xs
xsm
sm
md
lg

สมุนไพรไม้เป็นยา : “ต้อยติ่ง” วัชพืชดอกสวย ช่วยบรรเทาสารพิษตกค้างในปัสสาวะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มโหรีจากราวป่ามาเรื่อยรี่
ราชินีแห่งน้ำค้างจะห่างหัน
ฝักต้อยติ่งแตกจังหวะประชันกัน
จักจั่นจี่เจื้อยรับเรื่อยร้อง”
(ส่วนหนึ่งจากวารีดุริยางค์ โดย อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

บทกวีนี้ชวนให้คิดถึงครั้งเยาว์วัยที่เคยนำฝักจาก “ต้อยติ่ง” ต้นไม้เล็กๆริมทาง มาเล่นกันอย่างสนุกสนาน ตื่นเต้น เมื่อเห็นฝักต้อยติ่งสีน้ำตาลที่ลอยอยู่ในน้ำ ค่อยๆแตกตัวออกมา ระเบิดเสียงดังเปรี๊ยะ...เปรี๊ยะ อยากฟังเสียงนานแค่ไหน ก็ใส่ฝักต้อยติ่งลงไปในน้ำเยอะๆ แล้วมันจะแตกตัวออกมาเป็นจังหวะเหมือนเสียงดนตรีทีเดียว แต่คนที่ชอบตื่นเต้นมากๆ ก็แค่อมไว้ในปากฝักสองฝัก แป๊บเดียวก็ได้ตื่นเต้นสมใจ

ต้อยติ่งไม่ได้เป็นเพียงวัชพืชไร้ค่าริมทาง ที่ให้แค่ความสนุกสนานตื่นตาตื่นใจกับเด็กๆเท่านั้น แต่ผู้มีความรู้ทางสมุนไพรยกนิ้วให้กับ “ต้อยติ่ง” สมุนไพรที่ไม่เคยต่ำต้อยน้อยหน้าใคร

“ต้อยติ่ง” เป็นไม้ล้มลุกสองชนิด ในวงศ์ Acanthaceae ชนิดที่เป็นไม้พื้นเมืองของไทย หรือ “ต้อยติ่งไทย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hygrophila guadrivalvis Nees. อีกชนิดหนึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อน รู้จักกันแพร่หลายมากกว่าชนิดแรก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ruellia tuberosa Linn. “ต้อยติ่งเทศ” หรือ “ต้อยติ่งฝรั่ง”

และยังมีชื่อภาษาอังกฤษที่รู้จักกันทั่วไปว่า Waterkanon, Watrakanu, Minnieroot, Iron root, Feverroot, Popping pod, Cracker plant, Trai-no, Toi ting

ปัจจุบัน ต้อยติ่งไทยหายาก ที่เห็นขึ้นทั่วไปในบ้านเรานั้นเป็นต้อยติ่งฝรั่ง ลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 30 -50 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยวรูปรีหรือรูปหอกกลับ ออกตรงข้ามเป็นคู่ ดอกมีขนาดใหญ่ เป็นดอกเดี่ยวๆ สีม่วงอมน้ำเงิน ออกตามยอด และซอกใบเป็นช่อๆ ราว 3-6 ดอก แต่จะบานทีละดอกหรือสองดอก กลีบดอกเป็นรูปกรวยหงายยาวประมาณ 3 ซม. ปลายแผ่เป็น 5 แฉกเท่าๆกัน จะออกดอกมากและหนาแน่นในช่วงฤดูฝน

ส่วนผลเป็นฝัก รูปทรงกระบอก ยอดแหลม เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลเข้ม และเมื่อแก่จัดหรือถูกน้ำจะแตกเป็น 2 ซีกตามยาว ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะกลมแบน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พบได้ทั่วไปในบริเวณกว้าง เรียกว่าสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง

ต้อยติ่งไทยและต้อยติ่งเทศ มีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันในเรื่องความสูงของลำต้น ใบ และดอก ต้นต้อยติ่งฝรั่งจะต้นเล็กกว่าต้อยติ่งไทยแต่จะโตเร็วกว่า ใบจะเรียวยาวแคบ เป็นสีน้ำตาลแดง ดอกออกเป็นช่อหรือบางทีก็ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ มีดอกสีม่วง สีขาว หรือสีชมพู

สรรพคุณของต้อยติ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ราก ซึ่งนำมาใช้กับโรคไต ไอกรน ล้างพิษในเลือด ทำให้อาเจียน ใช้ดับพิษในร่างกาย และบรรเทาอาการสารพิษตกค้างในปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะ และแก้ปัสสาวะพิการ

ใบใช้ดับกลิ่นตัวกลิ่นปาก กลิ่นเท้า ล้างพิษ ต้านการเสื่อมถอย ชะลอวัย และใช้พอกแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ในเมล็ดมีสารลูทอีโอลิน (Luteolin) ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่พบในน้ำนมแม่ มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีแร่ธาตุและสารอาหารในปริมาณสูง ให้ความชุ่มชื้น และช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อโปรโตซัว รวมทั้งมีคุณสมบัติในการเสริมสุขภาพและความงาม

นอกจากนี้ เมล็ดยังใช้พอกฝีเพื่อดูดหนอง ช่วยลดการอักเสบ พอกแผลเรื้อรัง ช่วยสมานบาดแผล ช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น และแก้อาการผดผื่นคัน

และทั้งต้นใช้เป็นยาขับปัสสาวะ เบาหวาน ลดไข้ ยาแก้ปวด ลดการปวด ดับร้อนในกระหายน้ำ และใช้ล้างพิษ

หมอยาพื้นบ้านโบราณจะใช้ต้อยติ่งทั้งต้น เลือกเอาชนิดที่ไม่แก่ ดอกยังไม่โรย ถอนเอาทั้งรากอย่าให้รากขาด อย่าให้เมล็ดแตก สัก 4-5 ต้น นำไปล้างให้สะอาด แล้วโขลก คั้นเอาแต่น้ำดื่ม แก้ปวดเข่า ขาชา ใช้เวลาประมาณ 7 วันก็หาย

หมอยาแผนโบราณของสาธารณรัฐซูรินาเม ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ใช้ต้อยติ่งเป็นยาฆ่าพยาธิหรือขับพยาธิ แก้อาการปวดข้อ กล้ามเนื้อตึงตัว และโรคกระเพาะปัสสาวะ

ในประเทศไต้หวัน พบว่า มีการใช้ต้อยติ่งเป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มสมุนไพรอีกด้วย

และไม่นานมานี้ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยพบว่า สารสกัดจากพืชตระกูลต้อยติ่ง มีฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด

(จากนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย มีคณา)








กำลังโหลดความคิดเห็น