มหาสารคาม - “นันทิยา” อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดมหกรรมหมอลํา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมภาคอีสาน มุ่งเสริมสร้างรายได้ศิลปินพื้นบ้าน และร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.มหาสารคาม นางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานมหกรรมหมอลำ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินพื้นบ้านด้านหมอลำให้มีพื้นที่นำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมีเวทีการจัดแสดง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างรายได้ให้แก่ศิลปิน และประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงให้ภาครัฐ เอกชน ประชาชน เด็ก และเยาวชน มีส่วนร่วมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่สืบไป
ภายในงานเริ่มด้วยขบวนกลองยาวพื้นบ้าน คณะศิลป์อีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โชว์การตีกลองยาวประกอบการร่ายรำ ที่มีทั้งความเข้มแข็งและความสวยงาม สื่อสารวิถีชีวิตคนอีสาน จากนั้นเป็นการมอบเกียรติบัตรแก่หน่วยงานที่สนับสนุนการจัดงาน 15 หน่วยงาน ก่อนจะเริ่มการแสดงหมอลำ หรือมหรสพพื้นบ้านของชาวอีสาน ที่ขับร้อง ขับลำนำเพลงพื้นบ้านผสมเสียงดนตรี ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ อย่างไพเราะงดงาม
โดยมีหมอลำทั้งในระดับท้องถิ่น และหมอลำที่ถูกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติมาร่วมแสดงสลับหมุนเวียนกันตลอดการจัดงานทั้ง 2 วัน เช่น อาจารย์ ดร.ฉวีวรรณ พันธุ และอาจารย์ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม
นางสาวนันทิยากล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมต้องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีของประชาชน และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ด้วยการจัดมหกรรมการแสดงพื้นบ้าน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ศิลปินท้องถิ่นขึ้นในภาคต่างๆ ตามลักษณะการแสดง โดยนำร่องก่อน 5 ประเภท ได้แก่ การขับซอภาคเหนือ โนราภาคใต้ หมอลำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลิเกภาคกลาง และอุปรากรจีน
สำหรับภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือการแสดงพื้นบ้าน ปัจจุบันถูกรุกโดยสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทำให้คนรุ่นใหม่ละเลย หรือลดความสนใจการแสดงเหล่านี้ แต่การจัดงานนี้มีแนวคิดที่เชื่อว่าการแสดงพื้นบ้านแต่ละอย่างมีเสน่ห์ และอัตลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป หากได้พัฒนาและปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัยก็จะสามารถกลับมาเฟื่องฟู และสร้างรายได้ให้แก่คณะนักแสดงได้อีก เช่นประชาชนจำนวนมากที่พาลูกหลานเข้ามาชมการแสดงหมอลำกันด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลินในวันนี้ และบางส่วนเป็นคนรุ่นใหม่
นายฉลาด ส่งเสริม หรือ ป.ฉลาดน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) กล่าวถึงเรื่องราวหมอลำว่า หมอลำมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่ผ่านมาหมอลำเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ส่วนคนภาคอีสานจะถือหมอลำกลอนพื้นบ้านมาโดยตลอด หลังปี 2500 มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ลูกหลานต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ จากเดิมผู้ชายหากเรียนจบ ป.4 หากไม่ไปบวชก็จะไปเรียนลำ ผู้หญิงก็ทำนา และเรียนลำ ส่วนมากตั้งแต่อายุ 12 ปี ปัจจุบันก็จะไปเรียนต่อหรือไปทำงานกันเป็นส่วนใหญ่
บางยุคลูกหลานไปหลงใหลวัฒนธรรมต่างประเทศ โดยเฉพาะเสียงเพลง ทำให้หมอลำกลอนได้รับความนิยมลดลงมาก แต่ที่ผ่านมาความนิยมหมอลำกลอนเริ่มกลับคืนมา โดยได้ปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย ผสมผสานเป็นลำเพลิน ลำเต้ย ในระยะหลังมีหมอลำซิ่ง คือ หมอลำผสมดนตรีชาติตะวันตก ทำให้ลำกลอนซบเซาไปอีก โดยหมอลำซิ่งจะแตกต่างจากหมอลำกลอนมาก ทั้งการแต่งกาย การพูดจาหน้าเวที การเต้นฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่แนะนำลูกหลานรุ่นใหม่ให้รู้จักดูสถานที่ เช่น วัด ก็ไม่ควรเต้นยั่วยวน