xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : อาจาริยบูชา พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อถึงวันละสังขารพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) ในวันที่ 16 มกราคมของทุกปี ทางวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จะมีการจัดงานปฏิบัติธรรมประจำปี ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม เพื่อเป็นอาจาริยบูชา และรำลึกถึงพระคุณของหลวงปู่ชา โดยมีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรที่เป็นศิษยานุศิษย์จากทั่วโลก รวมถึงญาติโยมที่มีความศรัทธาในคำสอนของหลวงปู่ชา มาร่วมแสดงความเคารพหลวงปู่ชา ผู้เปรียบเสมือนพ่อแม่ครูอาจารย์ของศิษยานุศิษย์สายวัดหนองป่าพง

เมื่อใกล้ถึงวันงาน บรรยากาศก็เริ่มคึกคักครับ ผู้คนจากทั่วสารทิศ ศิษยานุศิษย์เริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่กางเต็นท์ กางมุ้ง ซึ่งทุกคนที่ร่วมปฏิบัติธรรมจะนุ่งขาวห่มขาว อยู่ในบริเวณป่าของวัดหนองป่าพง ให้บรรยากาศคล้ายกับการธุดงด์ของพระป่าสายปฏิบัติกรรมฐานไม่น้อยเลยครับ

กิจกรรมในแต่ละวันจะเริ่มต้นที่เวลาประมาณ 02.45 น. เสียงสัญญาณระฆังดังขึ้น เพื่อปลุกญาติโยมให้ตื่นมาทำวัตรเช้าและนั่งสมาธิ จากนั้นจึงแยกย้ายกันไปทำภารกิจส่วนตัวจนแล้วเสร็จ จากนั้นจะมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเดินจงกรม เมื่อถึงเวลา 8 โมงเช้า ทุกคนจะมาพร้อมกันที่ธรรมศาลา เพื่อฟังธรรมและถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร

ธรรมศาลาที่วัดหนองป่าพงแห่งนี้สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ไม่หรูหรา ฟุ่มเฟือย เป็นเพียงโถงกว้างๆ ไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง สร้างขึ้นตามแนวทางที่หลวงปู่ชาท่านได้วางไว้ครับ

จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น. ญาติโยมจะมารวมกันที่หอฉัน เพื่อฟังโอวาท ฟังธรรม เสร็จแล้วกลับที่พักเพื่อทำธุระส่วนตัวและเดินจงกรม พอถึงมื้อเที่ยงก็จะแยกย้ายกันไปรับประทานอาหาร ซึ่งในแต่ละปีนั้นจะมีโรงทานทั้งจากชาวบ้าน คณะครู นักเรียน สถานศึกษา หน่วยงานราชการต่าง ในจังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ต่างๆ ร่วมมือร่วมใจกันทำอาหารแจกจ่ายในโรงทาน จนกลายเป็นการบริจาคทานครั้งใหญ่ของทุกภาคส่วน

ช่วงบ่ายเมื่อเสียงระฆังดังขึ้น จะเป็นสัญญาณที่บอกว่า เวลานี้พระภิกษุและสามเณรจะนั่งสมาธิรวมกันอยู่ที่พระอุโบสถ ส่วนญาติโยมจะนั่งสมาธิรวมกันอยู่ที่ธรรมศาลา เพื่อร่วมกันรับฟังธรรมเทศนาจากพระลูกศิษย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากญาติโยมเป็นอย่างมากครับ โดยเฉพาะช่วงที่พระฝรั่งขึ้นเทศน์ ญาติโยมจะตั้งใจฟังเป็นพิเศษ เนื่องด้วยเนื้อหาธรรมและสำเนียงของพระฝรั่ง ผู้เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา ทำให้ต้องใช้สมาธิสูงในการฟังครับ ฟังแล้วก็ระลึกนึกถึงตามพระธรรมคำสอน แต่บางช่วงบางจังหวะก็มีหลุดขำพระท่านบ้าง ถือว่าผ่อนคลายดีไม่น้อยครับ

ในช่วงบ่าย 3 โมงของวันที่ 12-15 มกราคม จะเป็นเวลาที่ปล่อยให้ญาติโยมแยกย้ายกันทำภารกิจส่วนตัว และพักผ่อนตามอัธยาศัย บ้างก็นั่งอ่านหนังสือ กวาดลานวัด นั่งสมาธิ สนทนาธรรมกัน ต่อมาเวลา 17.45 น. สัญญาณระฆังจะดังขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้ทุกคนเตรียมตัวทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ และฟังพระธรรมเทศนา ก่อนจะเข้านอนเวลาประมาณ 4 ทุ่ม

ยกเว้นในวันที่ 16 มกราคม ซึ่งเป็นวันละสังขารของหลวงปู่ชา ในช่วงบ่ายจะมีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรที่เป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ชาจากทั่วโลก รวมถึงญาติโยมที่มีความศรัทธาในคำสอนของหลวงปู่ชา จะมารวมกันอยู่ที่บริเวณเจดีย์พระโพธิญาณ สถานที่บรรจุอัฐิของหลวงปู่ชา พิธีเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยเดินประทักษิณรอบเจดีย์ 3 รอบ เพื่อเป็นการไหว้ครู และรำลึกถึงพระคุณของหลวงปู่ชา บุรพาจารย์ผู้ล่วงลับดับขันธ์นั่นเองครับ จากนั้นจะเป็นการแสดงพระธรรมเทศนาโดยพระลูกศิษย์ของหลวงปู่ชาตลอดทั้งคืน เรื่อยมาจนถึงเช้าของวันที่ 17 มกราคม

ผู้เขียนเคยนึกหาคำตอบอยู่ในใจระหว่างที่ไปร่วมงานอาจาริยบูชาว่า แม้หลวงปู่ชาจะละสังขารไปนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่เหตุผลอะไรที่ทำให้ “วัดหนองป่าพง” ยังเป็นปึกแผ่นมาได้ถึงทุกวันนี้ มีวัดสาขากว่า 300 วัดทั้งในและต่างประเทศ และจากการศึกษาหาข้อมูลก็พบว่า “พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ” ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา ได้เคยแสดงธรรมไว้ที่สวนโมกข์ เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ว่า

" … การที่วัดหนองป่าพงยังขยายตัวไปได้เรื่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ใช่ความบังเอิญ เพราะพระอาจารย์ชาเป็นครูที่ให้ความสำคัญคณะสงฆ์และการสร้างชุมชนที่มั่นคงมาก ท่านจึงมีนโยบายให้ลูกศิษย์ลูกหาสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยศีล ด้วยธรรม และให้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ จะถูกหรือผิดก็ไม่เป็นไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงมีลูกศิษย์จำนวนมากที่มีความเชื่อมั่นและความสามารถในการทำงานเพื่อส่วนรวม … "

คำสอนหนึ่งของหลวงปู่ชาที่มอบให้ คือการที่พระภิกษุผู้เป็นลูกศิษย์จะเคารพกันตามอายุพรรษา นี่เป็นสิ่งที่พระภิกษุแห่งวัดหนองป่าพงทุกสาขาถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมาช้านาน แม้ว่าพระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่จะปลีกวิเวกไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ หรือบ่อยครั้งที่ออกธุดงค์แสวงหาความวิเวกตามลำพังเป็นเวลามากน้อยแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่พระภิกษุสายหลวงปู่ชาต่างยึดมั่นถือปฏิบัติกันมาโดยตลอดก็คือ “ความสามัคคีกันเป็นหมู่คณะ” ทำให้ไม่มีภิกษุรูปใดเก็บของกินของใช้เอาไว้เป็นส่วนตน หากจะฉันก็ต้องฉันพร้อมกัน วันละมื้อเดียว ฉันในบาตรใบเดียว แล้วจึงค่อยแยกย้ายไปบำเพ็ญเพียรตามลำพัง กระทั่งถึงเวลาที่กำหนด ก็ต้องมาทำหน้าที่ดูแลภายในวัดตามที่ได้รับมอบหมาย

ความเป็นหนึ่งเดียวของพระสายวัดหนองป่าพง ยังเห็นได้จากการจัดประชุมคณะสงฆ์เป็นประจำทุกปีในวันที่ 16-17 มิถุนายน เนื่องเพราะวัดหนองป่าพงมีวัดสาขาและภิกษุสามเณรจำนวนมาก กระจัดกระจายไปบำเพ็ญสมณธรรมตามที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเพื่อเป็นการทบทวนแนวปฏิบัติให้อยู่ในครรลองที่หลวงปู่ชาได้วางไว้ในการศึกษาและเผยแผ่พระธรรมไปในทิศทางเดียวกัน โดยประธานสงฆ์หรือเจ้าอาวาสวัดสาขาจะมาชุมนุมกันที่วัดหนองป่าพง ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นประจำทุกปีครับ

พระครูสุธรรมประโชติ (คำผอง) ฐิตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าสันติธรรม จ.นครราชสีมา(วัดหนองป่าพงสาขาที่ 67) กล่าวกับ “ธรรมาภิวัตน์” ถึงความศรัทธาที่มีต่อคำสอนของหลวงปู่ชาว่า "… ศรัทธาในคำสอน ศรัทธาในหมู่สงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาที่รักษาไว้ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติ กฎระเบียบของครูบาอาจารย์ เพราะวัดหนองป่าพงเราไม่ได้ไปเด่นดังเฉพาะองค์เดียว มีอะไรเราทำร่วมกัน จะสาขาไหนในประเทศต่างประเทศเหมือนกันหมด นี่คือที่โยมเขาศรัทธา แล้ววัดแต่ละสาขาไม่ใช่ว่าสาขานั้นทำอย่างนั้น สาขานี้ทำอย่างนี้ ไม่ใช่...”

ขณะที่ “พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ” วัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวัดปฏิบัติในสายหลวงปู่ชาแห่งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวกับ “ธรรมาภิวัตน์” ถึงการปฏิบัติตามแนวทางของหลวงปู่ชาไว้ว่า


"...ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ วิธีดำเนินชีวิต เพราะว่าเราอาศัยรูปแบบของสงฆ์ และข้อวัตรระเบียบ การรักษาความเรียบร้อย คือมีหลักเกณฑ์ที่ควรปฏิบัติตาม เวลาอยู่ด้วยกันในหมู่สงฆ์ เราจะมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน คือจะเอาสิทธิความเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ไม่ได้ คือต้องอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ เรื่องนี้มันเป็นส่วนที่ช่วยสอนเรา ในการละกิเลส การสังเกตว่าสิ่งที่ทำให้เรารำคาญ หรือสิ่งที่ทำให้เราเยือกเย็นคืออะไรบ้าง เราศึกษาจากชีวิต ...”

ด้าน “พระอาจารย์เขมธัมโม” แห่งวัดป่าสันติธรรม เมืองวอริค ประเทศอังกฤษ ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ธรรมาภิวัตน์” ถึงการปฏิบัติตนตามแนวทางที่หลวงปู่ชาท่านได้สร้างเอาไว้ว่า

“... ท่านสร้างทุกอย่างและให้โอกาสที่ดีสำหรับทุกคนในการฝึกปฏิบัติ หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเลือกอย่างไร ซึ่งเป็นแง่มุมหนึ่งของพุทธศาสนา และนั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดอาตมา มันไม่ใช่บางสิ่งที่อาตมาต้องเชื่อ และมันเปิดรับสำหรับคำถามเสมอ จึงทำให้อาตมายกย่องและชื่นชมตลอดมา

ที่วัดหนองป่าพงมีทุกอย่างที่ช่วยในการฝึกปฏิบัติ การแนะนำการฝึกสมาธิก็เข้าใจง่าย อาตมาชื่นชอบในทุกสิ่งที่นี่ เหตุผลที่อาตมากลับมาที่นี่ทุกปีเพื่อร่วมงาน เพราะอาตมายกย่องในสิ่งที่ท่านทำ เป็นต้นแบบที่ดี ให้โอกาสทุกคนในการพัฒนาตนเอง และอาตมาต้องการเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งนี้

มันไม่บ่อยมากนักที่คนมากมายจะมารวมตัวเพื่อทำความดีร่วมกัน คนหลายพันคนไปดูการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งเต็มไปด้วยความโกรธ การโต้แย้ง ต้องการเอาชนะ ซึ่งทั้งหมดนี้มันคือ “กิเลส” แต่แทบจะไม่มีเลยสำหรับการรวมตัวกัน เพื่อกำจัดหรือทำลายกิเลส ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาอันแสนวิเศษ ...”


การรักษาพระวินัยอย่างมั่นคงเคร่งครัด ตามที่พระอาจารย์ชาได้สั่งสอนมา จะช่วยให้เกิดสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า แม้คณะสงฆ์วัดหนองป่าพงจะขยายเติบโต มีวัดสาขาเกิดขึ้นมากมายเพียงใดก็ตาม หากแม้นดำเนินการตามหลักการที่แข็งแกร่ง ยึดตามแนวทางที่แน่วแน่ ก็จะทำให้ “ธรรมะสายวัดหนองป่าพง” ที่เน้นการศึกษาและการปฏิบัติตามพระไตรปิฎก-พระธรรมวินัย จะยังคงยืนหยัดเคียงคู่พระพุทธศาสนาต่อไปได้ในอนาคต

จากการสนทนาธรรมของผู้เขียนกับพระลูกศิษย์ของหลวงปู่ชาหลายต่อหลายรูป ซึ่งมีทั้งพระภิกษุชาวไทยและพระชาวต่างชาตินั้น ต่างกล่าวไปในทำนองเดียวกันถึงข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชาว่า ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์ มีแนวทางและจุดหมายที่มั่นคง คือการก้าวสู่นิพพาน

“... ข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อชา ท่านเข้มแข็ง ท่านมุ่งหวังมักผลนิพพานอย่างแท้จริง ท่านมีกิจวัตรเดินจงกรม เน้นหนักในเรื่องเดิน แล้วก็สอนให้ลูกศิษย์เดินจงกรมให้มาก อยู่แบบเคร่งครัด แบบใส่ใจ แบบมุ่งหวังนิพพานอย่างแท้จริง ทำวัตรเช้าเย็น กรรมฐานเช้าเย็น มิได้ขาด หลวงพ่อชาพาทำอย่างเข้มแข็ง ...” พระอาจารย์ไพฑูรย์ ขันติโก ซึ่งเป็นสามเณรรูปแรกของหลวงปู่ชา ให้สัมภาษณ์กับ “ธรรมาภิวัตน์”

เป้าหมายสูงสุดของการศึกษา คือ การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ครับ วัดหนองป่าพงย่อมถือได้ว่า เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่จะหล่อหลอมผู้คนให้เดินทางไปสู่เป้าหมายสูงสุดนั้น ตามแนวทางที่หลวงปู่ชาได้วางไว้ เห็นได้จากในแต่ละวันทางวัดหนองป่าพงแต่ละสาขา จะมีผู้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติธรรมเป็นประจำ และดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ผู้ที่มาศึกษาธรรม มาฟังธรรม หรือแม้แต่จะก้าวเข้าสู่รสพระธรรม สามารถจะน้อมนำไปใช้ในชีวิต เพื่อให้พบความสุขสงบเย็นที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งก็คือ การเดินตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเดินตามรอยพ่อแม่ครูอาจารย์ ซึ่งต่างมุ่งสู่หนทางเดียวกันคือ “การก้าวสู่นิพพาน” นั่นเองครับ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อํานวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ NEWS1)








กำลังโหลดความคิดเห็น