xs
xsm
sm
md
lg

“การเจริญสติ” พลังมหัศจรรย์ปกป้องโรคติดเชื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ความเครียด” เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้แปรปรวน โรคปวดหลังเรื้อรัง โรคปวดศีรษะ เป็นต้น

นอกจากนั้น ความเครียดยังทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลง เราจึงเป็นโรคติดเชื้อ เป็นโรคมะเร็ง โรคภูมิต้านทานบกพร่อง ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ทางสุขภาพสนใจกันมาก และมีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวาง ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมากมาย และทำให้เรารู้วิธีป้องกันตนเองจากโรคเหล่านี้

“โรคติดเชื้อไวรัส” กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน เพราะบางโรคมีอาการรุนแรง ทำให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือไข้เลือดออก มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีอาการปอดอักเสบตามมาในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดตะวันออกกลาง เป็นต้น

หรือเชื้อบางตัวทำให้มีไข้สูง อ่อนเพลียหมดแรง คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วงอย่างมาก ต่อมามีอาการ ตับวาย ไตวายเฉียบพลัน และทำให้เสียชีวิตได้ ดังที่กำลังมีการระบาดของเชื้อไวรัสบางสายพันธ์ เช่น เชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกา ที่กำลังระบาดในประเทศ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน

เชื้ออีโบลาเกิดขึ้นในปี 2519ในประเทศซูดาน และมีการระบาดหนักในทวีปแอฟริกาหลายประเทศ ในเวลาต่อมาหลายครั้ง จนถึงขณะนี้ กำลังระบาดในเซียร์ราลีโอน กินี ไลบีเรีย มีผู้เสียชีวิตมากมาย จนต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการแพร่ระบาดออกไป

โรคพวกนี้ติดต่อทางน้ำมูก น้ำลาย และเลือดได้ ไวรัสตัวนี้อยู่ในสัตว์ป่า เช่น ค้างคาวกินผลไม้ ลิงชิมแปนซี โรคนี้อัตราตายสูงถึงร้อยละ 60 โรคติดเชื้อไวรัสเหล่านี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ นักวิทยาศาสตร์สุขภาพมีความสนใจและทำการศึกษาโรคติดเชื้อไวรัสกันมาก

ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ภูมิต้านทานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้ออีโบลามีโอกาสรอดชีวิต โดย ศ.นพ.อมร อธิบายการทำงานของภูมิต้านทาน ซึ่งมีอยู่ในร่างกายตลอดเวลา เช่น เม็ดเลือดขาวจะออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค ส่งผลให้ผู้รับเชื้อมีอาการปวดเมื่อย และหากภูมิต้านทานสามารถต่อสู้จนหยุดยั้งกระบวนการของเชื้อไวรัสอีโบลาได้ภายใน 7-10วัน อาการก็จะดีขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีงานวิจัยที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น งานวิจัยของศาสตราจารย์ เชลดอน โคเฮน (Sheldon Cohen) พบว่า คนไข้ที่มีความเครียดมากจะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสหวัด(Common cold) ได้มากกว่าคนไข้ที่มีความเครียดน้อย โดยเขาให้อาสาสมัคร 394 ราย ที่เข้ารับการทดลอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้แบบทดสอบวัดความเครียด

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มีความเครียดมาก กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีความเครียดน้อย แล้วหยอดเชื้อหวัดเข้าไปในช่องจมูก พบว่า กลุ่มที่มีความเครียดมากจะติดเชื้อร้อยละ 47 กลุ่มที่มีความเครียดน้อยจะติดเชื้อร้อยละ 27 จะเห็นว่า คนที่มีความเครียดมากมีโอกาสติดเชื้อหวัดได้มากกว่าคนที่มีความเครียดน้อย (www.youtube.com/Sheldon cohen : Mind Body Medicine)

นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยของศาสตราจารย์ เจนิซ คีโคลต์ กลาเซอร์ (Janice Kiecolt-Glaser) แห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ซึ่งศึกษาในคู่สมรสที่อยู่ด้วยกัน พบว่า ช่วงที่ทั้งคู่มีความเครียดและทะเลาะกันบ่อยๆ จะมีโอกาสติดเชื้อหวัดได้มากกว่าช่วงที่ไม่ทะเลาะกัน หรือในคู่สมรสที่หย่ากันใหม่ๆ พบว่า คนเหล่านี้มักจะมีเชื้อไวรัสเริม (Herpes Virus) ขึ้นที่ริมฝีปากหรืออวัยวะเพศได้บ่อยในช่วงที่เครียดมากๆ และนอนดึก เมื่อเจาะเลือดดูพบว่า ในช่วงที่มีความเครียดมาก แอนติบอดีหรือภูมิต้านทานเชื้อเริมจะลดลง

ศ.เจนิซยังได้ศึกษาเปรียบเทียบบุคคลทั่วไป กับผู้สูงอายุที่มีอาชีพดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งมักจะมีความเครียดสูง โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ ( Influenza virus vaccine) ให้ทั้งสองกลุ่ม เพื่อสร้างภูมิต้านทาน แล้ววัดภูมิต้านทานต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่หลังฉีดวัคซีนไประยะหนึ่ง พบว่า ในคนสูงอายุที่มีอาชีพดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม จะมีภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน ต่ำกว่าบุคคลทั่วไป (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในwww.ibmr.osu.edu/researchers/research)

โดยสรุปก็คือ ความเครียดเรื้อรังทำให้ภูมิต้านทานของคนเราต่ำลง ทำให้เป็นโรคติดเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์สุขภาพจึงทำการศึกษาวิธีป้องกันโรคเหล่านี้โดยการลดความเครียดลง ซึ่งมีได้หลายวิธีการ

เริ่มด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งพบว่า คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จะเป็นโรคหวัดหรือโรคเริมน้อยลง การนอนดึกก็ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง ติดเชื้อง่ายขึ้น ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการนอนดึก โดยเข้านอนไม่เกิน 22.00 น. การฝึกความผ่อนคลายต่างๆ เช่น ฝึกการหายใจ ฝึกไทเก๊ก ชี่กง ฝึกโยคะ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกสมาธิ การเจริญสติ ซึ่งวิธีการเหล่านี้มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ช่วยให้ภูมิต้านทานดีขึ้น สามารถต้านทานเชื้อไวรัสที่ไม่รุนแรงได้ แต่หากเจอเชื้อที่รุนแรง ก็ยากที่จะต้านทานได้ ต้องใช้วัคซีนฉีดป้องกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งนักวิทยาศาตร์กำลังคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้กันอยู่

ปัจจุบัน มีหลักฐานงานวิจัยจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่าการฝึกโยคะ ชี่กง การฝึกสมาธิ การเจริญสติ ช่วยให้ภูมิต้านทานดีขึ้น ป้องกันโรคติดเชื้อ โรคมะเร็งได้ เช่น งานวิจัยของลินดา จานูเส็ก (Linda W. Janusek) และคณะ ซึ่งศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรก ที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง หลังผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก แล้วพักฟื้น ในระยะนี้ยังไม่มีการให้เคมีบำบัดหรือฉายรังสี แต่ให้คนไข้ฝึกการเจริญสติ 8 สัปดาห์ โดยใช้หลักสูตรการเจริญสติ 8 สัปดาห์ของ ศาสตราจารย์จอน คาแบค ซิน (MBSR Program)

หลังจากนั้นเจาะเลือดดูก่อนและหลังฝึก เพื่อดูการทำงานของเซลล์ภูมิต้านทาน (Natural killer cell activity) และสารเคมีอีกหลายตัวที่แสดงถึงการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย และมีผลต่อภูมิต้านทาน (IFN-gramma,IL-6.IL-10,IL-4 และ Plasma cortisol) พบว่า หลังการเจริญสติ 8 สัปดาห์ ภูมิต้านทานของร่างกายดีขึ้น การทำงานของระบบภูมิต้านทานก็ดีขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนฝึกการเจริญสติ (www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/pmc2586059.

สำหรับประเด็นเรื่องความเครียดกับภูมิต้านทานโรค เป็นหัวข้อวิจัยที่ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั่วโลก ทำให้เกิดวิชาการสาขาใหม่ๆขึ้นอย่างมากมาย และทำให้รู้ว่า การใช้ยาแต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรักษาโรคเรื้อรังให้ได้ผลดีได้ จึงได้เปลี่ยนแนวความคิดในการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆไปเป็นแบบผสมผสาน

สามารถเข้าไปฟังคำบรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใน youtube.com มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย ขอแนะนำหัวข้อดังต่อไปนี้ Cohen et al (1993) Stress and the common cold, เรื่อง stress plays and important factor in your Health and Healing, เรื่อง stress and immunity เป็นต้น

ศาสตราจารย์ เชลดอน โคเฮน

ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน เป็นผู้อำนวยการห้องทดลองเกี่ยวกับความเครียด ภูมิต้านทาน และการเกิดโรค งานวิจัยของเขาเจาะลึกลงไปในเรื่องผลของความเครียดต่อสุขภาพ ต่อภูมิต้านทาน และการเกิดโรค เขาทำการศึกษาวิจัยด้านนี้ติดต่อกันมายาวนานไม่ต่ำกว่า 30 ปี มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ ไม่ต่ำกว่า 100 รายงาน และได้รับรางวัลดีเด่นด้านวิชาการมากมาย (www.psy.cmu.edu/people/cohen.)

ศาสตราจารย์เจนิซ คีโคลต์ กลาเซอร์

ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ เป็นผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยด้านเวชศาสตร์พฤติกรรม งานวิจัยของเธอเจาะลึกด้านความเครียดต่อภูมิคุ้มกัน และการเกิดโรค เธอทำวิจัยมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี มีผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 200 รายงาน และได้รับรางวัลทางวิชาการมากมาย รวมทั้งเป็นศาสตราจารย์ดีเด่นของมหาวิทยาลัย ในปี ค.ศ. 2008 (www.youtube.com/plenary Q and A : Power of Preventive Medicine)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
ศ.เชลดอน โคเฮน กับทีมงานห้องทดลองการวิจัยเกี่ยวกับความเครียดกับโรคติดเชื้อไวรัส
ศ.เจนิช คีโคลต์ กลาเซอร์ กำลังทำการทดลองในผู้ป่วย
ศ.เจนิซ คีโคลต์ กลาเซอร์ กับทีมงานนักวิจัย ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโอไฮโอ
หนังสือของ ศ.เจนิช คีโคลต์ กลาเซอร์
ศ.เจนิซ คีโคลต์ กลาเซอร์
ศ.เชลดอน โคเฮน
กำลังโหลดความคิดเห็น