xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีคนแก่เลี่ยง"สมองเสื่อม-ซึมเศร้า"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เผยผู้สูงอายุ เสี่ยง "สมองเสื่อม-ซึมเศร้า" จิตแพทย์แนะวิธีป้องกันง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ กินอาหารมีประโยชน์ ปรับความคิด อารมณ์เหมาะสม ไม่ดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ ช่วยยับยั้งการเสื่อมของเซลล์สมอง จี้คนดูใกล้อย่าตอกย้ำคำว่า "แก่" เน้นจัดกิจกรรมครอบครัว

นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิต ที่ 11 กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจของสถาบันสุขภาพทั่วโลกสะท้อนข้อมูลใกล้เคียงกันว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญในผู้สูงอายุคือ โรคสมองเสื่อม และโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมโอกาสเกิดจะสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยผู้ที่มีอายุ 65-75 ปี พบประมาณ 5-10% ส่วนอายุ 85 ปีขึ้นไปพบสูงถึง 40-50% ส่วนใหญ่จะเป็นโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ พบสูงถึง 70% รองลงมาคือโรคสมองเสื่อมจากอุบัติเหตุเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ประมาณ 15-20% สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ มักมีอาการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เริ่มจากสูญเสียความจำในเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ถามคำถามเดิมซ้ำๆ วางของทิ้งไว้แล้วลืม เป็นต้น ขณะที่ความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตยังดีอยู่มาก จากนั้นอาการจะปรากฏชัดมากขึ้นตามความเสื่อมของเซลล์สมอง ทำให้เกิดภาวะสับสน หงุดหงิดง่าย อาจมีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว หากเป็นรุนแรงอาจมีอาการหวาดระแวง หลงผิดหรือหูแว่วประสาทหลอนได้

"การรักษาถือว่ามีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแนวทางการรักษาด้วยยามี 2 แบบ คือ 1.การรักษาที่ต้นเหตุ โดยการได้รับยาต้านสมองเสื่อม ได้แก่ โดเนเพซิล (donepezil) กาแลนทามีน (galantamine) ไรวาสติกมีน( rivastigmine) หรือ เมแมนทีน(memantine) ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายของยากลุ่มนี้สูงมาก และ 2.การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น อาการนอนไม่หลับ ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย หลงผิด หวาดระแวงหรือหูแว่วประสาทหลอน ก็จะได้รับยารักษาอาการ นอกเหนือจากการรักษาด้วยยาแล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลทางจิตสังคมด้วย เช่น โปรแกรมกระตุ้นและฟื้นฟูการทำงานของสมอง โปรแกรมการเตรียมพร้อมผู้ดูแลในการจัดการอาการผู้ป่วยสมองเสื่อม เป็นต้น" ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 กล่าว

นพ.ธิติพันธ์ กล่าวว่า ส่วนโรคซึมเศร้าพบสูง 25-50% ของผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงคือ มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง โรคหัวใจ โรคไต ไม่มีหรือสูญเสียคู่สมรส ระดับเศรษฐานะไม่ดี และขาดแหล่งประคับประคองทางสังคม เช่น ต้องใช้ชีวิตเพียงลำพัง ไม่มีเพื่อนสนิท เป็นต้น อาการของโรคซึมเศร้าคือ เบื่อหน่ายท้อแท้ รู้สึกไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า กระสับกระส่ายไม่เป็นสุข หรือไม่รู้สึกสนุกสนานกับกิจกรรมที่เคยชอบ สมาธิความจำแย่ลง อ่อนเพลีย รูปแบบการรับประทานอาหารและการนอนเปลี่ยนไป หากอาการรุนแรงจะมีความคิดด้านลบมาก รู้สึกไร้ค่าสิ้นหวังและมีความคิดฆ่าตัวตายได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงตั้งแต่ 9 เดือน- 2 ปี โดยใช้ยาต้านเศร้าเป็นยาหลัก ร่วมกับการให้คำปรึกษา เน้นปรับกระบวนความคิดให้เป็นบวก และการปรับสัมพันธภาพกับบุคคลใกล้ชิดให้ดีขึ้น

“การป้องกันทั้ง 2 โรค ผู้สูงอายุจะต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ ปรับอารมณ์และความเครียดอย่างเหมาะสม ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า จะเป็นการส่งเสริมการทำงานของสมอง ปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง รวมไปถึงยับยั้งการเสื่อมของเซลล์สมอง ถือเป็นวัคซีนในการป้องกันโรคทั้งสองอย่างดี ส่วนผู้ดูแลควรกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติตามศักยภาพ อย่าให้คำว่า สูงอายุมาเป็นข้อจำกัด พยายามพูดคุยสื่อสารทางบวก และจัดกิจกรรมครอบครัว เพื่อให้ผู้สูงวัยได้มีโอกาสฟื้นฟูสมองและกระชับความสัมพันธ์กับลูกหลานมากขึ้น”นพ.ธิติพันธ์ กล่าว

** คนแก่ห่วงลูกหลานติดยา

ด้านนิด้าโพล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผู้สูงอายุไทยกับคนรุ่นใหม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 - 9 เม.ย. 58 จากผู้สูงอายุไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับทัศนคติของผู้สูงอายุที่มีต่อคนรุ่นใหม่ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.36 เป็นห่วงคนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 18.48 ระบุว่า ไม่เป็นห่วง เฉย ๆ ร้อยละ 16.08 ระบุว่า เป็นห่วงเรื่องการศึกษา ร้อยละ 8.80 ระบุว่า เป็นห่วงเรื่องการมีงานทำ ร้อยละ 4.88 ระบุว่า เป็นห่วงเรื่องศีลธรรม ร้อยละ 4.40 ระบุว่า เป็นห่วงเรื่องการคบเพื่อน ร้อยละ 3.36 ระบุว่า เป็นห่วงเรื่องการใช้เทคโนโลยี วัตถุนิยม กระแสแฟชั่น ร้อยละ 1.76 ระบุว่า เป็นห่วงเรื่องการพูดจา การมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน และร้อยละ 6.88 ระบุว่า เป็นห่วงเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ ความปลอดภัย สุขภาพ การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ การทะเลาะวิวาท ความซื่อสัตย์ เพศ ความรักและการแสดงออก และการใช้จ่ายเงิน

เมื่อถามถึงการได้รับปฏิบัติจากคนรุ่นใหม่ รวมถึงลูกหลาน พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.16 ระบุว่า เป็นการดูแลเอาใจใส่ รองลงมา ร้อยละ 58.48 ระบุว่า คนรุ่นใหม่ ลูกหลาน ให้ความเชื่อฟัง เป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 49.68 ระบุว่า ให้ความเคารพรัก เป็นปูชนียบุคคล ร้อยละ 4.16 ระบุว่า ห่างเหิน ไม่ใส่ใจในความเป็นอยู่ ร้อยละ 3.76 ระบุว่า ขัดแย้ง โต้เถียง และร้อยละ 3.44 ระบุว่า ไม่เคยได้รับการปฏิบัติแต่อย่างใด (ไม่เคยยุ่งเกี่ยวเลย) สำหรับความคาดหวัง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.72 ระบุว่า ไม่คาดหวังสิ่งใดๆ เพราะส่วนใหญ่ บุตรหลานเป็นผู้ใหญ่ สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว รองลงมา ร้อยละ 30.32 ระบุว่า เป็นการให้ความเคารพรัก/เชื่อฟัง ร้อยละ 19.12 ระบุว่า เป็นการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ตัวเงิน ส่วนความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับลูกหลาน พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.96 ระบุว่า พึงพอใจมาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น