โกฐเขมา (อ่านว่า โกด-ขะ-เหมา) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Atractylodes lancea (Thunb.) DC. ชื่อพ้อง ว่า Atractylis lancea DC., Atractylis ovate Thunberg, Atractylis chinensis (Bunge) DC, Acana chinensis Bunge และมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น โกฐหอม (ไทย), ชางตุ๊ก ซังตุ๊ก (จีนแต้จิ๋ว), ชางซู่ ชางจู๋(จีนกลาง) เป็นต้น
สมุนไพรชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน แหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดคือ มณฑลหูเป่ย และแหล่งที่มีคุณภาพดีที่สุดคือ มณฑลเหอหนาน
โกฐเขมาเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี ขึ้นตามทุ่งหญ้าในป่าและตามซอกหิน สูงประมาณ 30-100 ซม. มีกลิ่นหอม ลำต้นกลมเป็นร่อง ขึ้นเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ไม่แตกกิ่งก้านสาขา หรือแตกกิ่งเฉพาะตอนบน มีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อย
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีหลายรูปแบบหรือเป็นรูปหอก ขอบใบมีขนครุยหรือหยักเป็นฟันเลื่อย ใบบริเวณกลางต้นมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรี รูปรีแคบ หรือรูปใบหอกกลับ ส่วนใบบริเวณใกล้โคนต้นเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบหรือหยักแบบขนนก 3-5 แฉก แฉกปลายเป็นรูปกลม รูปไข่กลับ รูปไข่ หรือรูปรี ส่วนแฉกข้างเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรี ก้านใบสั้น หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบมีคราบสีขาวเกาะอยู่
ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นตามปลายกิ่ง ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ วงใบประดับซ้อนกันแน่นเป็นรูประฆัง ใบประดับมีประมาณ 5-7 แถว ขอบมีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อย ปลายใบมน ใบประดับวงในเป็นรูปรี ส่วนใบประดับกลางเป็นรูปไข่หรือรูปรี และใบประดับที่อยู่วงนอกเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบประดับในสุดอาจมีสีแดง ด้านบนของฐานดอกแบน มีเกล็ดหนาแน่น
ผลเป็นแบบผลแห้ง เมล็ดล่อน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ออกดอกและเป็นผลตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม
เหง้ามีลักษณะค่อนข้างกลม หรือยาว หรือรูปทรงกระบอก หรืออาจมีแง่งยาวแยกออกไป มีความยาวประมาณ 3-10 ซม. ผิวขรุขระ เป็นปุ่มปม เปลือกนอกคล้ายผิวมะกรูด มีสีน้ำตาลอมเทา สีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลแกมดำ มีรอยย่นและรอยบิดตามขวาง เนื้อในแน่น เมื่อฝานหัวออกใหม่ๆ จะเป็นสีขาวขุ่นที่เนื้อใน และมีแต้มสีแสดของชันน้ำมันอยู่ทั่วไป มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสหวานอมขมเล็กน้อย และเผ็ดร้อน
เหง้าใต้ดินนี้เองที่นิยมนำมาใช้ทำยา เนื่องจากมีสรรพคุณบำรุงธาตุ ขับลม ใช้แก้โรคเกี่ยวกับข้อ เป็นยาเจริญอาหาร ยาขับปัสสาวะ แก้โรคในปากในคอเป็นแผลเน่าเปื่อย แก้จุกแน่น แก้หอบหืด ระงับอาการหอบ แก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้ลมตะกัง แก้เหงื่อออกมาก แก้ไข้รากสาดเรื้อรัง แก้ขาปวดบวม ขาไม่มีแรง ปวดข้อ แก้ท้องเสีย
โกฐเขมาเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐเขมาจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) โกฐทั้งเจ็ด(สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า(เนาวโกฐ) สรรพคุณโดยรวมของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
เครื่องยา “พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต
“พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก
“พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย
นอกจากนี้ บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้โกฐเขมารวม 2 ตำรับ คือ
1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐเขมาอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
2. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบ อาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของโกฐเขมาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
ส่วนแพทย์แผนจีนนิยมใช้โกฐเขมาเข้าในยาจีนหลายขนาน ใช้แก้อาการท้องร่วงท้องเสีย แก้อาการบวมโดยเฉพาะอาการบวมที่ขา แก้ปวดข้อ เนื่องจากโรคข้ออักเสบ แก้หวัด และแก้โรคตาบอดตอนกลางคืน
การศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่า โกฐเขมามีฤทธิ์ต้านปวด ต้านการอักเสบ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดความดันโลหิต กดระบบประสาทส่วนกลาง และลดอุณหภูมิกาย
สำหรับการวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า โกฐเขมามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไลเปส คือช่วยย่อยสลายอาหารจำพวกไขมัน ลดความอ้วน และมีฤทธิ์ต้านภาวะ oxidative stress หรือภาวะเครียดได้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย มีคณา)