xs
xsm
sm
md
lg

ชวนคิดชวนทำ : 8 กลยุทธ์รับมือ “ความสูญเสีย” อย่างได้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นธรรมดาที่ความเศร้าโศกเสียใจมักเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง ยามที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง สัตว์เลี้ยงตัวโปรด ทรัพย์สินเงินทอง หรือแม้แต่สิ่งของที่มีคุณค่าต่อจิตใจ ซึ่งไม่สามารถเรียกคืนมาได้อีก

หลายคนรู้สึกปวดร้าว เจ็บลึก เอาแต่นั่งซึม ไม่พูดไม่จา ขณะที่บางคนอาจเสียศูนย์ จนเสียสติ กลายเป็นบ้าได้ง่ายๆ ชีวิตจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีความสูญเสียใดๆ ที่จะปราศจากความเจ็บปวดเลย และเมื่อเกิดเจ็บปวดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องรีบรักษา ให้บรรเทาเบาบางลง การรับมือกับความสูญเสียนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินเยียวยา ดังนี้

1. เผชิญหน้าและยอมรับความสูญเสีย
ภายหลังการสูญเสียครั้งสำคัญ บางคนรู้สึกทำใจไม่ได้ จึงหันเข้าหาพฤติกรรมที่เป็นอันตราย เช่น ใช้ยาเสพติด ดื่มเหล้า ฯลฯ เพื่อช่วยให้ลืมความทุกข์โศก ซึ่งมันก็ช่วยได้เพียงชั่วขณะ แต่จะส่งผลร้ายอย่างมหันต์ในเวลาต่อมา

การเก็บกดหรือหลีกหนีอารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวดนั้น เป็นการหลีกหนีความจริง ซึ่งไม่มีทางหนีพ้น เพราะในที่สุดความเศร้าก็จะกลับมาครอบงำ และอาจทำให้รู้สึกแย่หนักกว่าเดิม

อยากบอกว่า คุณไม่มีวันจะรู้สึกดีขึ้นได้เลย จนกว่าจะเลิกหนีและหันมาเผชิญหน้ากับมัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ยอมรับความสูญเสียให้ได้ และทำความเข้าใจว่า เมื่อมันเกิดขึ้น ย่อมรู้สึกเจ็บปวดเป็นธรรมดา แต่มันก็จะค่อยเบาบางและจางหายไปในที่สุด

ให้เวลาตัวเองเศร้าโศกเสียใจเพียง 1 สัปดาห์ ก็พอแล้ว เพราะหากนานเกินไป คุณก็อาจจะติดอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ และไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้เลย

2. ปลดปล่อยอารมณ์ปวดร้าว
เมื่อเผชิญหน้าความสูญเสีย แต่ยังไม่อาจยอมรับได้ในทันที ขอให้คุณปลดปล่อยความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจออกมาให้หมด บางคนอาจอยากทุบหมอน กรีดร้องเสียงดังในห้อง เพื่อระบายความปวดร้าวใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน ต้องเป็นการกระทำที่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น

จำไว้ว่า อย่าอายที่จะร้องไห้ ปล่อยโฮจนน้ำตานองหน้า แม้ว่าจะไม่เคยทำมาก่อนก็ตาม เพราะการได้ปลดปล่อยอารมณ์ด้านลบออกมาจนหมด จะทำให้คุณสบายใจขึ้นบ้าง และพอจะมองเห็นวิธีจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อก้าวผ่านมันไปให้ได้

3. แชร์ความรู้สึกกับคนอื่น
เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้น การได้พูดคุยเพื่อแชร์ความรู้สึกกับคนที่สนิทสนมและไว้วางใจ เช่น ญาติสนิท มิตรสหาย เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้ระบายความโศกเศร้าแล้ว บ่อยครั้งยังอาจได้แง่คิดดีๆมีประโยชน์จากผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน ช่วยให้คุณกลับคืนสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว

หรือหากไม่อยากพูดคุยกับใคร ก็เข้าห้องพระสวดมนต์ แล้วระบายความรู้สึกเจ็บปวดนี้ต่อหน้าพระพุทธรูป ที่จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ

4. อยู่ห่างคนที่ไม่เห็นอกเห็นใจ
ไม่ใช่ทุกคนที่อยู่รายล้อมคุณยามสูญเสีย จะมีความเห็นอกเห็นใจ และช่วยปลอบประโลมได้เสมอไป เพราะมีบางคนที่ชอบพูดว่า “มันก็แค่เรื่องเล็กน้อย, ฉันลืมได้เร็ว ถ้ามันเกิดกับฉัน, ฉันว่าไม่เห็นจะน่าเสียใจเลย” ฯลฯ เพราะคำพูดเช่นนี้อาจซ้ำเติมให้คุณรู้สึกแย่ลงกว่าเดิม

ดังนั้น อย่าไปใส่ใจคำพูดพวกนั้น และถอยห่างจากพวกเขาไปก่อน แม้ว่าอาจมีเพื่อนสนิทของคุณรวมอยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วยก็ตาม

5. อย่าจมอยู่กับความรู้สึกผิด
อย่าปล่อยตัวเองให้จมปลักอยู่กับความรู้สึกผิดและโทษตัวเองซ้ำๆซากๆ เช่น เมื่อใครบางคนตายจากไป คุณอาจรู้สึกผิด และย้ำคิดว่า “ถ้าฉันดูแลให้ดี เขาก็คงไม่ตายเร็วอย่างนี้”, “ฉันน่าจะทำดีกับเขามากกว่านี้” “ทำไมฉันไม่เคยฟังเขาเลย ว่าเขาเจ็บปวดตรงไหน” “ทำไม....ฯลฯ

เพราะทั้งหมดนี้ มันไม่ใช่ความผิดของคุณที่ต้องสูญเสียคนที่รักไป และที่สำคัญคือ คุณไม่อาจหวนกลับไปเปลี่ยนแปลงเรื่องราวในอดีตได้ ดังนั้น แทนที่จะมัวแต่คิดตอกย้ำว่า ทำไมไม่ทำโน่นนี่นั่น ก็ขอให้หันมาทำในสิ่งที่สามารถทำได้ในปัจจุบันจะดีกว่า นั่นคือการปรับอารมณ์ให้เป็นปกติโดยเร็ว

6. เก็บสิ่งของเตือนความทรงจำ
ความทรงจำเป็นสิ่งมีค่า คนหรือสัตว์เลี้ยงที่จากเราไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะไม่อยู่ในความทรงจำของเราอีกต่อไป เพราะมิตรภาพ ความรัก และความผูกพันที่เคยมีให้กัน ยังคงอยู่ในใจเราเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งของที่เตือนความทรงจำเกี่ยวกับเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ของใช้ส่วนตัว ขอแนะนำให้เก็บไว้ในที่ลับตาจะดีกว่า เพราะการเห็นมันอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่คุณยังทำใจไม่ได้ จะเป็นการย้ำเตือนการสูญเสียให้คุณเศร้าโศกไปอีกนาน

ต่อเมื่อเวลาผ่านไป และคุณเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว ยามใดที่คุณนึกถึงพวกเขา และอยากสัมผัสความทรงจำดีๆในอดีต ก็หยิบออกมาดูได้เสมอ แล้วคุณจะรู้สึกว่า พวกเขายังอยู่ใกล้ๆนี่เอง

7. ปรึกษาจิตแพทย์
สำหรับบางคนที่ไม่สามารถรับมือกับความสูญเสียครั้งใหญ่ด้วยตัวเองได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปพบจิตแพทย์ ก่อนที่จะสายเกินไป

การไปพบจิตแพทย์ ไม่ได้หมายความว่าคุณกลายเป็นคนอ่อนแอ น่าสงสาร หรือเป็นโรคจิต ตรงกันข้ามกลับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ เพราะมันชี้ให้เห็นว่า คุณต้องการเอาชนะความเศร้าโศก เพื่อให้ชีวิตนี้ได้เดินหน้าต่อไปอย่างมีจุดหมาย

8. อ่านหนังสือธรรมะ
สุดท้าย วิธีเยียวยาจิตใจโดยใช้ธรรมโอสถ ด้วยการหาหนังสือธรรมะมาอ่านสักเล่ม เพราะหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอนนี้ จะช่วยคลายทุกข์โศกได้

เมื่อตระหนักรู้ว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง ไม่พลัดพรากจากกันวันนี้ ก็ต้องจากกันในวันหน้า เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ จะทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง ไม่ยึดมั่น ถือมั่น และปล่อยวาง อย่างไม่ประมาท ได้ในที่สุด

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย ประกายรุ้ง)
กำลังโหลดความคิดเห็น