xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : 8 วิธีทำดี ชีวีมีสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เริ่มต้นปีใหม่ ใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข ก็ต้องเริ่มทำดีจากสิ่งเล็กๆ หมั่นสะสมความดีไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ ถวายทาน หรือแม้กระทั่งฟังเทศน์ ฟังธรรม แล้วอย่าคิดว่าทำครั้งเดียวจะเห็นผลทันที อยากให้เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่พอจะทำได้ แล้วทำต่อไปเรื่อยๆ นี่คือหนทางที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข”

พระมหานงค์ สุมงฺคโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร กล่าว พร้อมเผย 8 วิธี เพื่อให้คนไทยมีความสุขตั้งแต่ต้นปี 2558 ในการบรรยายธรรมพิเศษหัวข้อ “รู้อย่างนี้ทำดีตั้งนานแล้ว” ตามโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” ซึ่งจัดเป็นประจำทุกวันศุกร์ ณ อาคารซีพี ทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนสีลม กรุงเทพฯ

กลเม็ด เคล็ด(ไม่ลับ)วิธีทำให้ชีวิตมีความสุขทั้ง 8 ข้อ มีดังนี้

ข้อ 1 พึงให้มีสติอยู่ทุกขณะ เป็นเรื่องที่สำคัญของการเริ่มต้นชีวิต เพราะสังคมทุกวันนี้มีความรวดเร็วในการสื่อสาร ข้อมูลหลั่งไหลเข้ามาให้เราเรียนรู้อยู่ทุกขณะ ดังนั้น จึงต้องมีสติยั้งคิด ยั้งทำ สติจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่ที่เราฝึกฝนเป็นประจำ

ข้อ 2 พึงรักษาสัจจะอยู่เป็นนิจ สัจจะคือความจริงใจ ซื่อตรง ซึ่งต้องมีความซื่อสัตย์ให้มาก โดยเฉพาะคำพูดที่ออกจากปากเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าโกหกแม้เพียงครั้งเดียว ก็จะทำลายความน่าเชื่อถือทันที ดังสุภาษิตไทยที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” ถ้าอยากให้ชีวิตราบรื่น ก็ต้องพึงมีสัจจะเป็นพื้นฐาน

ข้อ 3 รู้เห็นสิ่งใดที่ถูกผิด ให้รู้ในสิ่งที่ถูกผิด ให้รู้สิ่งไหนควรไม่ควร วิธีที่จะทำให้เราไม่หลงผิด คือ การมีสติอยู่ทุกขณะ รู้ถูก รู้ผิด รู้ชั่ว รู้อะไรดีไม่ดี และรู้จักกลั่นกรอง ฟังข้อมูลมากๆ ฟังบ่อยๆ เสพข้อมูลหลายๆด้าน แล้ววิเคราะห์ให้มาก ก็จะทำให้ไม่ประมาทหลงเชื่อข้อมูลทันทีที่ได้รับมา

ข้อ 4 มีเมตตาจิตอยู่เป็นประจำ คนไทยมีความรัก ความเมตตาอารี ปรารถนาดี และเอื้อเฟื้อต่อกัน เป็นพื้นฐานทางจิตใจของคนในสังคม แต่ระยะหลังสิ่งเหล่านี้จำเพาะเจาะจงมากขึ้น เพราะสังคมเรามีกิเลส ทั้งความโลภ โกรธ หลง ทั้งนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเราไม่หาวิธีบำบัด ไม่หาวิธีป้องกันรักษา กิเลสตัณหาก็เกิดขึ้น วิธีแก้ก็คือต้องหมั่นปฏิบัติธรรม เพื่อให้ใจมีธรรมะ ฝึกอบรมจิต เมตตาจิต ให้เกิดจิตใจที่มีความรู้สึกปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่สม่ำเสมอ

ข้อ 5 กิเลสตัณหาอย่าเข้าใกล้ ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี ยิ่งสมัยนี้จะคิดหรือจะทำอะไร ต้องคิดเสมอว่ามีคนจับตาดูอยู่ “ความลับไม่มีในโลก” เช่น หากจะแชร์ข้อมูลก็ต้องคิดก่อน เพราะถ้ากดแชร์ไปแล้ว คำว่าส่วนตัวก็จะไม่มีอีกต่อไป นั่นอาจเป็นเพียงชั่ววูบของความรู้สึกจากกิเลสตัณหาก็เป็นได้

ข้อ 6 ต้องฝึกขันติไว้อย่าให้ถลำ ขันติเท่านั้นที่จะช่วยเยียวยารักษาทุกสิ่ง ยิ่งทุกวันนี้ความอดทนของคนมีน้อย เพราะอยู่ภายใต้เทคโนโลยีที่สะดวกรวดเร็ว อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ขันติธรรมจะช่วยเยียวยา แต่ก็ต้องอดทน ฝึกจิต ภาวนาจิต เป็นประจำ ก็จะช่วยเกิดความยับยั้งชั่งใจได้

ข้อ 7 ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรม เวลาที่เราฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ถือตนอยู่ในศีลในธรรม ละอายชั่ว กลัวบาป จะทำให้เกิดความรู้สึกดี ใจสงบ และตั้งมั่นอยู่ในการทำคุณความดี

ข้อ 8 บุญคุณต้องจดจำให้ขึ้นใจ เราทำอะไรให้ใครอย่าไปจำ แต่ถ้ามีใครทำอะไรให้เราต้องจำไว้ให้มั่น ไม่ว่าจะเป็นข้าวหนึ่งคำหรือน้ำหนึ่งหยดก็ตาม ให้นึกถึงความดีงามของคนอื่น บุญคุณของคนอื่นต้องจำให้มาก ยิ่งในช่วงที่เรากำลังทุกข์ยากลำบาก ยิ่งเป็นเรื่องที่จะต้องใส่ใจ เพราะเป็นบุญคุณยิ่งใหญ่

อย่าไปคิดว่าเรื่องกตัญญูมีเฉพาะต่อพ่อแม่เท่านั้น แต่เรื่องของบุญคุณนี้ให้นึกถึงทุกคนที่ปรารถนาดีกับเรา รวมถึงบุญคุณของแผ่นดินไทย ที่ทำให้เราได้อยู่ทุกวันนี้ เราต้องมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น