xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทำกิจวัตรประจำวันช่วยลดเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
ข่าวนี้อาจทำให้หลายคนหายขี้เกียจ เพราะกิจวัตรประจำวันนั้น อาจช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสัน

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Brain : A Journal of Neurology ซึ่งศึกษาหญิงและชายกว่า 43,000 คนในประเทศสวีเดน โดยติดตามกว่า 12 ปี พบว่า เกือบ 300 คน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน

โดยระบุว่า คนที่ทำงานบ้านมากกว่าสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง และต้องเดินทางไปทำงานเป็นประจำ มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันต่ำกว่าคนที่มีกิจวัตรประจำวันน้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ถึง 43% ขณะที่ผู้ชายที่ทำกิจกรรมระดับปานกลาง มีโอกาสเป็นโรคพาร์กินสันน้อยกว่าผู้ชายที่ทำน้อยมาก ถึง 45%

คาริน เวียร์เดอเฟลด์ แห่งสถาบันคาโรลินสก้า กรุงสตอกโฮล์ม ผู้เขียนงานวิจัยสรุปว่า การทำกิจวัตรประจำวันพอประมาณ มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นโรคพาร์กินสัน และการออกกำลังกายยามว่างเพียงอย่างเดียว ไม่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคดังกล่าว

ระวัง..กินของทอดบ่อย เสี่ยงหัวใจล้มเหลว
ใครที่ชอบกินของทอดต้องระวัง.. เพราะอาจกำลังหยิบยื่นความตายเข้าปากตัวเอง!!

การศึกษาวิจัยที่นำโดย ศ.ดร.ลุค จูส คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้เก็บข้อมูลจากนายแพทย์กว่า 15,300 คน อายุเฉลี่ย 66 ปีเมื่อเริ่มวิจัย โดยให้ตอบแบบสอบถามเรื่องอาหารและการรับประทานของทอด เป็นเวลา 3 ปี และติดตามผลราว 10 ปีต่อมา พบว่า มี 632 คนเป็นโรคหัวใจล้มเหลว

โดยเมื่อเทียบกับคนที่กินของทอดน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง พบว่า คนที่กินของทอด 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจล้มเหลวมากกว่าราว 23% คนที่กิน 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์ เสี่ยงมากกว่าราว 26% และคนที่กิน 7 ครั้งหรือมากกว่าต่อสัปดาห์ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจล้มเหลว 100%

ทั้งนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การรับประทานของทอดอาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน

สารก่อมะเร็งในภาชนะโฟม..อันตรายสุดๆ !!
ปัจจุบัน ผู้ขายอาหารมักนิยมใช้ภาชนะสำเร็จรูปที่ทำจากโฟม ทั้งจาน ถ้วย กล่อง บรรจุอาหาร เช่น ข้าวผัด กระเพาะปลา ก๋วยเตี๋ยว เนื่องจากสะดวก ใช้ง่าย รวดเร็ว และราคาถูก แต่นี่เป็นเรื่องที่อันตรายสุดๆ ซึ่งขณะนี้กรมอนามัย กำลังรณรงค์ลด ละ เลิกการใช้ภาชนะโฟม บรรจุอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า การนำภาชนะโฟมมาบรรจุอาหารร้อน ต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากโฟมสัมผ้สกับอาหารร้อนจัดเป็นเวลานาน จะทำให้เสียรูปทรง เกิดการหลอมละลาย มีสารเคมีที่อยู่ในเนื้อโฟม ซึ่งมองไม่เห็นปนเปื้อนออกมาอยู่ในอาหาร ทำให้เกิดอันตรายสะสมอยู่ในร่างกาย แบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รู้ตัว

สารเคมีที่พบในภาชนะโฟม ที่สำคัญมี 3 ตัว ได้แก่ 1. สารสไตรีน (Styrene) เป็นสารก่อมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก มีผลต่อสมองและเส้นประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ทำให้มีปัญหาต่อมไทรอยด์และประจำเดือนในสตรีผิดปกติ 2. สารเบนซิน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน สารชนิดนี้ละลายได้ดีในน้ำมัน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง หากได้รับสารชนิดนี้เป็นเวลานาน ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากสารเบนซินจะทำลายไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลง 3. สารพทาเลท (Phthalate) เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้ชายเป็นหมัน หากเป็นหญิงมีครรภ์ ลูกอาจมีอาการดาวน์ซินโดรมและอายุสั้นได้

ทั้งนี้ การละลายของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมากน้อยขั้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ อุณหภูมิอาหาร ไขมันในอาหาร และระยะเวลาที่อาหารสัมผัสกับภาชนะโฟม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภทผัด ทอด จะทำให้สารสไตรีนละลายออกมาได้มากกว่า

คนสูงวัยกินพอดีคำ ไม่สำลัก-ติดคอ
วัยชราเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพและระบบการทำงานต่างๆของร่างกาย รวมทั้งการกลืนอาหารด้วย กรมอนามัยจึงได้แนะวิธีกินอาหารให้ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการสำลักอาหารหรืออาหารติดคอ

ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาในการกลืนอาหาร เริ่มตั้งแต่ในช่องปาก มีอาการปากแห้ง การสร้างน้ำลายน้อยลง การไม่มีฟัน และกำลังในการบดเคี้ยวลดลง ทำให้ต้องใช้เวลาบดเคี้ยวนานขึ้น การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง ทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร อีกทั้งคอหอยก็ปิดช้ากว่าคนหนุ่มสาว ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้น ทำให้มีโอกาสสำลักอาหารมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุต้องหยุดหายใจขณะกลืน โดยเริ่มหยุดหายใจตั้งแต่หายใจเข้า ทำให้เมื่อกลืนอาหารแล้วต้องรีบหายใจทันที จึงทำให้มีโอกาสเกิดการสำลักได้ง่าย

สำหรับวิธีการปฏิบัติในการกินอาหารให้ปลอดภัยของผู้สูงอายุ มีดังนี้ 1. นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร และหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที 2. กินอาหารช้าๆ อย่างตั้งใจ ให้เวลากับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ 3. อย่ากินอาหารขณะเหนื่อย หรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที 4. อาหารที่กินควรมีขนาดชิ้นเล็กๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป 5. ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การดูทีวี 6. กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อหลากหลายชนิดใน 1 คำจะสำลักง่าย 7. อาจกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว 8. อย่ารับประทานอาหารแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้เนื้ออาหารชุ่ม และนุ่มขึ้น

ไม่อยากปอดบวม..คนแก่ห้ามใส่ฟันปลอมนอน
“เหงือกจ๋า..ฟันปลอมขอลา ก่อนเข้านอน” นี่คือเสียงคำเตือนที่ฟันปลอมอยากจะบอกบรรดาผู้สูงวัยก่อนนอนว่า ขอให้ถอดพวกมันออกซะ เพื่อป้องกันมิให้ปอดบวม

เนื่องจากมีรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Dental Research นำโดย โตชิมิตสึ ไออินึมะ และผู้ร่วมวิจัยจากคณะทันตกรรม มหาวิทยาลัยนิฮอน ประเทศญี่ปุ่น เผยว่า ได้ศึกษาชายหญิง 524 คน อายุเฉลี่ยราว 88 ปี เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้น มีผู้สูงวัยป่วยด้วยโรคปอดบวม ต้องรักษาในโรงพยาบาล 28 คน และเสียชีวิต 20 คน

การวิจัยพบว่า ในจำนวน 453 รายที่ใส่ฟันปลอม มี 41% ที่ใส่ขณะนอนหลับ เสี่ยงเป็นโรคปอดบวมถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับคนที่ถอดก่อนนอน

อีกทั้งผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอมนอน มักมีปัญหาต่างๆ อาทิ มีคราบจุลินทรีย์ตามลิ้นและฟันปลอม เหงือกอักเสบด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย กองบรรณาธิการ)




กำลังโหลดความคิดเห็น