ลูกชาย : แม่ครับ โต๋มาจากไหน?
แม่ : (คิดในใจ) คำถามยอดฮิตมาแล้ว อิๆๆ เราคุณแม่สมัยใหม่ ฝึกตอบมาเรียบร้อยแล้ว
(พูดกับลูก) โต๋ก็มาจากท้องของแม่ไง นอนหลับอุตุอยู่ในห้องแม่เก้าเดือนแล้ว โต๋ก็คลอดออกมา
ลูกชาย : แล้วโต๋มายังไง?
แม่ : (คิดในใจ) อิๆๆๆ คำถามนี้หวานหมู รับรองไม่มีโป๊
(พูดกับลูก) คุณลุงหมอก็เป็นคนพาโต๋ออกมาจากท้องมาเจอหน้าพ่อกับแม่ไง พอคุณหมอตบก้นโต๋เบาๆเรียกให้ตื่น โต๋เลยตกใจร้องอุแว๊เสียงดังลั่นเลย พอเห็นหน้าโต๋พ่อกับแม่ก็ดีใจที่สุดเลย
ลูกชาย : เอ๊ะ! ทำโต๋ไม่เห็นเหมือนเพื่อนเลยอ่ะ ครูถามว่าใครมาจากไหนกันบ้าง อย่างบอสเขามาจากจังหวัดขอนแก่น แล้วแม่บอสขับรถมา พอถึงกลางทางรถเสีย กว่าจะถึงกรุงเทพฯลำบากมากเลย ตกลงโต๋มาจากจังหวัดไหนครับ?
แม่ : อยู่กรุงเทพฯ! ไม่ได้มาจากไหนทั้งนั้น! เกิดแล้วโตที่นี่จนปีนี้หกขวบแล้ว!!! (น้ำเสียงเสียอารมณ์)
ลูกชาย : ว๊า!! ดูดิ! ไม่มีอะไรสนุกๆตื่นเต้นเลยอ่ะ (ถอนหายใจแบบเซ็งๆ)
• หมอเหมียวชวนคุย
พ่อแม่ส่วนใหญ่มักกลัวหรืออึดอัดเมื่อต้องตอบคำถามลูกเรื่องเพศ คุณแม่ในเรื่องรู้วิธีตอบลูกวัยเด็กเล็กให้เข้าใจเรื่องเพศ ด้วยคำง่ายๆย้ำความมั่นใจว่า ลูกเกิดมาจากความรักของพ่อแม่ การเข้าใจความคิดของเด็กในแต่ละช่วงวัยจึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้พ่อแม่ตอบคำถามตรงใจตามที่เด็กๆอยากรู้ ไม่ใช่ตอบแบบไปไหนมาสามวาสองศอกค่ะ
• คำถามที่มาตามวัย
เด็กวัย 3-6 ปี พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รู้จักคำศัพท์และคำใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น เริ่มรู้จักการอ่านการเขียน พัฒนาการทางภาษาที่เพิ่มขึ้นช่วยตอบสนองต่อธรรมชาติความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก เด็กวัยนี้จึงช่างซัก ช่างถาม อยากรู้เกี่ยวกับตัวเอง และคนอื่นๆที่เกี่ยวของกับตัวเอง ประกอบกับเด็กเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างทางสรีระภายนอกระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย พ่อแม่ที่มีลูกในวัยนี้มักเจอคำถามไฟท์บังคับคือ “หนูเกิดมาจากไหน?”
การถามอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ พ่อแม่มักไม่อยากตอบ ติดค้างใจว่าเป็นเรื่องปกปิดซ่อนเร้น จึงเลี่ยงไม่ตอบ หรือดุว่าเมื่อลูกถาม ซึ่งเด็กไม่ได้ทะลึ่งหรือหมกมุ่นเรื่องเพศมากเกินไป แต่เป็นไปตามความอยากรู้อยากเห็นตามวัย ซึ่งเด็กไม่ได้ต้องการคำตอบที่มีเหตุผลซับซ้อนอย่างที่ผู้ใหญ่คิด แต่ต้องการเหตุผลง่ายๆ มีข้อเท็จจริงที่ไม่ซับซ้อน เช่น
“หนูเกิดมาจากไหน?” เกิดจากท้องแม่ หนูตัวโตขึ้นทุกวัน จนวันหนึ่งหนูก็อยากออกมาเจอพ่อแม่
“แล้วหนูออกมายังไง?” คุณหมอพาหนูออกมา พอเห็นหน้าหนู พ่อกับแม่ดีใจมากเลย (เด็กไม่ได้ต้องการรู้เกี่ยวกับระบบคลอด)
“แล้วหนูไปอยู่ในท้องแม่ได้ยังไง?” หนูเป็นไข่ใบจิ๋วๆอยู่ในตัวแม่ก่อน แล้วอสุจิของพ่อก็วิ่งมาเจอกับไข่ ก็ผสมกันแล้วหนูก็ค่อยๆโตขึ้นมา
“ทำไมจิ๋มแม่มีขนแล้วของหนูไม่มี?” พอหนูโตขึ้นเท่าพี่ปิ่น โตเท่าแม่ หนูก็จะมีเหมือนกัน
ฯลฯ
หากพ่อแม่ยังเขิน ไม่รู้จะตอบลูกยังไง ก็อาจไปหาซื้อหนังสือเด็กเกี่ยวกับกำเนิดทารกมาเตรียมไว้ก่อน พอลูกถามก็งัดออกมาใช้เล่าให้ลูกฟังได้เลย
พ่อแม่ที่มีลูกช่วงวัยก่อนเรียน อาจต้องเป็นพ่อแม่ขยันตอบ อย่าเพิ่งเบื่อรำคาญลูก นอกจากต้องตอบคำถามลูกเรื่องเพศ ยังมีเรื่องต่างๆรอบตัวที่เด็กอยากรู้อยากเห็น แล้วนำมาถามเรา พ่อแม่ควรจัดหาสื่อหนังสือ นิทาน ภาพประกอบ พาไปเรียนรู้ของจริงตามสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองข้อสงสัยและความอยากรู้อยากเห็น โตขึ้นลูกจะมีนิสัยเป็นคนรักการเรียนรู้และใฝ่หาความรู้ใส่ตัวอย่างสม่ำเสมอ
• ควรทำ
- เด็กเล็กมักช่างซักถาม อยากรู้อยากเห็นไปหมด ถ้าพ่อแม่ตอบสนองต่อความอยากรู้อยากเห็นได้เหมาะสม ไม่รำคาญ สนุกสนานในการช่วยเด็กให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ด้วยการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เมื่อโตขึ้นจะคงความอยากรู้อยากเห็นเอาไว้ได้ และค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลได้ด้วยตัวเอง
- การตอบคำถามของเด็ก พ่อแม่ควรทำความเข้าใจก่อนที่จะตอบว่าเด็กคิดอะไร คำถามของเด็กนั้น เด็กหมายถึงอะไร และเด็กรู้อะไรเกี่ยวกับคำถามนั้นๆมาแล้วบ้าง ควรใช้ภาษาง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เหมาะกับวัย สั้น และกระชับ
- ควรมีสื่อและแหล่งข้อมูลที่จะฝึกลูกให้หัดค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เช่น หนังสือ คอมพิวเตอร์ ห้องสมุด สมุดภาพ รายการโทรทัศน์ เป็นต้น
- อย่าลืมชมเมื่อเด็กมีความสนใจซักถาม
* หัวใจการเลี้ยงดู
เข้าใจความคิดและพัฒนาการทางเพศของเด็กก่อนวัยเรียน
จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)