• นครพนมเตรียมจัดงาน “สัปดาห์มาฆบูชาอาเซียน”
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดนครพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วิทยาลัยสงฆ์นครพนม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมจัดโครงการสัปดาห์มาฆบูชาอาเซียน
พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เปิดเผยว่า การจัดงาน“สัปดาห์มาฆบูชาอาเซียน” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1–6 มีนาคม 2558 ณ ศาลาตรีมุขกาญจนาภิเษก วัดพระธาตุพนม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนสู่ประชาชน โดยใช้มิติทางศาสนาและวัฒนธรรมเป็นแกนกลาง ระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ของจังหวัดนครพนมและแขวงคำม่วน รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
ภายในงานจะมีการแสดงนิทรรศการทางพระพุทธศาสนา การให้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแสดงพระธรรมเทศนา การปฏิบัติธรรม เวียนเทียนนานาชาติ และการเทศน์แหล่นานาชาติของคณะสงฆ์ไทย-ลาว การทำบุญ-ตักบาตร การประกวดร้องเพลงธรรมะส่งเสริมศีลธรรม และการประกวดขับร้องสรภัญญะทำนองพื้นบ้าน เกี่ยวกับการรักษาศีล 5 และคุณธรรม 12 ประการ
• มูลนิธิโรคไตฯจัดโครงการปลูกถ่ายไตฟรี 600 ราย ถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวในการแถลงข่าว “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ณ ห้องประชุมสลากกินแบ่งรัฐบาล ชั้น 9 ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ ว่า
มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ศิริราชมูลนิธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สํานักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง จัดสรรงบประมาณ 50 ล้านบาท จัดโครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ตั้งเป้าปลูกถ่ายไตฟรีให้ผู้ป่วย 600 ราย เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2559
โดยจะคัดเลือกผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษา ที่ขึ้นทะเบียนขอรับบริจาคไตกับทางสภากาชาดไทย ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 4,500 ราย หากรายใดมีกรุ๊ปเลือดและเนื้อเยื้อเข้ากับไตที่ได้รับบริจาค จะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตทันที การปลูกถ่ายไตถือเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นเสมือนการชุบชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และยังเพิ่มโอกาสในการมีทายาท เนื่องจากปกติผู้ป่วยโรคไตจะมีบุตรยาก
• เตรียมสร้างพุทธอุทยานสังเวชนียสถานจำลอง ถวายเป็นพุทธบูชา ถวายเป็นพระราชกุศล 88 พรรษา “ในหลวง” 60 พรรษา “สมเด็จพระเทพฯ”
มูลนิธิธรรมดี ร่วมกับ คณะกรรมการสร้างพุทธอุทยาน สังเวชนียสถานจำลอง ณ วัดปัญญานันทาราม คณะพุทธบริษัทวัดปัญญานันทาราม และศิษยานุศิษย์พระธรรมโกศาจารย์(พุทธทาสภิกขุ) พระพรหมมังคลาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ) และพระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ร่วมก่อสร้างพุทธอุทยาน สังเวชนียสถานจำลอง ณ วัดปัญญานันทาราม ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา 2 เมษายน 2558
พระปัญญานันทมุนี กล่าวว่า “การสร้างสังเวชนียสถานจำลองครั้งนี้ มาจากการรำลึกถึงคำของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ว่า การได้ไปเห็นสังเวชนียสถาน เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจมาก และจะมีความรู้สึกว่าพระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่จริงๆ ขณะที่หลวงพ่อพุทธทาสเคยบอกไว้ว่า อยากจะทำสังเวชนียสถานน้อยขึ้นในสวนโมกข์ แต่ก็ไม่ได้ทำ
อาตมาได้เห็นถึงความตั้งใจของครูบาอาจารย์ ก็เลยคิดว่าน่าจะสานต่อความคิด”
พระปัญญานันทมุนี ยังกล่าวด้วยว่า พุทธอุทยานสังเวชนียสถานจำลองที่จะสร้างขึ้นที่วัดปัญญานันทาราม ได้แก่ เจดีย์พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้, ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ, สารนาถ (ธัมเมกขสถูป) สถานที่แสดงปฐมเทศนา และกุสินารา สถานที่เสด็จปรินิพพาน เพื่อให้ความสะดวกแก่ชาวพุทธ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด
นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมระดมทุน เพื่อสมทบทุนก่อสร้างพุทธอุทยาน สังเวชนียสถานจำลอง ณ วัดปัญญานันทาราม ซึ่งโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณสูง สังเวชนียสถานจำลองประมาณ 75 ล้านบาท เมื่อเสร็จแล้วจะต้องมีสถาบันปัญญานันทะ เพื่อให้ปัญญาแก่ชาวพุทธ ใช้งบราว 150 ล้านบาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 7 ตุลาคม 2558
ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสร้างพุทธอุทยาน สังเวชนียสถาน สามารถบริจาคเข้าบัญชี โดยโอนเงินผ่านธนาคาร ชื่อบัญชี วัดปัญญานันทาราม (อินเดียน้อยสังเวชนียฯ) หมายเลขบัญชี 152-0-35082-1 (ออมทรัพย์) ธนาคารกรุงไทย สาขาตลาดไท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2610-2388 หรือ อีเมล : watpanya2556@gmail.com และมูลนิธิธรรมดี www.do-d-foundation.com
• สปช.เสนอปฏิรูปพระพุทธศาสนา ตีความพระธรรมวินัย-ให้ภาคประชาชนร่วมจัดการทรัพย์สิน
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ได้มีการประชุมครั้งแรก โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เน้นการปกครองภายในของพระสงฆ์ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หากไม่มีการปฏิรูปแล้ว กิจการของศาสนาก็จะเสื่อมลง
โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีสวนเกี่ยวข้องในด้านกฎหมายร่วมเป็นกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางปฏิรูปและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนา พิจารณาและเสนอแนะต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา โดยการมีส่วนร่วมจากพุทธบริษัท
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการอภิปรายแสดงความเห็นอย่างหลากหลายต่อเรื่องดังกล่าว ซึ่งประธานที่ประชุมได้สรุปว่า ทางกรรมาธิการได้มีแนวทางที่จะปฏิรูปให้มีกลไกในการตีความพระธรรมวินัยให้ถูกต้องชัดเจน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ปฏิรูปให้มีการดูแลพระสงฆ์ให้อยู่ในพระธรรมวินัย และให้มีการเข้าใจในระหว่างศาสนาต่างๆ ด้วย
• สวทช. ร่วมมือ 4 หน่วยงานโภชนาการและสุขภาพ พัฒนาแอปแนะนำการบริโภคอาหารและดูแลสุขภาพ
นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมอนามัย ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชั่น FoodiEat โดยมีเป้าหมายให้คนไทยสนใจดูแลสุขภาพด้วยวิธีการจากเรื่องใกล้ตัว ผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ
แอปพลิเคชั่น FoodiEat เป็นโปรแกรมบันทึก และวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายให้สามาถทำงาน และได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยรวบรวมข้อมูลโภชนาการอาหารทุกประเภทที่ปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลา สามารถบันทึกพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และคำนวณค่าพลังงานที่เผาผลาญจากการออกกำลังกาย รวมถึงให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ และการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพ
สำหรับแอปพลิเคชั่น FoodiEat สามารถดาวน์โหลดติดตั้งบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตได้ฟรี ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดยได้ปรับรูปแบบให้ใช้งานง่าย มีเมนูเป็นภาษาไทย เมื่อเข้าไปใช้งานแอปพลิเคชั่นจะสามารถประเมินความเหมาะสมของรูปร่างผู้ใช้งาน คำนวณปริมาณแคลอรีอาหารแต่ละชนิด การออกกำลังกาย รวมถึงให้คำแนะนำการออกกำลังกายให้สอดคล้องกับปริมาณการรับประทานอาหาร และรูปร่างของผู้ใช้งานด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกาย ที่ถูกใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นดังกล่าว ถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับหน่วยงานภาครัฐด้านโภชนาการและสุขภาพของประเทศ นำมาต่อยอดศึกษาวิจัย เพื่อปรับปรุงและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของคนไทยต่อไป
• สพฉ.จับมือ สธ. ติดตั้งเครื่อง AED ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พัฒนาระบบการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยสนับสนุนให้มีการติดเครื่อง AED (Automated External Defibrillator-เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ) ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงจะเพิ่มการรณรงค์ให้มีการเตรียมพร้อมการช่วยฟื้นคืนชีพ ในที่สาธารณะที่มีโอกาสและความเสี่ยงจะเกิดภาวะฉุกเฉินดังกล่าวขึ้นอย่างครบวงจร โดยในระยะเริ่มต้นได้ตั้งเป้าหมายให้มีการติดตั้งเครื่อง AED และฝึกการปฐมพยาบาลพร้อมการช่วยฟื้นคืนชีพให้ครบวงจรให้ได้อย่างน้อย 3,000 แห่งทั่วประเทศภายใน 3 ปี
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เครื่อง AED มีรูปแบบการทำงานเป็นระบบปฏิบัติการแบบอิเล็กทรอนิกส์พกพา ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถใช้เครื่องนี้ได้ภายใต้คำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเมื่อมีการเปิดการใช้งาน เครื่อง AED จะเริ่มวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้น หากหัวใจเต้นผิดจังหวะและเป็นอันตรายถึงชีวิต เครื่องจะรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจ เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ หากประชาชนพบผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เบื้องต้นต้องตั้งสติ และรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)