วัดระฆังโฆษิตาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 250 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
พระอารามแห่งนี้ เดิมชื่อ “วัดบางหว้าใหญ่” เป็นวัดราษฎร์โบราณ ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับตั้งราชธานีขึ้นใหม่ คือ กรุงธนบุรี ได้ทรงยกวัดบางหว้าใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อพ.ศ. 2312 และโปรดให้ชำระพระไตรปิฎก หลังจากเสียกรุงและถูกเผาทำลายไปหมด โดยโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราช และโปรดให้อาราธนา “พระอาจารย์สี” วัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถแตกฉานในพระไตรปิฎก ทั้งเป็นผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ ซึ่งได้หลีกไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มาครองวัดบางหว้าใหญ่ ทรงตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช (นับเป็นปฐมสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และโปรดให้เป็นประธานชำระพระไตรปิฎก
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นค่าจ้างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน เแล้วโปรดให้นำไปถวายพระอารามหลวงทุกแห่ง นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระตำหนักและหอประทับนั่งของพระองค์ ที่ได้รื้อไปปลูกถวายไว้ที่วัดบางหว้าใหญ่ สมัยทรงพระยศเป็นพระราชวรินทร์ ยกขึ้นเป็นหอพระไตรปิฎก
ในช่วงเวลานั้น ทางวัดขุดพบระฆังที่มีเสียงไพเราะยิ่งนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงรับสั่งให้ขุดสระขึ้นบริเวณที่ขุดเจอระฆัง แล้วโปรดให้รื้อพระตำหนักและหอประทับนั่งมาปลูกลงในสระ แล้วทรงสร้างตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่ ประดิษฐานไว้ในหอนี้ด้วย
โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้อำนวยการจัดสร้างหอพระไตรปิฎก สันนิษฐานว่าลายรดน้ำและลายแกะสลักที่หอแห่งนี้ เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ กับครูช่างที่มาจากกรุงศรีอยุธยา
เมื่อการปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ โปรดให้จัดพระราชพิธีฉลองหอพระไตรปิฎก และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศล โปรดให้นำระฆังเสียงดีที่วัดขุดได้ ไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงสร้างหอระฆังจตุรมุขพร้อม ทั้งระฆัง 5 ลูก พระราชทานไว้แทน ประชาชนจึงเรียกกันว่า “วัดระฆัง” ตั้งแต่นั้นมา
ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ เนื่องจากไฟไหม้วัดระฆัง และขยายเขตวัดทางด้านทิศเหนือให้กว้างออกไป
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างตำหนักเก๋งหนึ่งหลังอยู่ทางทิศใต้ของวัด และเมื่อทรงผนวชแล้ว ได้เสด็จไปประทับจำพรรษาอยู่ที่ตำหนักแห่งนั้น
วัดระฆังเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโด่งดังมาถึงปัจจุบัน ด้วยมีผู้คนนับถือและศรัทธาใน “ขรัวโต” หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสรูปที่ 6 ซึ่งเป็นพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกและทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ โดยเฉพาะ “พระสมเด็จ” พระเครื่องที่ท่านสร้าง เป็นที่นิยมกันว่าศักดิ์สิทธิ์และล้ำค่ายิ่งนัก
มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสมณศักดิ์ที่พระธรรมกิตติ ให้แก่ “ขรัวโต” และโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆัง ครั้นเสร็จงานพระราชพิธีแล้ว ท่านก็ออกจากพระบรมมหาราชวังข้ามไปวัดระฆัง หอบเครื่องไทยธรรม ถือพัดยศและย่ามมาเอง ใครจะรับก็ไม่ยอมส่งให้ เที่ยวเดินไปรอบวัด ร้องบอกดังๆว่า “ในหลวงท่านให้ฉันมาเป็นสมภารวัดนี้จ้ะ” พวกพระเณรและคฤหัสถ์ชายหญิงที่มาคอยรับ ต่างก็เดินตามท่านไปเป็นขบวน เมื่อบอกกล่าวเขารอบวัดแล้ว ท่านจึงได้ขึ้นกุฏิ
สิ่งสำคัญในวัดระฆังมีมากมาย อาทิ
• พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 4 ศอกเศษ กล่าวกันว่าเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า “ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที” ด้วยเหตุนี้ จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก แด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และตั้งแต่นั้นมาก็ได้นามว่า “พระประธานยิ้มรับฟ้า”
• พระอุโบสถ หลังคาลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวย สลักเสลาอย่างสวยงาม หน้าบันจำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับลายกนกปิดทองอย่างประณีต บานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำปิดทอง มีรูประฆังเป็นเครื่องหมาย จิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติ ภาพทศชาติ ภาพสัตว์นรก ฝีมือของจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6
พระปรางค์องค์ใหญ่ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้สร้าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงยกย่องว่า เป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบที่สุดในประเทศไทย เป็นพระปรางค์แบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้น ที่งดงามมาก จนเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา
• พระเจดีย์ 3 องค์ เป็นเจดีย์ขนาดย่อมย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ทรงจอมแห ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ สร้างโดย กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี และกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์
• หอพระไตรปิฎก เป็นตำหนัก 3 หลังติดกัน ภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำปิดทอง 2 ตู้ เมื่อ พ.ศ. 2513ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์หอนี้ โดยนำไปประกอบขึ้นใหม่ตั้งไว้ที่บริเวณลานพระอุโบสถ ด้านตะวันตก นับเป็นปูชนียสถานชิ้นเอกของวัด ที่มีความสำคัญทางศิลปะและประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก
• พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) หลังคามุงกระเบื้องเคลือบติดคันทวยตามเสาอย่างสวยงาม หน้าบันทั้งสองด้านจำหลักรูปฉัตร 3 ชั้น ประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราช (สี)
• พระวิหารสมเด็จ ภายในประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระพุทธาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนียวงศ์) และสมเด็จพระพุฒาโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)
กาลเวลาที่ผ่านมากว่า 233 ปีเศษ นับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่งผลให้ศาสนสถานและสิ่งสำคัญต่างๆ ภายในวัด ชำรุดทรุดโทรมลง แต่จ้าอาวาส 12 รูปที่ดูแลปกครองมา ก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ และนำพาวัดให้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด ล่าสุด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดระฆังโฆษิตาราม โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2555 บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร ต่อด้วยพระอุโบสถ จนกระทั่งแล้วเสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. 2557 ยังผลให้พระอารามหลวงแห่งนี้คืนสู่ความสง่างามเฉกเช่นครั้งอดีตอีกวาระหนึ่ง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 176 สิงหาคม 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)