xs
xsm
sm
md
lg

เปิดข้อมูลใหม่ อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไขมันสูง ช่วยรักษาโรคเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่านผู้อ่านครับ โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่งที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในโลกปัจจุบัน พบว่าคนทั่วโลกมีความดันโลหิตสูง ร้อยละ 26.4 และเป็นสาเหตุของการตายร้อยละ13.5 ของการตายทั้งหมด

มากกว่านั้นประมาณการว่าในปี 2025 จะมีคนทั่วโลกที่มีความดันโลหิตสูง ประมาณ 1,500 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในโลกกำลังพัฒนา 639 ล้านคน ในอเมริกามีคนเป็นโรคความดันโลหิตสูง 65 ล้านคน ในประเทศไทยก็มีคนเป็นโรคนี้มากเหมือนกัน คือ ร้อยละ 21 ในคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

คนไข้ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีความดันโลหิตสูง และไม่ได้รับการรักษาอย่างเพียงพอ ดังนั้น โรคนี้จึงเป็นโรคที่ควรจะสนใจ เพราะเมื่อมีความดันโลหิตสูงนานๆ เช่น 10 ปี โดยไม่ได้รับการดูแลรักษา ก็จะมีอาการแทรกซ้อนตามมา ตั้งแต่เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจโต หัวใจวาย หอบเหนื่อย ไตวาย จอประสาทตาเสื่อม จนถึงสมรรถภาพทางเพศเสื่อม ซึ่งจะรักษาให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมไม่ได้ เป็นต้น

ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต พิชิตความดันโลหิตสูง
ปัจจุบัน งานวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน พบว่า เราสามารถดูแลสุขภาพของเรา เพื่อป้องกันและบำบัดโรคนี้ได้โดยไม่ต้องใช้ยา เราก็จะมีสุขภาพแข็งแรงอายุยืน

สำหรับคนที่มีความดันโลหิตสูง มักจะไม่มีอาการอะไร ต่อเมื่อความดันระดับสูงมากแล้วอาจจะมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน สายตาเสื่อม แขนขาไม่มีแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต พูดไม่ได้ นั่นหมายถึงว่า เริ่มมีอาการแทรกซ้อนของหลอดเลือดสมอง หรือมีอาการเจ็บหน้าอก ในรายที่เริ่มมีเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจโต หัวใจทำงานล้มเหลว เหนื่อยง่าย หรืออาการไตวาย ตามัว เป็นต้น

โรคความดันส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ไม่รู้สาเหตุ ซึ่งอาจจะมาจากพันธุกรรม การกินอาหารเค็มมีเกลือโซเดียมมากเกินไป การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความอ้วน และความเครียดในชีวิต ล้วนแต่เป็นสาเหตุได้ทั้งนั้น และโดยความจริงแล้ว มันคือโรคของวิถีชีวิตของเรานั่นเอง

ดังนั้น สมาคมโรคหัวใจของอเมริกา (American Heart Association) จึงแนะนำในเรื่องของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการบำบัดโรคนี้ก่อนการใช้ยา และการใช้ยาอย่างเดียวจะรักษาได้ผลไม่ดี

สำหรับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็สามารถทำให้ความดันเป็นปกติได้ โดยเขาแนะนำให้ใช้อาหาร การออกกำลังกาย และการบำบัดความเครียดด้วยวิธีสร้างความผ่อนคลายต่างๆที่มีการศึกษาเอาไว้ ได้แก่ การทำสมาธิ การเจริญสติ การฝึกโยคะ การฝึกลมหายใจให้ช้าลง การฝึกความผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และไบโอฟีดแบค เป็นต้น

งานวิจัยทางการแพทย์พบว่า การรับประทานอาหารไขมันต่ำ เกลือโซเดียมต่ำ จะลดความดันได้ 11.4/5.5 มิลลิเมตรปรอท การออกกำลังกายแบบแอโรบิควันละ 30 นาที ขนาดปานกลาง เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ หรือเล่นกีฬาเบาๆ สามารถลดความดันได้ 4-8 มิลลิเมตรปรอท การลดน้ำหนัก ลงได้ 10 กก. สามารถลดความดันได้ 5-20 มิลลิเมตรปรอท ในคนที่อ้วนมากๆ การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง (ผู้ชายดื่มได้ 2 ออนซ์ ผู้หญิง 1 ออนซ์) จะลดความดันได้ 2-4 มิลลิเมตรปรอท การฝึกสมาธิ โยคะ การเจริญสติ ลดความดันได้ 5-10 มิลลิเมตรปรอท ถ้านำวิธีการหลายๆอย่างมารวมกัน จะช่วยลดความดันลงได้มากทีเดียว ถ้าเราปฏิบัติได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา

อาหาร DASH ช่วยลดความดัน
สำหรับเรื่องอาหาร มีความสำคัญมากในโรคนี้ เขาพบว่า อาหารที่มีไขมันต่ำ และเกลือน้อย (ให้กินไม่เกินวันละครึ่งช้อนชา ประมาณ 2,300 มิลลิกรัม) ก็จะสามารถลดความดันได้ 11.4 /5.5 มิลลิเมตรปรอท อาหารชนิดนี้เรียกว่า อาหาร DASH (Dietary Approach to stop Hypertension)

ศาสตราจารย์แฟรงค์ แซคส์ (Frank sacks) อายุรแพทย์ด้านหัวใจ แห่งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ศึกษาอาหาร DASH เป็นคนแรก เขาพบว่า คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ จะมีอัตราของการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ต่ำกว่าประชากรทั่วไป

แต่อาหารแบบนี้ก็ไม่เหมาะกับคนอเมริกัน โดยเฉพาะอาหารมังสวิรัติที่เคร่งครัดมาก (Vegan) ท่านจึงเพิ่มปลาและไก่เข้าไป โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งมีไขมันโอเมก้า 3 จำนวนมาก เช่น ปลาแซลมอล ปลาแมคเคอร์เรล ปลาทูน่า ปลาเทร้าซ์ เป็นต้น ให้รับประทานสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และผักผลไม้สดรวมกันวันละ 8-10 ทัพพี กินข้าวไม่ขัดขาว ธัญพืช ถั่ว เต้าหู้ กลุ่มนี้ให้ใช้ร้อยละ 60 ของพลังงานในแต่ละวัน (ประมาณ 200-300 กรัม/วัน)

สำหรับน้ำมัน เขาใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันอโวคาโด กินนมพร่องมันเนย ชีส โยเกิร์ต ไข่ขาว(ไม่กินไข่แดง) อาหารแบบนี้เป็นอาหารแบบไขมันต่ำ (ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของพลังงานในแต่ละวัน ) หรือ Low Fat Diet งดขนมปังขาว เค้ก คุกกี้ ขนมหวาน แป้งและน้ำตาลที่ผ่านการผลิตทางอุตสาหกรรม น้ำอัดลม น้ำผลไม้

ศาสตราจารย์แฟรงค์ แซคส์ ได้ทำงานวิจัยโดยใช้อาหารชนิดนี้ พบว่า มีประโยชน์ในการลดความดัน ลดความอ้วน รักษาโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งอาหารแบบนี้ สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา ก็แนะนำให้ใช้ในคนไข้ความดันโลหิตสูง เพราะลดความดันลงได้

ตัวการทำให้เกิดโรคเรื้อรัง
ท่านผู้อ่านครับ โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคอ้วน ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคไม่ติดต่อ NCD (Noncommunicable diseases) นั้น ปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เพราะโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุการตายส่วนใหญ่ของคนในยุคปัจจุบัน

ปี 2011 คนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคในกลุ่มนี้ 36 ล้านคน ในจำนวนนี้ 9 ล้านคนอายุต่ำกว่า 60 ปี นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ จึงนำเรื่องนี้เข้ามาพูดในที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ในปี 2011 เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศเห็นภัยของโรคกลุ่มนี้ และให้ทุกประเทศพยายามหาทางเอาชนะให้ได้

เนื่องจากการรักษาเดิมใช้ยาเป็นหลัก ซึ่งได้ผลไม่ดี และต้องใช้เงินซื้อยามาก จนงบประมาณสาธารณสุขของประเทศต่างๆมีปัญหา โรงพยาบาลต่างๆขาดทุนตามๆกัน เนื่องจากคนสูงอายุมีมากขึ้น คนเหล่านี้มีโรคเรื้อรัง 1-3 โรค โรคเหล่านี้มาเป็นชุด เพราะมีที่มาเดียวกัน ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์สุขภาพจึงพยายามวิจัยหาวิธีรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา ใช้อาหารแทนยา และออกกำลังกายร่วมด้วย

ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ก็มีการค้นพบที่น่าสนใจหลายประการกล่าวคือ พบว่า ตัวการที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ คือแป้งและน้ำตาล อาหารคาร์โบไฮเดรตไม่ใช่อาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ เพราะมันไม่ได้ให้สารอาหารอื่นๆ นอกจากพลังงาน คนเราไม่กินอาหารประเภทนี้ก็ไม่เกิดโรคอะไร

ส่วนไขมันเป็นอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายที่ขาดไม่ได้ ไขมันโคเลสเตอรอล เป็นส่วนประกอบสำคัญของสมองและเยื่อหุ้มเส้นประสาทและผนังเซลล์ทั่วร่างกาย ร่างกายของเราใช้ไขมันในการสร้างฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนที่ต้านความเครียด มันเป็นตัวละลายวิตามินเอ ดี อี เค ในการสร้างวิตามินดี ก็ต้องใช้ไขมัน เกลือน้ำดีก็มาจากไขมัน ไขมันโคเลสเตอรอลไม่ใช่สาเหตุของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบดังที่เข้าใจมาในอดีต

ส่วนแป้งและน้ำตาลที่เรากินมากเกินไป โดยเฉพาะในน้ำอัดลม และขนม นมเนย ที่ผลิตโดยขบวนการอุตสาหกรรม ซึ่งวางขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยเฉพาะ น้ำตาลฟรุคโตส (Fructose corn syrup) ในเครื่องดื่ม (www.youtube.com/sugar : the bitter truth) จะเป็นตัวก่อโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม และอื่นๆตามมา

และไขมันทรานส์ที่ทำเป็นผงผสมในขนมหวาน เช่น เค้ก คุกกี้ คอฟฟี่เมต เป็นต้น พวกนี้เป็นตัวร้าย กินมากๆแล้วอ้วน และก่อโรคต่างๆตามมา (www.coconutoil.com/research)

อีกประการหนึ่ง ไขมันอิ่มตัวที่มีโคเลสเตอรอลมาก เช่น ในเนื้อสัตว์ ในน้ำมันมะพร้าว ในเนย นม ไม่ได้เป็นโทษ กินแล้วกลับเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย (www.Ravnskov.nu/cholesterol.htm.) กินไขมันมากแล้วจะผอม เนื่องจากไขมันที่กินเข้าไป ทำให้มีการเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้ในร่างกายของเราที่มากเกิน ออกมาเป็นพลังงาน กินไขมันมากจะไม่หิวข้าว

ตรงกันข้ามกับไขมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัว โอเมก้า 6 มาก เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น ที่เรากินกันทุกวัน เป็นตัวก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดอุดตันในที่ต่างๆ เป็นเบาหวาน (www.youtube.com/enjoy eating saturated fats:they “s good for you.DonaldW.MillerJr,MD.)

อาหาร Low Carb ช่วยรักษาโรคเรื้อรังต่างๆได้ผลดี
ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์สุขภาพจึงทดลองปรับเปลี่ยนสัดส่วนและชนิดของอาหารใหม่ ไม่เอาตามแบบพีระมิดอาหารของอเมริกันที่อยู่ในตำราโภชนาการทั่วไป

โดยให้กินอาหารคาร์โบไฮเดรต ไม่เกินร้อยละ 20 ของพลังงานในแต่ละวัน (ประมาณ 50-100 กรัมต่อวัน) กินผักผลไม้สดวันละ 1จาน (8-10 ทัพพี) กินเนื้อสัตว์ ไข่ ปลา สัตว์ปีกที่ติดมัน ร้อยละ 20 -30 ของพลังงานในแต่ละวัน (ประมาณ 100 กรัม) กินไขมันอิ่มตัว นอกจากไขมันที่มากับเนื้อสัตว์แล้ว ก็กินไขมันอิ่มตัวจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว มื้อละ 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-3 มื้อ หรือใช้น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันคาร์โนล่า ประกอบอาหารก็ได้ สัดส่วนไขมันประมาณร้อยละ 50-60 ของพลังงานในแต่ละวัน โดยเรียกอาหารแบบนี้ว่า อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไขมันสูง (Low Carb High Fat diet, LCHF)

ปกติแพทย์แผนปัจจุบันจะใช้อาหารชนิดนี้รักษาเด็กที่เป็นโรคลมชักซึ่งไม่ตอบสนองต่อการใช้ยากันชัก เมื่อให้ทานอาหารชนิดนี้ก็สามารถระงับอาการชักให้น้อยลงได้ หรือโรคสมองเสื่อมเมื่อให้กินอาหารชนิดนี้แล้ว สมองก็จะทำงานได้ดีขึ้น ความจำฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็กำลังมีการศึกษาวิจัยกันอยู่ นอกจากนั้น แพทย์ยังนำอาหารชนิดนี้มาใช้รักษาโรคมะเร็ง (Low Carb Ketogenic Diet)

เนื่องจากอาหารประเภทนี้ นพ.โรเบิร์ต แอตคินส์ (Robert Atkins) ชาวอเมริกัน ได้นำมาใช้ตั้งแต่ปี 1972 พบว่าได้ผลดีในการลดน้ำหนัก โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และลดความดันได้ดีมาก โดยไม่ต้องกินยาหรือใช้ยาลดน้อยลง เขามีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้โรคอ้วน ราว 25,000 ราย ที่คลินิกของเขา และได้เขียนหนังสือเผยแพร่ ชื่อ Dr.Atkins Diet Revolution หนังสือเล่มนี้จำหน่ายไปทั้งสิ้น 6 ล้านเล่ม ช่วยให้คนอเมริกันหลายล้านคน นำวิธีการของเขาไปใช้อย่างได้ผลดี โดยไม่มีอันตราย แต่วิธีการของหมอแอตคินส์ได้รับการต่อต้านและประณามอย่างรุนแรง โดยชุมชนนักวิชาการด้านโภชนาการ และแพทย์

ต่อมามหาวิทยาลัยต่างๆได้ทำการศึกษาอย่างจริงจังในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่า เป็นอาหารที่มีผลในการบำบัดโรคเรื้อรังอย่างได้ผลดังเช่นที่หมอแอตคินส์อ้างถึงจริง ภายหลังจึงได้ให้เกียรติเขาโดยยกย่องอาหารชนิดนี้ว่า อาหารแบบแอตคินส์ (Atkins Diet) (www.atkins.com)

น่าเสียดายที่หมอแอตคินส์ได้เสียชีวิตก่อนที่จะได้เห็นความสำเร็จจากผลการทดลองอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างไรก็ดี เป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์แล้วว่า อาหารชนิดนี้ใช้รักษาโรคเรื้อรังต่างๆอย่างได้ผลดี โดยไม่ต้องกินยา สามารถลดน้ำหนัก ลดความดัน ควบคุมน้ำตาลได้ดี ไม่ต้องกินยาเบาหวาน ช่วยให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง ไขมันเลวลดลง (LDL-C) และเพิ่มไขมันดี (HDL-C) อย่างชัดเจน ไม่ต้องกินยาลดไขมัน

เมื่อเทียบกับอาหารแบบ Low Fat แล้ว อาหาร Low Carb มีประสิทธิภาพเหนือกว่า อาหาร Low Fat อย่างชัดเจน (www.authuritynutrition.com/23 Studies on Low carb and Low Fat Diets) จนกระทั่งนิตยสาร TIME ได้นำเรื่องอาหาร Low Carb Diets ไปตีพิมพ์

ปีนี้เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการโภชนาการของโลก ในรอบ 50-60 ปีก็ว่าได้ กระทรวงสาธารณสุขของประเทศสวีเดน ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องอาหาร และในที่สุดสวีเดนก็เป็นประเทศแรกที่ประกาศให้ประชาชนของตนเปลี่ยนมาใช้อาหาร Low Carb โดยเฉพาะคนไข้โรคเรื้อรังต่าง (www.healthimpactnews.com/sweden-becomes-first-western-nation-to-reject-low-fat-diet.)

และเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2015 คณะกรรมการกำหนดแนวทางการรับประทานอาหารแก่ประชาชนสหรัฐ(Dietary Guidelines Advisory Committee) ได้มีการประกาศออกมาแล้วว่า การรับประทานเนื้อสัตว์และไข่ ไม่ได้ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น และไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรัง ให้รับประทานโคเลสเตอรอลได้วันละ 300 มิลลิกรัม เท่ากับไข่สองฟองโดยไม่มีอันตราย

นอกจากนั้น คณะกรรมการยังแนะนำให้กินอาหารแนวเมดิเตอร์เรเนียน คือ กินธัญพืชครบถ้วน เนื้อสัตว์ น้ำมันคุณภาพสูง เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันอโวคาโด ซึ่งเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจต่ำ และยังพบว่า คนอเมริกันกินผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช นมไขมันต่ำ น้อย กินอาหารแปรรูปมากเกินไป พวกขนมปังขาว พาสต้า และธัญพืชบรรจุเป็นห่อๆ ผสมเกลือและน้ำตาลมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้ยังคงแนะนำให้กินไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ยังเป็นแบบ Low Fat อยู่ (www.reuters.com/love to eat eggs)

เป็นอันว่า อาหาร Low Carb มีงานวิจัยสนับสนุนว่า สามารถนำมาใช้รักษาโรคเรื้อรังได้ผลดีโดยไม่ต้องกินยา ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้มาก คนไข้ไม่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา และอาหารชนิดนี้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลในเลือดต่ำในคนไข้เบาหวาน สอดคล้องกับการแก้ปัญหาของคนในโลกปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลในประเทศต่างๆที่กำลังมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอในการรักษาโรคเรื้อรัง

กินแต่พอดี ไม่มีโรค
อย่างไรก็ตาม เราในฐานะคนดูก็อยากจะรู้ว่า แบบไหนจะดีกว่ากัน เพราะมันกินอาหารกันคนละทิศทาง คือตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ดังนั้น องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ก็เลยจัดให้มีการโต้วาทีทางวิชาการ ระหว่างแพทย์ที่ใช้อาหารด้าน Low Fat และ Low Carb ในการบำบัดโรค ว่าอันไหนจะดีกว่ากัน ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปชมการโต้วาทีกันได้ไน www.youtube.com/ USDA the great nutritional debate, lowcarb gurus vs plant based physicians และเรื่อง www.youtube.com/BBC story about low carb (full) ก็จะได้ความรู้มากมาย

ท่านผู้อ่านครับ โดยสรุป..เราสามารถทดลองใช้อาหารในการรักษาโรคเรื้อรังได้ทั้งสองระบบ ตามแต่ศรัทธา แต่ต้องลดเกลือและน้ำตาลลง จึงจะลดความดันลงได้มาก การจะใช้อาหารระบบใดก็แล้วแต่ ในแง่ความดันลดลงได้ทั้งสองระบบไม่ต่างกัน

ในฐานะเราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรากินอาหารแต่พอดี (โภชเนมัตตัญญุตา) ต้องจำไว้เสมอว่า ของดีๆ ถ้ากินมากเกินไปก็กลายเป็นของไม่ดีนะครับ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
ในปี 1984 คณะกรรมการด้านโภชนาการของสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ใช้อาหารระบบไขมันต่ำ กินเนื้อสัตว์ ไข่ให้น้อยเพราะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
อาหาร DASH
ปัจจุบันนี้ มีงานวิจัยพบว่า ไขมันอิ่มตัว เนื้อสัตว์ติดมัน ไข่ เนย (Butter) น้ำมันมะพร้าว มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ได้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ
ปัจจุบันนี้ มีงานวิจัยพบว่า ไขมันอิ่มตัว เนื้อสัตว์ติดมัน ไข่ เนย (Butter) น้ำมันมะพร้าว มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ได้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ
นพ.โรเบิร์ต แอตคินส์
นพ.โรเบิร์ต แอตคินส์ กับอาหาร Low Carb
อาหาร Low Carb
สวีเดนเป็นชาติแรกที่แนะนำให้ประชาชนกินอาหารแบบ Low Carb ซึ่งมีไขมันสูงร้อยละ 50-60
หนังสือของ นพ.โรเบิร์ต แอตคินส์


กำลังโหลดความคิดเห็น