สายฝนที่โปรยปรายลงมา ไม่ได้มีเพียงความเย็นชุ่มฉ่ำเท่านั้น แต่ยังมีภัยต่อผิวหนังของเรา ซึ่งแอบซ่อนมากับสายฝนในช่วงฤดูฝนนี้อีกด้วย เพราะเมื่อฝนตก ภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ อากาศที่อับชื้น ซึ่งเอื้ออำนวยให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น ปัญหาที่พบได้เสมอในช่วงหน้าฝน มักมีสาเหตุมาจากเชื้อรา ผื่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา ซึ่งมีได้หลายรูปแบบ เรามาทำความรู้จักกับผื่นที่พบได้บ่อยๆ กันดีกว่าค่ะ
1. โรคเชื้อราแคนดิดา ในคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือคนที่มีน้ำหนักมาก อาจเกิดผื่นสีแดงแฉะขึ้นตามบริเวณข้อพับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือใต้ราวนม ร่วมกับมีอาการคันมาก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ในกลุ่มแคนดิดา (Candida) ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ โดยการทายาฆ่าเชื้อราทั่วไป แต่มักเป็นซ้ำได้บ่อย เพราะยีสต์ชนิดนี้พบได้ในร่างกายของคนเรา เช่น บริเวณช่องปาก ระบบทางเดินอาหารและช่องคลอด
2. โรคเกลื้อน จะเป็นวงด่างๆ สีขาว หรือสีเนื้อ ในบางคนอาจขึ้นเป็นวงสีน้ำตาล ร่วมกับมีขุยสีขาวเล็ก ๆ มักเกิดขึ้นบนผิวหนัง บริเวณหน้าอกและลำตัว อาจมีอาการคันร่วมด้วยได้ นอกจากดูไม่สวยงามแล้ว ยังทำให้เสียบุคลิก
โรคเกลื้อนเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Malassezia furfur สามารถพบได้บนผิวหนังของคนทั่วไป แต่ปกติแล้วไม่ก่อโรค ยกเว้นในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น คนที่ออกกำลังกาย เหงื่อออก หรือตากฝน แล้วไม่ยอมอาบน้ำ ร่างกายชื้นแฉะอยู่เป็นเวลานาน ทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนจนทำให้เกิดผื่นลักษณะดังกล่าวขึ้น
3. โรคกลาก เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophytes ซึ่งอยู่ตามสิ่งแวดล้อม เช่น หิน ดิน ทราย รวมทั้งในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว จะเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดีมากในอากาศร้อนชื้น อาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลากได้หลายตำแหน่ง ได้แก่
3.1 โรคน้ำกัดเท้าหรือเชื้อราที่เท้า ช่วงที่ฝนตกมากๆ บางพื้นที่อาจมีน้ำท่วมขัง หรือเวลาฝนตกนานเป็นชั่วโมง ทำให้ต้องเดินย่ำน้ำชื้นแฉะเป็นเวลานาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากยังไม่รีบทำความสะอาดเท้า ผ่านไปสักระยะหนึ่งอาจพบว่า ผิวตามซอกนิ้วเท้าลอกเป็นขุยขาวๆ หรือเปียกยุ่ย หรืออาจถึงขั้นเป็นแผล มีน้ำเหลืองแฉะที่ผิว
การรักษาโรคราที่เท้า ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง ใส่ถุงเท้าที่สะอาดและไม่เปียกชื้น ใช้ครีมกันเชื้อราหรือโรยแป้งฝุ่นที่เท้า
3.2 สังคัง คือการติดเชื้อกลากบริเวณขาหนีบ ต้นขา ข้อพับต้นขา เริ่มต้นเป็นตุ่มแดงเล็กๆ ค่อยๆขยายกว้างออกจนเป็นวงกลม เห็นเป็นขอบเขตชัดเจน ผิวจะแห้งและอาจมีขุยบริเวณตรงกลาง มักเป็นผิวหนังปกติ มีอาการคัน วงมีขนาดตั้งแต่เล็กถึงขนาดใหญ่
3.3 กลากที่ศีรษะ พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนมากเห็นเป็นวงกลม ขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดหรือขุย บริเวณนั้นอาจมีผมร่วงเป็นหย่อมๆ และจะพบผมหักร่วมด้วย บางครั้งพบลักษณะที่เรียกว่าชันนะตุ ซึ่งเป็นกลากชนิดที่มีการอักเสบมาก อาจพบเป็นก้อนใหญ่แล้วแตกออกมีน้ำเหลืองแห้งกรังได้
3.4 โรคติดเชื้อราที่เล็บ ส่วนมากพบในผู้ใหญ่ เล็บของคนแก่ซึ่งยาวช้าจะมีโอกาสติดเชื้อราได้ง่าย อาจพบที่ตรงปลายเล็บหรือด้านข้าง มีสีขาวหรือเหลืองปนน้ำตาล ต่อมาใต้เล็บจะหนาขึ้นและดันเล็บให้ยกขึ้น หรืออาจจะพบที่ผิวบนของเล็บก็ได้ ลักษณะเป็นดวงสีขาว หรือมีขุยขาวๆ อยู่ที่ส่วนบนของเล็บ
ส่วนกลากที่โคนเล็บพบน้อย เริ่มแรกจะมีสีขาวหรือขาวปนน้ำตาลเกิดขึ้นที่ส่วนโคนเล็บ ต่อมาจะขยายออกจนเป็นทั้งเล็บ ต้องรักษาด้วยการรับประทานยาฆ่าเชื้อรา
นอกจากเชื้อราที่จะมากับความอับชื้นในหน้าฝนแล้ว ยังมีเชื้อแบคทีเรียที่อาจแอบแฝงมาด้วย ได้แก่
1. โรคเท้าเหม็น มักพบในผู้ชายที่เหงื่อเยอะ หรือใส่ถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์หนาๆ ซึ่งมักจะแห้งยากในหน้าฝน เวลาถอดรองเท้า บางคนอาจมีกลิ่นเหม็นโชยออกมา เวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า เมื่อก้มดูที่ฝ่าเท้า จะเห็นเป็นรูพรุนเล็กๆ หรือเป็นแอ่งเว้าแหว่งตื้นๆ
2. โรคฉี่หนู ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ อยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง เล่นน้ำ หรือย่ำน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้ตรวจและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เนื่องจากผู้ป่วยโรคฉี่หนูส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต มักจะไม่ได้รับการรักษาโรคฉี่หนูอย่างทันท่วงที เนื่องจากคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา
สรุป ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า สาเหตุของโรคส่วนใหญ่มาจากการย่ำน้ำสกปรก หรือปล่อยให้ผิวหนังอับชื้นอยู่เป็นระยะเวลานาน ทำให้เชื้อโรคซึ่งพบได้ตามสิ่งแวดล้อมทั่วไป เพิ่มจำนวนขึ้นจนก่อให้เกิดโรค
ดังนั้น การป้องกันอันดับแรก คือ หลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำน้ำ หรือตากฝน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกลับถึงที่พัก ควรรีบถอดเสื้อผ้า แล้วอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย โดยใช้สบู่หรือสารทำความสะอาดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อชนิดพิเศษแต่อย่างใด เพราะอาจแรงเกินไป เสร็จแล้วใช้ผ้าซับหรือใช้พัดลมเป่าให้แห้ง
การโรยแป้งฝุ่นสามารถช่วยลดความชื้นและการเสียดสีได้ เสื้อผ้าและถุงเท้าที่ใช้ควรทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้ายที่ไม่หนาจนเกินไป เพื่อให้ระบายอากาศได้ดี ผ้ายีนส์ เสื้อผ้าหนังจะแห้งยาก ทำให้เกิดความอับชื้นได้ง่าย จึงควรระวังเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ การใส่รองเท้าแตะบ้าง ก็ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อราที่เท้าได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือ เมื่อเกิดความผิดปกติของผิวหนัง ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง เพื่อทำการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสมค่ะ
อ้อ..หน้าฝนนี้อย่าลืมพกร่มติดตัวด้วยนะคะ!!!
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย พญ.กนกวรรณ เศรษฐพงศ์วนิช สถาบันโรคผิวหนังและสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย)