วธ. ดันแผนแม่บทฯใช้ไอทีขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม พร้อมสร้างแอปพลิเคชัน ดึงเยาวชน - คนรุ่นใหม่ เรียนรู้ - ค้นหาข้อมูลวัฒนธรรมผ่านแท็บเล็ต - สมาร์ทโฟน
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า การประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อใช้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนงานของ วธ. ที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงวัฒนธรรม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2559 - 2563) ในขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก คาดว่า ภายใน 1 - 2 เดือนจะแล้วเสร็จ ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวจะมีแผนหลักของกระทรวงและมีแผนแม่บทฯ ย่อยของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทั้งหมด ซึ่งแผนดังกล่าวจะกำหนดยุทธศาสตร์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้งานวัฒนธรรมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งบริหารจัดการข้อมูลทางวัฒนธรรมให้ประชาชนค้นหาและศึกษาข้อมูลได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ วธ. เร่งดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม โดยการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกกรมในสังกัด และจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 แห่งทั่วประเทศ มาเป็นฐานข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่และค้นหาผ่านเว็บไซต์และในสื่อต่าง ๆ
นายวีระ กล่าวว่า สำหรับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กำลังจัดระบบทำเนียบการแสดงพื้นบ้านในรูปแบบเว็บไซต์ โดยจะเป็นการรวบรวมข้อมูลของการแสดงพื้นฐานประเภทต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ขับซอ โนรา ลิเก หมอลำ และอุปรากรจีน ฯลฯ ซึ่ง สวธ. ทำฐานข้อมูลโดยแบ่งเป็นประเภทของการแสดงพื้นฐาน รายละเอียดของคณะนักแสดง อาทิ ราคา และสถานที่ติดต่อในการว่าจ้างคณะนักแสดง ที่สำคัญในเว็บไซต์ดังกล่าวรวบรวมองค์ความรู้การแสดงพื้นบ้านแต่ละประเภท เพื่อให้เด็กและเยาวชน หรือว่าผู้ที่ต้องการศึกษา หรือหาข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงพื้นฐานสามารถเข้ามาศึกษาได้
รมว.วธ. กล่าวว่า การรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ที่มีอยู่ในกรมต่างๆ มีทั้งข้อมูลดิจิตอล สิ่งพิมพ์ สื่อต่างๆ ในรูปแบบวีซีดี และดีวีดี รวมถึงข้อมูลในเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม เว็บไซต์รากวัฒนธรรมตามวิถีไทย เว็บไซต์แหล่งข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เว็บไซต์แหล่งข้อมูลสินค้าทางวัฒนธรรม เป็นต้น รวมถึงข้อมูลทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในจังหวัดทั่วประเทศ มาเก็บไว้ในระบบส่วนกลาง ซึ่งมีการคัดกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลรากวัฒนธรรม เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดนำไปเผยแพร่ในรูปแบบแอปพลิเคชันผ่านระบบแท็บเล็ต และระบบสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาและค้นคว้างานด้านศิลปวัฒนธรรม
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่