xs
xsm
sm
md
lg

ปุจฉา-วิสัชนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กายเจ็บป่วย ใจเศร้าหมอง จะระงับได้อย่างไร
กายเจ็บป่วย ใจเศร้าหมอง จะระงับได้อย่างไร

ปุจฉา :
มีคำถามจะนมัสการเรียนถามหลวงปู่ข้อหนึ่งค่ะ คือดิฉันเชื่อว่าจิตกับใจแยกจากกันได้จริง (ไม่ใช่ตอนตาย หมายถึงตอนที่ยังมีลมหายใจอยู่) ทำได้อย่างไร เช่น เวลาที่กายเจ็บป่วย แล้วใจก็เศร้าหมอง เราจะมีทางระงับได้อย่างไร เพื่อไม่ให้กายเป็นนายของใจ ขอบคุณค่ะ

วิสัชนา :
จริงๆแล้วคำถามค่อนข้างจะสับสน แต่ก่อนที่จะมาพูดถึงเรื่องจิตกับใจแยกกันได้จริงหรือไม่ หลายคนอาจจะสงสัยว่าอะไรคือจิต และอะไรคือใจ

จิตในภาษาธรรมะ เขาเรียกมันเป็นสภาวธรรม จิตนี้เป็นสภาวธรรม ไม่มีรูปร่าง แต่ต้องการที่อยู่ ธรรมชาติของจิตคือมีความซึมสิง ซึมทราบ มีตัวรู้ เมื่อจิตไม่มีรูปร่าง แต่ต้องการที่อยู่ มีคุณสมบัติคือรับรู้อารมณ์ รับรู้สภาวธรรม ที่อยู่ของจิตก็คือกายนี้

ส่วนใจ หรือภาษาบาลี หรือภาษาวิชาการศาสนา เขาเรียกว่า “หะทะยัง” หรือหัวใจ มีสัณฐานกลมเหมือนดอกบัวตูม ใหญ่เล็กเท่ากับกำปั้นของผู้เป็นเจ้าของใจนั้น ใจนี้มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เหมือนโรงงานสูบน้ำ

เพราะฉะนั้น จิตอิงอาศัยกายและใจนี้ โดยภาษาธรรมะแล้ว จิตนี้เปรียบดั่งพลังงาน มีอำนาจเหนือการควบคุมของสมองสำหรับผู้ไม่ได้รับการฝึกปรือ แต่ถ้าฝึกปรือแล้ว ก็สามารถควบคุมจิตนี้ให้ดำรงตั้งมั่น หรือแยกออกจากกายและใจนี้ได้

การควบคุมหรือการฝึกปรือนั้น ก็ได้มาจากการเจริญสติและทำให้สติตั้งมั่น เมื่อสติตั้งมั่นอยู่ในจิตนี้แล้ว เราก็จะควบคุมจิตนี้ได้ ไม่ให้รับความรู้สึกจากเวทนาที่ปรากฏทางใจ หรือเวทนาที่ปรากฏทางกาย

คำถามที่ถามว่า ทำอย่างไรที่จะแยกจิตออกจากใจ ก็คือต้องฝึก ต้องมีสติ ฝึกให้จิตนี้ปรากฏสติทุกดวงที่เกิดดับ จนเป็นความชำนาญ สามารถแยกจิตออกจากใจได้ เมื่อจิตออกจากใจก็คือเหมือนกับจิตที่ออกจากกาย กายตรงไหนที่เป็นทุกข์เดือดร้อน เช่น ปวดขา ปวดมือ ปวดหัว ปวดท้อง อาการปวดเป็นเวทนา เมื่อจิตนี้สามารถแยกออกจากใจได้ ก็คือไม่รับรู้อารมณ์ที่ปรากฏขึ้น เวทนานั้นก็จะไม่มีอำนาจ คือจะไม่มีอำนาจครอบคลุมกายนี้

มีเรื่องอยากจะบอกคุณอีกนิดหนึ่งว่า โดยธรรมชาติของกาย มีสมองเป็นผู้ควบคุมการทำงานของกาย มีใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง มีจิตเป็นผู้ควบคุมการทำงานของสมอง ใจ กาย จิตจะทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ในและนอกกายนี้ เมื่อจิตดีแล้ว กายนี้ก็ย่อมไม่มีอิทธิพลต่อจิต

ขอวิธีให้เกิดโยนิโสมนสิการ

ปุจฉา :
กราบเรียนพระคุณเจ้าหลวงปู่พุทธะอิสระที่เคารพ กระผมมีปัญหาอยากจะกราบเรียนถามท่านว่า จะมีวิธีการทำอย่างไรให้โยนิโสมนสิการ เกิดขึ้นในตัวเราได้บ้าง กราบขอบพระคุณมากครับ

วิสัชนา :
โยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วน เรื่องนี้มันเป็นปัญหาของแต่ละบุคคลเหมือนกัน คนบางคนมีจิตอันหยาบ การพิจารณาก็คงไม่ละเอียด คนบางคนมีจิตอันละเอียด ก็จะพิจารณาได้ละเอียด

การรู้จักพิจารณาใคร่ครวญสิ่งแวดล้อมสรรพชีวิตและสิ่งที่ตัวเองมี มันต้องเริ่มมาจากการฝึกสติ ฝึกให้มาก ทำให้สติปรากฏ แล้วความใคร่ครวญพิจารณา พินิจพิเคราะห์ก็จะอุบัติขึ้นตามมา

แค่ชี้ให้เขาฆ่า จะบาปมั้ย

ปุจฉา :
เรียนหลวงปู่ที่เคารพ ผมรู้ว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นเป็นบาป ผิดศีลข้อที่ 1 แต่ว่าถ้าหากเราไม่ได้เป็นคนฆ่าเอง อย่างเช่นเราไปร้านอาหารที่ขายอาหารทะเล เขาบอกว่ามีกุ้ง ปลา ปูม้าเป็นๆให้เลือกได้ตามใจชอบ แล้วก็มีคนมาเลือกมาชี้อเอาปลาเอาปูตัวนั้นตัวนี้ ให้ทางร้านไปทำอาหารตามที่ต้องการ

ผมเลยอยากจะรู้ว่า การที่คนกินปูปลาที่ไปชี้ไปเลือกเอาอย่างนั้น จะเป็นบาปหรือไม่ เพราะไม่ได้ฆ่าสัตว์ด้วยตัวเอง ผมเองก็เคยทำอย่างนี้เหมือนกัน แต่พอมีคนบอกว่าบาป ผมก็เลยไม่ทำอีก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าบาปจริงๆหรือไม่ หลวงปู่โปรดชี้แนะด้วยครับ

วิสัชนา :
ถ้ากินโดยไม่มีเจตนาไปชี้ไปสั่งให้เขาฆ่า ก็ไม่เป็นไร บาปมันเกิดที่การฆ่า ไม่ได้เกิดที่การกิน ถ้าคุณไม่ใช่เป็นคนฆ่า หรือชี้ให้ฆ่า บาปก็ไม่ได้อยู่ที่คุณ ต่อเมื่อใดที่คุณทำอย่างที่ว่ามา บาปก็จะอยู่ที่คุณด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)
ขอวิธีให้เกิดโยนิโสมนสิการ
แค่ชี้ให้เขาฆ่า จะบาปมั้ย
กำลังโหลดความคิดเห็น