xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : 6 วิธีป้องกันแสงแดด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนอบอ้าว และมีแสงแดดอยู่ตลอดทุกฤดูกาล จึงทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าแสงแดดนั้นเป็นตัวการสำคัญในการทำร้ายผิวของเรา ให้เกิดความหมองคล้ำ เกิดจุดด่างดำบนใบหน้า และทำให้ผิวเราเสีย แต่ในความเป็นจริงแล้ว แสงแดดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าหากเรารู้จักป้องกันอย่างถูกวิธี

แสงแดดที่ส่องมายังพื้นโลกประกอบด้วยแสงสำคัญ 3 ส่วนคือ

1. แสงยูวี (UV) ซึ่งเป็นแสงที่มองไม่เห็น แต่มีพลังงานสูง และเป็นสาเหตุสำคัญของผิวไหม้แดง, ผิวคล้ำ, มะเร็งผิวหนัง และผิวชราจากแดด แม้จะมีปริมาณเพียง 5% ของแสงแดดทั้งหมด

แสงยูวียังแบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วนตามความยาวคลื่น คือ ยูวีเอ, บี, และซี

ยูวีซี (UVC) มีความยาวคลื่นสั้นที่สุด สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ถูกกรองโดยโอโซน ทำให้ไม่มาถึงพื้นโลก หรือมีเพียงเล็กน้อย บริเวณที่มีโอโซนบาง

ยูวีบี (UVB) และยูวีเอ (UVA) คือแสงยูวีที่มีในแสงแดดที่ส่องมายังพื้นโลก ยากันแดดในปัจจุบัน ถูกผลิตขึ้นมาให้สามารถป้องกันยูวีบี และเอ เกือบ 100% ยกเว้นยูวีเอที่มีคลื่นยาวมาก หรือยูวีเอ วันที่ยากันแดดรุ่นเก่า มักจะป้องกันได้ไม่ดี จึงเป็นสาเหตุของผิวคล้ำเสีย และผิวเสื่อมจากแดด

2. แสงที่ให้ความสว่าง (visible light) มีปริมาณ 45 % ของแสงแดดทั้งหมด แสงนี้มีพลังงานต่ำกว่าแสงยูวีหลายพันเท่า แต่ถ้าได้รับเป็นเวลานาน เช่น ตลอดทั้งวัน ก็สามารถทำให้ผิวคล้ำเสีย หรือเสื่อมจากแดดได้ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ และยากันแดดในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันได้ ยกเว้นยากันแดดที่มีส่วนประกอบของ Red iron oxide ซึ่งจะมีสีชมพูแดง หรือการใช้ผ้าปกปิด

3. แสงอินฟราเรด หรือแสงที่ให้ความร้อนมีปริมาณ 50% ของแสงแดดทั้งหมด และมีพลังงานต่ำกว่าแสงที่ให้ความสว่าง ดังนั้น จึงมีพลังงานต่ำที่สุด สามารถทำให้เกิดผิวคล้ำ และผิวเสื่อมจากแดด เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระได้ แต่ต้องใช้ปริมาณสูงมากเช่นกัน ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันแสงอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพ นอกจากการหลีกเลี่ยงการสัมผัส

วิธีป้องกันแสงแดด
1. กฎของเงา ป้องกันตัวเองจากแสงแดด โดยใช้วิธีกฎของเงา ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจนกว่าเงาจะยาวกว่าตัวของเรา คือ ช่วงเช้าก่อน 11.00 น. และช่วงเย็นหลัง 14.00 น. ซึ่งจะเป็นช่วงที่ปลอดภัย เพราะจะมีแสงยูวีบี (UVB) น้อย

2. เสื้อผ้า เสื้อผ้าเนื้อแน่น สีเข้ม หนา จะป้องกันแสงทุกประเภทได้ประมาณ 90%

3. ร่ม เนื้อผ้าของร่มส่วนใหญ่จะกันแสงแดดได้ดีประมาณ 80% - 90% ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันแดดของร่ม ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ และระยะห่างของร่มจากผู้ใช้

ถ้าร่มและตำแหน่งของดวงอาทิตย์อยู่เหนือศีรษะพอดี ก็จะป้องกันได้ดีที่สุด แต่โลกมีการเคลื่อนที่ ดวงอาทิตย์จึงจะไม่อยู่ตำแหน่งเดิมตลอดเวลา เพราะฉะนั้นร่มจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันประมาณ 70-80%

4. หมวก หมวกปีกกว้าง เนื้อหนา สีเข้ม ก็จะป้องกันแสงได้มากที่สุด

5. แว่นกันแดด การป้องกันแสงแดดด้วยแว่นตา ไม่จำเป็นต้องเป็นแว่นตาราคาแพง เพราะประสิทธิภาพในการป้องกันยูวีแตกต่างกันไม่มาก จะแตกต่างเพียงสไตล์การออกแบบเท่านั้น ซึ่งแว่นตากันแดดที่ดีจะเป็นแว่นที่คาดมาถึงด้านข้าง (Wrap around) และมีการ์ดด้านบน เพื่อป้องกันแสงแดด

การใช้แว่นกันแดดมีประโยชน์มาก หากแสงแดดมาจากด้านหน้า แว่นกันแดดจะปกป้องได้ดี แต่ถ้าหากแสงแดดมาจากด้านบน เช่นเวลาเที่ยงก็จะป้องกันได้น้อย เพราะแสงส่องผ่านมาจากขอบแว่นด้านบน ในชาวตะวันตก กระบอกตาจะลึกกว่าชาวเอเชีย ทำให้ได้แสงแดดน้อยกว่าชาวเอเชียที่มีเบ้าตาตื้น

6. การทาครีมกันแดด ควรทาครีมกันแดดให้หนาสม่ำเสมอ เพราะผิวของมนุษย์ไม่เรียบ มีรอยหยักตื้นเป็นคลื่น ถ้าเราทาเพียงชั้นเดียว ก็จะเหลือบริเวณที่ครีมกันแดดครอบคลุมไม่ถึง เพราะฉะนั้น จึงควรต้องทาครีมกันแดดบางๆ ทับกัน 2 รอบ และทาครีมกันแดดเฉพาะผิวหนังที่ไม่สามารถปกปิดได้ด้วยเสื้อผ้า เช่น ใบหน้า คอ หรือหลังมือ เป็นต้น เพื่อลดความสิ้นเปลือง

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีแสงแดดอยู่ทุกฤดูกาล แต่หากทุกคนรู้จักการป้องกันแสงแดดอย่างถูกวิธี และรู้วิธีการใช้สารกันแดดที่ถูกต้อง การเกิดผิวไหม้เสียก็จะน้อยลง

และสิ่งสำคัญอีกประการคือ แสงยูวีกระตุ้นให้ผิวหนังผลิตวิตามินดี ดังนั้น ผู้ที่ป้องกันผิวหนังจากแสงแดดเป็นประจำ ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี หรือรับประทานวิตามินดีเสริมให้ได้ปริมาณอย่างน้อย 600 IU ต่อวันเพื่อป้องกันปัญหากระดูกบาง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย รศ.พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน หน่วยโรคผิวหนังภาควิชาอายุรศาสตร์ และสาราณียกร สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น