xs
xsm
sm
md
lg

ชวนคิดชวนทำ : 9 สิ่งที่ต้องทำ สยบความวิตกกังวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีคำพูดน่าคิดกล่าวไว้ว่า “ความวิตกกังวลไม่ได้ทำให้ความทุกข์ของวันพรุ่งนี้หายไป แต่มันทำให้ความเข้มแข็งในวันนี้หมดไป”

ความวิตกกังวลก่อตัวขึ้นจากความคิดที่คอยรบกวนจิตใจทีละน้อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ และกว่าจะรู้ตัว มันก็กลายเป็นกองไฟเผาไหม้ใจให้ร้อนรน จนคิดอ่านไร้เหตุผล และหมดเรี่ยวแรงทั้งกายใจในที่สุด

และแม้ว่าเรามิอาจหยุดคิดวิตกกังวลได้โดยสิ้นเชิง แต่การหยุดยั้งมันให้ผ่อนคลายลงบ้าง ก็จะดีต่อสุขภาพกายใจไม่น้อยเลย

ลองมาดูกันว่า 9 สิ่งที่ต้องทำต่อไปนี้ จะช่วยหยุดยั้งความวิตกกังวลได้แค่ไหน

1. หยุดจินตนาการ
วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ผู้นำพาประเทศผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเข้มแข็ง ได้กล่าวไว้ว่า

“เมื่อข้าพเจ้ามองย้อนไปถึงเรื่องต่างๆที่เคยกังวล ข้าพเจ้าจำเรื่องราวของชายชราคนหนึ่ง ที่นอนรอความตายบนเตียง และพูดว่า เขามีเรื่องวิตกกังวลมากมายในชีวิต แต่ส่วนใหญ่มันไม่เคยเกิดขึ้นจริง”

เพราะบ่อยครั้งเรื่องที่เราวิตกกังวลนั้น เป็นเพียงความหวาดกลัวที่เรามโนขึ้นในใจ ซึ่งเกิดขึ้นจริงน้อยมาก และก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดไว้

ดังนั้น เมื่อรู้สึกกังวลเรื่องใดๆ ลองถามตัวเองว่า “สิ่งต่างๆที่ฉันกลัวในชีวิต มีสักกี่ครั้งที่มันเกิดขึ้นจริง?” คำตอบที่ได้อาจจะช่วยให้หยุดคิดฟุ้งซ่านในแง่ร้าย และคลายกังวลได้บ้าง

2. ตั้งสติ ไม่กลัวเกินเหตุ
ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อถูกความกลัวครอบงำจิตใจ มักทำให้รู้สึกกังวลจนเกินเหตุ ใจคอว้าวุ่น เห็นแต่ความเลวร้ายหายนะ จนบดบังความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นกังวล ขอให้ตั้งสติ และถามตัวเองด้วยข้อเท็จจริงว่า หากมันเกิดขึ้นจริง ผลลัพธ์เลวร้ายที่สุดคืออะไร และต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งมีหลายครั้งที่คำตอบอาจไม่แย่เหมือนที่ใจคิดกลัวเกินเหตุ

3. อย่าเดาใจผู้อื่น
การพยายามอ่านใจผู้อื่น นอกจากจะไม่เกิดผลดีแล้ว ยังทำให้คุณคิดมากเกินจริงอย่างไร้เหตุผล จนเกิดความกลัวขึ้นในใจ และนำไปสู่ความวิตกกังวลและเข้าใจผิด

สิ่งที่ควรทำคือ เมื่อข้องใจในเรื่องใด จงสื่อสารกันโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งต่างๆ และการเข้าใจผิดโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ความสัมพันธ์เป็นไปโดยราบรื่น และยุติข้อกังวลทั้งหมด

4. หยุดสักนิด เมื่อคิดไม่ออก
เมื่อตกอยู่ในสภาพอารมณ์บางอย่าง เช่น หิว ง่วงนอน เศร้าโศก จิตใจย่อมเปราะบาง ความวิตกกังวลจะแวบเข้ามาในสมองได้อย่างง่ายๆ

หากเป็นเช่นนี้ วิธีแก้คือ บอกกับตัวเองว่า “หยุด.. ตอนนี้ฉันจะไม่คิดเรื่องพวกนี้” และทำตามนั้น เมื่ออารมณ์ดีขึ้นหลังจากกินอิ่ม ตื่นนอน หรือคลายทุกข์โศก ค่อยหวนมาจัดการเรื่องที่เป็นกังวล แต่วิธีการนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้ดีขึ้น

5. อย่าหมกมุ่นกับตัวเอง
อย่ามัวแต่คิดว่า คนอื่นกำลังจ้องมองตัวคุณหรือสิ่งที่คุณทำ เพราะพวกเขาต่างมีเรื่องราวในชีวิตที่ต้องคิดต้องทำเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการงาน ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ฯลฯ คงไม่เหลือเวลามาใส่ใจเรื่องคนอื่นมากมายนักหรอก

คุณจึงไม่ควรวิตกกังวลว่า คนอื่นจะคิดหรือพูดถึงคุณอย่างไรในสิ่งที่คุณกระทำ อย่าปล่อยให้ความคิดเช่นนี้ ขัดขวางมิให้คุณเดินหน้าต่อไป

6. หยิบความกังวลออกจากใจ
การหยิบความกังวลออกจากใจ เป็นวิธีการที่ให้ผลดี ไม่ว่าจะเป็นการพูดระบายสิ่งที่วิตกกังวลกับเพื่อนฝูงหรือคนรอบข้าง ซึ่งอาจได้มุมมองดีๆที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการจัดการปัญหา และที่สำคัญ ได้รับรู้ว่า สิ่งที่คุณเป็นกังวลนั้น อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาของคนอื่น

หากไม่อยากพูดคุยกับใคร ลองใช้วิธีเขียนเรื่องที่วิตกกังวลออกมาให้หมด เสมือนหยิบยกมันออกจากใจ มาวางไว้ข้างนอก ก็จะช่วยให้รู้สึกโล่งใจ และมองเห็นปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

7. อยู่กับปัจจุบันขณะ
หากมัวเสียเวลาคิดถึงเรื่องเลวร้ายในอดีต นานจนเกินไป มันจะทำให้คุณเริ่มต้นกังวลกับอนาคต และเช่นเดียวกัน หากมัวแต่หมกมุ่นคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ชีวิตก็คงหาความสุขไม่เจอแน่

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ ให้เวลากับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ด้วย 2 วิธีง่ายๆ ได้แก่ ใช้ชีวิตไม่เร่งรีบ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน เคลื่อนไหว กิน พูด ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีสติ รู้ตัวตลอดเวลา และการปิด-เปิดใจ เมื่อรู้ว่าเริ่มต้นกังวล จงพูดกับตัวเองในใจว่า “หยุด” แล้วดึงตัวเองกลับมาอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า

หรือเมื่อรู้ว่า เริ่มจะวิตกกังวล จงทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบ ไม่ว้าวุ่น ปล่อยวางความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี

8. ให้คำแนะนำตัวเอง
หลายต่อหลายคน เมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ วิตกกังวล ก็พยายามช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เพื่อให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น แต่เมื่อตัวเองตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกัน เหมือนผงเข้าตาตัวเอง ไม่รู้จะทำอย่างไรดี

แต่วิธีแก้ไขก็ยังมี ลองจินตนาการว่า ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นกับคุณนั้น หากเกิดขึ้นกับคนอื่น คุณจะให้คำแนะนำพวกเขาอย่างไร เพราะหลายครั้งที่คำแนะนำเหล่านั้น คุณสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาของตัวเองได้เช่นกัน

9. หมั่นออกกำลังกาย
กิจกรรมหลายๆอย่าง อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง พูดคุย ทำสวน ฯลฯ ล้วนสร้างความเพลิดเพลิน ซึ่งจะช่วยหยุดความวิตกกังวลได้ชั่วขณะ เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย ที่ช่วยปลดปล่อยความเครียดที่อยู่ภายใน ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง โล่งสบาย แถมสุขภาพกายก็ดีด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย ประกายรุ้ง)
กำลังโหลดความคิดเห็น