xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : มหันตภัย “ฟิลเลอร์” อันตรายจากการฉีดโดยไม่ระวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในปัจจุบัน ประชาชนนิยมฉีดฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษาวัยเรียน ผู้หญิงวัยทำงาน หรือในกลุ่มสาวประเภทสอง ก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยสารที่ใช้กันอยู่เป็นประจำเรียกว่า “สารไฮยาลูโรนิคแอซิด” ซึ่งมีหลายชนิด แบ่งเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่

1. แบบชั่วคราว (Temporary Filler) มีอายุใช้งานประมาณ 4-6 เดือน แต่มีความปลอดภัยสูง สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ
2. แบบกึ่งถาวร (Semi Permanent Filler) มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี มีความปลอดภัยปานกลาง
3. แบบถาวร (Permanent Filler) เช่น ซิลิโคนหรือพาราฟิน หลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป ไม่สลายตามธรรมชาติ มักพบผลข้างเคียงระยะยาว

ทั้งนี้ “ไฮยาลูรอนิคแอซิด” โดยปกติจะมีในผิวหนังของคนเราอยู่แล้ว แต่สิ่งที่นำมาฉีดเป็นการสังเคราะห์ขึ้นมา เมื่อฉีดเข้าไปแล้วก็หวังว่าจะไปเติมเต็มร่องรอยต่างๆ ซึ่งแต่เดิมคิดว่าสารตัวนี้ปลอดภัย เพราะสามารถละลายหรือสลายไปได้เอง แต่ปัญหาก็คือความเสี่ยง เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ผลข้างเคียงที่พบบ่อยๆ คืออาการแดงหลังการฉีด และบวมช้ำ เนื่องจากเวลาฉีดจะใช้เข็มจิ้มลงไปที่ผิวหนัง อาจจะไปโดนบริเวณเส้นเลือดแดง ทำให้เกิดการช้ำได้ ผลข้างเคียงลักษณะนี้ไม่น่ากลัว เนื่องจากจะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์

แต่ผลข้างเคียงที่จะพบได้บ่อยและเป็นปัญหา คือ การฉีดฟิลเลอร์แล้วจะเป็นก้อนๆ ซึ่งอาจเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ผิดชนิด หรือเลือกฟิลเลอร์ที่ไม่เหมาะสม มาฉีดในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาตรงบริเวณที่ฉีด ซึ่งบางทีเชื้อซ่อนอยู่ในฟิลเลอร์ ทำให้ร่างกายกำจัดได้ยาก กลายเป็นแผลที่มีหนองอยู่ข้างในตลอดเวลา

การฉีดฟิลเลอร์นั้น มีข้อควรระวังอยู่ 3 ปัจจัย คือ

1. ตัวผู้ทำการฉีด ต้องมีความรู้ ความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงสุด ก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้

2. สารที่ใช้ แม้ว่าเป็นสารที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา หรืออย.แล้ว ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ แม้แต่การดูดไขมันของตัวเองมาฉีด ก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน

3. ตัวผู้รับการฉีด แต่ละคนมีกายวิภาคที่ต่างกัน ตำแหน่งของเส้นเลือดเส้นประสาท อาจมีความแตกต่างจากคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัด การฉีด การร้อยไหม จะมีพังผืด ทำให้เกิดอันตรายง่ายขึ้นอีก

การใช้สารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ สำหรับการรักษาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการคือ ผิวหนังซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือ ใยคอลลาเจน และสารไฮยาลูโรนิค ที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำมากกว่าตัวเองร้อยเท่า มีหน้าที่สำคัญคือเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณมีรูปทรงเต่งตึง

เมื่อเข้าสู่วัยชราพบว่า ใยคอลลาเจนและสารอุ้มน้ำจะค่อยๆ มีจำนวนลดลง ส่งผลให้ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลง มีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น ดังนั้น เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว จึงมีความพยายามแก้ไขโดยฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าฟิลเลอร์นั่นเอง

ถึงแม้ว่า “ฟิลเลอร์” จะเป็นสารที่มีความมหัศจรรย์ก็จริง แต่ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์จริงๆ อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยงกับหมอเถื่อน หมอกระเป๋า หรือแม้แต่ซื้อสารเหล่านี้มาฉีดเองจากในอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย เพราะเห็นว่ามีราคาถูก

ที่ผ่านมาสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ได้แนะนำเทคนิคการฉีดสารเติมเต็มให้ปลอดภัย และมีการจัดอบรมแพทย์ผิวหนังอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้จัดทำคู่มือเวลาเกิดผลข้างเคียงฉีดเข้าเส้นเลือดที่ทำให้ตาบอด หรือเนื้อตายบริเวณผิวหนังจุดต่างๆ และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้แพทย์ได้ทราบ และแก้ไขได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

หากประชาชนท่านใด หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการฉีดฟิลเลอร์ สามารถสอบถามปัญหาทางผิวหนัง โดยส่งมาได้ที่อีเมล์ question@dst.or.th ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยจะให้บริการตอบคำถามทุกท่าน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ หรือเข้ามาศึกษาได้ที่เว็บไซต์ www.dst.or.th

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 182 กุมภาพันธ์ 2559 โดย รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น