xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : ระวัง!! โรคไตในเด็ก อันตรายถึงชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของประชาชนในประเทศไทย พบว่า มีการบริโภคอาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน และส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนผสมมีแป้ง ไขมัน น้ำตาล และเกลือ จนเกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนตามมา ซึ่งทำให้เสี่ยงเป็นโรคไตได้

ปัจจัยการรับประทานอาหารในปัจจุบัน เป็นการสะท้อนปัญหาทางสังคม และปัญหาเรื่องโรคไตในเด็กที่เพิ่มสูงมากขึ้นจนน่าหวั่นใจ ในหลายๆโรงพยาบาล พบปัญหาเด็กเป็นโรคไตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป และไม่ออกกำลังกาย จนส่งผลเสียต่อการทำงานของไตในเด็กนั่นเอง

ผศ.นพ.ขวัญชัย ไพโรจน์สกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า

“โดยทั่วไป ถ้าหากเราพูดถึงผู้ป่วยโรคไต ส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคเหล่านี้จะมาพร้อมกับภาวะไตวาย จึงจำเป็นต้องได้รับการฟอกไต และส่วนใหญ่แล้วประชาชนน้อยคนนักที่จะทราบว่า โรคไตก็สามารถเป็นในเด็กได้ ซึ่งถ้าหากไม่รีบรักษาหรือป้องกัน ก็อาจนำไปสู่สภาวะไตวายระยะสุดท้าย”

สาเหตุสำคัญของโรคไตในเด็ก
สาเหตุสำคัญของโรคไตในเด็ก เกิดขึ้นกับช่วงอายุของเด็ก โรคไตสามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. โรคไตในเด็กแรกเกิด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของรูปร่างไตตั้งแต่กำเนิด (congenital anomaly of kidneys) การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ (obstructive uropathy) ทำให้เกิดภาวะไตบวมน้ำ (hydronephrosis)

สาเหตุของโรคไตในเด็กเล็ก มักเป็นจากการติดเชื้อหรือภาวะกรวยไตอักเสบ (pyelonephritis) การไหลย้อนของปัสสาวะไปที่ไต (vesicoureteral reflux)

2. โรคไตในเด็กโต เกิดจากการอักเสบของไต โดยมาจากโรคภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น โรคไตอักเสบเนโฟรติก (nephrotic syndrome) โรคไตอักเสบจากเอสแอลอี (lupus nephritis) โรคไตอักเสบชนิดไอจีเอ (IgA nephropathy) ส่วนสาเหตุอื่นๆที่พบในเด็กโตได้แก่ ความดันเลือดสูง, โรคเบาหวาน และภาวะอ้วน

อาการ
อาการของโรคไตในเด็ก จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคไตด้วย เช่น
- ผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อย มักเป็นจากการติดเชื้อที่ไต
- ผู้ป่วยที่มีอาการบวม ปัสสาวะเป็นเลือด หอบเหนื่อยและซีดลง เกิดจากการอักเสบของไต
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตบางชนิด มักจะไม่มีอาการ แต่จะตรวจพบโดยบังเอิญ เช่น ตรวจพบไตบวมน้ำระหว่างที่อยู่ในครรภ์มารดา (prenatal hydronephrosis)

การรักษา
การรักษาโรคไตในเด็ก จะต้องขึ้นอยู่กับชนิดของโรคไต สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ไต จะต้องเข้ารับการรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการรักษาโดยใช้ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด เพื่อรักษาการอักเสบของไต เพื่อฆ่าเชื้อที่เกิดขึ้น

แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีการอุดกั้นสิ่งของตรงบริเวณทางเดินปัสสาวะ หรือการไหลย้อนของปัสสาวะที่รุนแรง ในกรณีแบบนี้ควรได้รับการผ่าตัดแก้ไขโดยศัลยแพทย์เด็กด้านระบบทางเดินปัสสาวะก่อน จึงสามารถรับยาปฏิชีวนะได้

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์จะมีความทันสมัยและก้าวหน้าไปมาก แต่โรคไตบางชนิดก็ยังหาสาเหตุของการเกิดโรคไตไม่ได้ อาทิ โรคไตเนโฟรติก โรคไตอักเสบชนิดไอจีเอ หรือเอสแอลอี นั่นเอง

การป้องกัน
ในส่วนของการป้องกันและลดความเสี่ยงสำหรับโรคไต มีดังนี้
1. โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มักพบร่วมกันได้ โดยในปัจจุบัน เด็กนิยมบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง และเกลือสูง ซึ่งทำให้อ้วน ความดันโลหิตสูง และมีโรคเบาหวานตามมา

เด็กที่มีลักษณะอ้วนท้วนสมบูรณ์มากเกินไป อาจจะยังไม่มีภาวะเหล่านี้ในวัยเด็ก แต่จะเริ่มพบโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยทำงาน ซึ่งภาวะดังกล่าวสามารถป้องกันได้ ด้วยการควบคุมน้ำหนัก ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม รสหวาน รวมถึงการออกกำลังกายอยู่เสมอ

2. โรคติดเชื้อที่ไต สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่กลั้นปัสสาวะ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และดื่มน้ำปริมาณที่มากขึ้น เพื่อไม่ให้ท้องผูก เนื่องจากการที่มีท้องผูกเรื้อรัง จะทำให้ระบบการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติไปด้วย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ไตอีกด้วย

ทั้งนี้ โรคไตหลายชนิดสามารถป้องกันได้ ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพียงแค่ไม่กลั้นปัสสาวะ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม หวาน มัน และหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ก็จะห่างไกลจากโรคไตของผู้ใหญ่และโรคไตในเด็กได้แล้ว

แต่สำหรับโรคไตบางชนิดที่ไม่สามารถป้องกันได้ ควรต้องได้รับการตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถควบคุมอาการของโรคไตได้ง่าย


สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เตรียมจัดกิจกรรมงาน “วันไตโลก” (World Kidney Day) และงานสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี 2559 ภายใต้คำขวัญ “โรคไตเป็นได้ตั้งแต่เด็ก รู้แต่เล็กป้องกันได้” เน้นการรณรงค์โรคไตในเด็กเป็นสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบัน ทั่วประเทศมีเด็กป่วยเป็นโรคไตจำนวนมาก สาเหตุเนื่องจากมีการรับประทานเค็มเกินความพอดี

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานได้ในวันที่ 13 มีนาคม 2559 ณ Atrium Zone ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น