สังกะสี (Zinc) เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เป็นตัวช่วยควบคุมให้กระบวนการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการเกิดปฏิกิริยาภายในร่างกายเกือบทุกชนิดต้องการสังกะสีเป็นส่วนประกอบจึงจะทำหน้าที่ได้ดี และคอยช่วยซ่อมเสริมระบบเอนไซม์และเซลล์ต่างๆ
หากขาดแร่ธาตุสังกะสี จะทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติ สังกะสีราว 90 % อยู่ที่กระดูกและกล้ามเนื้อ ที่เหลือ 10 % อยู่ที่ ตับอ่อน ตับ และเลือด ปริมาณความต้องการสังกะสีของแต่ละคนนั้น แตกต่างกันตามเพศ วัย และภาวะของร่างกาย ดังนี้
• อายุน้อยกว่า 1 ปี 3 – 5 มิลลิกรัม/วัน
• อายุ 1 –10 ปี 10 มิลลิกรัม/วัน
• อายุ 11 ปีขึ้นไป 15 มิลลิกรัม/วัน
• สตรีในระยะตั้งครรภ์ 20 – 25 มิลลิกรัม/วัน
• สตรีในระยะให้นมบุตร 25 – 30 มิลลิกรัม/วัน
ประโยชน์ของสังกะสีมีมากมาย ได้แก่
• ช่วยการกระตุ้นการเติบโต การพัฒนาส่วนสูง น้ำหนักและกระดูกในทารก เด็ก และวัยรุ่น
• เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย
• ป้องกันต่อมลูกหมากโต และยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก
• ป้องกันการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ
• ช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วยและบรรเทาอาการของโรคหวัด
• ช่วยกระตุ้นการรับรู้รส กลิ่น และความรู้สึกอยากอาหาร ช่วยรักษาโรคคลั่งผอม( anorexia)
• ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
• ช่วยรักษาและป้องกันการเป็นหมันในผู้ชาย
• ช่วยรักษาสิว
• บำรุงสุขภาพเส้นผม ป้องกันผมร่วง แตกปลาย ผมลีบแห้ง ผมหงอกก่อนวัย และรังแค
• ลดอาการอักเสบและช่วยรักษาโรครูมาตอยด์อาไทรลิส
• ช่วยรักษาปัญหาระดูผิดปกติและบรรเทาอาการปวดเกร็งอย่างผิดปกติของมดลูกก่อนมีประจำเดือน
• ช่วยกระตุ้นการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิว
• ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของเนื้อเยื่อผิวหนัง ที่เกิดจากผิวไหม้แดด แผลพุพอง และโรคเหงือกบางชนิด
• ป้องกันโรคตาบอดกลางคืนและต้อกระจก
• ช่วยปกป้องระบบประสาท
แม้ว่าสังกะสีจะมีประโยชน์มาก แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไปในแต่ละวัน ก็จะเกิดโทษกับร่างกาย อย่างเช่นการช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งหากได้รับเกินกว่า 150 มิลลิกรัม/วัน อาจไปขัดขวางการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้
เพราะฉะนั้น ควรบริโภคอาหารที่ให้แร่ธาตุสังกะสี ในปริมาณที่พอเพียงเหมาะสมต่อร่างกาย จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากมาย
สำหรับแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่มีปริมาณสังกะสีสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเล โดยเฉพาะหอยนางรม อุดมด้วยแร่ธาตุสังกะสี เมล็ดธัญพืชก็มีมาก ส่วนผักผลไม้แทบไม่มีปริมาณสังกะสีเลย
หอยนางรม : มีธาตุสังกะสี 75 มก./100 กรัม
เมล็ดแตงโม : มีธาตุสังกะสี 10 มก./100 กรัม
เมล็ดงา : มีธาตุสังกะสี 7.75 มก./100 กรัม
เมล็ดฟักทอง : มีธาตุสังกะสี 7.81 มก./100 กรัม
ไข่แดง : มีธาตุสังกะสี 4.93 มก./100 กรัม
เนื้อวัว : มีธาตุสังกะสี 4.18 มก./100 กรัม
ถั่วแดง : ธาตุสังกะสี 2.79 มก./100 กรัม
ข้าวกล้อง : มีธาตุสังกะสี 2.02 มก./100 กรัม
มะม่วงหิมพานต์ : มีธาตุสังกะสี 5.35 มก./100 กรัม
เห็ด : มีธาตุสังกะสี 7.66 มก./100 กรัม
เนื้อหมู : มีธาตุสังกะสี 6.72 มก./100 กรัม
ตับ : มีธาตุสังกะสี 4–7 มก./100 กรัม
ถั่วลิสง : มีธาตุสังกะสี 3.27 มก./100 กรัม
ไก่ : มีธาตุสังกะสี 3.09 มก./100 กรัม
ปู : มีธาตุสังกะสี 2.8 มก./100 กรัม
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย ปุยฝ้าย)