่มาแปลงเป็นพลังงานความร้อนให้กับวัตถุดิบ ให้กับเครื่องมือที่สร้างเป็นความสำเร็จขึ้นมา นั่นคือผลลัพธ์

ดังนั้น ต้องมาดูว่า ผลลัพธ์เกิดจากอะไร? ไม่ว่าจะเป็นความร่ำรวย ธุรกิจ หรือแม้แต่ธรรมะ แน่นอนว่า ผลลัพธ์มันเกิดจากการกระทำ การลงมือปฏิบัติ เพราะฉะนั้น มนุษย์ต้องเกิดการกระทำ เกิดกรรมก่อน เรากระทำแล้วจึงจะได้ผลลัพธ์ ฉะนั้น อะไรที่มันเป็นตัวกำหนดการกระทำ คำตอบก็คือตัวเรา ดังนั้นแล้วมีอะไรที่มาเป็นแรงจูงใจ มาเป็นแรงผลักดันให้เราลุกขึ้นมาทำสิ่งนั้น”


ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ผู้มีชื่อเสียง อธิบายว่า “จิตระดับใต้สำนึกนี้มีกลไกทางจิตหลายประเภทด้วยกัน เช่น แรงจูงใจ อารมณ์ที่ถูกเก็บกด ความรู้สึกนึกคิด ความฝัน ความทรงจำ ฯลฯ พลังจิตใต้สำนึก มีอิทธิพลเหนือจิตสำนึก กระตุ้นให้ปฏิบัติพฤติกรรมประจำวันทั่วไป เป็นแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมในลักษณะต่างๆ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามคำว่า “พลังจิต” หมายถึง ความเข้มแข็งของจิตใจ อำนาจจิตอันทำให้ทรงพลัง ส่วนคำว่า “จิตใต้สำนึก” (subconscious) หมายถึง ภาวะของจิตที่ไม่อาจรู้สึกได้ เพราะอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ดังนั้น เมื่อนำสองคำนี้มารวมกันคือ พลังจิต+จิตใต้สำนึก จะเท่ากับ “อำนาจจิตอันทรงพลังที่มาจากส่วนลึกของจิตใจ”

สุวิจักขณ์ เศรษฐีหนุ่มร้อยล้านกล่าวต่อไปว่า “ทำไมเราลุกขึ้นมาเปิดร้านขายขนมเค้ก ทำไมเราถึงลุกขึ้นไปวัด ทำไมเราถึงลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ ดังนั้น คุณต้องมาปรับที่เหตุ เพื่อให้ผลมันเป็นอย่างที่คุณต้องการ ผลลัพธ์เนี่ยมันเกิดจากการกระทำ มีอยู่สองอย่างเท่านั้นที่ควบคุมการกระทำของมนุษย์ นั่นคือสมองกับจิต” (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในยูทูป พิมพ์คำว่า ไขรหัสลับ จิตหยั่งรู้)

นักประสาทวิทยาฝั่งตะวันตกระบุว่า “สมอง” จะเป็นที่เก็บความรู้ ตรรกะเหตุผล ในขณะที่ทางพุทธศาสนาเชื่อว่า “จิต” เป็นตัวควบคุมพฤติกรรม การกระทำทั้งหมดของมนุษย์ และสมองก็เป็นลูกน้องของจิตอีกที ดังพุทธพจน์ที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” สมองเป็นเรื่องของกายคือรูป แต่จิตเป็นเรื่องของนามที่อยู่ภายในและคอยควบคุมบังคับบัญชาสมองอีกที ตัวอย่างเช่น คนสูบบุหรี่ ติดบุหรี่มานานเลิกไม่ได้เสียที ทั้งๆที่คนติดบุหรี่ส่วนใหญ่ก็รู้ว่า บุหรี่ไม่ดี มันให้โทษ มันเป็นอันตรายต่อสุขภาพแค่ไหน แต่ทำไมยังสูบอยู่ เพราะอะไร?

ก็เพราะจิตมันกำหนด ขณะที่สมองรู้ทุกอย่าง ว่ามันไม่ดี สูบแล้วเป็นมะเร็ง แต่จิตยังอยากอยู่ เพราะพลังงานจากจิตจะควบคุมให้การกระทำเป็นไปตามนั้น ดังนั้น ถ้าจิตเป็นพลังงานชนิดไหน มันก็จะไปบงการให้สมองทำไปตามนั้น

เช่นเดียวกับเรื่องที่ว่า ทำยังไงถึงจะรวย รู้แล้วว่าจะต้องคิดใหญ่ รู้แล้วว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ รู้แล้วรวยไหม ก็ไม่รวย...ใช่! เพราะกระบวนการมันยังไม่สมบูรณ์ การกระทำยังไม่เกิด แล้วจิตเป็นตัวกำหนดการกระทำ ทำให้คนกล้าที่จะลุกหรือเปล่า บางคนจากพนักงานประจำ จะก้าวขึ้นมาสู่ผู้ประกอบการ จากจุดเดิมจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ก็ก้าวไม่ได้ เพราะพลังไม่เพียงพอ

สรุปว่า ความสำเร็จ ความมั่งคั่ง หรือผลลัพธ์นั้น ต้องประกอบด้วยความรู้คู่กับการกระทำ การทำขนมเค้ก หากมีความรู้ แต่ไม่มีพลังงานคือการกระทำ วัตถุดิบก็ไม่สามารถแปลงรูปเป็นขนมเค้กได้ ในทางกลับกัน หากมีพลังงาน แต่ขาดความรู้ ก็ไม่สามารถแปลงวัตถุดิบ ให้กลายเป็นขนมเค้กได้เช่นกัน

รวมความแล้ว ความสำเร็จก็ดี ความมั่งคั่งก็ดี ผลลัพธ์ก็ดี หรือแม้แต่การบรรลุธรรมก็ดี จำเป็นต้องมีทั้งองค์ความรู้ และการกระทำ ควบคู่กันไปอย่างที่ไม่อาจขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญวาทะของสนังกุมารพรหม ซึ่งเข้ามาประกาศภาษิตในสำนักของพระพุทธองค์ว่า

“ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่
กษัตริย์จัดว่าประเสริฐสุด
แต่ท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
จัดว่าประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์และเทวดา”


“วิชชา” แปลว่า ความรู้ ส่วน “จรณะ” คือ ความประพฤติหรือการกระทำ ขณะที่พุทธฝ่ายเถรวาทนิยมเรียนรู้ไปตามลำดับขั้นตอน คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แต่พุทธฝ่ายมหายาน ดูเหมือนจะชื่นชอบและถนัดแบบเรียนลัดตัดขั้นตอนไปเลย ด้วยการนำเอาสองอย่างมาผสมผสานกัน คือทั้งความรู้และการลงมือปฏิบัติ ทำไปพร้อมกัน ดังตัวอย่างจากนิทานเซน ที่ท่านโกโซ โฮเย็น ปรมาจารย์เซน เล่าไว้อย่างชวนคิดว่า

นานมาแล้ว มีพ่อลูกคู่หนึ่งยึดอาชีพเป็นนักย่องเบา ฝ่ายลูกเมื่อเห็นว่าพ่อเริ่มแก่ลง จึงเอ่ยปากขอให้พ่อสอนสุดยอดเทคนิคการย่องเบา เพื่อว่าตอนพ่อเกษียณ เขาจะรับงานต่อจากพ่อได้เลย พ่อของเขาเห็นด้วย

และในคืนนั้นเอง สองพ่อลูกก็ได้ลอบเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง เมื่อเปิดฝากล่องเก็บสัมภาระใบใหญ่ได้ ผู้เป็นพ่อก็บอกให้ลูกชายกระโดดลงไปหยิบเสื้อผ้าในนั้น พอลูกชายลงไปในกล่องปั๊บ พ่อก็ปิดฝากล่องพร้อมกับส่งเสียงดัง เพื่อปลุกให้คนในบ้านตื่น แล้วพ่อก็หนีออกจากบ้านไปก่อน

ฝ่ายลูกชาย เมื่อรู้ว่าตัวเองถูกขังอยู่ในกล่องก็โกรธจัด และสงสัยว่าจะออกจากกล่องใบนี้ได้อย่างไร ทันใดนั้น เขาเกิดปิ๊งแวบขึ้นมา จึงทำเสียงคล้ายแมวร้องอยู่ในกล่องเสื้อผ้า เจ้าของบ้านสั่งให้คนใช้จุดเทียนแล้วไปตรวจดูที่กล่องใบนั้น

เมื่อฝากล่องถูกเปิดออก ชายหนุ่มก็กระโดดออกมาพร้อมกับเป่าเทียนให้ดับ แล้ววิ่งผ่านคนใช้ซึ่งตกตะลึงอยู่ หนีออกจากบ้านไป โดยมีคนในบ้านวิ่งไล่ตามมาติดๆ พอมาถึงบ่อน้ำข้างถนน เขาได้โยนหินก้อนโตลงในบ่อ แล้วหลบอยู่ในมุมมืด พวกคนในบ้านที่ไล่ตามมา เข้าใจว่าชายหนุ่มตกลงไปในบ่อน้ำ จึงยืนดูอยู่รอบๆบ่อ ก่อนที่จะแยกย้ายกลับไป...

เมื่อชายหนุ่มกลับถึงบ้าน เขาโกรธพ่อมาก พยายามเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง แต่พ่อกลับตอบหน้าตาเฉยว่า

“อย่ามาเสียเวลาเล่ารายละเอียดอยู่เลย บัดนี้เจ้าได้บรรลุผลสำเร็จ ในการเรียนรู้เคล็ดวิชาสุดยอดของการเป็นนักย่องเบาแล้ว”

อนึ่ง ความสำเร็จ หรือผลลัพธ์นั้น อาจมีวิธีการบรรลุเข้าถึงได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน บางคนอาจชอบทางลัด ขณะที่อีกคนกลับชอบทางตรง จึงไม่ถือว่า วิธีไหนผิดหรือถูก หรือวิธีไหนดีกว่ากัน เพราะแม้ว่ากระบวนการอาจแตกต่าง แต่หลักใหญ่ในการเข้าถึงเหมือนกัน คือ ต้องมีทั้งความรู้คู่กับการกระทำนั่นเอง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย ทาสโพธิญาณ)
กำลังโหลดความคิดเห็น