แม่ชีวัย 44 ปี “อานิ เชอยิง เดรอมา” (Ani Choying Drolma - Ani แปลว่า แม่ชี) เป็นทั้งซูเปอร์สตาร์นักร้อง และนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นขวัญใจของร็อคสตาร์ชื่อก้องโลกอย่าง “ทีน่า เทอร์เนอร์” รวมทั้งนักร้องนักดนตรีชั้นนำอีกมากมาย
เรื่องราวชีวิตของเธอเริ่มต้นจากความมืดมิด เธอเกิดเมื่อปี 1971 ในครอบครัวชาวทิเบตที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เมื่ออายุ 5 ปี เธอเริ่มถูกบิดาทุบตีทำร้ายร่างกายอย่างทารุณมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงจุดที่ต้องตัดสินใจหนีออกจากบ้าน เมื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึงขั้นที่บิดาพยายามใช้มีดแทงเธอขณะอายุ 13 ปี
“ฉันแค่ตัดสินใจว่า ไม่อยากทนสภาพเช่นนี้อีกต่อไปแล้ว และทางออกเดียวที่จะพาตัวเองให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานเช่นนั้น คือ ฉันจะไม่แต่งงาน และจะบวชชี” แม่ชีเชอยิง กล่าว
แล้วเด็กหญิงเชอยิงก็หนีมาบวชเป็นชีที่ Nagi Gompa ซึ่งเป็นสำนักชีนิกายนิงมะ ในพุทธศาสนาวัชรยาน ที่ตั้งอยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุ เธอได้เรียนหนังสือและฝึกการร้องเพลงสวด จากเจ้าอาวาส “ตุลกู เอิร์กเยน รินโปเช”
ด้วยพรสวรรค์ทางการร้องเพลงสวดอันโดดเด่น ทำให้แม่ชีเชอยิงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำสวดมนต์ภายในสำนักชี มีหน้าที่นำสวดมนต์ในพิธีกรรมต่างๆ
ในปี 1994 ชีวิตของแม่ชีเชอยิงผกผันอีกครั้ง เมื่อ “สตีฟ ทิบเบทส์” นักดนตรีชาวอเมริกันได้เข้าเยี่ยมสำนักชี Nagi Gompa และได้ฟังเธอร้องเพลงสวดมนต์ ครั้งนั้นสตีฟประทับใจในน้ำเสียงของแม่ชีเชอยิง จนลืมอัดเทปไว้ เขาจึงต้องตามไปบันทึกเทปขณะที่เธอร้องเพลงสวดมนต์ในวัดอื่น
“สตีฟได้ฟังฉันร้องเพลงสวดมนต์ เขาบันทึกเทปและนำกลับไปอเมริกา เพื่อมิกซ์เสียงดนตรีเข้าไป จากนั้นส่งเทปกลับมาให้พร้อมข้อเสนอว่า ฉันสนใจจะทำอัลบั้มเพลงสวดมนต์หรือไม่”
แม่ชีเชอยิงได้ขอคำปรึกษาจากเจ้าอาวาส ซึ่งได้แนะนำให้เธอตอบตกลง ด้วยเหตุผลว่า ใครก็ตามที่ได้ฟังเพลงสวดมนต์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ศรัทธาหรือไม่ก็ตาม ย่อมได้รับประโยชน์ถ้วนทั่ว
“สตีฟเป็นคนพาฉันออกไปสู่โลกกว้างในฐานะนักร้อง และด้วยคำอวยพรของท่านเจ้าอาวาส มีคนชอบเพลงที่ฉันร้องจริงๆ ฉันประหลาดใจมากที่ได้รู้ว่า ตัวเองได้กลายเป็นนักร้องไปแล้ว เพลงส่วนใหญ่ที่ฉันขับร้อง เป็นเพลงสวดมนต์หรือเพลงเพื่อการทำสมาธิ”
สตีฟและแม่ชีเชอยิงร่วมกันทำอัลบั้มเพลงสวดมนต์เพื่อการทำสมาธิ มีชื่อว่า “Cho” (เป็นคำทิเบต มีความหมายว่า “ตัดขาด” เป็นการฝึกทำสมาธิเข้มข้นแบบวัชรยาน ที่เน้นเรื่องการตัดขาดจากการยึดมั่นในตัวตน) โดยวางตลาดในปี 1997 และกลายเป็นอัลบั้มขายดีทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว แต่ทว่าชื่อเสียงอันโด่งดังมิอาจเปลี่ยนแปลงความตั้งใจของเธอได้
“ฉันไม่เคยตั้งเป้าว่า ตัวเองต้องเป็นอะไร แค่ทำตามที่หัวใจปรารถนา ด้วยเข้าใจและศรัทธาในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ฉันได้ใส่สิ่งใหม่ๆเข้าไป คือ ร้องเพลงเนปาลีสมัยใหม่ที่มีเนื้อหาทางพุทธศาสนา เพื่อเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์อันเป็นสัจธรรม แก่คนฟังในวงกว้าง”
เส้นทางเดินอันยาวไกลของแม่ชีเชอยิง ที่เริ่มต้นจากการร้องเพลงในพุทธศาสนา ทุกวันนี้เธอได้กลายเป็นแม่แบบของพลังผู้หญิงในประเทศเนปาลและทั่วเอเชีย เธอพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว จึงได้รับเชิญให้ไปพูดในที่ประชุมนานาชาติทั่วโลกเป็นประจำ
“เราทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย ต่างปฏิสนธิในครรภ์มารดาเหมือนๆกัน ได้รับการเอาใจใส่ ความปีติยินดี และบำรุงเลี้ยงอย่างเท่าเทียมกัน จนกระทั่งคลอดออกมา หลังจากนั้น ในสังคมที่มีผู้ชายเป็นผู้สร้าง ก็จะกำหนดบทบาทที่แตกต่างกันระหว่างเด็กชายและเด็กหญิง ซึ่งฉันเชื่อว่า นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะธรรมชาติไม่เคยลำเอียง
ฉันเชื่อมั่นในตัวเองที่จะเข้าถึงนิพพาน และสามารถช่วยเหลือคนอื่นๆได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดที่จะเชื่อเช่นนั้น ฉันไม่เชื่อในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นๆ แต่ชอบมองตัวเอง และพูดว่า ฉันมีศักยภาพและต้องทำให้สำเร็จ”
สิ่งที่กระตุ้นให้เธอเดินทางไปร้องเพลงทั่วโลก ไม่ใช่เพียงแค่อยู่แต่ในเนปาลอย่างเดียว คือ “เพลงที่ฉันร้องนั้น ไม่ใช่เพลงรักเศร้าๆ หรือมีเนื้อหาเกี่ยวกับทางโลก ฉันขับร้องเพลงเกี่ยวกับจิตวิญญาณ เพลงเพื่อการทำสมาธิ และธรรมะของพระพุทธองค์ ที่ใช้ภาษาง่ายๆ จุดมุ่งหมายหลักในการร้องเพลงของฉัน คือ การที่ฉันสามารถแบ่งปันคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้คนตามท้องถนนได้เข้าใจความหมายอย่างง่ายๆ เพราะอย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็จะรู้สึกเป็นสุข”
ระหว่างปี 1997-2011 แม่ชีเชอยิงร่วมกับสตีฟ ทิบเบทส์ ออกผลงานในรูปแบบซีดีจำนวน 12 ชุด และได้เดินทางไปเปิดการแสดงคอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกา ยุโรป อังกฤษ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และอีกหลายประเทศในเอเชีย สร้างรายได้จำนวนมากให้แก่เธอ จนสามารถทำความฝันของเธอให้เป็นจริง คือ การได้เห็นสตรีและเด็กหญิงมีโอกาสเรียนหนังสือ โดยการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กหญิงและสตรีวัยรุ่นจากพื้นที่ยากจนในเนปาล
“เงินที่ได้จากการแสดงคอนเสิร์ต ช่วยให้ฉันเริ่มต้นโครงการเพื่อการศึกษาแก่แม่ชีได้ แต่มันเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ยังจำเป็นต้องมีเงินช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ฉันยังคงร้องเพลงต่อไป เพราะมันทำให้รู้สึกว่า ตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น ฉันรู้สึกมีพลังและโชคดี ที่อย่างน้อยฉันสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ให้คนอื่นๆได้บ้าง”
ในปี 1998 แม่ชีเชอยิงได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสวัสดิภาพแม่ชีแห่งเนปาล (NWF) เพื่อดูแลด้านการแพทย์และการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมให้แก่บรรดาแม่ชี เพื่อพวกเธอจะได้นำความรู้ไปช่วยเหลือสังคมได้กว้างขึ้น โครงการสำคัญของ NWF ได้แก่ Arya Tara School ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่ก่อตั้งนอกกรุงกาฐมาณฑุ ในปี 2000 เพื่อให้การศึกษาแก่แม่ชีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ แม่ชีเชอยิงยังให้การสนับสนุนโครงการด้านมนุษยธรรมหลายแห่งในบ้านเกิด อาทิ Shree Tara Band ซึ่งเป็นวงดนตรีหญิงล้วนแห่งแรกของเนปาล การก่อสร้างโรงพยาบาลโรคไต ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานสงเคราะห์สุนัขจรจัด
ในปี 2014 แม่ชีเชอยิงได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตองค์การยูนิเซฟคนแรกประจำประเทศเนปาล ทำหน้าที่สนับสนุนการต่อต้านความรุนแรงในเด็กและสตรี
นี่คือเรื่องราวอันน่าประทับใจของแม่ชีเชอยิง ผู้ซึ่งไม่เพียงน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติจริง แต่ได้ทำตามเสียงหัวใจเรียกร้อง จนบรรลุผลสำเร็จอย่างงดงาม ดังคำพูดของเธอที่ว่า
“ฉันรู้ดีว่า บางครั้งมันเป็นไปไม่ได้ ที่จะขจัดทุกข์ของพวกเขาให้หมดไป แต่อย่างน้อยที่สุด ฉันก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย บุญสิตา)