อากาศร้อนๆ แดดแรงๆ เช่นนี้ทำเอาหลายคนไม่อยากออกไปไหน อยากนอนตากแอร์เย็นๆ อยู่ที่บ้าน หรือนั่งทำงานในห้องไม่อยากเผชิญหน้ากับความร้อนระอุข้างนอกนั่น ทว่า สำหรับบางคนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ในกลุ่มนักปั่นจักรยานที่ไม่ว่าจะฤดูไหนๆ คงต้องทำใจยอมรับกับความร้อน-หนาวอยู่เสมอ FEEL GOOD นำเทคนิคการปั่นจักรยานในหน้าร้อนมาให้สิงห์นักปั่นเตรียมตัวกัน รับรองว่าการปั่นจักรยานจะไม่หมดสนุกอีกต่อไป . .
“สมอง” ไวต่อการสูญเสียน้ำ
เพราะสมองประกอบด้วยน้ำ 90-95 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสูญเสียน้ำมันจึงถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสมองขาดน้ำมันจะเตือนคุณด้วยอาการปวดศีรษะ ถ้าอุณหภูมิสมองสูงขึ้น 1-2 องศาคุณจะปวดศีรษะ สูงขึ้น 3 องศาจะวิงเวียนหน้ามืดหมดสติ และสุดท้ายคือสูงขึ้น 4-5 องศามันจะพิการถาวรหรืออาจถึงกับเสียชีวิต เมื่อปั่นแล้วปวดศีรษะจงหยุดพัก เข้าที่ร่มและดื่มน้ำให้มากๆ
ร่างกายสูญเสียน้ำได้เป็นลิตร!
การปั่นจักรยานกลางแดดร้อนๆ แม้จะไม่รู้สึกว่ามีเหงื่อเพราะถูกลมพัดจนแห้ง แต่ความจริงคือใน 1 ชั่วโมงคุณสูญเสียน้ำได้มากถึง 1 ลิตร และอาจถึง 1.5 ลิตรเลยทีเดียว ถ้าอุณหภูมิสูงมากๆ ดังนั้น เพื่อรักษาสมดุลต้องรับน้ำกลับเข้าไปในปริมาณเท่ากัน ดื่มน้ำให้พอก่อนออกปั่นและดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละขวด (ใหญ่) ติดจักรยาน ซึ่งจะได้น้ำขวดละประมาณ 750 ซี.ซี.และควรพกไปสองขวดถ้าขี่ไกลและไม่มั่นใจว่าจะหาน้ำได้
เลือกหมวกช่วยระบายอากาศ
แน่นอนว่าสิงห์นักปั่นจะต้องสวมหมวกกันกระแทกกันอยู่แล้ว แต่จะดีกว่าไหมถ้าเลือกหมวกสำหรับปั่นในหน้าร้อน ด้วยหมวกที่มีช่องระบายอากาศที่ดี เพราะนอกจากทำให้นักปั่นปลอดภัยแล้วยังช่วยคลายความร้อนจากศรีษะได้อีกด้วย
ระวังโรคพิษสุนัขบ้า
สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมากในหน้าร้อนคือ สุนัขจรจัด เพราะหน้าร้อนเป็นฤดูที่ต้องระวังสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ในระหว่างที่ปั่นถ้าถูกจู่โจมจากน้องหมาให้ใช้น้ำในขวดติดจักรยานฉีดไล่มันจะหยุดทันที แต่ถ้ามันจู่โจมเข้าหาโดยไม่ทันระวังและกัด ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ นำจักรยานขึ้นรถแล้วไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาป้องกันโดยเร็ว
สวมเสื้อผ้าหลวมสบาย
การเลือกชุดสำหรับปั่นจักรยานให้ดีจะมีส่วนช่วยในการลดความร้อนได้ ควรเลือกเนื้อผ้าที่เป็นรูพรุนและโปร่งเพื่อระบายอากาศ เหงื่อและความร้อน ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีดำทึบเพราะสีดำจะดูดความร้อนจากแสงแดด ถ้าร้อนมากให้ใช้น้ำในขวดเทราดศีรษะและตัว เสื้อผ้าจะอมน้ำไว้ระยะหนึ่งให้อุณหภูมิร่างกายลดลง
ทาครีมป้องกันแดด
คงไม่มีนักปั่นคนไหนอยากเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง หรือการถูกแสงแดดแผดเผาเข้าบริเวณหน้าผาก ลำคอ และแขน ถึงจะไม่ไหม้แต่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนได้ หรือที่เรียกว่า “ซันเบิร์น” ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเล็ต ดังนั้นจึงควรหาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงๆ ตั้งแต่ 35+ ขึ้นไป เพื่อป้องการแสงแดดทำลายผิวหนังและมะเร็งผิวหนังนั่นเอง
เลือกเวลาขี่จักรยาน
ในฤดูร้อนท้องฟ้าสว่างเร็วและมืดช้า ควรตื่นแต่เช้าและใช้เวลาก่อนแดดกล้าเพื่อปั่นจักรยาน เช่นระหว่าง 6.00-9.00 น. และช่วงเย็นระหว่าง 15.30-18.00 น. จะช่วยลดความเสียหายของผิวหนังจากแสงแดดจัดๆ ได้
รู้ขีดจำกัดของตัวเองและยอมรับ
จริงอยู่ที่การขี่จักรยานเป็นการออกกำลังเพื่อความสนุกเพลิดเพลินและเสริมสุขภาพ แต่เมื่อใดที่รู้สึกว่าร้อนเกินร่างกายทนไหว รู้สึกไม่สนุกจงเลิกปั่น เปลี่ยนที่มาเป็นการปั่นเทรนเนอร์ในบ้านเพื่อลดความร้อน ให้ร่างกายพร้อมค่อยออกไปปั่นจักรยานกลางแจ้ง
อ้างอิงข้อมูล http://www.udonbikes.com/