พี่สาว : หนูเกลียดปูน! ไอ้น้องปัญญาอ่อน!! (ตะโกน)
แม่ : ใจเย็นๆก่อน ไหนบอกแม่ซิว่าน้องทำอะไรให้หนูโกรธ
พี่สาว : เค้าเข้าไปรื้อห้องหนูอีกแล้ว แม่ดูสิ ปูนเขียนสมุดไดอารี่ของหนูเลอะเทอะหมดเลย
แม่ : ดูสภาพได้อารี่แล้วก็น่าโกรธจริงๆด้วยสิ
พี่สาว : หนูเหลืออดแล้วนะแม่
แม่ : แม่เข้าใจนะว่ามันยากนะที่ต้องอยู่กับน้องที่เป็นเด็กพิเศษ แต่หนูก็ทำได้ดีมาก ทั้งๆที่น้องวุ่นวายแต่หนูก็อดทน ดูแลตัวเองทุกอย่างเพื่อให้แม่ไม่ต้องเหนื่อย เป็นเด็กดีให้แม่ภูมิใจ
พี่สาว : ทำไมน้องต้องเป็นเด็กพิเศษด้วยล่ะแม่?
แม่ : ตอนนี้ไม่มีใครรู้หรอกลูก แต่ถ้าเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นแบบนี้ มีแต่คนรำคาญ ตัวเขาเองก็ไม่รู้ตัวว่าทำให้คนอื่นวุ่นวายเดือดร้อน เพื่อนๆก็ชอบรังแก
พี่สาว : หนูเคยเห็นเพื่อนผลักปูนล้มที่โรงเรียน (น้ำเสียงเริ่มเห็นใจ)
(เสียงฝีเท้าวิ่งเข้ามา)
น้องชาย : พี่แป้ง ดอกไม้
แม่ : ตายแล้ว! ดอกแคทลียาของช้านนนน......
น้องชาย : สวย สวย
พี่สาว : ให้พี่เหรอ? ขอบใจนะปูน
แม่ : เฮ้ออออ จะเป็นลม!
ลูกสาว : นี่ค่ะแม่ ยาดม ปูนไปเล่นข้างบนกับพี่ ไป
แม่ : ขอบใจจ้ะลูก (เสียงระโหยโรยแรง)
หมอเหมียวชวนคุย
เมื่อลูกโกรธ เด็กอยากให้พ่อแม่เข้าใจความรู้สึกจะช่วยให้เด็กจะค่อยๆคลายอารมณ์โกรธที่ท่วมท้นลง และใช้เหตุผลในการมองปัญหาอย่างเข้าใจ การมีเด็กพิเศษในบ้านพ่อแม่ต้องให้เวลา ความรักความใส่ใจกับลูกคนอื่นๆด้วย เพราะเขาจะเป็นที่พึ่งให้พี่น้องเด็กพิเศษต่อไป
การรับมือเมื่อลูกโกรธ
เมื่อลูกอยู่ในอารมณ์โกรธ พูดและแสดงความรู้สึกที่รุนแรง การ “ปฏิเสธ” อารมณ์ความเป็นจริงของลูกขณะที่ความโกรธพลุ่งพล่านจะทำให้ลูกไม่ฟัง เช่น บอกให้หยุดโกรธเดี๋ยวนี้ เทศนาสั่งสอน ให้คำแนะนำว่า โกรธไปก็เปล่าประโยชน์
วิธีที่ได้ผล และช่วยให้ลูกบรรเทาอารมณ์ลงได้คือ การตอบสนองอารมณ์โกรธของลูกด้วยการ “แสดงความเข้าใจ” ถึงความรู้สึกและความทุกข์ที่ลูกกำลังเผชิญ ซึ่งพ่อแม่ต้องมีสติและความใจเย็น เปิดใจรับฟังสิ่งที่ลูกระบายออกมา จะช่วยอารมณ์ของลูกคลายลง และสามารถพูดคุยถึงการแก้ปัญหาได้
ในละครสั้น พี่โกรธจัดที่น้องซึ่งเป็นเด็กพิเศษเข้ามารื้อห้องสร้างความวุ่นวาย และยังทำไดอารี่ของพี่เลอะเทอะ เป็นเหตุการณ์ซ้ำซาก เกิดขึ้นบ่อยจนพี่ทนไม่ไหว จึงตะโกนด่าน้องว่า “ไอ้น้องปัญญาอ่อน” และวิ่งไล่ตีแม่ในละครใช้การตอบสนองอารมณ์โกรธของลูกขณะนั้น ด้วยความ “เข้าใจในอารมณ์ความรู้สึก” ที่พี่ได้รับ “ ดูสภาพไดอารี่แล้วก็น่าโกรธจริงๆด้วยสิ” “แม่เข้าใจนะว่ามันยากนะที่ต้องอยู่กับน้องที่เป็นเด็กพิเศษ แต่หนูก็ทำได้ดีมาก ทั้งๆที่น้องวุ่นวายแต่หนูก็อดทน ดูแลตัวเองทุกอย่างเพื่อให้แม่ไม่ต้องเหนื่อย เป็นเด็กดีให้แม่ภูมิใจ” ดังนั้นเมื่อลูกโกรธ พ่อแม่ควรจัดการ “ความรู้สึก” ก่อน เมื่อลูกสงบลงจึงค่อยให้ความคิดเห็นและแนะนำสั่งสอน
ควรทำ
• ขณะที่เด็กโกรธ เด็กต้องการคนที่เข้าใจความรู้สึก เข้าใจความเจ็บช้ำ ให้เวลา เปิดโอกาสให้พูด เล่าเรื่อง ถ้าพ่อแม่ฟังด้วยความตั้งใจ และสรุปประเด็นสำคัญที่เด็กเล่าได้ดี เด็กจะรับรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจ จะช่วยคลายอารมณ์โกรธลงได้
• คนกำลังโกรธมักจะพูดสับสน พูดไม่เพราะ พูดไม่ปะติดปะต่อ โดยเฉพาะถ้าโกรธด้วยและกำลังร้องไห้ไปด้วย แต่การสั่งให้เด็กหยุดร้องไห้ทันที เด็กเองก็ทำไม่ได้ ระยะนี้พ่อแม่จึงต้องอดทน ให้เวลาเด็กในการทำใจ เมื่อได้ระบายความรู้สึกออกแล้ว อารมณ์โกรธก็จะลดกำลังลง
• พ่อแม่ที่ท่าทีเป็นมิตร และเปิดโอกาสให้พูดและระบายความรู้สึก จะช่วยให้ลูกเข้าสู่ความสงบ ปรับอารมณ์ได้เร็ว
• การมีเด็กพิเศษในครอบครัว เป็นสิ่งที่ทุกคนในบ้านต้องปรับตัวและทำใจกับปัญหาเด็กพิเศษที่เพิ่มขึ้น กระนั้นก็ตาม พ่อแม่ควรมีเวลาสำหรับพี่น้องคนอื่นที่อยู่ในบ้านให้ได้พูดคุย ระบายความรู้สึก ความคับแค้นที่ต้องอยู่ร่วมกับเด็กพิเศษ เนื่องจากพี่น้องก็ยังเด็ก อาจไม่เข้าใจหรือมีความคิดที่ไม่ถูกต้อง จะได้ปรับความคิดเห็น
ไม่ควรทำ
• การใช้วิธีการบีบบังคับ สั่งสอนเร็ว บอกให้หยุดโมโห หรือกลับตามใจเวลาที่เด็กโกรธ เด็กจะคิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจความรู้สึก กลับมีพฤติกรรมหงุดหงิด ต่อต้านเพิ่มขึ้นได้
• เด็กพิเศษควรอยู่ภายใต้กติกาเดียวกันกับเด็กอื่น เพียงแต่ใช้เวลาฝึกฝนนานกว่า การบีบบังคับให้เด็กทุกคนในบ้านต้องยอมรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กพิเศษทุกครั้ง จะทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ เข้าข้างเด็กพิเศษ จะเกิดความน้อยใจและต่อต้าน สุดท้ายนำไปสู่การเพิกเฉย ไม่สนใจและไม่ให้ความร่วมมือในบ้านได้ง่าย
* หัวใจการเลี้ยงดู
เมื่อลูกโกรธ ให้เข้าใจความรู้สึกลูกก่อนที่จะสั่งสอน
จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)