xs
xsm
sm
md
lg

นิทานเซน : นกอินทรีบินข้ามพ้นความตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยังมีสมณะรูปหนึ่งนามว่า “เต้าซิ่ว” เป็นผู้มีความมุมานะในการบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง ทว่าทำอย่างไรก็ยังมิอาจบรรลุธรรม มองไปรอบข้างนักบวชรูปอื่นๆ ที่เพิ่งศึกษาธรรมทีหลังตน มีไม่น้อยสามารถเข้าถึงแก่นแท้แห่งเซนแล้ว

สมณะเต้าซิ่วเห็นดังนั้นจึงเข้าใจว่า ตนเองคงไม่มีคุณสมบัติในการศึกษาเซน ขาดปฏิภาณไหวพริบ สุดท้ายตัดสินใจออกธุดงค์เพื่อหวังว่าจะมีความสำเร็จ

ก่อนเดินทาง สมณะเต้าซิ่วได้เข้ามากราบลาอาจารย์เซนก่วงอี่ว์ โดยกล่าวกับอาจารย์ว่า

"ท่านอาจารย์ ศิษย์ทำให้ความเมตตากรุณาของท่านต้องสูญเปล่า นับตั้งแต่ศิษย์ออกบวชอยู่ที่วัดนี้มานานนับ 10 ปี ยังคงไม่อาจเข้าถึงเซนได้แม้เพียงกระผีก ดูไปศิษย์คงไร้วาสนา จึงได้แต่ออกไปธุดงค์ เพื่อหาทางเข้าถึงธรรมด้วยวิธีอื่น"

อาจารย์เซนก่วงอี่ว์จึงตอบศิษย์ว่า "ในเมื่อเจ้ายังไม่บรรลุธรรม เหตุใดจึงออกเดินทางจากที่นี่ไป หรือว่าเจ้าจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ในสถานที่อื่น?"

เต้าซิ่วจึงอธิบายความในใจต่ออาจารย์เซนว่า "ศิษย์อยู่ที่นี่ ทุกๆวันนอกจากรับประทานอาหารและนอนหลับแล้ว ล้วนใช้เวลาทั้งหมดไปกับการบำเพ็ญเพียร ศิษย์ทุ่มเท ทว่าไร้วาสนา ขณะที่สมณะรูปอื่นแม้ไม่พากเพียรเท่า แต่กลับพบความก้าวหน้ามากกว่า เห็นทีศิษย์คงต้องออกธุดงค์พบความลำบาก เผื่อว่าจะสามารถบรรลุธรรม"

อาจารย์เซนก่วงอี่ว์ได้ฟังจึงกล่าวว่า "รู้แจ้ง...คือสิ่งที่ออกมาจากภายในตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่สามารถอธิบายความได้ ทั้งยังไม่อาจส่งต่อให้ผู้อื่น หากยังไม่รู้ ก็มิอาจเร่งให้รู้ ผู้อื่นก็คือผู้อื่น เจ้าก็คือเจ้า เจ้าต้องศึกษาเซนไปตามวิถีของตนเอง มิสามารถนำสองเรื่องนี้มาปนกันได้"

"ท่านอาจารย์ ท่านยังไม่เข้าใจ เมื่อเทียบการเรียนรู้ของตัวศิษย์กับผู้อื่น ก็ไม่ต่างกับนำพญาอินทรีมาเทียบกับนกกระจอกอย่างไรอย่างนั้น"
สมณะเต้าซิ่วยังคงดึงดัน

"ใหญ่อย่างไร เล็กอย่างไร" อาจารย์เซนถาม

สมณะเต้าซิ่วตอบว่า "พญาอินทรีเพียงกางปีกก็บินไปได้ไกลหลายร้อยลี้ ทว่าศิษย์ได้แต่บินต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไปได้ไม่กี่จั้ง*เท่านั้น" (*จั้ง คือหน่วยวัดของจีน เท่ากับความยาวประมาณ 2.27-2.31 เมตร)

ยามนี้ อาจารย์เซนก่วงอี่ว์จึงกล่าวถามอย่างจริงจังว่า "นกอินทรีเพียงกางปีกก็บินไปได้ไกลหลายร้อยลี้ แต่มันสามารถบินข้ามพ้นความตายไปได้หรือไม่?"

ปัญญาเซน : ไม่ว่าอินทรีหรือนกกระจอกล้วนมิอาจข้ามพ้นความตาย ต่างเพียงเร็วหรือช้า การศึกษาธรรมก็เช่นกัน ผู้ใดปฏิบัติผู้นั้นย่อมได้รับผล ย่อมถึงการรู้แจ้งได้ไม่ช้าก็เร็ว

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 179 พฤศจิกายน 2558 โดย มุมจีน : manager online)
กำลังโหลดความคิดเห็น