xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : PK จงศรัทธาด้วยปัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“PK” ภาพยนตร์อินเดียชื่อสั้นๆเรื่องนี้ ที่มีชื่อไทยว่า “ผู้ชายปาฏิหาริย์” เป็นหนังที่ทำเงินถล่มทลายในประเทศบ้านเกิด และเข้ามาฉายในเมืองไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

หนังเปิดเรื่องด้วยยานอวกาศจากนอกโลก เดินทางมาเยือนเมืองชนบทแห่งหนึ่งในอินเดีย มนุษย์ต่างดาวตนหนึ่ง เดินตัวเปล่าเปลือย มีเพียงรีโมทห้อยคอใช้สื่อสารกับยานอวกาศ แต่ด้วยรีโมทคล้ายกับสร้อยคอที่ตรงกลางคืออัญมณีสีเขียวมรกต แถมยังมีความสุกใสส่องแสงแวววาวอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านผู้ละโมภคนหนึ่งเห็นเข้า จึงคว้าสร้อยคอเส้นนั้นวิ่งหนีขึ้นรถไฟไป

ในเวลาไม่แตกต่างกันนัก ที่ประเทศเบลเยี่ยม นักศึกษาสาวชาวอินเดียนามว่า “Jaggu” จะซื้อตั๋วเพื่อชมกวีคนโปรดที่มาแสดงในยุโรป แต่ก็โดนโก่งราคาจากคนขายตั๋วผี ดังนั้น “Sarfraz” หนุ่มหล่อคมเข้ม ซึ่งต้องการเข้าไปชมเช่นกัน จึงเสนอความคิดว่า แชร์เงินค่าตั๋ว แล้วเข้าไปดูกันคนละครึ่ง แต่ท้ายที่สุดทั้งคู่ก็ผิดหวัง เพราะโดนตาแก่คนหนึ่งตัดหน้าคว้าตั๋วใบสุดท้ายไป

Jaggu และ Sarfraz จึงได้นั่งคุยแลกเปลี่ยนรสนิยมด้านกวี ความคิดความอ่านต่างๆ ซึ่งทั้งคู่ก็ดูจะถูกใจกันอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อชายหนุ่มบอกว่า เขาไม่ใช่คนอินเดีย เป็นชาวปากีสถาน ประเทศซึ่งไม่ค่อยลงรอยกับอินเดียนัก จึงเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์คล้ายจะจบลง แต่เพราะทั้งคู่มีความคิดและนิสัยใจคอที่เข้ากันได้ วันเวลาก็ทำให้หนุ่มสาวใจอ่อน ฝ่ากำแพงเรื่องเชื้อชาติ กลายเป็นคู่รักกันในที่สุด

เรื่องราวความรักของคนสองชาติ ไม่ใช่เรื่องง่าย หญิงสาวรู้ว่ามีอุปสรรคขนาดใหญ่รอคอยอยู่ นั่นคือ “ความเชื่อ” ของครอบครัว ที่พ่อของเธอศรัทธา “อาจารย์” ท่านหนึ่ง ซึ่งเปรียบเสมือน “เจ้าลัทธิ” และเมื่อเรื่องนี้รู้ถึงหูพ่อ เขาจึงรีบไปปรึกษาอาจารย์ทันที เจ้าลัทธิทำนายว่า หนุ่มปากีสถานจะหลอกและทิ้งเธอไปแน่นอน แต่หญิงสาวไม่เชื่อถืออาจารย์ผู้นี้อยู่แล้ว เธอจึงตัดสินใจบอกแฟนหนุ่มว่า ขอให้มาเข้าพิธีแต่งงานในวันรุ่งขึ้น เพื่อพิสูจน์ว่าคำทำนายไร้สาระ

รุ่งเช้าหญิงสาวมาคอยชายคนรักที่โบสถ์ แต่แล้วก็มีเด็กชายคนหนึ่งนำจดหมายมาให้ซึ่งมีข้อความสั้นๆ ปฏิเสธการแต่งงาน เธอผิดหวังมาก จึงตัดสินใจกลับไปทำงานยังประเทศบ้านเกิดทันที

เมื่อหญิงสาวกลับมาใช้ชีวิตในกรุงนิวเดลี งานนักข่าวที่เธอทำนั้นแสนจะน่าเบื่อ เพราะหัวหน้าให้ทำแต่ข่าวที่ไร้สาระ แม้เธออยากจะทำข่าวเจาะลึกเกี่ยวกับเจ้าลัทธิ แต่หัวหน้าปฏิเสธ เพราะเคยโดนสาวกลัทธิดังกล่าวทำร้ายมาแล้ว กระทั่งวันหนึ่ง หญิงสาวได้พบผู้ชายที่มีพฤติกรรมแปลกๆ ซึ่งคนทั่วไปคิดว่าเขาเป็นคนขี้เมา จึงเรียกเขาว่า PK (ย่อมาจากคำว่าpee-kay ในภาษาฮินดี แปลว่า ขี้เมา) กำลังแจกใบปลิวที่มีใจความว่า ตามหาเทพเจ้า และพระเจ้าองค์ต่างๆ

เธอจึงได้ติดตามความเคลื่อนไหวของชายคนนี้ จนกระทั่งมีโอกาสได้คุยกันจริงๆจังๆ ... และเรื่องราวจากปากของชายหนุ่มก็เริ่มต้นขึ้น

เขาบอกว่าเป็นมนุษย์ต่างดาว เดินทางมาสำรวจวัฒนธรรมและชีวิตบนโลก แต่วันแรกก็โดนมนุษย์โลกขโมยรีโมทยานอวกาศหนีไป เขาจึงต้องหาใครสักคนที่จะ “จับมือได้นานๆ” เพื่อโอนถ่ายข้อมูลด้านภาษาของมนุษย์ให้เขาพูดกับมนุษย์ได้ แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย จนกระทั่งเขาโดนรถของ “Bhairon” เศรษฐีบ้านนอกคนหนึ่ง ชนจนบาดเจ็บ

ตอนแรกเศรษฐีหนุ่มตั้งใจว่าจะปล่อยมนุษย์ไร้ชื่อคนนี้ไว้ที่โรงพยาบาล เพราะคิดว่าที่เขาไม่พูดจา คงเพราะความจำเสื่อม แต่สุดท้ายเขาก็รับผิดชอบด้วยการนำมาเลี้ยงดูเสมือนเพื่อนและน้องชายคนหนึ่ง แต่น้องชายผู้นี้ของเขาชอบไล่จับมือชาวบ้าน จนท้ายที่สุด Bhairon เข้าใจว่า คงเป็นเหมือนหนุ่มๆทั่วไป ที่อยากสัมผัสใกล้ชิดหญิงสาว จึงพาไปหาหญิงบริการ

แต่มนุษย์ต่างดาวไม่ได้สนใจเรื่องกามารมณ์ เขาได้แต่นั่งจับมือหญิงบริการอย่างยาวนาน ทำให้การถ่ายทอดวัฒนธรรมทางภาษาสมบูรณ์ เขาจึงสามารถสื่อสารด้วยภาษามนุษย์ได้ เขาจึงกล่าวอำลา Bhairon เพื่อออกตามหาสร้อยคอรีโมท แล้วจุดเริ่มต้นเรื่องราววุ่นๆก็เกิดขึ้น เพราะเมื่อไปตามสถานที่สำคัญในศาสนาต่างๆ เขามักเห็นพิธีกรรมสารพัดอย่าง ทั้งการกราบไหว้บูชา จ่ายเงินบริจาค ก่อนจะอธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์

มนุษย์ต่างดาวจึงสรุปเอาว่า ถ้าบริจาคอะไรมากๆ ก็คงมีโอกาสเจอเทพเจ้า เจอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แบบตัวเป็นๆ ซึ่งจะช่วยเขาหารีโมทได้ เขาจึงลองเข้าไปพูดคุย บริจาค อุทิศตนให้แทบทุกศาสนา ทุกความเชื่อ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เจอเทพเจ้าสักองค์ จนกระทั่งเดินทางมาถึงเมืองหลวง แล้วก็รู้ว่า “รีโมทยานอวกาศ” ได้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ที่เจ้าลัทธินำมากล่าวอ้างให้คนศรัทธา

หลังจากหญิงสาวฟังเรื่องราวจบลง แม้ว่าจะเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่การบอกว่าตนเองเป็นมนุษย์จากนอกโลก ทำให้เธอคิดว่า หนุ่มคนนี้คงเสียสติ แต่ในที่สุดหญิงสาวก็พิสูจน์ได้ว่า เขาไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาจริงๆ ด้วยความเป็นคนในวงการข่าว แถมยังต่อต้านเจ้าลัทธิ ที่อาศัยศรัทธาของผู้คนให้มาบริจาคเงินทองมากมาย เธอจึงคิดว่า หากนำมนุษย์ต่างดาวไปออกอากาศ พร้อมตั้งคำถามด้านความเชื่อที่ดูผิดเพี้ยนของเจ้าลัทธิ คงจะช่วยให้คนเลิกงมงายได้เสียที

เรื่องนี้ได้จุดประกายความสนใจไปทั่วประเทศ จนเกิดกระแสต่อต้านลัทธินี้ รวมทั้งความผิดเพี้ยนของศาสนาต่างๆ อย่างมากมาย จนเจ้าลัทธิยอมไปออกรายการโทรทัศน์ เพื่อต้องการชี้ว่า ระหว่างเขากับหนุ่มประหลาด ใครจะแน่กว่ากัน ทั้งนี้เพื่อรักษาความศรัทธาของผู้คนเอาไว้

เจ้าลัทธิได้เล่าเรื่องราวของ Sarfraz คนรักเก่าของหญิงสาวที่ทิ้งเธอไป เพื่อยืนยันว่า คำทำนายของตนเองนั้นถูกต้อง แต่แล้วมนุษย์ต่างดาวก็โต้ว่า จดหมายปฏิเสธการแต่งงานนั้น มีการลงชื่อไว้หรือเปล่าว่าเป็นของใคร เพราะในวันนั้น Jaggu ไม่ใช่เจ้าสาวคนเดียวที่มารอคอยชายคนรัก

ทีมงานจึงติดต่อไปยังกงสุลประเทศปากีสถานในเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นที่ฝึกงานของ Sarfraz ปรากฏว่าชายหนุ่มรอคอยการติดต่อจากคนรักมานานแล้ว เขาไม่ได้ทิ้งเธอไป เพียงแต่ไปแล้วไม่พบหญิงสาวต่างหาก ส่วนจดหมายปฏิเสธนั้นเป็นของเจ้าบ่าวรายอื่น เจ้าลัทธิจึงถูกหักหน้ากลางอากาศอีกครั้ง และต้องยินยอมทำตามสัญญา คือ คืนรีโมทยานอวกาศให้มนุษย์ต่างดาว ก่อนที่เขาจะเดินทางกลับไปยังดาวบ้านเกิด

แม้เนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง PKไม่ได้กล่าวถึงพุทธศาสนาโดยตรง แต่ทว่ามีหลายประเด็นที่พูดถึงเรื่องราวของศรัทธา ความเชื่อ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความศรัทธาที่ขาดปัญญา

“ศรัทธา” ซึ่งหมายถึง “ความเชื่อ” นั้น ในพระพุทธศาสนาได้เน้นย้ำเสมอว่า ต้องมาพร้อมกับ “ปัญญา” เพราะความเชื่อที่ขาดการไตร่ตรองด้วยเหตุและผล ก็หมิ่นเหม่ไปสู่ความงมงาย หลงผิด ได้ง่าย

ในพุทธศาสนา “ศรัทธา” แบ่งออกเป็น 4 ประการ ได้แก่

กัมมสัทธา - เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม และเชื่อว่าความดีความสำเร็จล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำ มิใช่การอ้อนวอนขอโชคลาภต่างๆ โดยไม่กระทำการใดๆ

วิปากสัทธา - เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว

กัมมัสสกตาสัทธา - เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของของตน ต้องรับผิดชอบกรรมของตนเอง

ตถาคตโพธิสัทธา - เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ว่าทรงเป็นผู้นำทาง และหากมนุษย์ฝึกตนสู่ภูมิธรรมสูงสุดดังที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญไว้ ก็สามารถหลุดพ้นได้

ความศรัทธา ทั้ง 4 ประการ ล้วนเป็นความศรัทธาที่มีเหตุผลรองรับ โดยเฉพาะการกระทำ หรือกรรม ตรงข้ามกับการสวดอ้อนวอนขอสิ่งต่างๆ หรือการบริจาคมากเพื่อหวังจะได้มากนั่นเอง

ดูหนังจบแล้ว..เราลองสำรวจตัวเองบ้างก็ได้ว่า ศรัทธาของเราเป็นแบบไหน?

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)







กำลังโหลดความคิดเห็น