xs
xsm
sm
md
lg

เมินยาลดอ้วน ไม่พึ่งดูดไขมัน “คลินิกหุ่นดี” ช่วยปรับพฤติกรรม รับเชปสเลนเดอร์!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ไม่มีสิ่งใดที่ได้มาโดยไม่พยายาม รูปร่างที่ดีก็เช่นกัน สาวๆ ต่างก็อยากมีหน้าท้องแบนราบ เอวคอด สะโพกผาย มีส่วนเว้าโค้ง ขณะที่หนุ่มๆ เองก็อยากมีหุ่นล่ำราวนายแบบ มีซิกซ์แพกกระชากใจ แต่การจะได้มาซึ่งรูปร่างอันเพอร์เฟกต์ ไม่ว่าจะด้วยการลดน้ำหนัก ลดไขมัน หรือสร้างกล้ามเนื้อ ใช่ว่าจะทำได้ในเร็ววัน

บางคนเลือกวิธีลัด ยอมเสียเงินแพงด้วยการไปดูดไขมัน บ้างพึ่งยาลดความอ้วน แต่สุดท้ายก็ยังอ้วนอยู่ หรือบางคนทุ่มเงินเข้าฟิตเนส แต่ก็ไปเล่นบ้าง ไม่เล่นบ้าง สุดท้ายก็ถอดใจ ทั้งหมดเป็นเพราะอะไร?

“เพราะการจะมีรูปร่างที่ดีได้อยู่ที่พฤติกรรม ทั้งการกินและออกกำลังกาย ต่อให้ไปดูดไขมัน กินยาดักจับไขมัน หรือพึ่งยาลดความอ้วน สุดท้ายเมื่อเลิกไปดูดไขมันเพราะไม่มีเงิน หรือเลิกกินยาก็จะกลับมาอ้วนเหมือนเดิม เนื่องจากพฤติกรรมการกินเหมือนเดิม หรือแม้แต่การออกกำลังกายก็มักอ้างว่าไม่มีเวลา ทนความเหนื่อยไม่ไหว ล้า สุดท้ายก็ถอดใจเลิกไป สาเหตุเหล่านี้ที่ทำให้หลายคนยังอ้วนอยู่และไม่มีรูปร่างที่ดีอย่างใจ” นายวสันต์ อุนานันท์ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ กรมอนามัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพฤติกรรมที่กำลังทำอยู่นั้น อย่างไหนดีอยู่แล้ว อย่างไหนที่ควรปรับ และหากต้องปรับพฤติกรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งไม่มีคนแนะนำก็ยิ่งไปไม่เป็น ปัญหาเหล่านี้ นายวสันต์บอกว่า คลินิกหุ่นดีของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขสามารถช่วยได้ โดยคลินิกจะให้บริการคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมทั้งการบริโภคและออกกำลังกาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ประชาชนทั่วไปสามารถขอเข้ารับบริการได้

นายวสันต์เล่าถึงกระบวนการให้คำปรึกษาว่า จะเริ่มจากให้ผู้เข้ารับบริการรู้ข้อมูลตัวเองก่อน โดยจะมีเช็กลิสต์พฤติกรรมการกินเป็นอย่างไร กิจกรรมทางกาย การบาดเจ็บของข้อหรืออวัยวะต่างๆ เป็นอย่างไร ร่วมกับการวัดค่าดัชนีมวลกาย และการใช้เครื่อง Inbody วิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกายว่า มีน้ำหนัก มีมวลกล้ามเนื้อ และมวลไขมันเป็นอย่างไร เหมาะสมและสมดุลหรือไม่ ซึ่งเป็นเครื่องแบบเดียวกับที่สถาบันลดน้ำหนักใช้ในการตรวจร่างกาย

“เมื่อได้ข้อมูลครบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการหารือและวางแผนร่วมกันกับผู้มารับบริการว่า อยากลดน้ำหนัก เพิ่มน้ำหนัก หรือเพิ่มกล้ามเนื้อต้องทำอย่างไร ก็จะมีคำแนะนำในเรื่องการกินและการออกกำลังกายให้ ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เพราะลักษณะร่างกายต่างกัน นอกจากนี้ ยังต้องดูข้อจำกัดของร่างกายแต่ละคนด้วย โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ คนปกติ คนเสี่ยงโรคเรื้อรัง และคนป่วยโรคเรื้อรัง คำแนะนำก็จะต่างกัน อย่างบางคนเป็นโรคเรื้อรังมีปัญหาข้อเข่า ก็อาจเลี่ยงการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ระยะยาวจะลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัมในเวลา 4 เดือน ระยะสั้นจะปรับพฤติกรรมการกินอย่างไร หันมาออกกำลังกายอย่างไร ซึ่งต้องไม่ใช่สิ่งที่ทำยากจนเกินไป เพราะถ้าทำไม่ได้สุดท้ายก็จะรู้สึกแย่และล้มเลิก”

นายวสันต์บอกอีกว่า คำแนะนำในเรื่องการออกกำลังกายจะเน้นการทำที่บ้านได้ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. การเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต คือกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่น เดิน ปั่นจักรยาน จ๊อกกิ้ง ที่ใช้การหายใจเอาอากาศเพื่อดึงไขมันมาเผาผลาญเป็นพลังงาน โดยจะต้องรู้สึกเหนื่อยปานกลาง คือสามารถพูดคุยได้โดยไม่หยุดหอบ หัวใจเต้นเร็ว มีเหงื่อซึมๆ นาน 30 นาที แต่อย่าให้เหนื่อยเกินไป เพราะจะกลายเป็นการดึงน้ำตาลออกมาใช้ สุดท้ายจะทำให้โหยและหิว และหากอยากลดน้ำหนักลดก็ต้องเล่นให้นานขึ้น 2. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การซิตอัป การยกเวท และ 3. เพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นและข้อต่อ

“ทั้งการกินและออกกำลังกาย ต้องปรับพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักดิบ อย่างอาหารทอด ไม่ใช่ว่าจะห้ามกินเลย แต่ให้ค่อยๆ ลดปริมาณลง หรือการปรุงรสก็จะสอนการตวงน้ำตาล เกลือ ว่าควรใส่มากน้อยเท่าไร แล้วค่อยๆ ให้ลดการเติมเครื่องปรุงรสลงมา การออกกำลังกายก็อย่าหักโหม เพราะหากเหนื่อยมาก บาดเจ็บ ล้า ก็ทำให้ไม่อยากมาทำต่อ ที่แนะนำว่าได้ผลดีคือ หลัก FIT ความถี่ ความหนัก และความนาน คือเล่นให้เหนื่อยปานกลาง นาน 30 นาทีต่อวัน จำนวน 5 วันต่อสัปดาห์ แต่อยู่ที่ข้อจำกัดของร่างกายด้วย ทั้งนี้ หลังจากให้คำแนะนำแล้วก็จะนัดมาติดตามผลทุก 2-3สัปดาห์ ซึ่งขณะนี้คลินิกมีผู้เข้ารับบริการทั้งรายใหม่และเก่าประมาณ 50 กว่าคน จากการให้คำปรึกษาพบว่า สามารถอยู่จบโครงการประมาณ 50-60% ในจำนวนนี้สามารถทำตามเป้าหมายสำเร็จอยู่ที่ 50%”

จากสถิติดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า การปรับพฤติกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น หากอยากมีรูปร่างที่ดีไปตลอด ก็ต้องปรับพฤติกรรมการกินและออกกำลังกายให้เหมาะสม ส่วนจะทำต่อเนื่องได้นานแค่ไหน ก็อยู่ที่ใจของแต่ละคนล้วนๆ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น