สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา “แพทย์ผิวหนังพบประชาชน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “4 ทศวรรษ พัฒนาความรู้ คู่ความปลอดภัย เพื่อคนไทยทุกคน” เตือนคนไทยให้ระวังผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องสำอางชนิดต่างๆ ระวังการเลือกใช้บริการหัตถการ และการนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อความงามและการชะลอวัย
รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ภายในงานสัมมนา “แพทย์ผิวหนังพบประชาชน” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “4 ทศวรรษ พัฒนาความรู้ คู่ความปลอดภัย เพื่อคนไทยทุกคน” ว่า สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ในปัจจุบัน ได้ทำงานในการเผยแพร่ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมทางด้านผิวหนัง ให้แพร่หลายกว้างขวางถูกต้องตามหลักวิชาการ ให้การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัย และเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ในแต่ละปีจะมีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เดินทางไปในแต่ละจังหวัด เพื่อตรวจรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังชนิดต่างๆ พร้อมให้ความรู้กับประชาชนร่วมกับโรงพยาบาลในท้องถิ่นอยู่เป็นประจำ
ในปีนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของทางสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ จึงได้จัดกิจกรรม “แพทย์ผิวหนังพบประชาชน” ขึ้น โดยเนื้อหาสาระจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องการเลือกใช้เครื่องสำอาง การใช้ยา ยารับประทาน และการรับประทานอาหารเสริม เพื่อสุขภาพความงามและผิวพรรณหรือวิธีการรักษาด้วยหัตถการต่างๆ อาทิเช่น การใช้เลเซอร์ ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ ร้อยไหม ไอแอลพี อาร์เอฟ ใช้อย่างไรปลอดภัย รวมทั้งเรื่องที่เป็นกระแสและกำลังเป็นที่นิยมมากที่สุด คือ เรื่องการนำสเต็มเซลล์มาใช้ เพื่อเสริมความงามและการชะลอวัย รวมถึงปัญหาอันตรายจากการใช้สเต็มเซลล์เพื่อเสริมความงาม ซึ่งต้องการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ตระหนัก และตอกย้ำถึงอันตรายจากสิ่งที่ยังไม่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มารับรอง
• ครีมทาผิว ต้องดูให้ดีก่อนใช้ ระวัง! อันตรายจากสเตียรอยด์
ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคผิวหนังเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพื่อเสริมเติมแต่งความงามของร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายในหลายลักษณะด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ครีมหน้าขาวที่มีส่วนผสมจากไฮโดรควิโนน(Hydroquinone) ผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์ การใช้ผลิตภัณฑ์ Whitening ที่ทำให้ผิวขาว เครื่องสำอางปลอม และการเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ด้านความงามจากการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต เหล่านี้ล้วนเป็นอันตราย โดยเฉพาะครีมทาผิวบางชนิดที่ใช้ได้เฉพาะที่ เช่น ทาบริเวณผิวหน้าเท่านั้น ห้ามนำมาทาตัว หรือทาบริเวณทั่วร่างกาย ห้ามทาบริเวณใบหน้า
ดังนั้น การซื้อครีมทาผิว ต้องอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนนำมาใช้ ทั้งในส่วนที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไป ตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือการโปรโมทขายสินค้าตามรายการโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีบางช่อง ต้องระวัง เพราะมักจะมีการโฆษณาเกินจริง บางครั้งครีมทาผิวดังกล่าวอาจจะเป็นของเลียนแบบ ของปลอม หรือมีส่วนผสมของสารโคเบตาซอล ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ชนิดแรงที่สุด ซึ่งใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นเรื้อรัง หรือเป็นผื่นหนา และมีคำเตือนว่าห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 4 สัปดาห์ สารนี้จัดเป็นยาและไม่สามารถอยู่ในเครื่องสำอางได้
สารชนิดนี้ออกฤทธิ์ที่ผิวหนังถึงชั้นหนังแท้และอาจเป็นแผลถาวร ซึ่งผลของมันนอกจากยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว ไปรบกวนเรื่องการสร้างอิลาสตินและคอลลาเจนของผิวหนังแล้ว ยังทำให้เกิดการแตกลายงาของผิวหนัง ทำให้ผิวบางและเส้นเลือดขยาย หากทาที่ใบหน้า หรือบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก จะทำให้เกิดสิว ซึ่งรักษายากกว่าสิวทั่วไป และเมื่อผิวบางโดนอะไร ก็จะแพ้ง่ายและมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ด้วย
ในประเทศไทย ปัญหาการใช้ครีมหรือขี้ผึ้งสเตียรอยด์ พบได้ค่อนข้างบ่อย เพราะยาในกลุ่มนี้ประชาชนสามารถซื้อหาได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ และมีราคาถูก ซึ่งมีเป็นร้อยยี่ห้อ ส่วนมากประชาชนมักจะคิดว่าครีมทาผิวภายนอกไม่ค่อยมีอันตราย ในขณะที่ประเทศเจริญแล้ว เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ครีมในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ประชาชนไม่สามารถซื้อใช้เองได้ ต้องมีใบสั่งแพทย์ ร้านขายยาจึงจะขายให้ เพราะผิดกฎหมาย
ครีมสเตียรอยด์มีประโยชน์ คือแก้แพ้ แก้คัน แก้ผื่นผิวหนังอักเสบ บางคนพอใช้แล้วหน้าเรียบ ก็เลยใช้ต่อเนื่อง ถ้าใช้ช่วงสั้นๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าใช้นานๆ จะติด ไม่ใช้ไม่ได้ และเพิ่มความแรงของยาขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาหยุดไม่ได้ พอหยุดผิวหนังจะอักเสบเห่อขึ้นมา
โดยผลข้างเคียงจากการใช้ครีมสเตียรอยด์ แบ่งได้ดังนี้
1. ประเภทเฉียบพลัน ได้แก่
1.1.การเกิดสิว ครีมกลุ่มนี้ทำให้เกิดสิว โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและหน้าอก โดยสิวที่เกิดจากสเตียรอยด์ จะแตกต่างจากสิวทั่วไป จะเห็นเป็นสิวในแบบเดียวกันทั้งหมด คือ เป็นตุ่มนูนแดง (ไม่มีหัวหนองหรือไขมันอุดตัน)
1.2 รอยโรคเดิมเป็นมากขึ้น พวกนี้ส่วนมากเกิดจากการใช้ยาผิดโรค เช่น เป็นโรคกลากเกลื้อน แล้วใช้ครีมสเตียรอยด์ทา จะทำให้เป็นมากขึ้น
1.3 เกิดผื่นแพ้สัมผัส ซึ่งอาจเกิดการแพ้สารกันบูดหรือน้ำหอมที่ใส่ในครีมสเตียรอยด์ ส่วนการแพ้ตัวสเตียรอยด์เองนั้นก็พบได้ แต่ก็น้อย
2. ประเภทเรื้อรัง ได้แก่ ทำให้ผิวหน้าบางลง ออกแดดไม่ได้ เวลาเจอแดดก็จะแสบร้อน หลอดเลือดใต้ผิวหนังเปราะแตกง่าย ขนยาวขึ้นบริเวณทายา เกิดสิวและผื่นอักเสบรอบปาก เกิดภาวะติดยา ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเมืองไทยและรักษายาก ภาวะนี้เกิดจาการใช้ครีมสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เวลาหยุดยาแล้วจะแดง หรือโรคผิวหนังอักเสบเดิมจะเป็นมากขึ้น ทำให้หยุดใช้ยาไม่ได้ และต้องใช้ครีมสเตียรอยด์แรงมากขึ้น
นอกจากนี้ อาจไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต ซึ่งมักเกิดจากการใช้ครีมสเตียรอยด์ชนิดแรงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ
• ฉีดฟิลเลอร์ อาจเกิดอันตรายรุนแรง
รศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่าผลข้างเคียงจากการหัตถการต่างๆ อาทิเช่น การใช้เลเซอร์ ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ และร้อยไหม ไอแอลพี อาร์เอฟ ใช้อย่างไรปลอดภัย เป็นสิ่งที่ประชาชนควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นที่อยากพูดถึง คือเรื่องการใช้สารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ สำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการคือ ผิวหนังซึ่งมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือใยคอลลาเจนและสารไฮยาลูโรนิก ที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำมากกว่าตัวเอง 100 เท่า มีหน้าที่สำคัญคือ เป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีรูปทรงเต่งตึง
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชรา จะพบว่า ใยคอลลาเจนและสารอุ้มน้ำจะค่อยๆมีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ ผิวหนังจะมีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่น และเพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว จึงมีความพยายามหาทางแก้ไข โดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนัง เพื่อทดแทนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ฟิลเลอร์ (Filler)
สารเหล่านี้มีราคาแพงและอยู่ได้ไม่ถาวร การฉีดฟิลเลอร์นั้นอาจเกิดอันตรายที่รุนแรง ซึ่งสามารถเกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ผู้ทำการฉีดต้องมีความรู้ความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงสุด ก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้
2. สารที่ใช้แม้ว่าเป็นสารที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ แม้แต่การดูดไขมันของตัวเองมาฉีด ก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน
3. ตัวผู้รับการฉีด แต่ละคนมีกายวิภาคที่ต่างกัน ตำแหน่งของเส้นเลือดเส้นประสาทอาจมีความแตกต่างจากคนอื่นได้ โดยเฉพาะคนที่ได้รับการผ่าตัด การฉีด การร้อยไหม จะมีพังผืดทำให้เกิดอันตรายง่ายขึ้นอีก
ดังนั้น ผู้บริโภคควรตระหนักในการเลือกใช้เครื่องสำอางที่ได้รับรองจาก อย.เท่านั้น หรือในกรณีที่ไม่มั่นใจ ก็สามารถตรวจสอบไปที่ สายด่วน อย.หมายเลขโทรศัพท์ 1556
• ยังไม่มีการผลวิจัยที่ได้มาตรฐานมารับรอง ว่าใช้สเต็มเซลล์เสริมความงาม-ชะลอวัยได้
ดร.นพ. เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าว่า ปัญหาของความงาม ผิวพรรณ และปัญหาสุขภาพของผิวหนัง โดยเฉพาะในเรื่องของการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในวงการแพทย์ ก่อให้เกิดอันตรายจากสิ่งที่ไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์มารับรองนั้น ทำให้สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ต้องการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ตระหนัก และตอกย้ำถึงการนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อเสริมความงามและการชะลอวัย รวมถึงปัญหาอันตรายจากการใช้สเต็มเซลล์เพื่อเสริมความงาม
โดยสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้เรื่อยๆไม่มีขีดจำกัด และสามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่างๆได้หลากหลาย มี 2 ประเภท ได้แก่ 1. เซลล์ที่มาจากตัวอ่อน (embryo) 2. เซลล์ที่มาจากสิ่งมีชีวิตหลังคลอด ซึ่งเมื่อได้เซลล์ต้นกำเนิดมามักได้ปริมาณน้อย จะต้องมาทำการเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ กระบวนการดังกล่าวมีความยุ่งยากซับซ้อน บางกรณีจะใช้น้ำเหลืองจากวัว มาผสมในน้ำเลี้ยงเซลล์ ตลอดจนต้องใช้เซลล์พี่เลี้ยงที่เป็นเซลล์มาจากหนู เซลล์เหล่านี้เลี้ยงยาก ตายง่าย ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ในบรรจุภัณฑ์ต่างๆได้ และเมื่อได้เซลล์จำนวนมากพอ อาจนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้
ส่วนใหญ่เมื่อเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือด โดยใช้ยากระตุ้น มักเก็บได้เซลล์ปริมาณมากพอ จนไม่จำเป็นต้องนำเซลล์มาเพาะเลี้ยง เพื่อเพิ่มปริมาณก่อนนำไปใช้ และการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในปัจจุบัน การรักษามาตรฐานมีเพียงโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด หรือภาวะโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย
ทั้งนี้ อาจจะมีการศึกษาวิจัย เพื่อใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคต่างๆ มากมาย อาทิ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันการศึกษาวิจัยเหล่านี้ ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า การใช้เซลล์ต้นกำเนิดก่อให้เกิดประโยชน์ได้ผลสม่ำเสมอในผู้ป่วยทุกราย
ดังนั้น นอกจากโรคทางโลหิตวิทยาแล้ว การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อรักษา ถือเป็นการวิจัยทั้งสิ้น โดยการรักษาเหล่านี้จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยและจริยธรรมฯก่อน ว่ามีความเหมาะสมที่จะวิจัย ตลอดจนจะต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ป่วยเป็นลายลักษณ์อักษร แสดงความจำนงว่าจะเข้าร่วมการศึกษาวิจัย โดยทราบผลดีผลเสียที่ได้จากการวิจัย และผู้ป่วยจะต้องไม่เสียค่าใช่จ่ายในการเข้าร่วมโครงการวิจัยดังกล่าว
ดร.นพ.เวสารัช กล่าวย้ำว่าไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้มาตรฐาน สำหรับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในด้านผิวหนัง ความงามและชะลออายุ การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด นอกจากโรคทางโลหิตวิทยา ซึ่งถูกควบคุมด้วยข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่องการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา พ.ศ. 2552
หากมีผู้ใดชักชวนให้ท่านรับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดในโรคที่ไม่ใช่ทางโลหิตวิทยา กรุณาแจ้งมาที่แพทยสภา เพื่อจะได้มีการตรวจสอบว่า เป็นการรักษาที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร หรือหากมีข้อสงสัย สามารถส่งอีเมล์ มาสอบถามได้ที่ contact@dst.or.th ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ จะมีแพทย์คอยตอบคำถาม เพื่อไขข้อสงสัยทั้งหมด
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)