xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : สัมผัส “ภูฏาน” จิตวิญญาณมังกรสายฟ้า (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากถามว่า ในบรรดาเส้นทางท่องเที่ยว ท่องธรรม ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสนำพาญาติธรรมผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนาทั้งหลาย เดินทางไปทั่วโลกนั้น ผมชื่นชอบและประทับใจ (รวมถึงประหลาดใจ) กับเส้นทางใดมากที่สุด

คำตอบคือ “ภูฏาน” ครับ

ประเทศภูฏาน เป็นการเดินทางที่สามารถใช้คำว่า “เส้นทางในฝัน” ได้ไม่ผิดเพี้ยน เพราะทุกท่านต่างมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะเดินทางไปยัง “ดินแดนมังกรสายฟ้า” แห่งนี้

และที่บอกว่าสร้างความประหลาดใจ ให้กับผู้นำทางอย่างผู้เขียนก็คือ “ท่องเที่ยว ท่องธรรม ณ ภูฏาน” ทำสถิติการจองทัวร์เต็มเร็วที่สุดภายในเวลา 3 ชั่วโมง!! หลังเปิดให้ผู้ที่สนใจร่วมเดินทางแจ้งความประสงค์เข้ามา ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมครับ เฉกเช่นเสน่ห์เดียวกับของภูฏานที่ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ทว่าน่าหลงใหล ชวนให้เดินทางไปสัมผัสเสียเหลือเกิน

ภูฏานเป็นดินแดนที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นอู่อารยธรรมของโลก ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์งดงามเฉพาะตัว และความร่ำรวยในวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่สะท้อนถึงความเชื่อตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งชาวภูฏานหรือชาวดรุ๊กปายึดถือเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายของพวกเขาตลอดมา

ความร่ำรวยเงินทองหรือสิ่งอำนวยความสะดวกของชาวตะวันตก หาใช่ความสุขของชาวภูฏานไม่ หากแต่ว่าความสุขมวลรวมของชาติ ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตตามแบบฉบับของชาวภูฏานต่างหากเล่า

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผู้คนจำนวนมาก ประสงค์จะเดินทางไปยังอาณาจักรเล็กแห่งนี้ เนื่องด้วยอยากจะไปสัมผัสวัฒนธรรมของคนภูฏาน ที่ตีค่าด้วยดัชนีความสุขมวลรวมภายในประเทศ มากกว่าชี้วัดกันด้วยเงินตราเหมือนนานาอารยประเทศ

บ้างก็อยากเดินทางไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติกำเนิด ที่มีเรื่องราวความเป็นมากว่า 1,300 ปี แทรกตัวอยู่อย่างสงบเสงี่ยมระหว่างเขตแดนของจีนและอินเดีย

บางท่านก็อยากไปไหว้พระ เพราะที่นั่นเป็นเพียงประเทศเดียวในโลก ที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนามหายานแบบตันตระ เป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เมื่อครั้งศตวรรษที่ 8

นิกายตันตรยานหรือวัชรยาน ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของพัฒนาการอันยาวนานของพุทธศาสนา “ตันตระยาน” มาจากคำว่า “ตันตระ” ในภาษาอินเดีย เป็นชื่อคัมภีร์ลึกลับที่รู้กันในวงจำกัด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม จากคำสอนที่ง่ายที่สุดไปจนถึงคำสอนที่ซับซ้อนที่สุด ได้แก่ คัมภีร์กริยาตันตระ คัมภีร์จรรยาตันตระ คัมภีร์โยคตันตระ และคัมภีร์อนุตตรโยคตันตระ ทั้งนี้ได้สูญหายไปจากอินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ช่วงที่ถูกมุสลิมรุกรานหนัก

พุทธศาสนาตันตระมีความเชื่อพื้นฐานเหมือนกับพุทธศาสนานิกายอื่นครับ คือเชื่อว่ากรรมในอดีตเป็นตัวกำหนดชาติภพและชีวิตในปัจจุบัน และเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้สรรพชีวิตต้องเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์จึงควรทุ่มเทความพยายาม เพื่อมุ่งสู่พระนิพพาน ซึ่งจะช่วยปลดปล่อยตนให้พ้นจากสังสารวัฏและกิเลสกองทุกข์ทั้งปวงได้ ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดสุญญตาหรือความว่าง

อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาตันตระก็ยังยอมรับนับถือในเทพเจ้าและเหล่าพระโพธิสัตว์อยู่ด้วย โดยเชื่อมั่นว่า ท่านเหล่านี้เป็นผู้บรรลุธรรมแล้ว แต่ยังไม่ยอมก้าวล่วงสู่พระนิพพาน โดยยินดีเวียนว่ายอยู่ในห้วงสังสารวัฏนี้ต่อไป จนกว่าจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นห้วงทุกข์ไปได้ทั้งหมดก่อนนั่นเองครับ

ผู้เขียนและคณะท่องเที่ยว ท่องธรรม เดินทางไปยัง Memories Chorten เป็นสถูปสีขาวยอดสีทองสูง 200 เมตร สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1974 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จี วังชุก กษัตริย์องค์ที่ 3 ของภูฏาน

โชร์เต็น (Chorten) เป็นภาษาสันสฤต ใช้เรียกสถูปหรือเจดีย์ ถือเป็นที่รองรับการสักการบูชา ในดินแดนแถบหิมาลัยรวมถึงภูฏานด้วยนั้น ยังนับถือกันว่า เป็นสัญลักษณ์แทนหัวใจของพระพุทธ จึงทรงความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

หากเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วภูฏาน จะเห็นเจดีย์มีอยู่ 3 แบบ คือ แบบเนปาล แบบทิเบต และแบบภูฏาน เจดีย์มีองค์ประกอบทั้งหมด 5 ส่วน เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ฐานแทนธาตุดิน องค์ระฆังแทนธาตุน้ำ ฉัตร 13 ชั้นแทนธาตุไฟ พระอาทิตย์กับพระจันทร์แทนธาตุลม รัศมีบนส่วนยอดแทนอากาศธาตุ ซึ่งเป็นธาตุที่ห่อหุ้มจักรวาลเบื้องบนเอาไว้ นอกจากนี้ฉัตรทั้ง 13 ชั้นยังหมายถึงขั้นตอนสำคัญทั้ง 13 ขั้นที่มนุษย์เราต้องฝ่าฟันไปให้ได้ เพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพาน

เจดีย์ส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ปิดทึบ มีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ก็มีบางองค์ที่สร้างเป็นซุ้มประตูหรือวิหารอยู่ข้างใน เช่น เจดีย์ที่วัดดุงเซ ในเมืองพาโร และเจดีย์อนุสรณ์ในเมืองทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน เมื่อใดที่เดินทางไปยังเจดีย์ จะพบเห็นชาวภูฏานกระทำทักษิณาวรรต หรือการเดินเวียนขวารอบพระเจดีย์อยู่ทุกครั้ง เพื่อแสดงออกถึงศรัทธาปสาทะ และเพื่อสร้างสมบุญกุศลให้กับตนเอง

พุทธศาสนาในระดับชาวบ้านของภูฏาน มักเกี่ยวพันอยู่กับการสักการบูชาเทพเจ้า “คุรุรินโปเช” เทพเจ้าของทางตันตระ เทพเจ้าตามคติพื้นบ้าน รวมถึงพระอริยสงฆ์ และเกจิอาจารย์คนสำคัญๆ อีกหลายท่าน

เรายังได้เห็นชาวภูฏานแสดงออกถึงศรัทธาที่มีต่อพระศาสนาในหลายรูปแบบ คล้ายกับเมืองไทยบ้านเราเช่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์หน้าโต๊ะหมู่บูชาที่บ้าน การจุดตะเกียงน้ำมันเนยบูชาพระ การไปสักการะพระลามะชั้นสูง การไปทำบุญที่วัดในวันพระหรือวันสำคัญทางพุทธศาสนา การช่วยเหลือหรือบริจาคเงินให้พระสงฆ์ ลามะ หรือองค์กรทางศาสนา การให้ลูกบวช การบูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ การลงเงินลงแรงสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน หรือพระพุทธรูป การเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการสวดพระสูตร การเดินทางไปแสวงบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การหมุนกงล้อมนตรา ตลอดจนการเข้าร่วมในเทศกาลต่างๆ ทางศาสนา

พุทธศาสนานิกายที่เจริญรุ่งเรืองในภูฏานปัจจุบัน ได้แก่ นิกายดรุ๊กปา ซึ่งเป็นสายย่อยของนิกายคายุปา และนิกายญิงมาปะ ที่ท่านคุรุรินโปเชทรงก่อตั้งขึ้น โดยมีลามะซังปา กาเร เยเซ ดอร์จี เป็นผู้ก่อตั้งนิกายดรุ๊กปาขึ้นในทิเบต ก่อนแผ่ขยายเข้ามาสู่ภูฏานในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 และรุ่งเรืองสูงสุดทั้งในแง่ศาสนาและการเมืองในยุคที่ท่านซับดรุงงาวัง นัมเกล รวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น นำไปสู่กำเนิดของประเทศภูฏานในปัจจุบัน ผู้นำของนิกายดรุ๊กปาคือเจเค็มโป หรือสมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในทางศาสนจักร

พระสงฆ์ตามคำเรียกของคนภูฏาน คือ “เกลง” ใช้ชีวิตอยู่ในป้อม หรือซอง (Dzong) หรือวัดวาอาราม ครองผ้าสีแดงเข้ม อยู่ภายใต้การปกครองของเจเค็มโป ผู้เป็นประมุขขององค์กรสงฆ์ดราซังเฮ็นซก

พระสงฆ์และสามเณรในภูฏาน ต้องละเว้นจากการดื่มน้ำเมาและสูบบุหรี่ แต่ยังฉันเนื้อสัตว์ได้ และฉันมื้อเย็นได้ด้วย ต่างจากพระในแถบอาเซียนที่ต้องละเว้นมื้อเย็นอย่างเด็ดขาด

ภูฏานมี “อานิ” หรือแม่ชี อยู่ร่วมด้วยครับ แต่มีจำนวนไม่มากนัก เพราะวัฒนธรรมภูฏานถือว่า ชีวิตในวัดวาอารามนั้นเป็นโลกของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สำนักชีจะอยู่ภายใต้การดูแลของทางวัดและสำนักสงฆ์ โดยสำนักชีจะให้การศึกษาด้านพิธีกรรมและหลักคำสอนพื้นฐาน และเมื่อมีลามะชั้นสูงมาเยือน เหล่าแม่ชีก็จะพากันมารับฟังคำสอน และรับการประสาทพรจากลามะ สำหรับวัดที่มีแต่แม่ชีที่คณะท่องเที่ยว ท่องธรรมได้เข้าไปเยือนคือวัดนันนารี ที่เมืองทิมพู

ไม่ไกลกันนักจากวัดนันนารี เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ผู้ไปเยือนทิมพูไม่ควรพลาด คือ “ทิมพูซอง” (Thimpu Dzong) หรือที่ชาวภูฏานเรียกว่า “ตาชิโชซ่ง” แปลว่า ป้อมแห่งศาสนาอันเป็นมงคล

ทิมพูซองถือเป็นวัดสำคัญและใหญ่ที่สุดในภูฏาน เทียบได้กับวัดพระแก้วของเรา วัดแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถานเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ทำการของรัฐบาล และองค์ประมุข ถือเป็นศูนย์กลางแห่งการบริหารราชอาณาจักร เปรียบเสมือนหัวใจที่รวมจิตวิญญาณของภูฏานทั้งหมด

ทิมพูซองจึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ภายในประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธศรีศากยมุนี ขนาดสูงเท่าตึกสามชั้น สร้างขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ของพระราชชนนีอาชิ พุนโซ โชกรน นอกจากนี้ ทิมพูซองยังเป็นที่รวมงานสถาปัตยกรรมทั้งด้านประติมากรรม จิตรกรรมที่งดงาม และมีเอกลักษณ์ของภูฏานอีกด้วย

โดยปกติทิมพูซองจะอนุญาตให้เข้าชมได้เฉพาะผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาและเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของภูฏานเท่านั้น แต่มีข้อควรรู้สักนิดว่า หากท่านไปในวันที่ตรงกับวันทำงานของราชการจะสามารถเข้าชมได้หลังเวลา 17.00 น. นะครับ

สถานที่ท่องเที่ยว ท่องธรรม ที่สำคัญอีกจุดในเมืองทิมพูก็คือ จุดชมวิวตรงองค์พระใหญ่ Kuensel Phodrang หรือ Big Buddha ที่สร้างอยู่ในทำเลที่เรียกได้ว่าฮวงจุ้ยดีที่สุดของภูฏาน เปิดให้เข้าชมมาได้สักพักแล้วครับ เป็นองค์พระพุทธรูปแห่งความเมตตา Vajra Throne Buddha หล่อด้วยทองแดง สูง 169 ฟุต พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่ไม่สามารถทำลายได้ ดังนั้น เมื่อประดิษฐานอยู่ที่สูง จึงดูราวกับว่า ท่านทรงมองลงมายังประชาชนชาวภูฏานอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยคุ้มครอง

การก่อสร้างองค์พระใหญ่นี้ริเริ่มโดย Eminence Trizin Tsering ซึ่งจะมีรูปหล่อพระองค์เล็ก 100,000 รูป ทำจากทองแดงและชุบด้วยทอง ประดิษฐานรายล้อมอยู่ทุกตารางนิ้ว โดยชื่อของผู้บริจาคจะได้รับการจารึกไว้บนจานทองแดงและแสดงในห้องโถง ซึ่งสะท้อนถึงศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพุทธศาสนาในภูฏาน

จากเมืองทิมพู เราเดินทางมายังเมืองพาโร ระยะทางประมาณ 80 กม. ใช้เวลาราวชั่วโมงครึ่งครับ เส้นทางระหว่างทิมพูกับพาโร จะมีแม่น้ำไหลผ่านตลอด เป็นน้ำเย็นฉ่ำจากเทือกเขาหิมาลัย ทิวทัศน์สองข้างทางที่ลัดเลาะไปตามแนวเขาดูงดงามมาก คณะท่องเที่ยว ท่องธรรมของเรา ต่างพากันสูดอากาศบริสุทธิ์ และถ่ายรูปกันตลอดเส้นทาง ทิมพูน่าจะเป็นเมืองหลวงที่เงียบสงบ แล้วก็น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อากาศเย็นสบายแต่ไม่ถึงกับหนาวมากครับ

เมื่อพาคณะท่องเที่ยว ท่องธรรมนั่งรถชมเมืองพาโร หลายท่านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ภูฏานมีเสน่ห์” เราได้เห็นบ้านเรือนที่สร้างขึ้นแบบพื้นเมือง ทว่ามีความสูง 2-3 ชั้น บ้างก็กำลังก่อสร้าง

คนภูฏานสมัยนี้ส่วนใหญ่สร้างบ้านด้วยซีเมนต์กันเกือบหมดแล้วครับ เพื่อป้องกันไฟไหม้ เหตุเพราะในอดีตที่ภูฏานเคยเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ๆหลายครั้ง(ทั้งบ้านและวัด) เกิดความเสียหายมากมาย โดยเฉพาะหลักฐานและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ อาคารบ้านเรือนของชาวภูฏาน จะตกแต่งตัวด้วยสีสันและลวดลายงดงามแปลกตาไปทั้งเมืองครับ เอาเพียงว่า แค่เห็นสนามบิน เราก็หยุดถ่ายรูปและเพลิดเพลินจนเกินเวลาไปมากโขอยู่เหมือนกัน

ก็ประเทศภูฏานเขาทั้งสวยและมีเสน่ห์จริงๆ นี่ครับ ...

นั่งรถไปถึงที่ “พาโรซอง” (Paro Dzong) หรือ “รินปุนซอง” แปลว่า ป้อมเนินอัญมณี สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1646 สถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่ป้องกันข้าศึกศัตรูมากว่า 250 ปี แต่ถูกไฟไหม้ในปี ค.ศ. 1907 และถูกสร้างเป็นโบสถ์หลังไฟไหม้ ด้วยไม้ขนาดใหญ่โดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว

ปัจจุบัน พาโรซองเป็นศูนย์กลางการบริการกิจการสงฆ์ของเมืองพาโร มีพระสงฆ์จำวัดประมาณ 200 รูป เราได้ชมความงามของตัวอาคารโดยเฉพาะไม้ที่งดงามด้วยสีสันและการแกะสลัก โดยเฉพาะที่อุตชี หรือหอกลาง ถือเป็นหนึ่งในงานเครื่องไม้ที่งดงามที่สุดในภูฏาน ภายในหอกลางประกอบด้วย สำนักสงฆ์นิกายดรุ๊กปา หอบูชานัยครีพ หอบูชาเทพเจ้าตันตระ วิหารอัฏฐเจดีย์และหอบูชานางตารา

เช้าของอีกวัน เรานัดหมายกันเร็วขึ้นครับ เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นไฮไลท์ของคณะนี้ และเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนาจากทั่วโลก และเป็นหนึ่งในสถานที่บูชาส่วนใหญ่ของผู้แสวงบุญในเทือกเขาหิมาลัย เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูง 900 เมตร สูงกว่าระดับทะเล 3,000 เมตร นั่นคือ “วัดถ้ำเสือ” หรือ “วัดรังเสือ” ซึ่งเป็นชื่อตามที่คนไทยเรียก หากคนเป็นภูฏานจะเรียกว่า “ตั๊กซังฮาคัง” ครับ

วัดตั๊กซัง (Taksank) สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 8 ปี 1692 โดย Gyalse Tenzin Rabgye ที่เชื่อว่าเป็นวิญญาณของ “องค์ปัทมสมภพ” ตามตำนานเชื่อกันว่า ปัทมสมภพ หรือคุรุริมโปเช (Guru Rimpoche) จาก Khenpajong ทิเบต ขี่หลังนางเสือตัวหนึ่งเหาะด้วยฌานไปยังสถานที่แห่งนี้ คุรุริมโปเชได้นั่งวิปัสสนาบำเพ็ญญาณเป็นเวลาสามเดือนในถ้ำ จากนั้นจึงได้ออกมาแสดงธรรมแก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหุบเขาพาโร ต่อมาถ้ำนี้ได้กลายเป็นสถานที่การเจริญสมาธิ และบำเพ็ญเพียรของพระลามะหลายรูป

ในการเดินทางไปยังวัดตั๊กซังนั้น ต้องบอกว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ความศรัทธาขนานหนึ่งเลยล่ะครับ เพราะจะต้องเดินเท้าขึ้นไปใช้เวลานานราว 2-3 ชั่วโมงกว่าที่จะขึ้นไปถึงวัดได้ การเดินเท้ากลางขุนเขาแห่งนี้ จะต้องเตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจให้ดีครับ เตรียมเสื้อกันหนาวบางๆ ไปสักตัว พร้อมของว่างและน้ำดื่ม เพื่อใช้จิบระหว่างทาง อ้อ! เตรียมยาดม ยาหอมไปด้วยก็ดีครับ

เรื่องราวของวัดตั๊กซัง ขออนุญาตยกยอดเอาไว้เล่าต่อในฉบับหน้าครับ เพราะว่า เป็นไฮไลท์ที่ผู้เขียนเองเฝ้ารอคอยมาทั้งชีวิต เฉกเช่นเดียวกับจิตวิญญาณของคนภูฏานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีศรัทธาต่อคุรุริมโปเชและวัดตั๊กซังแห่งนี้

แล้วพบกันในตอนต่อไปครับ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)
Memories Chorten
Big Buddha
กงล้อมนตรา
กงล้อมนตรา
บรรยากาศของทิมพูซอง
บรรยากาศของทิมพูซอง
บรรยากาศของทิมพูซอง
บรรยากาศบริเวณพาโรซอง
บรรยากาศบริเวณพาโรซอง
วัดตั๊กซัง
ผู้เขียนในชุดประจำชาติของภูฏาน
กำลังโหลดความคิดเห็น