xs
xsm
sm
md
lg

เร่งสร้างพื้นที่ปลอดโฟมบรรจุอาหาร หวั่นรับสารก่อมะเร็ง ทำลายระบบสืบพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัยเร่งสร้างพื้นที่ปลอดโฟมบรรจุอาหาร เน้นใช้วัสดุธรรมชาติ ปฏิเสธการใช้โฟม ขยายรณรงค์ รพ. ในสังกัด สธ. ทั่วประเทศ พร้อมจับมือ 14 หน่วยงานเอกชน ร่วมรณรงค์เลิกใช้โฟมบรรจุอาหาร หวั่นรับสารก่อมะเร็ง ทำลายระบบสืบพันธุ์

วันนี้ (5 มี.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ “การรณรงค์ลด ละ เลิกการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับ 14 องค์กรภาคเอกชน ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าอาหารมักนิยมใช้ภาชนะสำเร็จรูปที่ทำจากโฟม ทั้งจาน ถ้วย กล่อง ในการบรรจุอาหารปรุงสำเร็จ เนื่องจากสะดวก ใช้ง่าย รวดเร็ว และราคาถูก ซึ่งการนำมาบรรจุอาหารร้อนต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากโฟมสัมผัสกับอาหารร้อนจัดเป็นเวลานาน จะทำให้เสียรูปทรง หลอมละลาย จนสารเคมีในเนื้อโฟม ซึ่งมองไม่เห็นปนเปื้อนออกมาอยู่ในอาหาร ทำให้เกิดอันตรายสะสมอยู่ในร่างกาย แบบค่อยเป็นค่อยไป

นพ.พรเทพ กล่าวว่า สารเคมีที่พบในภาชนะโฟมบรรจุอาหารมี 3 ตัว ได้แก่ 1. สารสไตรีน (Styrene) เป็นสารก่อมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก มีผลต่อสมองและเส้นประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ทำให้มีปัญหาต่อมไทรอยด์ และประจำเดือนในสตรีผิดปกติ 2. สารเบนซิน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน สารชนิดนี้ละลายได้ดีในน้ำมัน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง หากได้รับสารชนิดนี้เป็นเวลานาน ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากสารเบนซินจะทำลายไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลง และ 3. สารพทาเลท (Phthalate) เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้ชายเป็นหมัน หากเป็นหญิงมีครรภ์ลูกอาจมีอาการดาวน์ซินโดรมและอายุสั้นได้ ซึ่งการละลายของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้จะมากน้อยึ้นอยู่กับ อุณหภูมิอาหาร ไขมันในอาหาร และระยะเวลาที่อาหารสัมผัสกับโฟม โดยอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้สารสไตรีนละลายออกมาได้มากกว่า

รัฐบาลมีนโยบายเร่งจัดการอันตรายจากโฟมบรรจุอาหาร และมอบให้กรมอนามัย รณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร โดยเริ่มในพื้นที่ สธ. ซึ่งมีผู้ประกอบการในโรงอาหารและตลาดนัด รวม 311 ราย สามารถเลิกใช้ได้ 100% เมื่อ 31 ต.ค. 2557 และในปีนี้ได้ขยายรณรงค์ไปยังหน่วยงานในสังกัด สธ. ทั่วประเทศ เช่น สสจ. โรงพยาบาล ศูนย์วิชาการกรมต่างๆ สำหรับยุทธศาสตร์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร เน้น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. สร้างเขตพื้นที่ปลอดการใช้โฟมใส่อาหาร ให้ใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษชานอ้อย เนื่องจากเป็นสารอินทรีย์ ย่อยสลายตามธรรมชาติใน 45 วัน ต่างจากโฟมที่ใช้เวลาย่อยสลายถึง 1,000 ปี 2. รณรงค์ใช้วัสดุธรรมชาติดั้งเดิม เช่น ใบตอง ห่อข้าว หรือขนม และ 3. ปฏิเสธการใช้โฟมทุกรูปแบบ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

สำหรับหน่วยงานที่ร่วมลงนาม ได้แก่ 1. บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด 2. บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด 3. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด 4. บริษัท ยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด 5. บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท นิตยาไก่ย่าง จำกัด 8. สมาคมตลาดสดไทย 9. สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย 10. สมาคมธุรกิจอาหารและสปาไทย 11. โครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัย เพื่อสุขภาพ อร่อยได้ไร้แอลกอฮอล์ 12. บริษัท เสรีพรีเมียร์ จำกัด ผู้บริหารตลาดเสรีมาเก็ต เดอะไนน์ พระราม 9 13. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) และ 14. บริษัท เอ็นเนอร์จี คอมเพล๊กซ์ จำกัด







ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น