xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : อาปัติ “บาปกรรม” มีจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อาปัติ” หรือชื่อเดิม “อาบัติ” เป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดในรอบปี เพราะสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ห้ามฉายในไทย เนื่องจากมีภาพและคำพูดที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้คนเสื่อมศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดการโต้แย้งจากผู้คนที่คิดว่า สถาบันสงฆ์จะเสื่อมได้ก็เกิดจากพระสงฆ์เอง ไม่ใช่เพราะจากภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง

แต่ในที่สุดผู้สร้างก็ได้ปรับแก้ไขใหม่จนได้รับอนุญาตให้ฉาย และมีเสียงชื่นชมจากพระสงฆ์ที่มีโอกาสร่วมพิจารณา และเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมทั่วไป

อาปัติเปิดเรื่องด้วยภาพการบรรพชาสามเณร ชื่อ “ซัน” มีการลำดับภาพสลับกับจิตรกรรมฝาผนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพระ สีกา และผีเปรต สามเณรซันขอไปจำวัดที่กุฏิร้าง ห่างไกลผู้คน ซึ่งแม้แต่เณรในวัดก็ไม่อยากเดินไปส่ง กุฏิไม้นั้นเก่า ทรุดโทรม มีหีบขนาดใหญ่ตรงมุมห้อง ซึ่งมีพระพุทธรูปวางด้านบน เณรซันไม่สนใจพระพุทธรูป จึงหยิบวางข้างล่าง แล้วเอากระเป๋าของตนวางแทน ไม่นานก็มีหลวงพี่รูปหนึ่งเดินเข้ามาในกุฏิ แนะนำว่าชื่อ “หลวงพี่ทิน” และบอกเณรน้องใหม่ว่า จะจำวัดเป็นเพื่อน เพื่อให้ผ่านคืนแรกไปก่อน

หนังค่อยๆเล่าเรื่องโดยเปิดเผยรายละเอียดทีละนิด ทำให้ผู้ชมเริ่มทราบบริบทอื่นๆ เช่น วัดแห่งนี้เป็นวัดเล็กๆในชนบททางภาคอีสาน เณรซันเป็นเด็กหนุ่มจากกรุงเทพฯ เขาเคยถูกคุมขังในสถานพินิจมาก่อน ไม่ได้บวชเพราะความศรัทธาในพุทธศาสนา สังเกตได้จากพฤติกรรมที่ยังโทรหาแฟน โมโหแฟนเมื่อไม่รับสาย ซึ่งหนังก็ได้ทิ้งปมบางอย่างไว้

ตัวละครอื่นๆที่มีความสำคัญ ก็เริ่มทยอยออกมา เช่น “พระอาจารย์ใบ้” พระวัยกลางคน ผู้มีบุคลิกเงียบขรึม ไม่ค่อยพูดจา แต่เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน “ฝ้าย” เด็กสาวชาวบ้านหน้าตาสละสลวย อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเณรซัน ภายนอกดูเป็นเด็กสาวใสซื่อ มาวัดทำบุญกับยายเสมอ แต่ลึกๆ ก็เหมือนเธอไม่ได้สนใจศาสนาเท่าไหร่ “เจ้าบ้า” ชายสูงวัยสติไม่ดี หนวดเคราผมเพ้ารุงรัง ซึ่งอาศัยอยู่ในวัด และมักทำตัวลับๆล่อๆ สวดบทปลงอาบัติอยู่บริเวณกุฏิของเณรซันบ่อยครั้ง

นอกจากนั้น ก็ยังปรากฏตัวละครประเภทผีให้เห็นนิดหน่อย เริ่มจากผีเปรตตนหนึ่ง ซึ่งปรากฏกายครั้งแรกขณะพระอาจารย์ใบ้กำลังแสดงธรรม ว่าด้วยเรื่องบาปหนักที่บางคนกระทำไว้นั้น จักส่งผลให้ไปเกิดเป็นผีเปรต ต้องขอส่วนบุญจากผู้อื่นจนกว่าจะหมดเวรหมดกรรม ผีเปรตจะปรากฏกายให้ใครเห็น เพราะอยากให้ผู้นั้นทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ รวมทั้งมีผู้หญิงลึกลับคนหนึ่ง โผล่มาบริเวณกุฏิของเณรซัน ซึ่งหลวงพี่ทินก็บอกว่าเป็นผี “น้าพิน” หญิงรายหนึ่งที่เสียชีวิตนานแล้ว และมักมีคนเห็นวิญญาณมาวนเวียนอยู่แถวนั้น

หนังเล่าชีวิตในผ้าเหลืองของเณรซันว่า ไม่ค่อยมีสาระอะไร ว่างๆก็แอบหนีไปสูบบุหรี่ โทรหาแฟนที่อยู่กรุงเทพฯ แต่มักมีปากเสียงทะเลาะกันเสมอ และในช่วงเวลาที่ความรักของเณรซันสั่นคลอน ฝ้ายก็เข้ามาข้องเกี่ยวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะอายุรุ่นเดียวกัน คุยภาษาเดียวกัน ทำให้การสนทนาถูกคอ ฝ้ายเองก็เหมือนจะสนใจความเป็นชาวเมืองหลวงของเณรหนุ่ม สอบถามถึงวิถีชีวิต ความทันสมัยต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อยๆพัฒนามากขึ้น จนก้าวล่วงความเหมาะสม

แต่ทว่าความผิดสำคัญ ที่ทำให้เณรซันขาดจากการเป็นสามเณร เพราะคืนหนึ่งขณะที่เจ้าบ้ามาสวดปลงอาบัติใต้กุฏิ เณรซันจึงตะโกนไล่ เจ้าบ้าก็แอบเอาสุราให้หนึ่งขวด วันรุ่งขึ้นเมื่อพระรูปอื่นมาเห็น จึงจำใจต้องให้เณรผู้ขาดศรัทธารายนี้ ออกจากผ้าเหลือง แต่พระอาจารย์ใบ้บอกว่าให้รอสักพัก เพราะยังไม่มีฤกษ์สึก

ระหว่างรอฤกษ์สึก เณรซันกับหลวงพี่ทินมีโอกาสได้พูดคุยกันบ่อยๆ จนได้รู้เรื่องราวต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในวัดแห่งนี้ หลวงพี่ทินบอกว่า ตนเองบวชเพื่ออยากอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่น และพูดเตือนสติเณรซัน ว่าให้อดทนรอเวลาเสียก่อน ห้ามถอดผ้าเหลืองเอง

หนังอาจรวบรัดเนื้อหาบางส่วนไป (คงเพราะถูกเซ็นเซอร์) แต่ในช่วงท้ายปริศนาหลายๆอย่าง ก็เริ่มปรากฏให้เห็นปมที่ซ่อนไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง

เหตุการณ์นั้นเกิดจากความใจร้อนของเณรซันที่อยากสละผ้าเหลืองเต็มที ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปที่สาเหตุหนึ่ง ฝ้ายก็เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะหนังเผยให้เห็นว่า ฝ้ายไม่เชื่อเรื่องศาสนา และบาปกรรม เธอมองว่า มันเป็นความเชื่อที่มองไม่เห็น แต่ความรักเป็นสิ่งที่ชัดเจนกว่า ในเมื่อเธอตกหลุมรักเณร ก็ไม่ใช่เรื่องผิด นั่นจึงเป็นเหตุให้เณรซันคิดจะหนีจากวัด และพาฝ้ายกลับกรุงเทพฯ

ในค่ำคืนที่นัดพบกัน ความลับต่างๆก็ปรากฏ เมื่อเณรซันเห็นภาพกึ่งจริงกึ่งฝัน ว่าเคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างในอดีต เริ่มจาก “น้าพิน” วิญญาณหญิงสาวที่มาปรากฏกายให้เห็น แท้จริงแล้วอีกรูปกายหนึ่ง คือ ผีเปรต เนื่องจากน้าพินเป็นสีกาที่กระทำผิดมหันต์ เสพเมถุนกับหลวงพ่อรูปหนึ่ง ซึ่งหลวงพ่อรูปนั้นในปัจจุบันก็คือ “เจ้าบ้า” นั่นเอง

เมื่อน้าพินมีลูกก็ไม่ได้รับการยอมรับจากหลวงพ่อรูปนั้น เธอจึงตัดสินใจผูกคอตายในกุฏิหลวงพ่อ ซึ่งคือกุฏิที่เณรซันจำวัดอยู่ ส่วนหลวงพี่ทินเป็นพระที่ถูกฆาตกรรมโดยหลวงพ่อ เนื่องจากไปต่อว่าเรื่องการอาบัติปาราชิก ในข้อหาเสพเมถุนกับสีกา ร่างของหลวงพี่ทินถูกซุกเอาไว้ในหีบใบใหญ่ในกุฏิเณรซันนั่นเอง ตรงนี้เป็นจุดเฉลยว่า หลวงพี่ทินคือวิญญาณที่คอยมาเตือนสติสามเณรน้องใหม่ ว่าอย่าหลงผิดทำบาปกรรม เหมือนกับหลวงพ่อรูปเดิมที่เคยกระทำไว้ เพราะนอกจากจะกลายเป็นคนบ้าไร้สติ รู้สึกหวาดกลัวความผิดตลอดเวลาแล้ว ฝ่ายหญิงอย่างน้าพิน ก็ยังกลายเป็นผีเปรต ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอีกด้วย

“เณรอยากเป็นนักบุญที่ช่วยคนบาป หรืออยากเป็นคนบาปที่ต้องคอยมาขอส่วนบุญล่ะ ?” นั่นเป็นคำถามเตือนสติ ของหลวงพี่ทินที่ถามสามเณรซัน

บทสรุปส่งท้ายของภาพยนตร์ หลังจากคืนที่เกิดนิมิตภาพจากอดีต สามเณรซันจึงกลับตัวกลับใจ ตระหนักเรื่องบาปบุญคุณโทษ ตัดสินใจอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ เพื่ออุทิศส่วนบุญแก่เจ้ากรรมนายเวร และทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาต่อไป

ในฉากสุดท้ายของเรื่อง หนังยังเฉลยปมสำคัญอีกอย่าง คือ ภาพวิญญาณเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง วิ่งตามพระซันไปด้วย อันเป็นนัยที่เผยว่า ขณะที่ยังเป็นวัยรุ่นเขาเคยขับรถชนเด็กตาย จึงถูกพ่อสั่งให้หนีมาบวชไกลๆ เพื่อสะสางปัญหา ซึ่งวิญญาณเด็ก ก็เป็นสัญลักษณ์สื่อสารจากผู้สร้างว่า บาปกรรมที่เคยทำไว้ ไม่ได้หนีหายไปไหน แต่จะติดตามตัวเราไปเสมอ

ภาพยนตร์เรื่องอาปัตินี้สื่อความหมายไปยัง “หลวงพ่อ” ที่กระทำผิดโดยตรง คำว่า “อาบัติ” อธิบายความหมายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ การกระทำผิดทางวินัย อันเป็นการล่วงละเมิดข้อห้ามของภิกษุ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ อาบัติหนัก (ครุกาบัติ) และ อาบัติเบา (ลหุกาบัติ)

ครุกาบัติแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อาบัติปาราชิก กับ อาบัติสังฆาทิเสส (เช่น การปล่อยอสุจิโดยเจตนา การถูกเนื้อต้องตัวสตรี การเกี้ยวพาราสีสตรี การทำตัวเป็นสื่อรัก เป็นต้น)

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นประเด็นที่ “อาบัติปาราชิก” อันได้แก่ การเสพเมถุน การลักขโมย หรือการเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ 5 มาสก การฆ่ามนุษย์ และการกล่าวอ้างอวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งถือเป็นความผิดร้ายแรง หากพระสงฆ์ใดกระทำผิด ย่อมขาดจากการเป็นภิกษุทันที แม้ไม่ลาสิกขา ก็ไม่มีสถานะความเป็นภิกษุได้อีก

แต่สามเณรไม่ใช้คำว่าอาบัติ เพราะสามเณรรักษาศีลแค่ 10 ข้อ และข้อที่เณรซันละเมิด คือ การดื่มสุรา ถือเป็นความผิดหนัก (ผิดศีล 5) ก็ต้องปาราชิกคล้ายกับพระสงฆ์ แต่ความผิดของสามเณร หากกลับตัวกลับใจ ก็สามารถสมาทานศีลใหม่ และมีโอกาสกลับเข้ามาบวชใหม่ได้ (การบวชใหม่เป็นพระของเณร มีข้อยกเว้นในกรณีความผิดบาปรุนแรง เช่น การข่มขืนภิกษุณี การฆ่าพระอรหันต์ เป็นต้น)

ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากให้ความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัยของภิกษุ สามเณรแล้ว ยังได้เตือนสติและตอกย้ำให้ผู้ชมได้เห็นถึงบาปกรรมว่ามีจริง ผู้ใดกระทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว แม้ในชาตินี้หรือชาติหน้า อย่างแน่นอน

(จากนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 180 ธันวาคม 2558 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)
กำลังโหลดความคิดเห็น