“สมัยนี้การแข่งขันมันสูง
จะผงาดขึ้นมาอยู่บนบัลลังก์ความสำเร็จ
แค่ดีกว่าคงไม่พอ
ต้องแตกต่างอย่างมีกื๋น บุญถึง ปัญญามี
เครือข่ายกว้าง ที่สำคัญศาสตร์และศิลป์
ต้องหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว”
บุคคลระดับแถวหน้าที่นำพาตัวเองให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในแต่ละสายงานนั้น เป็นเพราะว่า “พวกเขาได้ผลิตหรือสร้างนวัตกรรมของตัวเองออกมา ให้มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก”
หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ปรารถนาความสำเร็จ นั่นก็ต้องหันกลับมาพิจารณาดูว่า นาทีนี้เรากำลังทำอะไร อยู่ในฐานะผู้ผลิต หรือผู้บริโภค เช่น ถ้าเรารักการขับรถสปอร์ต ชอบดูทีวี ชอบอ่านหนังสือ อย่างนี้ถือว่าเป็นผู้บริโภค ได้ประโยชน์ตนเพียงอย่างเดียว และไม่เกิดผลกระทบต่อคนหมู่มาก
แต่ถ้าเราเป็นผู้ผลิต เช่น ผลิตรถยนต์ขาย ผลิตรายการทีวี ผลิตหนังสือ อย่างนี้ถือว่าเรากำลังสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เพราะมีประโยชน์ต่อผู้อื่น แถมมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก
ประเด็นก็คือ การที่เราจะสร้างหรือผลิตอะไรออกมาสักอย่าง ให้มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากนั้น “สตีฟ จอบส์” อดีตซีอีโอแสนล้าน ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ยักษ์ใหญ่วงการคอมพิวเตอร์ เคยบอกไว้ว่า “ต้องแตกต่าง แต่เรียบง่าย”
แน่นอนการสร้างนวัตกรรมออกมาให้แตกต่าง มักเจอแรงต้าน ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบคำเสียดสี ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือแม้กระทั่งถูกหาว่าบ้า!!! เพราะสังคมไม่ค่อยเปิดโอกาสให้สิ่งใหม่เสนอหน้าได้ง่ายๆ
ดังนั้น อย่าโกรธพวกเขา และไม่ควรรีบด่วนสรุป ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นถูกหรือผิด เพราะคงไม่มีใครรู้จริงถึงขั้นพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำว่า อนาคตมันจะเป็นอย่างไร นอกจากปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องตัดสิน
แต่ที่แน่ๆก็คือ ของดีมีคุณค่าต้องอยู่รอดปลอดภัย ทนต่อกาลเวลาได้ เพราะมันมีดีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร และเป็นที่ยอมรับของมหาชนว่า มันคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์
ตัวอย่างเช่น ปากกา กับ ดินสอ ไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปไกลเพียงใด มีระบบเทคโนโลยีล้ำสมัย สามารถผลิตปากกาชนิดต่างๆ ออกมาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปากกาหมึกแห้ง ปากกาหมึกซึม ปากกาเมจิก ปากกาเคมี
แต่ปากกาก็ไม่สามารถดับรัศมีความสำคัญของดินสอลงได้ อาจเพราะความเรียบง่าย ราคาถูก และใช้ได้ทุกสถานการณ์ ทำให้ปากกาไม่อาจเบียดดินสอให้ตกขอบจากความจำเป็นต้องใช้ลงไปได้
มีเรื่องเล่าขำขันจากคุณประภาส ชลศรานนท์ นักคิดนักเขียนแถวหน้าของเมืองไทย เล่าไว้อย่างคมคายชวนอ่านว่า
“มนุษย์บนยานอวกาศ ขณะที่ลอยอยู่นอกโลกนั้น เวลาจะเขียนจะจดอะไรกันที ก็ต้องใช้ปากกาหมึกแห้ง ปากกาหมึกซึม แต่ทีนี้พอขึ้นไปอยู่ในสภาพไร้แรงดึงดูด เวลาเขียนทีหมึกกระจายลอยละล่องไปทั่วยาน ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง ก็เลยมีการคิดค้นปากกาหรือเครื่องมือชิ้นนี้ขึ้น
ได้มีการเสนอสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมากันใหญ่ บางคนเสนอให้ใช้หมึกที่มีสารผสมของเหล็กเพื่อเขียนบนกระดาษผสมแม่เหล็ก บางคนเสนอการใช้ปากกาที่ต้องมีแบตเตอรี่และเขียนด้วยเลเซอร์ บนกระดาษที่คล้ายๆ แผ่นฟิล์มรับแสง
เสนอกันไปต่างๆนานา องค์การนาซ่าเองก็ต้องคอยพิจารณาหลายๆทางเลือก เพราะบางชิ้นแก้ปัญหาเรื่องสภาวะไร้แรงดึงดูดได้ แต่น้ำหนักมากเกินไปที่จะเป็นเครื่องเขียน บางชิ้นแก้ปัญหาได้หมดและมีน้ำหนักเบา แต่ราคาหนักเกินไปเสียอีก
แก้กันอยู่หลายเดือน วันดีคืนดีก็มีโทรศัพท์จากแม่บ้านคนหนึ่งโทรเข้ามาที่นาซ่า และแล้วปัญหาทั้งหมดก็ถูกคลี่คลายลงด้วยคำแนะนำง่ายๆสั้นๆ จากแม่บ้านท่านนั้น เธอพูดผ่านสายโทรศัพท์บอกว่า
“ทำไมไม่ลองดินสอดูบ้างล่ะคะ”
แล้วเสียงหัวเราะก็ดังลั่นไปทั่วจักรวาล ช่างง่ายดายและงดงามจริงๆ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บางทีเรื่องกล้วยๆ ที่คนมองข้ามนี่แหละมีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้ได้ผล ราคาถูก แถมแก้ปัญหาได้จริง ดีกว่าทฤษฎียุ่งเหยิงที่เรียนกันอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย”
โปรดอย่ามองข้ามภูมิปัญญาจากบรรพชน หรือภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านที่เรียบง่าย แต่ใช้ได้จริง ยิ่งโดยเฉพาะจอมปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้า ในสังขารูปปัตติสูตร พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ผู้ศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้ หากเธอเพียรประกอบด้วยข้อปฏิบัติ 5 ประการ คือ
1. เป็นผู้มีศรัทธา
2. เป็นผู้มีศีล
3. เป็นผู้มีสุตะ คือได้สดับตรับฟังมาก
4. เป็นผู้มีจาคะ คือเสียสละแบ่งปัน
5. เป็นผู้มีปัญญา
รวมคุณสมบัติ 5 ประการนี้เข้าด้วยกัน เรียกว่าข้อปฏิบัติให้สำเร็จความปรารถนา 5 ประการ”
จะไม่ถามว่า คุณเชื่อพระพุทธองค์หรือไม่ แต่จะถามว่าคุณเชื่อหรือ กับรอยปากกาเมจิกบนกระดานไวท์บอร์ด ที่เขียนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สวยหรู ซึ่งสอนกันอยู่ในชั้นเรียน จะช่วยให้คุณมีชีวิตประสบความสำเร็จร่ำรวยเป็นเศรษฐี หรือสามารถแก้ปัญหาความยากจนระดับชาติได้จริง
ขณะที่นิสิตส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัย ยังก้มหน้าก้มตาร่ำเรียนกันอย่างคร่ำเคร่ง นอกรั้วมหาวิทยาลัยก็ยังมีคนอดอยากแร้นแค้น ลำบากยากจน ยาจกขอทาน คนจรเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย ให้เห็นอยู่ดาษดื่นเกือบทุกมุมโลก ทั้งที่มีผู้พยายามคิดค้นทฤษฎีเหล่านี้ ออกมามากมายเพียงใดก็ตาม แต่ความยากจนก็ไม่เคยหมดไปจากโลกได้จริง
จากคำบอกเล่าของมหาเศรษฐีชั้นนำระดับโลก ส่วนใหญ่เปิดเผยว่า “การขายเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่จำเป็นต้องคิดด้วยทฤษฎีและตัวเลขยุ่งยากซับซ้อน”
ดังที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” อภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกยืนยันว่า ความจริงแล้วการร่ำรวยเป็นเศรษฐีของเขานั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาคณิตศาสตร์ชั้นสูงแต่อย่างใด
ขณะที่ระบบการศึกษาบ้านเรา กำลังสอนอะไรที่มันยุ่งยากซับซ้อน แต่ใช้ไม่ได้ผล เหมือนกับที่นาซ่าเคยระดมสมองนักคิดมาประดิษฐ์ปากกา ทำไมเราไม่ทำอะไรง่ายๆ ด้วยการลดชั่วโมงการเรียนทฤษฎีอันยุ่งยากซับซ้อน แล้วปล่อยให้เด็กๆได้มีโอกาสไปอยู่ใกล้ชิดกับคนเก่งๆ ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสจับจ้อง เฝ้ามอง สังเกต
อย่าลืมว่า การสังเกตก็เป็นการเรียนรู้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเราเคยใช้กันมาก่อนตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ตอนเด็กเราเคยพูดไม่ได้ เดินไม่ได้ แต่เพราะการเรียนรู้ด้วยวิธีสังเกต แล้วพยายามเลียนแบบทำซ้ำพฤติกรรมของผู้ใหญ่ กระทั่งในที่สุด เราก็พูดได้ กินได้ เดินได้ ได้แม้กระทั่งขี่จักรยาน ทั้งนี้เป็นเพราะสมองมีวิวัฒนาการมาเป็นล้านๆปี เพื่อให้จดจำเป็นภาพได้ง่ายกว่าแนวคิดทฤษฎีที่ยุ่งยากซับซ้อน
วิธีเรียนรู้จากการสังเกต เป็นวิธีที่เรียบง่าย แต่ใช้ได้ผลและทรงพลัง ไม่ต่างจากเรื่องที่แม่บ้านโทรมาบอกนาซ่าว่าให้ใช้ “ดินสอ” นั่นแหละ
อยากให้ตระหนักว่า การเรียนทฤษฎีเป็นเพียงศาสตร์ แต่คนที่ประสบความสำเร็จนั้น เขาต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ คือต้องมีความรู้ มีทักษะจากการลงมือทำ ต้องสะสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน จนกระทั่งสามารถหลอมรวมศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว
นี่ต่างหากคือราชาตัวจริง เป็นผู้คู่ควรกับบัลลังก์แห่งความสำเร็จ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย ทาสโพธิญาณ)