xs
xsm
sm
md
lg

จากเจ้าของเพจดัง สู่นักเขียนอาชีพ “คิ้วต่ำ” อนุชิต คำน้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะชอบขีดๆ เขียนๆ วาดรูปเล่นในไดอารีและคิดส่งผลงานไปลงในนิตยสารเล่มหนึ่ง ทำให้เขาเกิดไอเดียนำเรื่องราวต่างๆ มากลั่นกรองและเรียบเรียงขึ้นเป็นคำพูดและภาพประกอบ โพสต์ลงเฟซบุ๊กในนามเพจ “คิ้วต่ำ” ที่ปัจจุบันมีคนกดไลค์และฟอลโลว์ร่วมล้านรายชื่อ

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพราะผลงานที่โพสต์ลงในโลกเสมือนอย่างโซเชียลมีเดีย ก็เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เขามีโอกาสขยับขยายสู่ความฝันของจุดเริ่มต้น สำนักพิมพ์หลายแห่งจีบเขาเพื่อของานไปตีพิมพ์มาแล้วหลายเล่ม รวมถึงเล่มล่าสุดอย่าง “Sound About ไม่ได้ฟัง แต่ยังได้ยิน”

ด้วยเอกลักษณ์ของผลงานที่มาพร้อมกับกระดาษสีน้ำตาล ภาพประกอบลายเส้นน่ารัก ดูแล้วสบายตา ส่งผลให้เพจ “คิ้วต่ำ” ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

ในวันที่ “Sound About ไม่ได้ฟัง แต่ยังได้ยิน” กำลังกินใจนักอ่านผู้เป็นแฟนคลับ เราขยับความสนใจเข้าไปสนทนากับ “ปั๊ม-อนุชิต คำน้อย” คนหนุ่มผู้เป็นเจ้าของเพจดังกล่าว และเป็นเจ้าของเรื่องราว รวมทั้งภาพประกอบที่มีคนตกหลุมไลค์เฉียดๆ ล้าน...

• จุดเริ่มต้นของ “คิ้วต่ำ”

เริ่มแรกจริงๆ ก็เขียนลงสมุดบันทึกครับ ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนที่ชอบเขียนไดอารีมาก ก็จะเขียนเก็บไว้ตลอด แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่ง เราอยากหารายได้พิเศษ เลยอยากรวบรวมงานตัวนี้ส่งให้นิตยสารเล่มหนึ่งเพื่อให้เขาลงคอลัมน์ ซึ่งตอนนั้นเฟซบุ๊กเขาเปิดให้ทำแฟนเพจ เราก็ทำและนำผลงานโพสต์ลง ซึ่งบังเอิญว่าเพจเราดังขึ้นมาก่อน ก็เลยไม่ได้ส่งไปนิตยสาร (ยิ้ม)

• อยากทราบว่าในไดอารีมีข้อความประมาณไหนบ้าง

โอ้โห บ่น บ่นอย่างเดียวเลยครับ (หัวเราะ) ช่วงที่ผมเขียนไดอารีจริงจัง เป็นตอนที่ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่ 4 เป็นช่วงที่ผมกำลังทำธีสิสจบ ตอนนั้นมีความเครียดสูงมาก เราก็เลยไม่รู้ว่าจะระบายยังไง มันเหมือนเป็นการให้กำลังใจตัวเองด้วย อีกอย่างเราก็เป็นคนที่ชอบบ่น เวลาเหนื่อยเราก็จะวาดรูปตัวเอง บอกกับตัวเองว่าต้องสู้นะ มันจะเป็นอารมณ์ประมาณนี้ครับ หรือไม่ก็จะเป็นอารมณ์ที่ว่าเราไม่มีเหมือนคนอื่นเขา เราก็จะเขียนเป็นประมาณว่าคนอื่นเขามีแต่เขาขาดนะ เขามีครบเลยแต่ทำไมเขายังขาดความสุขล่ะอะไรทำนองนี้ครับ มันเกิดจากความเครียดล้วนๆ เราเลยเริ่มเขียนระบาย จริงๆ ก็ไม่ได้ตั้งใจเขียนนะครับ มันจะเป็นเหมือนการวาดเล่นทั่วไป อย่างบางทีก็อยู่มุมกระดาษ วาดเล่นอยู่ตรงมุมนั้นมุมนี้ อารมณ์เป็นเหมือนเราเรียนหนังสือตอนเด็กๆ แล้วแอบวาดรูปตอนครูสอนหนังสือ (ยิ้ม)

• นามปากกา “คิ้วต่ำ” นี้มีที่มาที่ไปอย่างไรคะ

ตอนแรกเลยคิดไว้สองชื่อ มีชื่อ “เถิก” กับ “คิ้วต่ำ” ที่มาของมันก็คือ เพราะว่าผมหัวเถิก (หัวเราะ) แต่คิดว่า “คิ้วต่ำ” มันน่าสนใจกว่า เพราะว่าถ้าเราส่งไปให้ทางนิตยสารดู เขาต้องถามแน่เลยว่าทำไมถึงใช้ชื่อว่าคิ้วต่ำ ผมเลยตัดสินใจเลือกชื่อนี้ครับ (ยิ้ม)

• มีเทคนิคหรือแนวคิดอะไรไหมที่ทำให้ “คิ้วต่ำ” ได้รับความนิยมจากแฟนเพจ

อันนี้ผมตอบไม่ได้เลยครับ เพราะตั้งแต่สร้างเพจตอนแรก เราก็แค่อยากเห็นผลงานของตัวเองเฉยๆ ไม่ได้มีเทคนิคอะไรเลยนะครับ แต่ผมจะทำให้คนที่เขาเข้ามาในเพจเราแล้วเขารู้สึกไม่ได้ออกไปเปล่าๆ เพราะถึงเข้ามาแล้วจะไม่ชอบยังไง เขาก็จะออกไปด้วยความรู้สึกที่ไม่ชอบ หรือเขาอาจจะเข้ามาได้กำลังใจหรือได้เพื่อน

แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งผมรู้สำหรับการสร้างเพจให้ง่ายที่สุด คือเป็นตัวคุณเอง อย่าเป็นคนอื่น อย่าเห็นว่า เฮ้ย เพจด่าแรงกำลังดัง เอาด่าแรงๆ แล้วกัน ทั้งๆ ที่ตัวคุณเองไม่ได้เป็นคนด่าแรงเลย อย่าพยายามเป็นคนอื่น แค่เป็นตัวเรานี่แหละ อย่าพยายามดังเพราะเราเป็นคนอื่น

• เนื้อหาเรื่องในเพจ “คิ้วต่ำ” ส่วนใหญ่มุ่งเน้นถ่ายทอดอะไร

สิ่งที่คิ้วต่ำเขียนนั้นมันเป็นอารมณ์ที่ทุกคนเคยเจอมาเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะคิดถึง เหงา หรืออะไร คนเลยรู้สึกว่ามันใกล้ตัวมากโดยไม่ต้องไปตีความหมายอะไรเลย ผมจะหยิบเรื่องราวใกล้ตัวมานำเสนอ เรียกได้ว่าใกล้มากครับ (ยิ้ม)

ขณะเดียวกัน ก็มีการให้กำลังใจ เหมือนกับว่าขณะที่เราเล่าปัญหาชีวิตว่าวันนี้เหนื่อยจัง เจอปัญหาแบบนั้นแบบนี้มา เราก็ให้กำลังใจตัวเองในเพจ ปรากฎว่าคนอื่นก็ได้กำลังใจไปด้วย ประมาณว่าในขณะที่เราอยากสู้ เราก็เป็นกำลังใจให้คนอื่นอยากสู้ไปด้วย อาจจะเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องของการใช้ชีวิตครับ (ยิ้ม)

ที่ผ่านมา มีคนเข้ามาปรึกษาอยู่เรื่อยๆ เรื่องความรักบ้าง มาเล่าเรื่องความรักของเขาให้เราฟังบ้าง เยอะมาก (หัวเราะ) บางคนก็จะปรึกษาปัญหาชีวิตด้วย อย่างกรณีหนึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่ารักมาก มีคุณแม่ท่านหนึ่งส่งข้อความเข้ามาทางอินบ็อกซ์ บอกว่าช่วยเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับกำลังใจในการสอบให้หน่อย เพราะว่าลูกใกล้สอบแล้วอะไรประมาณนี้ มันน่ารักนะครับ เพราะทุกครั้งที่เราเหนื่อย เราเห็นข้อความแบบนี้ เราก็จะมีกำลังใจมากขึ้น แค่หนึ่งข้อความ ผมก็มีความสุขแล้วครับ

หรืออีกกรณีหนึ่ง มีคนส่งข้อความมาหาผมว่า “ขอบคุณพี่มากนะคะ เพื่อนหนูเลิกกับแฟน เขาจะฆ่าตัวตาย หนูส่งเพจพี่ให้เขาอ่าน ตอนนี้เขารักตัวเองแล้วค่ะ” ผมเลยรู้สึกว่า โอ้โห รูปเราแค่หนึ่งรูปมันทำให้คนคนหนึ่งเขาไม่ทำร้ายตัวเอง นั่นยิ่งทำให้เรารู้สึกดีกับงานของเราเอง ซึ่งต่อให้วันข้างหน้า เราจะเป็นยังไงมันก็จะถูกสร้างต่อไปเรื่อยๆ อย่างน้อยอาจจะไม่ใช่สำหรับคนทั้งหมด 7 แสนคนที่กดไลค์ แต่มันก็เพื่อใครสักคนที่อยู่ในนั้น

หลายคนอาจจะมองว่าทำไมคิ้วต่ำตอบอะไรแก่จัง เพราะด้วยวัย 25-26 เราผ่านอะไรมาเยอะมาก ผมเสียคุณแม่ไปตอนมหาวิทยาลัยปี 2 แล้วเราก็เจออุปสรรค เจอปัญหามาเยอะ คุณยายเสีย คุณพ่อป่วย เราเจอปัญหาที่มันหนักเกินที่จะรับได้มาแล้ว มันเลยทำให้เรามีหลักในการใช้ชีวิตที่ทำให้เราผ่านพ้นปัญหาไปได้ บางคนมาบอกผมว่าเครียดมาก เหนื่อยมาก ผมก็จะเล่าเรื่องชีวิตผมให้เขาฟังบ้าง แล้วพอฟังเสร็จ เขาก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขาเจออยู่ มันเบามาก ฉะนั้น ก็อย่าไปคิดมาก เดี๋ยวมันก็ผ่านไป


• นี่ก็คือเอกลักษณ์สำคัญของเพจเราเลยหรือเปล่า

ก็ส่วนหนึ่งครับ คือมุมมองของการเล่าเรื่อง ต่อให้เราจะเล่าเรื่องธรรมดาแค่ไหนมันก็จะมีกลิ่นของ “คิ้วต่ำ” ในเรื่องของมุมมอง เรื่องของคำพูด เหมือนเราจะจำเพื่อนสักคนได้ว่าวิธีการพูดมันเป็นแบบนี้ซึ่งคนก็จะจำได้ว่า “คิ้วต่ำ” มีวิธีการพูดแบบนี้

แต่ถ้าให้มองถึงจุดเด่นของตัวเอง น่าจะเป็นเรื่องของความธรรมดา เพราะ “คิ้วต่ำ” จะเล่าเรื่องธรรมดาให้น่าสนใจ อย่างเช่นว่า ถ้าเราเจอเพื่อนสองคน คนหนึ่งหล่อมาก ดูดีมาก กับอีกคนธรรมดามาก เราจะรู้สึกว่าเราจะสนิทกับคนที่ธรรมดามากกว่า อีกอย่าง “คิ้วต่ำ” ไม่ได้เหนือกว่าคนอ่าน คนอ่านไม่ได้อยู่เหนือกว่า “คิ้วต่ำ” เราอยู่เท่าๆ กัน บางที บางความคิดของ “คิ้วต่ำ” ที่เสนอออกไป คนอ่านจะรู้สึกว่าเขาคิดได้เหนือกว่าเราอีก หรืออย่างบางทีเขาก็จะสนับสนุนและเห็นด้วยกับความคิดนั้นๆ

ขณะที่ลายเส้นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่ง คือลายเส้นของเราอาจจะไม่ได้เพอร์เฟกต์ ไม่ได้สวย แต่มันกลับทำให้ทุกคนเห็นแล้วรู้ว่าเป็นคิ้วต่ำ ต่อให้เราเปลี่ยนมาเป็นสีไม้แล้ว ทุกคนก็ยังสังเกตได้ว่ามันคืองานของคิ้วต่ำ ด้วยตัวละครที่ไม่มีคิ้วหรือในรูปแบบของสีก็ตาม

• การเป็นคนเขียนหนังสือหรือบอกเล่าเรื่องราวให้แก่คนอื่นได้ฟังผ่านตัวหนังสือ ถือเป็นความฝันของเราเลยหรือเปล่า

(หัวเราะ) ตอนเด็กๆ ผมไม่เข้าใจอาชีพนักเขียนเลยนะครับ ไม่เข้าใจมันจะต้องทำงานอะไรยังไง ซึ่งอาชีพนี้ไม่ได้อยู่ในความฝันของเราเลย แต่การวาดภาพเป็นสิ่งที่เรากักตุนมาทั้งชีวิต เพราะตอนเด็กเราก็อยู่กับศิลปะ คุณพ่อชอบอ่านหนังสือการ์ตูน ชอบวาดรูป คุณแม่ก็ชอบอ่านหนังสือการ์ตูน มันน่าจะมีส่วนทำให้เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่อนุบาล และเราก็จะถูกปลูกฝังในลักษณะที่ว่า “เอ้า วาดรูปเป็น งั้นส่งเข้าประกวด” แล้วพอเข้ามัธยมปุ๊บ มันเป็นจุดเชื่อมต่อให้เราเลือกเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งผมคิดว่าถ้าเราเลือกเรียนวิทย์-คณิต เราไม่มีความสุขแน่ๆ เพราะมันเป็นตัวเลข ผมเลยค้นพบตัวเองว่าโอเค เราอยู่กับศิลปะ เรามีความสุข ตอนหลังมา เลยเรียนศิลปะแบบจริงจังเลยกลายเป็นการกักตุนศิลปะมาตลอดชีวิตอย่างนี้ครับ

• อย่างไรก็ดี ตอนนี้ได้เป็นนักเขียนที่มีงานรวมเล่มพอสมควรแล้ว สายตาในการมองอาชีพนักเขียนเปลี่ยนไปจากสมัยก่อนตอนเด็กๆ ไหม

ผมรู้สึกว่าเราเป็นนักเขียนและนักวาดประกอบชีวิตเราก็ไม่ได้อยู่แค่ปี สองปี เรามีสิทธิ์พัฒนาผลงาน ซึ่งต่อให้การพัฒนาไปข้างหน้ามันจะโดนด่าหรือโดนชม เราก็จะพัฒนา เราจะไม่ยอมยืนอยู่ที่เดิมแล้วตายอย่างแน่นอน เราขอเดินไปข้างหน้าดีกว่า เราก็แค่ปรับอารมณ์ ถ้ามองคำด่าแล้วรู้สึกแย่ ก็ไปมองคำชมให้ชื่นใจจะดีกว่า

• มองว่า อะไรที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับการจะเป็นนักเขียน

อาจจะเป็นพรสวรรค์ด้วยส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ สำหรับผมนะ การเป็นนักเขียนอาจจะไม่ต้องพึ่งพรสวรรค์โดยตรง เราต้องพึ่งใจรักมากกว่า อยากจะเล่ามากกว่า ซึ่งถ้ามีคนถามผมว่านักเขียนเก่งๆ เป็นยังไง ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้น ผมว่าการเป็นนักเขียนไม่จำเป็นต้องเก่งหรือมีพรสวรรค์ แค่เราอยากเป็นนักเขียนและมีเรื่องจะเล่า เรามีสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอดเราก็เป็นนักเขียนได้แล้วครับ

จริงๆ แล้ว ผมมองว่าการจะเป็นนักเขียนมันไม่ยากหรอกครับ แต่การจะเป็นนักเขียนให้นานได้ยังไงนี่สิมันยากกว่า ฉะนั้น พอมีพื้นที่ในการแสดงฝีมือ ได้มีหนังสือ เราก็ต้องพัฒนาฝีมือ รักษามันไว้ให้นานที่สุด อย่างผม ไม่ได้เรียนอักษรศาสตร์ ไม่ได้เรียนวิธีเขียนมาเลย เมื่อก่อนผมก็เคยคิดนะครับว่าการเขียนมันต้องใช้คำให้ดูสละสลวยหรือเปล่านะ ต้องเขียนอย่างนี้ ต้องยาวเท่านี้คนถึงจะเข้าใจ สุดท้ายพอได้มาเป็นนักเขียนเราเลยรู้สึกว่าถ้านักเขียนเขียนตามทฤษฎีเดียวกันหมด เราจะมีนักเขียนไปทำไมตั้งหลายคน

เพราะฉะนั้น ผมเลยมาคิดว่าวิธีการเขียนก็คือวิธีการเล่า มันเป็นแค่การถอดคำพูดจากปากไปใส่คำพูดที่เป็นตัวหนังสือแค่นั้นเองเพราะว่าเราคงไม่สามารถไปนั่งเล่าเรื่องเรื่องหนึ่งให้คนเป็นร้อยฟังได้ก็เลยต้องถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือเพื่อให้คนหนึ่งร้อยคนเอาหนังสือไปอ่านแทน ลองพูดให้เป็นตัวเรา เขียนให้เป็นตัวเรา เหมือนกับว่าเขียนกลอน ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องซีเรียสว่าจะเขียนออกมาไม่สละสลวย ขอแค่เขียนให้เป็นตัวเอง ลองเขียนไปเรื่อยๆ เขียนเยอะๆ แล้วก็ลองให้คนอื่นอ่านดู สมัยนี้ง่ายๆ เลยครับ อย่างการเขียนสเตตัสนั่นก็คือการเขียนแล้ว ฉะนั้น สื่อเราเยอะมาก อยากเขียนอะไรก็เขียนไป ยังไงก็มีคนอ่านอยู่แล้ว (ยิ้ม)

• นอกจากความอยากเขียน อยากถ่ายทอด มีอะไรอีกไหมที่คิดว่าจำเป็น

จังหวะและโอกาสก็สำคัญไม่น้อยกว่ากันครับ ผมเชื่อว่าทุกคนมีจังหวะของตัวเอง คนเรามันจะมีจังหวะหนึ่งที่เราจะต้องดัง มันต้องดี มันมีมาแน่นอนครับ คนเรามีจังหวะ มันไม่ได้มีครั้งเดียวในชีวิต เพราะมันสามารถมีได้หลายๆ ครั้ง และที่สำคัญ ยุคสมัยนี้มันเป็นยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทุกคนมีเวทีเท่ากันหมด ทุกคนมีพื้นที่แสดงความเป็นตัวตน ส่วนตัวผมต้องขอบคุณยุคสมัยที่ทำให้คนเห็นงานเราได้ง่ายขึ้น ฉะนั้น พอคนเห็นงานเราง่ายขึ้น เราก็จะได้แสดงความสามารถเต็มที่

• ตอนนี้มองว่าตนเองประสบความสำเร็จหรือยัง

ส่วนตัวผม ผมคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จตั้งแต่มีเพจและมีคนกดไลค์ 1 คนแล้วนะครับ (หัวเราะ) ประสบความสำเร็จของผมในที่นี้มีสองอย่างครับ มีเป้าหมายเล็กกับเป้าหมายใหญ่ ถามว่าเป้าหมายใหญ่ ประสบความสำเร็จหรือยัง มันก็ยังนะครับ เพราะเราอยากจะพัฒนางานเราให้ไกลต่อไปเรื่อยๆ เราอยากให้คนไทยมีความสุขกับงานของเรา อยากให้ต่างชาติได้เห็นงานเรา (ยิ้ม)



Profile

ชื่อ : อนุชิต คำน้อย
ชื่อเล่น : ปั๊ม
อาชีพ : นักเขียน, นักวาดภาพประกอบ
ไอดอล : ประภาส ชลศรานนท์, นิ้วกลม, มุนิน, เดอะดวง
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น